เมื่อวันที่ผู้เขียนได้รับความเมตตาและโอกาสอันวิเศษให้ไปเป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนบทความทั่วไป “ ในโครงการ พระนักเขียน ประจำปี ๒๕๖๐ ณ ศาลาสุวรรณบรรพต(หลวงพ่อ โชคดี) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ จัดขึ้น มีพระจากทั่วประเทศที่สมัครเข้ารับการอบรมประมาณ ๒๕ รูป
รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ตอนที่ ๑๕
“ย่ามที่ครูบาอาจารย์มอบให้ หมายถึงทำอะไรให้ถือพระศาสนาเป็นที่ตั้ง”
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ช่วงบ่ายวันนั้น ถือเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งในชีวิตของฉันเลยก็ว่าได้ ที่ได้มีโอกาสถวายความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความ ซึ่งเป็นประสบการณ์การเรียนรู้จากการทำข่าวมาตลอดเกือบ ๓๐ ปีและได้สรุปลงในเวลาเพียงสามชั่วโมง เพื่อให้พระสงฆ์ได้ประโยชน์สูงสุดในเรื่องศิลปะการเขียนบทความที่ไม่มีอยู่ในตำรา ซึ่งท่านจะได้ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก เช่นฉัน แต่สามารถที่จะนำเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ฉันพบระหว่างการทำงาน ไปประยุกต์ใช้ได้เลย ในการเขียนบทความธรรมะเพื่อประโยชน์ทางพระพุทธศาสนาในการดับทุกข์ให้กับผู้คน แล้วเผยแผ่ในทุกๆ มิติของพื้นที่การสื่อสารในปัจจุบันที่มีมากมาย ซึ่งกลายมาเป็นคอลัมน์ “เขียนโลกทะลุธรรม” ในหน้า “ธรรมวิจัย” นสพ.คมชัดลึก ทุกวันอังคารแห่งนี้ด้วย
ท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระราชกิจจาภรณ์ เลขานุการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ กล่าวปิดโครงการพระนักเขียนในวันนั้น ตอนหนึ่งว่า
“การที่พระมาเขียนบทความธรรมะ จะเป็นประโยชน์กับพระพุทธศาสนาต่อไป เมื่อมีพระรุ่นใหม่ที่เขียนหนังสือขึ้นมา”
“เพราะรุ่นครูบาอาจารย์ก็ค่อยๆ ร่วงโรยไป บางองค์บางรูปมรณภาพไปแล้ว ที่ยังอยู่บางองค์บางรูปก็ชราภาพมาก เราจึงสร้างพระรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อทำงานในด้านนี้ โดยเฉพาะพระสงฆ์เรายังขาดพระเขียนหนังสืออยู่มาก
“การเรียนเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมในนักธรรมชั้นตรี โท และเอกของพระ เป็นพื้นฐานของการเขียนที่ดี ซึ่งทุกรูปก็เขียนได้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการเผยแผ่ ดังนั้น ให้ตั้งใจให้ดี แม้จบการอบรม แต่ภารกิจยังไม่จบสิ้น พระนักเขียน และครูบาอาจารย์ ยังมีพันธะทางใจต่อกัน เพื่อสานงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไปไม่สิ้นสุด ”
หลังจากนั้น ท่านได้มอบประกาศนียบัตรให้กับคณะวิทยากร และ มอบย่ามให้กับผู้เขียนด้วย แล้วบอกว่า นี่ย่ามพระ
ย่ามพระที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์มอบให้ในวันนั้น เป็นของขวัญอันวิเศษสุดในชีวิตของผู้เขียนเลยก็ว่าได้ ช่วงเวลานั้น ผู้เขียนได้ใคร่ครวญถึงภารกิจหลังออกจากงานอันเป็นที่รักยิ่งมาตลอดชีวิตในโครงการเกษียณก่อนเวลาของบริษัท หลังจากนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปิดตัวลง ย่ามใบนี้เหมือนหมุดหมายสำคัญว่า การทำหน้าที่เป็นสะพานเผยแผ่ธรรมะยังมีต่อไปไม่สิ้นสุด แม้จะหยุดจากงานประจำก็ตามที
ทำให้ระลึกถึงย่ามของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ที่มอบให้กับท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ ในวันแรกที่ท่านเดินทางมาถึงวัดสระเกศฯ เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร ซึ่งได้เล่าเกริ่นไว้เล็กน้อยในตอนที่แล้ว…
“วันแรกที่อาตมาเดินทางมาถึงวัดสระเกศฯ ในขณะที่ยังเป็นเณรยังไม่ได้เข้าไปกราบหลวงพ่อสมเด็จ ยังไม่รู้ที่ไหนเป็นที่ไหน ก็มีเหตุต้องให้พบท่านโดยบังเอิญ ขณะที่ท่านกำลังเดินกลับจากทำวัตรค่ำ อาตมาเปิดประตูออกไปส่องๆ ดูนอกคณะซ้ายขวา แบบสงสัย พบท่านก็ตกใจ ลนลานรีบปิดประตูเสียงดังปัง! ได้ยินเสียงหลวงพ่อทุ้มลึก หนักแน่น ดังมาว่า ใคร? ยิ่งกลัวใหญ่ หลบเข้าไปตัวสั่นอยู่ที่หลังประตู
” ท่านให้พระที่เดินตามมาเรียกให้ออกไปพบ แล้วบอกว่า อย่ากลัวๆ คราวหลังเจอหลวงพ่อแล้วอย่าหนีนะ ต้องเข้ามาหา …”
” ท่านคงเห็นท่าทางตื่นกลัว จึงพูดปลอบแล้วก็ถามที่มาที่ไป มาอยู่กับใคร ถามถึงสำนัก ถามถึงครูบาอาจารย์ ไม่นึกว่า คำว่า “ต้องเข้ามาหา” จะเป็นเหมือนพรแรกที่ได้รับจากหลวงพ่อสมเด็จ ทำให้ต้องมาสนองงานท่านในโอกาสต่อมา
“จากนั้น ท่านก็ให้พระไปเอาผ้าไตรจีวร เอาย่ามมาให้ ย่ามที่รับจากหลวงพ่อสมเด็จ อาตมาใช้มาร่วม ๒๐ ปี ตั้งแต่เป็นสามเณร แม้บวชเป็นพระได้ย่ามใบใหม่มา ก็ยังใช้ใบเดิมของหลวงพ่อสมเด็จ พอด้ายยุ่ยปริขาดตรงไหนก็ใช้เข็มเย็บเอง ทุกวันนี้ย่ามใบนั้นอาตมาใส่พานตั้งไว้ที่หัวนอน เพื่อระลึกถึงเมตตาธรรมของท่าน”
“ขอเล่าไว้ตรงนี้ด้วยว่า ที่จริง ในปีก่อนหน้านี้ หลวงพ่อสมเด็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ปีรุ่งขึ้น คือ ใน พ.ศ. ๒๕๓๔ ก็มีพิธีสมโภชสุพรรณปัฏ ในช่วงเดือนมีนาคม ล่วงเลยมาจนถึงเดือน พฤษภาคม อันเป็นวันวิสาขบูชา ธรรมเนียมวัดสระเกศฯ สิ้นสุดการรับสามเณรใหม่เข้าสำนักของแต่ละปีในเดือนนั้น ด้วยวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๖ หลังวันวิสาขบูชา ก็จะเริ่มเปิดเรียนของสำนัก
“ปีนั้น อาตมาเข้ามาวัดสระเกศฯ หลังวันวิสาขบูชาไปแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าหลวงพ่อสมเด็จจะรับหรือไม่ แต่ท่านก็รับไว้เป็นรูปสุดท้ายของปีนั้น นั่นแสดงถึงความเมตตาอย่างยิ่งของหลวงพ่อสมเด็จ แม้ธรรมเนียมก็ปรับได้ตามความเหมาะสม
“ยิ่งไปกว่านั้น การที่ท่านเอาย่ามมาให้สามเณรเพิ่งพบครั้งแรก ดูโดยทั่วไปเหมือนเป็นสิ่งเล็กน้อย จนคิดว่า ท่านไม่น่าจะใส่ใจเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ แต่ท่านก็ไม่ละเลย ไม่มองข้ามไป ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงพ่อสมเด็จ เข้าใจว่า พระเณรรูปอื่นๆ ในสำนักคงได้ย่ามกันหมดแล้วในช่วงวันงาน แต่อาตมามาอยู่ใหม่ ท่านคงคิดว่า ยังไม่ได้ จึงเอามาให้”
ท่านเจ้าคุณอาจารย์ เล่าต่อมาว่า เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความละเอียดลออ ใส่ใจทุกรายละเอียด ใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่นของหลวงพ่อสมเด็จ เห็นความสำคัญของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไม่มองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่จะไม่เห็นแก่เล็กแก่น้อย
“เวลาสอนมุมมอง หลวงพ่อสมเด็จท่านสอนให้เห็นความสำคัญในมิติใหญ่เป็นชั้นๆ จากตัวเรา สำนัก คณะสงฆ์ และสูงขึ้นไป คือ พระศาสนา เราอาศัยสำนักเพื่อพัฒนาตัวเรา ต้องนึกถึงบุญคุณของสำนัก ให้สำนักได้อาศัยเราด้วย สำนักอยู่ได้ คณะสงฆ์ก็อยู่ได้ คณะสงฆ์อยู่ได้ คือ พระศาสนาอยู่ได้
“ท่านสอนเสมอว่า อะไรก็ตามถ้าเราได้ สำนักไม่ได้ พระศาสนาไม่ได้ อย่าเอา ถึงแม้เราไม่ได้ แต่สำนักได้ พระศาสนาได้ ให้เอา เราได้ สำนักได้ พระศาสนาได้ ให้เอา รวมความ คือ จะทำอะไรก็แล้วแต่ ให้ถือพระศาสนาเป็นที่ตั้ง”
ในความหมายที่ว่า ไม่ว่าทำอะไรก็ตามให้ถือพระศาสนาเป็นที่ตั้งนี้มีความหมายลึกซึ้งนัก และกว้างขวางยิ่ง เพราะถึงสุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งที่ทำไปก็เพื่อการละ การวาง และเพื่อการดับทุกข์โดยสิ้นเชิงนั่นเอง สิ่งใดเป็นไปเพื่อการละ เพื่อการเสียสละ เพื่อการพ้นทุกข์ สิ่งนั้น คืองานของพระพุทธศาสนาโดยแท้
จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร )
ตอนที่ ๑๕ ย่ามที่ครูบาอาจารย์มอบให้ หมายถึงทำอะไรให้ถือพระศาสนาเป็นที่ตั้ง”
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐