การกลับมาอีกครั้งของ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
เป็นการรำลึกในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ครูอาจารย์
ที่ผ่านการเคี่ยวกรำในการภาวนาอย่างอุกฤษฎ์ ในทุกๆ ด้านของชีวิตพระภิกษุ
พระที่แท้ย่อมให้สติปัญญากับผู้คนฉันใด
มโนปณิธานท่านอาจารย์เจ้าคุณ ก็ให้สติปัญญาแก่ผู้เขียนฉันนั้น
อีกทั้งยังให้แนวทางการดำเนินชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์
จากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างสรรค์สังคมสันติสุข
ในการให้ผู้คนนำไปใช้ดับทุกข์ในชีวิต
และสำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคไร้พรมแดน
เพราะธรรมะอกาลิโก เหนือกาลเวลา…มโนปณิธานจึงกลับมารับใช้สังคม
๒๓. “สร้างพระนักเขียน เขียนโลกให้ถึงธรรม”
พระธรรมทูตออนไลน์ ในยุคไร้พรมแดน
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
“อาตมาบวชมาตั้งแต่เยาว์วัย จนถึงบัดนี้ย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม เคยตั้งใจว่า จะหาโอกาสอ่านพระไตรปิฎก ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าให้สมกับที่ได้เกิดมาบวชในพระพุทธศาสนา เป็นความตั้งใจมานานแล้วว่า เมื่อบวชเป็นพระภิกษุ จะอ่านพระไตรปิฎกสักรอบเป็นอย่างน้อย
“ทุกครั้งที่เปิดหนังสือพระไตรปิฎกออกอ่าน มีความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่เฉพาะหน้าพระพักตร์ ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ เมื่อพบข้อธรรมที่ประทับใจ อาตมาคิดถึงโยมทั้งสอง คือโยมพ่อใหญ่และโยมแม่ใหญ่ อยากให้ทั้งสองรู้ ในสิ่งที่อาตมารู้ อยากให้เห็น ในสิ่งที่อาตมาเห็น อยากให้อ่าน ในสิ่งที่อาตมาอ่าน แต่คงเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุผลและปัจจัยหลายอย่าง จึงอยากเขียนจดหมาย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ได้ศึกษาเล่าเรียนให้โยมทั้งสองฟัง …”
นั้นคือ ส่วนหนึ่งในบทแรกของหนังสือ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรม ในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดยสำนักพิมพ์อนันตะ จากจดหมายขนาดยาวที่เขียนถึงโยมพ่อใหญ่และโยมแม่ใหญ่(โยมปู่กับโยมย่า) จำนวน ๔ ฉบับ เล่าเรื่องวิถีการภาวนาและการใช้ชีวิตของท่านสมัยบวชเรียนช่วงแรกๆ ในสำนักวัดสระเกศฯ อีกทั้งสอนการสวดมนต์ไหว้พระตลอดจนการเจริญสมาธิภาวนาในชีวิตประจำวันด้วยภาษาที่อ่อนโยนเข้าใจง่าย นำมาปฏิบัติได้จริง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คที่ได้รับการพิมพ์แล้วพิมพ์อีกถึงเก้าครั้ง
จากหนังสือเล่มนี้และอีกหลายๆ เล่ม ที่จะนำมาทยอยเล่าให้ฟัง บอกกล่าวถึงความทุ่มเทชีวิตเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในร่มกาสาวพัสตร์ของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์(เทอด ญาณวชิโร)มาโดยตลอดชีวิตของท่าน ทุกครั้งที่ได้กราบเรียนถามท่านไม่มีเรื่องใดเลยที่จะออกนอกหลักธรรมที่นำมาสู่การประพฤติปฏิบัติเพื่อการขัดเกลาตนเป็นที่ตั้งและเพื่อเกื้อกูลผู้คนให้ได้ธรรมอันสมควรแก่ธรรม
เมื่อผู้เขียนย้อนกลับไปอ่านคอลัมน์ “วิปัสสนาบนหน้าข่าว” หน้าพระไตรสรณคมน์ เมื่อวันที่พฤหัสบดีที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เกี่ยวกับเรื่องการสร้างพระนักเขียน เขียนโลกให้ถึงธรรม ในครั้งนั้นที่ผู้เขียนได้บันทึกไว้ จนถึงวันนี้ผ่านไปเกือบสองปี ก็เห็นร่องรอยแห่งธรรมที่ปรากฎมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
มีพระนักเขียนหลายรูปจากการอบรมพระนักเขียนทั่วประเทศ เขียนบทความธรรมะร่วมสมัยมาแบ่งปันเป็นธรรมทานในพื้นที่สองหน้าแห่งธรรมในนสพ.คมชัดลึกมาโดยตลอด ทำให้ผู้เขียนรำลึกถึงความเมตตา กรุณาของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ในครั้งนั้น ที่ได้จัดอบรมพระนักเขียนขึ้น และเมตตาให้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรถวายความรู้พระสงฆ์เกี่ยวกับการเขียนบทความตามประสบการณ์ที่มีอยู่ในการเขียนข่าว บทความสารคดีมากว่าสามสิบปี จนสามารถเป็นสะพานเชื่อมธรรมเย็นๆ จากพระสงฆ์มาประพรมใจของคนทุกข์ในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้
เพราะหากไม่มีบทความที่พระเขียน เราก็ไม่ทราบเลยว่า งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์นั้นยากลำบากเพียงใดในดินแดนทุรกันดาน ในพื้นที่อันยากลำบากต่อการบิณฑบาตหากแต่ด้วยหน้าที่แห่งธรรมในการเกื้อกูลผู้คนตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เอง ที่ทำให้พระสงฆ์แต่ละรูปสามารถจาริกธรรมผ่านอุปสรรคขวากหนามไปสู่การช่วยเหลือผู้คนให้ปลดล็อกทุกข์ในใจได้
ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด กล่าวไว้เมื่อครั้งปิดโครงการ การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนบทความทั่วไป” ในโครงการพระนักเขียน ณ ศาลาสุวรรณบรรพต (หลวงพ่อโชคดี) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ตอนหนึ่งว่า
“การเขียนบทความธรรมะ จะเป็นประโยชน์กับพระพุทธศาสนาต่อไป เมื่อมีพระรุ่นใหม่ที่เขียนหนังสือขึ้นมา เพราะรุ่นครูบาอาจารย์ก็ค่อยๆ ร่วงโรยไป บางองค์บางรูปมรณภาพไปแล้ว ที่ยังอยู่บางองค์บางรูปก็ชราภาพมาก เราจึงสร้างพระรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อทำงานในด้านนี้ โดยเฉพาะพระสงฆ์เรายังขาดพระเขียนหนังสือ เวลาเรียน เราก็เรียนเรียงความแค่กระทู้จากพระคัมภีร์ เป็นการเขียนที่จบในห้องสอบ แต่ไม่สามารถนำวิชาเรียงความ หรือการเขียนกระทู้นั้นมาปรับให้เข้ากับงานเผยแผ่ผ่านงานเขียนได้”
ท่านยังกล่าวต่อมาอีกว่า การที่เรียนเขียนกระทู้ธรรมในชั้นนักธรรมตรีโทเอกของพระ เป็นพื้นฐานของการเขียนที่ดี ซึ่งทุกรูปก็เขียนได้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการเผยแผ่
“สำหรับการฝึกอบรมเพื่อให้เกิดพระนักเขียนนี้ สำคัญก็คือ ให้ตั้งใจให้ดี แม้จบการอบรม แต่ภารกิจยังไม่จบสิ้น พระนักเขียน และครูบาอาจารย์ ยังมีพันธะทางใจต่อกัน เพื่อสานงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไปไม่สิ้นสุด โดย พระมหา ดร.ขวัญชัย กิตติเมธี ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร เจ้าของผลงานเขียนมากมาย อาทิ “ผ้าเหลืองเปื้อนยิ้ม” และ พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป เจ้าของนามปากกา “ธรรมรตา”ประธานกลุ่มเพื่อชีวิตที่ดีงาม มีผลงานเขียน อาทิ “อย่าปล่อยให้ทุกข์มาบุกใจ”, “จะเป็นยอดคน ต้องเก่งตน เก่งคน เก่งงาน ”เป็นต้น จะช่วยเป็นไกด์แนะนำพระทุกรูปที่ผ่านการอบรมให้มีงานเขียนออกมาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นโลกออนไลน์ หนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสาร ฯลฯ
“เพราะการเผยแผ่ทางพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ ต้องได้รับการฝึกฝนมาก ไม่ว่าทั้งการเทศน์ การบรรยาย ปาฐกถา ซึ่งได้รับการเอาใจใส่ มีการพัฒนาพอสมควร แต่ด้านการเขียนยังไม่มี เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ดีขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการเผยแผ่”
ในครั้งนั้น ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ได้ยกตัวอย่าง ท่านคุณานันทเถระ ผู้รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ในศรีลังกา และในประเทศจีน ที่คนส่วนใหญ่บนโลกรู้จักคือ พระถังซัมจั๋ง ผู้มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในเรื่องการแปลคัมภีร์พระไตรปิฎกไปสู่ภาษาจีน ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการแปลพระไตรปิฎกไปยังภาษาอื่นๆ อีกมากมายบนโลกใบนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สนใจการบวชเรียนมากยิ่งขึ้นในโลกตะวันตก ทั้งหมดก็มาจากการได้อ่านบันทึกซึ่งตีพิมพ์ในรูปของหนังสือ การติดตามไปฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ต่างๆ จนกระทั่งเดินทางหาพระอุปัชฌาย์อาจารย์เพื่อออกบวชในที่สุด
ทั้งหมดนี้ก็มาจากการ “บันทึก” ทำให้ปัจจุบันพระพุทธศาสนาได้มีโอกาสเผยแผ่ไปในทุกพื้นที่การสื่อสาร ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณกล่าวไว้ในครั้งนั้นว่า ทุกวันนี้ช่องทางการเผยแผ่มีมากมาย โดยเฉพาะโลกที่เชื่อมโยงไปสู่สังคมออนไลน์ สามารถเขียนได้ทุกวัน ค่อยๆ ทำไป จากนั้น นำบทความที่เขียนมาจัดเรียบเรียงให้เกิดหมวดหมู่ ต่อเนื่องกัน เมื่อรวบรวมแล้วนำบทความนี้มาหาอาจารย์ มาช่วยดูให้ว่าควรจัดลำดับอย่างไรที่จะรวบรวมเป็นเล่มอีกครั้ง
เนื่องจากความลึกซึ้งในพระพุทธศาสนามีความสำคัญมาก ท่านเจ้าคุณอาจารย์ให้กำลังใจพระว่า ขอให้ทุกท่านที่เข้าอบรม จดจำให้ดีว่า จะให้โลกจดจำเราอย่างไร ก็จดจำผ่านตัวหนังสือ แม้ยุคการเขียนใส่แผ่นหิน ในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช เราจดจำได้ ก็เพราะตัวหนังสือที่จารึกลงไปบนเสาหิน ต่อมา ตัวหนังสือ ก็ถูกบันทึกไว้ในที่ต่างๆ ด้วยตัวหนังสือ
“ขอให้ทุกท่านตั้งหลักให้ดี ไม่ว่าจะเขียนอะไรก็แล้วแต่ ให้มองเข้าไปในความรู้สึกของคน ว่าคนต้องการอะไร เขาต้องการธรรมะ เป็นธรรมะที่เข้าไปเยียวยาความทุกข์ เยียวยาความรู้สึกนึกคิด ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ของเขาได้ นั่นคือเป้าหมายที่สำคัญ
“สิ่งหนึ่งที่ฝากไว้ ก็คือ อยากให้มีสักรูปสองรูปสามรูป เขียนเล่าประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา บอกเล่าการเดินทางของพระพุทธศาสนา ทุกยุคทุกสมัย มีความเป็นมาอย่างไร ถ่ายทอดออกมาให้อ่านง่ายๆ ก็เพื่อให้คนอ่านเห็นการเดินทางของพระพุทธศาสนาที่ยังประโยชน์และความสุขของชาวโลกมาทุกยุคทุกสมัย ตามรอยพระพุทธเจ้า
“เพราะการดำรงไว้ซึ่งบันทึกทางพระพุทธศาสนา
ก็เพื่อเกื้อกูลผู้คนให้ดับทุกข์ในใจตน และให้ความสุขกับชาวโลกนั่นเอง”
(จากคอลัมน์ มโนปณิธาน โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ )