การที่เราได้เกิดในประเทศไทย ที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และมีพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนและอัครศาสนูปถัมภก อีกทั้งได้ศึกษาปฏิบัติธรรมนับเป็นพรอันประเสริฐของชีวิต การมีครูบาอาจารย์จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะพาดำเนินให้เราฝึกฝนและเติบโตทางจิต ทางวิญญาณ เพื่อเป็นผู้ที่พึ่งตน พึ่งธรรมในตนได้ในที่สุด จักได้เป็นประโยชน์กับพระพุทธศาสนาต่อไปในภายภาคหน้า คำสอนของครูบาอาจารย์จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องพากเพียรฝึกตนขัดเกลากิเลสในตนให้ก้าวผ่านข้อจำกัดของตนเองทีละข้อๆ เพื่อไปสู่อิสรภาพทางใจอย่างแท้จริง
รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๓๘
“ความดี ความงาม และความจริง จักดำรงอยู่ตลอดไป”
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เป็นเลขานุการในขณะนั้น ก็ทำหน้าที่ช่วยสานงานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสถิตสถาพรในประเทศไทยต่อไปตลอดกาลด้วยการทำงานอย่างหนักของพระวิทยากรทั่วประเทศที่สละชีวิตเพื่อธรรมตามอุดมการณ์ทางพระพุทธศาสนา ตามแนวพระบรมราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ในพระปฐมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ”
การดำเนินรอยตามพระปฐมราชโองการและพระราชกรณียกิจนานัปการ นำมาสู่หลักการของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งก่อกำเนิดในปีพ.ศ.๒๕๕๑ ในเดือนธันวาคม อันเป็นเดือนมหามงคล วันเฉลิมพระชนมพรรษา แห่งสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระบามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ โดยมีสมมติฐานการจัดตั้งมาจากพื้นฐานของสังคมไทยที่มีความเจริญมั่นคง วัฒนาสถาพรมีวัฒนธรรมแห่งความเป็นชนชาติไทย จึงถึงปัจจุบัน สืบเนื่องมาจาก คุณธรรม จริยธรรม แห่งพระพุทธศาสนา
โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ปรารภถึงสถานการณ์ของสังคม มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสิ่งสำคัญคือ สังคมไทยมีความอ่อนแอ ผู้คนในชาติมีความคิดอันหลากหลาย มีข้อโต้แย้งกันมากขึ้น กอปรกับสังคมที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกวิถีทาง จึงปรารภประหนึ่งว่า ผู้คนในสังคมไม่เห็นความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรมของพระพุทธศาสนาว่าเป็นรากฐานเดิมของสังคมไทย
เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงได้จัดตั้งโครงการชื่อว่า “โครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์” ขึ้นมา ให้เป็นหน่วยงานของคณะสงฆ์โดยมติมหาเถรสมาคม โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ ศาลาเฉลิมพระเกียรติฯ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ได้สร้างพระเณรกลับบ้านเกิดในการสานต่องานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งหกด้านอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำให้งานพระพุทธศาสนามีลมหายใจและมีพลังชีวิตในการเกื้อกูลสังคมอย่างเงียบๆ เป็นการปิดทองหลังพระมาโดยตลอด
ผู้เขียนมีความปีติที่ได้เป็นลูกศิษย์ท่าน ได้ช่วยเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาอันเป็นกุศลซึ่งเป็นการฝึกตนเองของผู้เขียนไปด้วย ท่านได้มอบหลักการไว้ให้กับลูกศิษย์ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสไว้ว่า
๑. หน้าที่ในการศึกษาธรรม
๒. หน้าที่ในการปฏิบัติธรรม
๓. หน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม
และข้อ ๔. หน้าที่ในการรักษาธรรม
ทั้งสี่ข้อเป็นหลักการสำคัญในการฝึกตนอย่างยิ่งยวดที่ผู้เขียนต้องหมั่นกลับมาทบทวนตนเองและธรรมวิจัยในแต่ละข้อเพื่อน้อมนำมาปฏิบัติอย่างเข้าใจและก้าวเดินตามรอยครูบาอาจารย์ต่อไปด้วยจิตใจที่มั่นคงในศรัทธาปสาทะพระพุทธศาสนาเหนือเศียรเกล้า
(๔) ความเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
คราวที่แล้ว ในบันทึกเรื่อง “สมาธิ” ของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในครั้งนั้น อธิบายเรื่อง ความเป็นผู้ฉลาดในการดำเนินจิตให้สมาธิตั้งอยู่นาน ไม่ได้ใส่หัวข้อไว้ ก่อนที่จะเข้าสู่วิปัสสนา การเห็นกายใจตามความเป็นจริง จึงมาเริ่มหัวข้อในฉบับนี้เป็นตอนที่ ๔ เลย ไว้มีโอกาสจะนำมาอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำความเข้าใจในการฝึกสมาธิในชีวิตประจำวันด้วยตนเองต่อไป
การออกจากสมาธิ
ท่านอธิบายว่า เมื่อจะออกจากสมาธิ ก็ต้องเป็นผู้ฉลาดในการออกจากสมาธิ ต้องกำหนดรู้สภาวะในขณะนั้นเป็นอย่างไร แล้วหมายใจกำหนดรู้สภาวะนั้นไว้ จากนั้น ก็ถอนจิตออกไปเพ่งกำหนดรู้ที่ลมหายใจ ลมหายใจก็จะเด่นชัดขึ้นมาจากละเอียด ปรากฏเป็นหยาบ แล้วความรู้ตัวทั่วพร้อมทางกายก็จะปรากฏชัดตามมา ความรู้สึกปวด เจ็บ เมื่อย เหน็บชา ก็จะปรากฏให้รับรู้
การออกจากสมาธิไม่ถูกวิธีจะเปรียบก็เหมือนกระโดดลงจากตึก และสมาธิในบัลลังก์ต่อไปจะต่อกันไม่ติด การนั่งสมาธิจึงเหมือนไม่มีความก้าวหน้า จะเหมือนเริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง เพราะไม่สามารถกำหนดอารมณ์ให้ต่อเนื่องไม่ขาดสาย ไม่ให้มีระหว่างขั้น
เมื่อจะออกจากสมาธิต้องจดจำหมายรู้สภาวะจิตขณะก่อนจะออกจากสมาธิแต่ละบัลลังก์นั้นว่าเป็นอย่างไร อยู่ในสภาวะที่ดีหรือไม่ดี แนบแน่นหรือไม่แนบแน่น กระสับกระส่ายทุรนทุราย ร้องขออยากจะออกจากสมาธิ หรือนั่งสงบดีแล้วถอนออกมาตามเวลาอย่างมีสติกำหนดรู้ หรือออกจากสมาธิเพราะสะดุ้งจากเสียงอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นรอบตัว เช่น มีคนเรียกเสียงดัง มีสิ่งของหล่นลงข้างๆ มีสัญญาณเตือนบอกกำหนดระยะเวลา เป็นต้น
ถ้าออกจากสมาธิด้วยอาการสะดุ้ง จะเหนื่อย หัวใจจะเต้นแรงถี่ มีอาการเหมือนคนสะดุ้งตกใจ ให้มีสติระลึกรู้ขณะจิตทุกระยะ
อาการดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นในระยะแรกของการปฏิบัติสมาธิ พอปฏิบัติไปสักระยะหนึ่ง เมื่อเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม สติบริบูรณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดเสียงอะไรขึ้น ก็จะมีสติกำหนดรู้ แล้วเสียงนั้นก็จะเงียบหายไปในที่เกิด เสียงเกิดที่ไหนก็จะเงียบหายไปในที่นั้น คือเสียงเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น กลายเป็นสิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นก็ดับไป สติก็จะนำจิตตัดเข้าสู่ความว่างภายใน
การออกจากสมาธิต้องออกทีละขั้นตามลำดับ เหมือนลงจากบ้านตามขั้นบันได ต้องลงทีละขั้นตามลำดับ ไม่ใช่กระโดดลงมาจากชั้นบนเลย หรือเหมือนออกจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต้องออกทีละโปรแกรมไปตามลำดับ จนกว่าจะไปถึงปิดเครื่อง ถ้าออกจากคอมพิวเตอร์แบบปิดเครื่องเลย หรือแบบถอดปลั๊กไฟเลย โดยไม่ออกตามลำดับโปรแกรม เครื่องอาจจะพังได้
การออกจากสมาธิตามลำดับสภาวะอารมณ์ ก็เพื่อให้สภาวะอารมณ์ต่อกันติดในการนั่งสมาธิในบัลลังก์ต่อๆ ไป คือ ให้การนั่งสมาธิในแต่ละบัลลังก์เป็นปัจจัยหนุนซึ่งกันและกันนั่นเอง
การไม่กำหนดสติออกจากสมาธิก็เหมือนหลับแล้วสะดุ้งตื่นขึ้นมาก็ลุกไปเลย
(โปรดติดตามตอนต่อไปวันอังคารหน้าหน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก และที่นี่ Manasikul.com )
รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๓๘ ความดี ความงาม ความจริง จักดำรงอยู่ตลอดไป
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หน้าธรรมวิจัย นสพ. คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๒