ผู้เขียนเดินทางไปทำข่าวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทุกสาย มาตลอด ๓๐ ปีของชีวิตการเป็นผู้สื่อข่าวทั้งทีวี นิตยสารและหนังสือพิมพ์ โดยความสนใจส่วนตัว เห็นว่าพระพุทธศาสนา คือคำตอบของการแก้ทุกข์ทั้งในส่วนตนและสังคมได้ ผู้เขียน จึงเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติธรรมอย่างเป็นรูปแบบ กับคุณแม่ ที่สวนโมกขพลาราม ๔ เดือนที่ธรรมาศรมธรรมมาตา เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ทำให้ผู้เขียนพบว่า ปัญหาโลกแตกทุกวันนี้ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม มาจากจิตทั้งนั้น จิตคิดไม่ดี ทำไม่ดี พูดไม่ดี ก็สร้างทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่น เมื่อจิตคิดดีพูดดี และทำดี ก็สร้างสรรค์ให้ตนเองมีความสุขและสังคมก็สงบสันติ ผํูเขียนจึงน้อมนำพระธรรมในพระพุทธศาสนามารับใช้สังคมในทุกๆ มิติ ตลอดจนฝึกฝนตัวเองในการขัดเกลากิเลสในใจตนก็ด้วยหนทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ให้ โดยมีหลักธรรมและครูบาอาจารย์คอยชี้แนะ เมตตาสั่งสอบอบรมให้อยู่บนหนทางในการเฝ้ามองตน มองจิตตน ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ก็ได้เมตตาให้สติ ปัญญา แก่ผู้เขียนให้เห็นว่า นี่แหละหนทางที่จะนำไปสู่การดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ โลกนี้มิได้มีอะไรได้ดั่งใจเลย แม้เราทำดีที่สุด เราก็ต้องวาง เพราะโลกอาจไม่ได้คิดอย่างเรา
แต่หน้าที่ของเราคือ ทำความดี ทำความเพียรต่อไปอย่างไม่ลดละ ….
รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จึงกลับมา เพื่อส่งต่อปณิธานอันงดงามของท่านอาจารย์ผู้สานงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ทันสมัยในยุคนี้ และอนาคต เพื่อดับทุกข์ทางใจให้กับผู้คนที่กำลังหาหนทาง…
และนี้คืออีกเส้นทางหนึ่ง ที่จะนำไปสู่ปลายทางแห่งสันติภายในใจอย่างแท้จริง
“ต้นเทียน เปลวเทียน แสงเทียน“
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ตอนที่ ๓๙
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
พระพุทธเจ้าเป็นต้นเทียน
เราพระสงฆ์ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ต่อเปลวเทียน
เพื่อที่จะนำแสงเทียนไปส่องสว่างให้กับญาติโยม
จากคำกล่าวข้างต้นของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงหน้าที่ของตนที่เป็นเพียงสะพานสื่อธรรมเล็กๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของต้นเทียน เปลวเทียน และแสงเทียนผ่านสื่อต่างๆ ที่พอทำได้ ด้วยความศรัทธาในปฏิปทาและวัตรปฏิบัติของท่านอาจารย์เจ้าคุณในขณะนั้น เพราะท่านไม่เคยทำอะไรเพื่อตนเอง ชีวิตของท่านคือพระพุทธศาสนา คือธรรมะ และเป็นธรรมอันบริสุทธิ์ ท่านเป็นแบบอย่างของพระสุปฏิปันโนอีกรูปหนึ่งในสังคมไทยที่หายากในยุคสมัยนี้
ผู้เขียนจึงตั้งใจปฏิบัติบูชาถวายชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรมเพื่อให้ตัวเองได้ฝึกตนให้มีธรรม และเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาที่ครูบาอาจารย์ได้สร้างทางไว้อย่างไม่ย่อท้อเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีลมหายใจต่อไปเป็นการช่วยเหลือคนทุกข์ที่กำลังมีมากขึ้นๆ อย่างน่าตกใจในยุคนี้ ให้เกิดปัญญาในการแก้ทุกข์ในตนเองได้
เพราะเมื่อเราฝึกตนจนสามารถเป็นที่พึ่งของตนเองได้ การเผยแผ่ธรรมก็สามารถทำได้ด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง สังคมซึ่งเต็มไปด้วยคนทุกข์มากมายก็จะเห็นหนทางในการแก้ทุกข์ในตนไปด้วย คืออานิสงส์จากงานพระพุทธศาสนาที่ครูบาอาจารย์ได้พากเพียรกันบ่มเพาะจนก่อเกิดเป็นงานเผยแผ่ธรรมะอย่างสร้างสรรค์ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ดังหลักสูตรพระวิทยากรกระบวนธรรม โดย กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม และหลักสูตรพระวิทยากรบรรยายธรรมโดย กลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม ที่ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเสียสละมาโดยตลอด ซึ่งพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ทั้งสองกลุ่มได้เมตตาเขียนบทความในคอลัมน์ต่างๆ มาลงในหน้า “ธรรมวิจัย” แห่งนี้ และหน้า “พระไตรสรณคมน์” ทุกวันพฤหัสบดี เป็นธรรมทานมาหลายปีแล้ว
ชีวิตที่อุทิศเพื่อผู้พระพุทธศาสนาเป็นการปิดทองหลังพระอย่างเงียบๆ ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงคำกล่าวของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ว่า
กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม และกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม เป็นดั่งปีกทั้งสองข้างของการทำงานที่จะสืบสานและขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป
จากปณิธานของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) มาถึงท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) และพระวิทยากรสองกลุ่มตลอดจนคณะสงฆ์สี่ภาคในการสานต่องานพระพุทธศาสนาเชิงรุกตามมติมหาเถรสมาคม ในนาม “สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นผู้สร้างทีมพระวิทยากรกระบวนธรรม และ พระวิทยากรบรรยายธรรม ที่สืบสานงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งหกด้านมาจนถึงปัจจุบัน กับผลงานเชิงประจักษ์ที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่ช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ทางใจมากมายมาตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา ด้วยความเสียสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมของพระสงฆ์ผู้มีอุดมการณ์ทางพระพุทธศาสนามา ตามปณิธานบูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกมาโดยตลอด
และด้วยความเสียสละ มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว กล้าหาญทางธรรมของอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ที่ได้บุกเบิกมาด้วยความอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนาด้วย อจลศรัทธา คือ ศรัทธาที่มั่นคงไม่คลอนแคลน ทำให้มโนปณิธานของท่านยิ่งทรงพลังชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านการทำงานของคณะสงฆ์ทั้งสองกลุ่มที่เป็นดั่งแสงเทียนที่จุดต่อๆ กันจนส่องสว่างยิ่งขึ้นในการขับไล่อวิชชาที่มืดบอดในใจคนให้สว่างกระจ่างใจขึ้นเรื่อยๆ
ทุกคำที่ท่านสอนจึงเต็มไปด้วยพลังอันบริสุทธิ์เปล่งประกายอยู่ในใจของลูกศิษย์ตลอดมา และน้อมนำมาพากเพียรปฏิบัติอย่างไม่ย่อท้อ แม้จะต้องพานพบความทุกข์และอุปสรรคมากมายในชีวิตเพียงใดก็ตาม ดังที่ท่านปรารภว่า ก็เพราะการเกิด เป็นทุกขสัจจ์อันยิ่งใหญ่มิใช่หรือ พระพุทธองค์ จึงหาหนทางออกจากทุกข์มามอบให้ฝึกฝนกันจนกว่าจิตจะเกลี้ยงเกลาจากอาสวะกิเลสน้อยใหญ่ กระทั่งดับตัณหาอันเป็นต้นรากแห่งทุกข์ได้ในที่สุด และทั้งหมดนี้คือหนทางในการออกจากองทุกข์อันยิ่งใหญ่ในสังสารวัฏ
๕. ความเป็นผู้ฉลาดในความควรแก่กาลของสมาธิ
ในภาคปฏิบัติ “สัมมาสมาธิ” จากประสบการณ์ตรงของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ได้บันทึกไว้ในครั้งนั้น เพื่อเข้าสู่วิปัสสนา คือการมองเห็นกายใจตามความเป็นจริง มีรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่อง ความเป็นผู้ฉลาดในความควรแก่กาลของสมาธิ คือ รู้ความพอดีของสมาธิ ไม่คร่ำเคร่งปฏิบัติจนดูเคร่งเครียด ต้องรู้ที่จะผ่อนหนักผ่อนเบา ผ่อนสั้นผ่อนยาว เมื่อเร่งความเพียรจนดูเคร่งเครียดไม่ผ่อนคลาย ก็ปรับอารมณ์ผ่อนคลายลงให้พอดีพอเหมาะพอสมแก่ปัญญาและสภาพร่างกาย ไม่หย่อนยานเกินไปจนดูไม่เบิกบานในการปฏิบัติ ถูกนิวรณ์ครอบงำจนเบื่อหน่ายฝืดฝืน ก็เร่งความเพียรขึ้นมาแผดเผาความหย่อนยานไม่สดชื่น
นั่งเกินพอดี ก็คือ เมื่อนั่งสมาธิแล้วเกิดสงบ เกิดปีติบ้าง เกิดสุขบ้าง ก็อยากนั่งแช่ หรือ อยากเดินจงกรมอยู่อย่างนั้น มีอารมณ์แช่นิ่งไม่อยากเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ซึ่งก็จะกลายเป็นเกร็งเคร่งเครียด ไม่ใช่เคร่งในการปฏิบัติ แต่เป็นเคร่งเครียด คือ เคร่งจนเครียด ใครอยู่ใกล้ก็พลอยเครียดไปด้วย ไม่มีความผ่อนคลาย เบิกบาน มีแต่ความตึงเครียด เพราะจิตเกร็งเคร่งเครียด ก็ไม่สามารถยกจิตขึ้น ให้เกิดความเบิกบานจากภายใน
กาลไหนควรเดินจงกรม กาลไหนควรปรับไปนั่งสมาธิก็ปรับให้พอเหมาะพอดีกัน กาลไหนควรปล่อยให้จิตกระทบอารมณ์อย่างคนธรรมดาทั่วไป ก็ปล่อยให้จิตได้มีโอกาสรับอารมณ์อย่างธรรมดา เพื่อให้จิตได้รับรู้ความโกรธบ้าง ความขัดเคืองใจบ้าง ความดีใจความเสียใจบ้าง ความรู้จึงจะค่อยๆ เติบโตขึ้นมา เรียกตามการปฏิบัติก็ว่า อินทรีย์จึงจะแก่กล้าขึ้นมา
กาลไหนเกิดปีติลิงโลดใจ ดีใจเกินไป ใจฟูขึ้น ก็ประคองใจไว้ ข่มใจไว้ให้พอดีๆ ค่อยชะลอความลิงโลดใจให้เคลื่อนผ่านไป กาลไหนเกิดความห่อเหี่ยว หดหู่ จิตใจไม่เบิกบาน เป็นจิตตก ก็ยกจิตขึ้นประคองจิตไว้ให้พอดีๆ
(โปรดติดตามตอนต่อไปวันอังคารหน้า)
รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๓๙ ต้นเทียน เปลวเทียน แสงเทียน
(หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒)
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ต้นเทียน เปลวเทียน แสงเทียน