มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ได้รับการตีพิมพ์มาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๓๐๐ วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐ คอลัมน์ ธรรมวิจัย ในครั้งนั้น คือ ตอนที่ ๒ ความฝันในวัยเยาว์

และการตีพิมพ์ครั้งที่สองใน นสพ.คมชัดลึก คอลัมน์ มโนปณิธาน หน้าธรรมวิจัย วันอังคารที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ )

จึงขอนำฉบับที่ตีพิมพ์มาแล้วทั้งสองครั้งมาฝากท่านผู้อ่าน ในวันที่ผู้เขียนรำลึกถึงคำสอนของท่านและนำมาฝึกปฏิบัติตนเสมอ และด้วยความที่ท่านมองภาพรวมของพระพุทธศาสนาอย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นทรายเม็ดหนึ่ง อิฐก้อนหนึ่ง ก็มาจากแรงศรัทธาของชาวบ้าน ในการนำมาหลอมรวมเป็นพระเจดีย์ ก็คือศูนย์รวมจิตใจของผู้ที่ปฏิบัติจนเห็นธรรมที่ปรากฎในจิตแล้ว ความเมตตา กรุณาจึงปรากฎในจิตและอยากจะสร้างพระเจดีย์ฝากไว้กับพระพุทธศาสนา เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ภูมิปัญญาบูรพาจารย์ในบวรวิถีพุทธต่อไป ตราบชั่วกาลนาน …

(๓ ) ความฝันในวัยเยาว์

        เด็กชายเทอด วงศ์ชะอุ่ม เกิดเมื่อวันที่ ๑๖  กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔   เป็นบุตรของคุณพ่อเกิน และคุณแม่หนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม มีพี่น้องทั้งหมด ๔  คน หลังจากเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๖  ก็บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๒ ปีย่าง  ๑๓ ปี ที่วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) ต.กุดลาด อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

        ท่านเล่าให้ฟังว่า การบวชเป็นความฝันตั้งแต่เด็กๆ เคยตามโยมแม่ไปใส่บาตรตอนเช้าอยู่บ่อยครั้ง ชอบแอบมองจีวรพระ รู้สึกปลอดภัย อยากสัมผัส กลับบ้านก็เล่นเอาผ้าห่มมาห่อตัวทำเป็นจีวรแล้วถือกะละมังเดินไปมาเหมือนพระบิณฑบาต แต่โยมพ่อกับโยมแม่ไม่อยากให้บวช ด้วยความที่เข้าใจว่า การบวชต้องอดข้าวเย็น ต้องลำบาก ท่านคงไม่อยากให้ลำบาก คงกลัวว่าจะอดทนไม่ได้

“หนังสือสุทธิ” สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม
ปัจจุบันยังใช้หนังสือสุทธิเล่มที่บวชเป็นสามเณร
ตอนมาอยู่วัดสระเกศ เมื่ออายุครบบวชพระ ต้องเปลี่ยนหนังสือสุทธิตามการบวชพระ
ก็เขียนเล่มใหม่มาให้หลวงพ่อสมเด็จลงนามพระอุปัชฌาย์
ท่านบอกว่า ไปเอาเล่มเดิมมา ไม่ต้องเปลี่ยน อาจารย์เดิมของเรา จะได้อยู่กับเราตลอดไป

     “อาตมาสนิทกับ โยมปู่(พ่อใหญ่)กับโยมย่า(แม่ใหญ่) โยมทั้งสอง จิตใจดีอย่างน่าประหลาด ไม่เคยว่าร้ายใครๆ มองโลก มองคนในแง่ดีมาตลอด เมื่อก่อนชอบนอนอยู่ทุ่งนากับโยม พอถึงวันพระต้องคอยเก็บดอกพุทธป่าให้โยมแม่ใหญ่ ๒ ชุด ชุดหนึ่งไปบูชาพระที่วัด อีกชุดหนึ่งโยมจะบูชาที่หัวนอนก่อนนอน

      “ช่วงเย็นราวบ่ายสามโมง พระตีกลองแลง(ย่ำกลองตอนเย็น)ชาวบ้านก็จะรู้ว่าวันพระมาถึงอีกแล้ว ถึงทำนา ทำไร่ ทำสวนอยู่ก็จะวางมือจากงาน อาบน้ำอาบท่า ไปวัดสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้วฟังพระเทศน์ คนรับศีลอุโบสถก็จะค้างคืนที่วัด ส่วนคนที่ไม่รับอุโบสถก็กลับบ้าน

      “โยมย่าไม่รับศีลอุโบสถ พอกลับมาบ้าน ก็นำดอกไม้อีกชุดที่อาตมาเก็บเตรียมไว้ให้บูชาพระที่หัวนอน เวลาพระย่ำกลองฟังแล้วไพเราะจับใจ เด็กๆ ชอบฮัมปากไปตามจังหวะเสียงพระย่ำกลอง สะท้อนไปตามสายน้ำ ทุ่งนา ป่าไม้ พอตอนเช้าก็มีเสียงระฆังดังสะท้อนมาอีก บอกว่าพระจะออกบิณฑบาต เสียงระฆังกังวานไพเราะไม่แพ้เสียงย่ำกลอง

      “มีหน้าหนาวครั้งหนึ่ง นอนอยู่ทุ่งนากับโยมพ่อใหญ่โยมแม่ใหญ่ รุ่งเช้าโยมคงกลัวว่าหลานจะหนาวจึงก่อกองไฟให้ พอตื่นมาก็นั่งอังไฟ เวลาแสงอาทิตย์จับขอบฟ้าแสงสีเหลืองทองกระทบมาตามซังข้าว พร้อมกับเสียงระฆังดังก้องมาจากวัด จำได้ว่า เห็นเหมือนมีตัวอะไรลอยอยู่ในอากาศตามจังหวะระฆังเต็มไปหมด อาตมาต้องลุกขึ้นออกไปวิ่งไล่จับ … พอเข้าโรงเรียน ครูเขียนตัวโน้ตให้ท่องบนกระดานดำ จึงรู้ว่า ที่เห็นอยู่กลางทุ่งนั้นเป็นโน้ตเพลง ซึ่งน่าประหลาดใจมาก”

ครูบาอาจารย์เดิม” (ขวามือสุด) พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) หลวงพ่อวัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) จ.อุบลราชธานี  ,
(กลาง)พระครูภัทรวิหารกิจ(พร ภทฺทญาโณ) วัดกุดลาด
พระอุปัชฌาย์สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม
และ พระมหามังกร ปญฺญาวโร ที่สามเณรเคยอุปัฏฐากตอนอยู่ป่ากับท่าน ๔ ปี

        ไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อครั้งแผ่นดินไหวที่เนปาลอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน  ๒๕๕๘ กำลังของพระธรรมทูตในประเทศอินเดีย ได้ลงพื้นที่เดินทางไปช่วยเหลือเยียวยาผู้คนหลังประสบภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านปัจจัยสี่  โดยมีเจ้าคุณเทอดคอยช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง และเป็นที่ปรึกษาในการแต่งเพลง “แสงแห่งดาว” (Light of Stars) โดยศิลปินโฮป แฟมิลี่ ที่ฟังแล้วเป็นกำลังใจในการเผชิญกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างกล้าหาญ และเราทุกคนต่างเป็นแสงให้แก่กันและกันได้ ในยามที่หมดไฟ หรือ โลกมืดมิด

        ท่านเล่าว่า ความอ่อนโยนและอบอุ่นในวัยเยาว์ เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้มีความมั่นคงภายในใจเป็นอย่างมากในวันนี้ และความอบอุ่นเช่นนั้นเอง  ท่านมาพบอีกทีในแววตาของหลวงพ่อสมเด็จวัดสระเกศ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน ที่ทำให้ไฟแห่งอุดมการณ์ในการเผยแผ่ธรรมะไม่เคยมอดดับลง

(จากคอลัมน์ มโนปณิธาน  หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here