รายงานพิเศษ เรื่อง  อาฟเตอร์ช็อกเนปาล...พระธรรมทูตยังคงเดินเท้าเข้าช่วยเหลือ โดย มนสิกลุ โอวาทเภสัชช์ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๑๙๗ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘
รายงานพิเศษ เรื่อง อาฟเตอร์ช็อกเนปาล…พระธรรมทูตยังคงเดินเท้าเข้าช่วยเหลือ โดย มนสิกลุ โอวาทเภสัชช์ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๑๙๗ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

บทเพลงแสงแห่งดาว ยังคมทำหน้าที่เล่าเรื่องเมื่อวันวาน…ย้อนกลับไปในวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ เกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก และอาฟเตอร์ช็อกตามมาในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ปีเดียวกัน ในครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเป็นหมื่นคน เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดจากการไหวตัวของแผ่นดินที่มนุษย์เราไม่อาจหยั่งรู้ได้ และหลังจากนั้นอย่างรวดเร็ว การช่วยเหลือจากทุกมุมโลกก็ส่งตรงไปที่นั่นช่วยกันเยียวยาหัวใจของคนทุกข์ยากในภาวะที่ไร้บ้าน ไร้อาหาร ไม่มีอะไรที่จะยังชีพได้ให้มีบ้าน มีที่พักพิง มีอาหาร มีปัจจัยสี่ที่พอยังชีพให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินั้นมาได้ พระธรรมทูต เป็นส่วนหนึ่งของผู้ปิดทองหลังพระในทุกเหตุการณ์ของภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด จนถึงวันนี้ สถานการณ์โรคระบาดโควิด-๑๙ กำลังทำให้ชาวโลกต้องลุกขึ้นมาช่วยกันอีกครั้ง พระก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่ช่วยให้สติปัญญาเกิดขึ้นในท่ามกลางวิกฤติ ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังช่วยกันเย็บหน้ากากอนามัยแจก ตั้งโรงทานอาหารให้หยิบกลับบ้าน ทำความสะอาดวัดวาอันเป็นวัตรปฏิบัติอยู่แล้ว แนะนำการเจริญพระพุทธมนต์ให้เกิดสติ สมาธิ และปัญญาในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน การช่วยกันเฝ้าระวังตนเองที่บ้านของเราทุกๆ คน เป็นการลดภาระของแพทย์และพยาบาล การดูตนเอง ปลีกวิเวก และการไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป ตลอดจนการช่วยเหลือกันในยามยากยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องให้คลายความวิตกกังวลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปได้บ้าง

ผู้เขียนจึงขอรำลึกความทรงจำเมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พระเถระผู้คอยเกื้อกูลให้คณะพระธรรมทูตทำงานช่วยเหลือผู้คนในประเทศเนปาลให้าผ่านวิกฤติไปได้ด้วยดี จึงขอน้อมนำรายงานพิเศษ เรื่อง “อาฟเตอร์ช็อกเนปาล…พระธรรมทูตยังคงเดินเท้าเข้าช่วยเหลือ” โดย มนสิกลุ โอวาทเภสัชช์ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๑๙๗ วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ มาให้กำลังใจกันและกันในยามนี้ ยามที่เราทุกคนต่างมีส่วนช่วยเหลือสังคมด้วยการทำหน้าที่อยู่ที่บ้าน เพื่อให้โควิด-๑๙ ลดการแพร่ระบาดให้ได้ในที่สุด เชื่อว่าทำได้ หากเราทุกคนร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจ

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

แผ่นดินไหวในเนปาล สิบกว่าวันผ่านไปในปีพ.ศ.๒๕๕๘ ความเดือดร้อนของชาวเนปาลยังทบทวี หลังอาฟเตอร์ช็อกทางธรรมชาติ ที่เกิดแผ่นดินไหวตามมาอีกหลายครั้ง ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกทางจิตใจ ส่งผลให้ผู้รอดชีวิตอีกหลายหมื่นคนในพื้นที่ห่างไกล บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งรถไม่สามารถไปถึง ทำให้เกิดทั้งโรคระบาด การขาดแคลนที่อยู่อาศัย อาหารและยารักษาโรค แต่พระธรรมทูตไทย -เนปาล ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ก็ทำงานกันทุกวัน ออกสำรวจเส้นทาง และเดินเท้าเข้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในทุกๆ ด้าน ขณะเดียวกันก็ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงจุดที่การสื่อสาร และเส้นทางรถไปไม่ถึง สามารถลำเลียงเสบียงเข้าช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างไม่หวั่นต่อความลำบากในพื้นที่แต่อย่างใด

พระวิจิตรธรรมภรณ์ หัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์เนชั่นสุดสัปดาห์ ต่อสถานการณ์ว่า เป็นหน้าที่ของพระธรรมทูตอยู่แล้ว

“ตอนนี้ เริ่มปรับกระบวนการได้อย่างเป็นระบบ ตอนแรกยังปะติดปะต่อกันไม่ได้ แต่ตอนนี้เริ่มเชื่อมประสานกันได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นสถานทูตไทย ที่กาฐมาณฑุ พระสงฆ์ชาวเนปาล และพระธรรมทูตไทย ส่วนคณะสงฆ์ไทย ที่อยู่ในประเทศไทย รวมทั้งผู้ที่จัดส่ง ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือ การบินไทย เราเชื่อมกันได้หมดแล้ว ทำงานเป็นระบบ โดยจัดงานความสำคัญเป็นอย่างนี้ คือ โดยเบื้องต้น เรื่องการเป็นอยู่ เรื่องอาหาร ใช้วิธีการอย่างเร่งด่วน ดังนี้

“เส้นทางที่ ๑. ส่งเงินบริจาคไปที่วัดไทยลุมพินีวัน พระธรรมทูตสายเนปาลที่นั่นก็ซื้อของ แล้วลำเลียงจากวัดไทยลุมพินี มาพักของอยูที่วัดศรีศากยสิงหวิหาร เมืองกาฐมาณฑุ แล้วกระจายไปที่ต่างๆ เส้นทางที่ ๒ วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย และวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ โดยพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย ซื้อของลำเลียงผ่านด่านเข้ามา แล้วมาพักของที่วัดไทยลุมพินี แล้วเดินทางต่อจากลุมพินี เข้าสู่กาฐมาณฑุ ระยะทางประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑๓ ชั่วโมง เนื่องจากการเดินทางค่อนข้างเป็นอุปสรรคมาก “

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

วิธีการดังกล่าวทำให้การช่วยเหลือตรงจุด พระวิจิตรธรรมภรณ์ กล่าวต่อมาว่า การส่งปัจจัยไปที่โน่นเพื่อให้ซื้อของที่โน่น เป็นการลดขั้นตอนที่จะทำให้ได้ของที่ต้องการใช้อย่างเร่งด่วนที่สุดก่อนเลย

“ส่วนสิ่งที่เร่งด่วนแล้วที่เนปาลไม่สามารถหาซื้อได้ เราก็ส่งไปจากเมืองไทย เวลานี้คือ เต็นท์ ที่นอน ผ้าใบสำหรับปูนอน กันฝน ผ้าห่ม และยา อาหารบางสิ่งบางอย่างที่ส่งไปจากเมืองไทย อย่างเช้าวันนี้ เครื่องบินทหาร C130 ก็มารับของไปลงที่กาฏมัณฑุ เรียบร้อยแล้ว”

สำหรับปลายทางในพื้นที่ที่พระธรรมทูตเข้าไปช่วยเหลือตอนนี้ ห่างไกลที่สุดประมาณ ๑๐๐ กว่ากิโลเมตร หรือใกล้กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด

” ตอนนี้มีพื้นที่เขาแจ้งขึ้นมาใหม่ ที่เข้าไปไม่ถึง บริเวณเส้นทางของยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย ตอนนี้พระธรรมทูตก็กำลังหาทางที่จะเข้าไปสู่จุดนั้นอยู่ เนื่องจากมีประชาชนแจ้งมาว่า การช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง ต้องเดินเท้าเข้าไปอีกสองวัน เรากำลังหาทางที่จะประสานว่า จะเข้าไปอย่างไร “

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ท่านได้ถอดบทเรียนการทำงานของพระธรรมทูตให้เห็นว่า เป็นลักษณะของการร่วมมือกับทุกภาคส่วน ขณะเดียวกัน พระธรรมทูตที่อยู่ในพื้นที่ก็สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องรอรับคำสั่ง เพราะเป็นหน้าที่ของพระอยู่แล้ว ในการช่วยเหลือผู้คนในทุกกรณี

“การทำงานของพระเราเป็นลักษณะที่ว่า พระธรรมทูต พระสงฆ์ และคณะทำงาน ทุกวันมีการประชุมกัน แจกงานกัน มีรายงานจากตรงไหนบ้าง แล้วก็แบ่งสายกันออกไป ซึ่งแบ่งเป็นสองสายหลัก สายหนึ่ง ไปในพื้นที่ที่เข้าถึงยากที่สุด ก็ใช้เวลามาก อีกสายหนึ่ง ก็ไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนทั่วๆ ไป อีกกลุ่มหนึ่ง ก็หุงหาอาหารขึ้นมา แล้วก็ให้คนมารับอาหารไป

“สำหรับผู้สูญเสียชีวิต พระธรรมทูตก็ไปช่วยเหลือในด้านการเผาศพ จากวันแรกที่เกิดเหตุ ปกติเขาต้องชันสูตร แต่ในสถานการณ์วิกฤติ ทางเนปาลก็ให้เผาเลย ต่อมาเรื่องการเจ็บป่วย ทางแพทยสภาก็ทำงานร่วมกับพระธรรมทูต ขณะนี้ก็มีทีมแพทย์ที่ลงไปก็ดูแลผู้ป่วยอยู่

“จากนี้เป็นต้นไป เมื่อแก้ปัญหาทางด้านความเป็นอยู่ อาหารแล้ว ก็จะช่วยในเรื่องของจิตใจ ที่จะเกิดตามมาคือ ความทุกข์ใจ ความว้าเหว่ ความกังวล ก็อาศัยพระไปช่วยในการนี้ โดยการนำสวดมนต์ ภาวนาเป็นหลัก”

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป และคณะสงฆ์ ลงพื้นที่ช่วยประชาชนชาวเนปาล เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหว ปีพ.ศ.๒๕๕๘ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป และคณะสงฆ์ ลงพื้นที่ช่วยประชาชนชาวเนปาล เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหว ปีพ.ศ.๒๕๕๘ ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

สิ่งสำคัญหลังการเกิดแผ่นดินไหวในเนปาลคือ ธรรมะที่ปรากฎอยู่ในใจของทุกคน สัจธรรมความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่งกำลังปรากฎอยู่ตรงหน้า เหนือสิ่งอื่นใด พระวิจิตรธรรมภรณ์ กล่าวว่า ความเห็นใจซึ่งกันและกัน ความเมตตานั้นสำคัญที่สุด

” ถ้าเราตั้งจิตประกอบด้วยเมตตา เราจะเห็นอกเห็นใจกัน ไม่มีสิ่งใดที่จะคลายความทุกข์ได้ นอกจากความเห็นใจซึ่งกันและกัน และดูแลกันในยามที่ประสบปัญหา

โดยเฉพาะ แผ่นดินเนปาล เป็นแผ่นดินเกิดของพระพุทธเจ้า เราชาวไทย และชาวพุทธทุกคน เท่ากับเราเป็นหนี้แผ่นดินเนปาล ที่ให้การกำเนิดมหาบุรุษของโลกในลักษณะนี้ขึ้นมา วันนี้ชาวเนปาลประสบปัญหาความทุกข์ เราเห็นกำลังชาวไทยและชาวโลกไม่เพียงแต่ชาวพุทธ ล้วนแต่ลงไปช่วยซับน้ำตาชาวเนปาล ชาวไทย ซึ่งเป็นชาวพุทธ และได้อานิสงส์จากพระธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบ เราก็ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไป อาตมาก็ขออนุโมทนาศาสนิกชนไทย และทุกคนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเนปาล…”

พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ และพระวิจิตรธรรมาภรณ์ ในขณะนั้น
พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ และพระวิจิตรธรรมาภรณ์ ในขณะนั้น
พระครูสิริวิหารการ และพระวิจิตรธรรมาภรณ์ ในขณะนั้น
พระครูสิริวิหารการ และพระวิจิตรธรรมาภรณ์ ในขณะนั้น

เกาะติดการลงพื้นที่ของพระธรรมทูตช่วยเหลือชาวเนปาล

โดย พระวิจิตรธรรมภรณ์

๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘

พระมหานิพนธ์ ญาณธีโร พร้อมคณะพระธรรมทูตไทย และคณะสงฆ์เนปาล นำโดยพระครูโสภณธรรมปาล ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เมืองปาตัน ที่ยังมีความยากลำบาก ไม่สามารถเข้าไปในบ้านนำเครื่องอุปโภค บริโภคออกมาได้ จำนวน ๕๐ หลังคาเรือน โดยมอบข้าวสาร 50 กระสอบ ถั่วดาน 50 ชุด ข้าวเม่า 50 ชุด และถั่วบูจิยา 50 ชุด มอบ ณ วัดวัดศรีศากยสิงหวิหาร เมืองกาฐมาณฑุ

พระเดชพระคุณพระเทพโพธิวิเทศ( วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ ) หัวหน้าพระธรรมทูตไทย สายอินเดีย-เนปาล พร้อมด้วยพระธรรมทูตเดินทางไปมอบเข้าสาร ๕๐ กระสอบ เกลือ ๑๐๐ กิโล ถั่วสามกระสอบ และน้ำมันพืช ที่วัดมุนีวิหาร ภัคตปูรฺ ที่นี้มีผู้ประสบภัย ๘๐ ครอบครัว สามร้อยกว่าคน วัดอยู่ห่างจากถนนใหญ่ประมาณหนึ่งกิโลเมตร มีคนที่อายุเกิน ๘๘ ปีอยู่หลายคน

พระมหาสุพจน์ กิตฺติวณฺโณ พร้อมคณะพระธรรมทูต และคณะสงฆ์เนปาล นำโดย พระภิกษุ นิโครธ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ชุมชนกังกะปูร์(Gongabu) เมืองกาฐมาณฑุ ซึ่งเป็นจุดที่เสียหายหนักที่สุดในเมืองกาฐมาณฑุ อีกแห่งหนึ่ง มอบน้าดื่มแก่ผู้ประสบภัย จำนวน ๖๐ แพ็ก (ขวดละ ๑ ลิตร ๓๖๐ ขวด) พร้อมนำทีมแพทย์อาสา-แพทยสภาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนตรวจรักษาผู้ประสบภัย จำนวน ๘๐ คน

พระเดชพระคุณ พระเทพโพธิวิเทศ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล พระมหาสุพจน์ กิตฺติวณฺโณ พร้อมคณะพระธรรมทูต และคณะสงฆ์เนปาลประกอบด้วย พระครูพิศาลธรรมโสภณ พระครูปทุมธีรากร พระภิกษุนิโครธ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัย ที่หมู่บ้านธรรมวารี เมืองกาฐมาณฑุ เป็นหมู่บ้านเก่าที่เสียหายอย่าง หนักอีกแห่งหนึ่ง มีจำนวน ๔๐๐ ครัวเรือน บ้านเรือนพังเสียหายเกือบทั้งหมู่บ้าน บางหลังยังไม่สามารถกู้ศพ ผู้เสียชีวิตขึ้นมาได้ โดยมอบข้าวสาร ๒๐ กระสอบ( ๖,๐๐๐ กิโลกรัม) ถั่วดาน ๒ กระสอบ(๑๐๐ กิโลกรัม) จูละ ๒๐ ถุง(ข้าวเม่า) เกลือ ๔๐๐ ถุง น้ำมันพืช ๑๐ กล่อง (๒๐๐ ถุง) พร้อมนาคณะแพทย์อาสา-แพทยสภา ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจรักษาชาวบ้านที่ประสบภัยจำนวน ๒๐๐ คน

ประวัติพระวิจิตรธรรมภรณ์ ในขณะนั้น โดยสังเขป

พระวิจิตรธรรมภรณ์ อดีตหัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พรรษาที่ ๒๓ อายุ ๔๓ ปี ในขณะนั้น ท่านเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี บวชสามเณรที่วัดปากน้ำ หลวงพ่อเงิน ๗๐๐ ปี จังหวัด อุบลราชธานี อุปสมบทกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ แล้วไปใช้ชีวิตแบบพระป่ากับครูบาอาจารย์พระกรรมฐาน ภาวนาพุทโธ อยู่หลายปีที่วัดป่าพระพิฆเณศวร์ ห่างจากบ้านเกิดประมาณ ๓ กิโลเมตร เดินทางบิณฑบาตไปกลับประมาณวันละ ๖ กิโลเมตร

ที่วัดสระเกศ ท่านได้รับการบ่มเพาะการทำงานจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ ) ทุกอย่างทั้งในด้านการบริหาร และการภาวนา ในขณะนั้น ปีพศ.๒๕๕๘ ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐ คือเป็นเลขานุการท่านเจ้าคุณพระพรหมสิทธิ ในขณะนั้น และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไทยไปต่างประเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น

ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (ตอนที่ ๒๘)

“ลมหายใจแห่งสติ”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

การดูลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าจะว่า พุท หายใจออกว่า โธ ก็ได้ หรือจะไม่ว่า พุทโธ ก็ได้ก็ดูลมหายใจเฉยๆ เพราะ พุทโธ แปลว่า ผู้รู้ คือให้มีสติรู้ลมหายใจ เมื่อมีสติระลึกรู้ลมหายใจก็เป็นพุทโธ ผู้รู้นั่นเอง เพียงแต่แปลงสภาวะความเป็นผู้มีสติระลึกรู้ลมหายใจ มาเป็นคำพูดว่า พุทโธ เท่านั้น หรือหายใจเข้าจะว่า พองหนอ หายใจออกจะว่า ยุบหนอ ก็ได้ ก็ดูอาการพองอาการยุบไป เมื่อเกิดสติระลึกรู้อาการพองอาการยุบ ก็เกิดผู้รู้ คือ พุทโธ อีกนั่นแหละ

แต่ปฏิบัติเพื่อให้ละให้วาง ก็มาเกิดอุปาทานการยึดอย่างใหม่ขึ้นมาอีก คือ ยึดว่า กรรมฐานสายไหน แบบไหน ดีกว่าสายไหน สายไหนเป็นของใคร ปฏิบัติสายนี้แล้ว จะไปปฏิบัติสายนั้นไม่ได้ เลยชุลมุนชุลเกกัน

ที่จริง ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ปฏิบัติกรรมฐานแบบใดแบบหนึ่งเป็นแนวทางไว้ก่อน ก็เพื่อให้จิตยึดกรรมฐานแบบนั้นเป็นอารมณ์ไว้เป็นหลัก ให้จิตมีอารมณ์เดียว ไม่มีหลายอารมณ์ ถ้าปฏิบัติหลายแบบกลับไปกลับมา จิตก็จะไม่มีอารมณ์เดียวก็จะไม่เป็นสมาธิ  ไม่เกิดผลในการปฏิบัติ ก็เท่านั้น ท่านจึงสอนว่า ปฏิบัติแนวไหนตรงกับอัธยาศัย จิตใจสงบเบาสบาย ก็ให้ถือปฏิบัติแนวนั้น

ไม่ใช่หมายถึงท่านสอนว่า สายนี้ดีกว่าสายนั้น แนวนี้ดีกว่าแนวนั้น คือ ดีทุกสาย ดีทุกแนว ขอให้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง  จะปฏิบัติตามแนวไหนวิธีใด ก็เอาให้แน่ อย่าทำแบบโน้นทีทำแบบนี้ที  มันไม่ได้ผล ทีนี้ พอครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้เข้า ก็ไปถือเอาความอย่างใหม่ว่า กรรมฐานสายนี้ดีกว่าสายนั้น ก็ไปกันใหญ่  เลยยึดกันไปใหญ่

นี่ก็อธิบายแทรกเข้ามา เพื่อ พุทโธ ผู้รู้จะได้เกิด

การฝึกสติก็ไม่ต้องทำอะไรมากเพียงให้ความระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก พอทำไปบ่อยครั้งเข้า จิตก็จะรับรู้เองว่าจะวางจิตแบบใด เหมือนจิตก็จะรู้หน้าที่เองว่าจะอยู่อย่างไร แล้วก็จะจดจ่อสนใจอยู่กับอารมณ์เดียว ก็เรียกว่า จิตสงบ สงบเพราะไม่ได้เห็นรูป รูปก็ไม่เป็นเหตุให้จิตคิดฟุ้งไป สงบจากเสียง กลิ่น รส และการสัมผัสใดๆ ทำให้จิตสงบอยู่กับลมหายใจ ไม่ฟุ้งปรุงแต่งไป

แต่ถ้าจิตไม่สงบ ก็คือ จิตไม่ได้อยู่ในอารมณ์เดียว จิตอยู่ในอารมณ์เดียว จะเรียกว่า จิตเป็นสมถะ ก็ได้ เป็นขั้นตั้งหลักไว้กับลมหายใจ เมื่อจิตตั้งหลักอยู่กับลมหายใจได้แล้ว ก็พัฒนาต่อไปเป็นขั้น ปัญญา คือ ทำจิตให้รู้มากขึ้น เป็นความสงบด้วยปัญญา  เมื่อมีปัญญาแล้ว แม้เห็นรูปก็ยังสงบอยู่ แม้ได้ยินเสียงก็ยังสงบอยู่ แม้รูปนั้นเสียงนั้นเราจะพอใจ หรือไม่พอใจก็ยังสงบอยู่ แม้ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส เราจะพอใจ หรือไม่พอใจ ก็ยังสงบ รูป เสียง กลิ่น รสจะมาหลอกล่อจิตให้เคลื่อนออกจากฐานแห่งความรู้ไปไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่า สงบด้วยปัญญา เพราะสติระลึกรู้เท่าทันอารมณ์ ก็วางอารมณ์ แล้วก็รักษาความเป็นกลางไว้ จะเรียกว่า สงบด้วยความรู้นี้ว่าเป็นวิปัสสนา ก็ได้

ตอนแรกเราฝึกจิตให้สงบอยู่กับอารมณ์เดียว ด้วยการเพ่งจดจ่อความสนใจไว้ที่ลมหายใจ  เมื่ออยู่กับอารมณ์เดียวก็คือ ไม่ออกไปรับอารมณ์อื่นนอกจากลมหายใจ อารมณ์อย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส ก็ไม่มีโอกาสแทรกเข้ามาทำให้จิตฟุ้งปรุงแต่งไป จึงเรียกว่า  สมถะ แต่เมื่อไหร่ที่ออกจากอารมณ์เดียวไปรับอารมณ์อื่น  พอจิตกระทบรูปเสียง กลิ่น รส ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ก็จะกระเพื่อมไหวเคลื่อนออกจากฐาน ฟุ้งปรุงแต่งจินตนาการไปตามอารมณ์ที่ได้รับ คือ คิดไม่ทันก็ชอบ คิดไม่ทันก็ขัดเคือง คิดไม่ทันก็โมโหเดือดดาน คิดไม่ทันก็ลุ่มหลงคิดไม่ทันก็อยากยึดอยากครอบครอง

คิดไม่ทัน คือ สติไม่ทันความคิดจิตจึงมีหลายอารมณ์ ไม่มีอารมณ์เดียว

ใครที่สติไม่ทันความคิด ก็ชอบ ก็ชัง ก็ขัดเคือง ก็ไม่พอใจ หมุนไปเรื่อยตามแต่จะประสบเข้ากับอารมณ์ใด เมื่อตั้งหลักให้จิตสงบมีอารมณ์เดียวได้แล้ว ก็พัฒนาเป็นขั้นสงบด้วยความรู้

ความรู้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ความรู้จะเกิดขึ้นก็ด้วยค่อยๆ บอกค่อยๆ สอน ค่อยๆ อบรมให้จิตรู้ขึ้นมา สอนให้จิตรู้อะไร ก็สอนให้รู้ว่า อะไรๆ ก็ไม่เที่ยงอะไรๆ ก็ไม่แน่ สงบก็ไม่แน่ ไม่สงบก็ไม่แน่ ดีใจก็ไม่แน่   เสียใจก็ไม่แน่ปฏิบัติสมาธิมีใจสงบแล้ว ก็สอนจิตให้รู้ว่า ไม่แน่ ไม่สงบก็ไม่แน่

การปฏิบัติสมาธิจึงไม่ใช่แค่ให้จิตนิ่งแช่อยู่กับความสงบเฉยๆ ไม่ใช่ให้นิ่งเฉยๆ แช่อยู่อย่างนั้น ท่านจึงบอกว่า พอสงบไม่มีนิวรณ์รบกวนแล้ว ก็ยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา

ยกจิตขึ้นฟังดูก็เหมือนจะยาก จะยกจิตขึ้นได้อย่างไร คำว่า “ยกจิตขึ้น” เป็นภาษาที่ให้เห็นชัดขึ้น เหมือนยกข้าวของ ที่จริง ก็คือ เปลี่ยนความคิดจากนิ่งๆ มีอารมณ์เดียวมาคิดพิจารณาความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนนั่งเอง ไม่ปล่อยให้จิตนิ่งแช่อยู่อย่างนั้น ไม่ให้นิ่งแช่เป็นสมถะสงบอยู่กับอารมณ์เดียวอย่างนั้น เพราะถ้าทำอย่างนั้นบ่อยๆ เข้า ก็จะได้อารมณ์เดียว คือ อารมณ์แช่นิ่ง แต่จะไม่ได้อารมณ์ปัญญา อารมณ์ปัญญา จะได้จากการพิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญธรรม ยกธรรมขึ้นพิจารณา

เบื้องต้น ก็ดูความไม่เที่ยงจากกาย แล้วก็ดูความไม่เที่ยงจากใจ ดูความไม่เที่ยงจากการกระทบอารมณ์ ดูความคิดข้างใน  ตาเห็นรูป แล้วก็ดูความคิด ดูเข้ามาที่ใจ เห็นแล้วใจมันคิดอะไร ใจมันกระเพื่อมเป็นโกรธไหม หูได้ยินเสียง ได้ยินแล้วใจมันคิดอะไร ใจมันกระเพื่อมเป็นชอบใจ  ไม่ชอบใจ ขัดเคืองใจไหม ทุกครั้งที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส ก็ดูกลับเข้ามาที่ความคิดว่า  ใจมันคิดอะไร ใจมันกระเพื่อมเป็นโกรธ เกลียด อาฆาต ชอบใจ ขัดเคืองใจไหม

เมื่อรู้วิธีแล้ว ก็ดูบ่อยๆ เข้าทำให้มากเข้า พิจารณาให้มากเข้า  เป็นภาวนา พหุลีกตา ก็เป็นการภาวนา  เมื่อภาวนามากเข้า ผู้รู้ก็เกิดขึ้น ปัญญาในวิปัสสนาก็เกิดขึ้น

นั่นก็พูดตามหลัก  ระหว่างสมถะกับวิปัสสนาเหมือนจะแยกกัน  ในการปฏิบัติ แต่อันที่จริง จะสมถะหรือวิปัสสนาก็ทำไปด้วยกันเวลาลงมือปฏิบัติ  ก็ไม่ได้แยกว่าอันไหนเป็นอันไหน อันไหนก่อนอันไหนหลัง ก็ผสานกลมกลืนกันไป เพียงแต่ว่า ช่วงไหนสมถะเด่นชัด ช่วงไหนวิปัสสนาเด่นชัด เหมือนกลางวันก็อยู่กับกลางคืน กลางคืนก็อยู่กับกลางวัน ก็อันเดียวกัน

เมื่อจะพิจารณาทุกข์ได้จิตต้องเกาะนิ่งอยู่กับทุกข์อย่างมั่น แล้วปัญญาจึงจะทำหน้าที่พิจารณาความเป็นทุกข์ของทุกข์ได้ เปรียบสมถะกับวิปัสสนาก็เหมือนมือซ้ายกับมือขวาจะขัดแจกันมือข้างซ้ายต้องจับแจกันไว้แน่น แล้วมือขวาก็ขัดถูไป แจกันจึงจะขึ้นเงาวาว ถ้าใช้มือเดียวขัดโดยที่อีกมือหนึ่งไม่ได้จับไว้ แจกันก็กลิ้งไปกลิ้งมา ก็ขัดไม่ถนัด 

สมถะทำหน้าที่ยึดจิตไว้  วิปัสสนาก็ทำหน้าที่ขัดเกลา อบรมสั่งสอนจิตไปเรื่อย จนจิตเกิดรู้ตัวขึ้นมาว่า “ตัวเองเป็นผู้รู้

ก่อนหน้านี้ไม่รู้จึงเป็นอวิชชา เพราะยังไม่ได้รับการภาวนาอบรมสั่งสอน พอได้รับการภาวนาอบรมสั่งสอนถูกวิธี ก็เกิดความรู้ขึ้นมา จึงกลายเป็นวิชชา สมถะทำหน้าที่ยึดไว้  วิปัสสนาทำหน้าที่อบรมสั่งสอน เหมือนแม่จะอบรมสั่งสอนลูกน้อยที่เอาแต่วิ่งเล่นสนุกสนานเพลิดเพลิน เวลาเรียกก็ทำท่าทางทะเล้นหัวเราะให้เสียอีก  ก็ต้องบอกให้ลูกหยุดวิ่งก่อน  บางทีก็ต้องจับแขนไว้ก่อน  แล้วก็ว่ากล่าวสั่งสอน ขู่บ้างปลอบบ้าง

ในการลงมือปฏิบัติ  โดยสภาวะระหว่างสมถะกับวิปัสสนาไม่ได้แยกจากกันว่าอันไหนเป็นอันไหน ทุกอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาติของจิต เหมือนการตั้งระบบอัตโนมัติไว้แล้วก็รันตามลำดับ ในระหว่างอยู่ในสมาธิแทบจะไม่มีแยกว่าอันไหนเป็นสมถะ อันไหนเป็นวิปัสสนา ถึงลำดับต้องการความสงบเป็นสมถะ จิตก็จะปรับเข้าสู่ความสงบเป็นสมถะ  ถึงลำดับต้องการพิจารณาธรรม จิตก็จะปรับเข้าสู่การพิจารณาเป็นวิปัสสนาด้วยจิตเอง

พอฝึกหัดจิตจนจิตอ่อนโยน ควรแก่การใช้งานแล้ว ก็จะเป็นอย่างนี้

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น

โปรดติดตาม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน…พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here