จากรายการหนึ่งที่นำเสนอปัญหา “การยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับ” โดยภายในรายการได้มีการนำเสนอประเด็นโดยนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และผู้แทนประชาชน โดยสรุปได้คราวๆ ว่า

ฝ่ายเห็นด้วยเสนอว่า “การยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับแล้วให้นักเรียน เรียนรู้ทุกศาสนา จะทำให้นักเรียนมองโลกได้กว้างขึ้น”

“เสรีพระพุทธศาสนาในนิกายอื่นๆ จะได้นำเสนอ เปิดโอกาสให้เรียนศาสนาอื่นเพื่อให้ไม่ให้เกิดความระแวง ควรจัดหลักสูตรแกนกลางแล้วให้สิทธิในการเลือก อยากให้เด็กมีทางเลือกในการเรียนวิชาศาสนาที่ตัวเองสนใจ เพื่อจะได้เข้าใจศาสนามากกว่าท่องจำ”

“ปัจจุบันการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาเป็นการเรียนเพื่อสอบไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้”

“ควรให้เด็กเลือกเรียนศาสนาที่ตัวเองสนใจเพื่อให้เด็กเข้าใจอย่างถ่องแท้มากกว่าการท่องจำเพื่อนำไปสอบ”

“การมีวิชาเสรีเพื่อให้เลือกวิชาศาสนาต่างๆ โดยสามารถสอดแทรกพระพุทธศาสนาไว้ได้ ไม่ได้สูญหายไปไหน และเราไม่จำเป็นต้องหาความหมายของชีวิตผ่านความเชื่อทางศาสนา และพระพุทธศาสนาไม่ใช่คำตอบเดียวที่เป็นทางออกของทุกชีวิต แค่เปลี่ยนวิธีการรับรู้มากขึ้นเท่านั้น การบังคับเป็นการกลัวมุมมองอื่นๆ มากเกินไป”

ฝ่ายไม่เห็นด้วยเสนอว่า “วิชาพระพุทธศาสนาก็เหมือนยา เรามียาดี แต่ขายไม่เป็น จึงน่าเสียดายหากเด็กไม่ได้เรียน”

“วิชาพระพุทธศาสนาสำคัญและมีประโยชน์ เพราะศาสนาพุทธไม่ใช่แค่ศาสนา แต่เป็นวัฒนธรรมของประเทศไทยด้วย พระพุทธศาสนาควรใช้คำว่าเป็นวิชาพื้นฐานมากกว่าคำว่าวิชาบังคับ”

  “การที่เราจะยกเลิก เราได้เห็นผลจริงหรือยังจากการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา การศึกษามีจุดประสงค์เพื่อการครองชีพ การศึกษาเพื่อสร้างตัวตนให้มีความสุข และศาสนาพุทธเป็นศาสนาเดียวหลุดพ้นจากทุกข์และคิดสร้างสรรค์”

“การยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาเหมือนกับการยกเลิกวิชาหน้าที่พลเมืองแล้วก็นำกลับมาในภายหลัง เราต้องรื้อโครงสร้างใหม่ และถ้ายกเลิกเด็กไทยจะเป็นศาสนาพุทธแต่เพียงทะเบียนบ้าน ไม่มีเรียนเรื่องนี้จริงจัง”

ท่าทีแบบนี้ในประเทศไทยไม่ค่อยเกิดบ่อยนัก แต่ที่ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดี คือ

๑. การใช้เหตุผลในสังคมไทย

ว่าไปแล้วในบรรดาวิชาที่เรียนกันจริงๆ มีกี่วิชา ? ที่สอนวิธีการให้เหตุผล และการตัดสินเหตุผลว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ เช่น วิชาปรัชญา ก็ดูเหมือนว่าจะถูกลดความสำคัญลง ทั้งที่ปัญหาเชิงข้อถกเถียงเยอะขึ้น แต่เรากลับทิ้งวิชาที่เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์และตัดสินแบบเป็นเหตุเป็นผลเสีย ก็เป็นที่น่าเสียดาย

อีกอย่าง การใช้เหตุผลนี้ยังไม่ควรจบแค่นี้ ต้องมีกระบวนการทำต่อ ต้องคุยกันอย่างจริงจัง ให้แจ่มชัดและตกผลึก สร้างเวทีพูดคุย หรือพัฒนารูปแบบต่างๆ ในการหาเหตุผลร่วมกันทั้งการสนทนาแบบวิภาษวิธี (dialectic) สุนทรียสนทนา (dialogue) หรือเวิร์ลคาเฟ่ (world cafe) ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเกิดจากการการเริ่มต้นหาเหตุผลกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่พูดแล้วก็ให้จบๆ ไป ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในวงการศึกษา

๒. เนื้อหาถือว่าตรงกับยุคสมัย เพราะในยุคนี้ถ้าไม่พูดถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพก็ดูจะไม่ทันสมัยนัก โดยเรากำลังมองไปที่เสรีภาพในการเลือกเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกทำบางอย่าง โดยการกระทำนั้นต้องไม่กระทบกับผู้อื่น เช่น เรามีสิทธิจะขับรถอย่างไรก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎจราจร เป็นต้น

การมีกฎเกณฑ์นั้นถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของสังคม เน้นความสุขสงบของการอยู่ร่วมกันและไม่เดือดร้อนคนอื่น เมื่อมองผ่านเรื่องพระพุทธศาสนาควรเป็นวิชาบังคับหรือเสรีนั้น ถ้าจะให้มองแบบมุมมองนี้เราจึงเน้นไปที่แนวคิดแบบสังคมมากกว่าปัจเจกบุคคล โดยสังคมเน้นอะไรจึงควรมีวิชาพระพุทธศาสนา เช่น

๑. เน้นประชากรส่วนใหญ่ เพราะสังคมไทยมีคนที่นับถือพระพุทธศาสนาจำนวนมากทำให้เชื่อได้ว่าวิถีชีวิตของคนไทยนั้นสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา และเมื่อคนส่วนใหญ่เชื่ออย่างนั้น เป้าหมายของสังคมจึงเน้นไปที่ความสงบของคนส่วนใหญ่ก่อน

๒. เน้นการใช้ประโยชน์ได้จริง เพราะการเรียนรู้นั้นต้องไม่ใช่รู้เพื่อรู้ หรือตอบสนองความเชื่อส่วนตัว แต่ต้องนำมาใช้ประโยชน์ได้ในวิถีชีวิตจริง และดังที่วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับศาสนาพุทธตั้งแต่เกิดจนตาย และมีวัดจำนวนมากจึงยังใช้ประโยชน์ได้จริงในสังคมไทย

เพียงแต่จุดอ่อนที่เรากำลังจะแก้ไขหรือปรับปรุงควรมองไปที่รูปแบบการสื่อสาร และเนื้อหาที่สื่อสารมากกว่าว่าเหมาะสมหรือไม่ ยิ่งได้คุยกันต่ออาจจะได้มุมมองจากทั้งคนสอน คนเรียน และประชาชน นักวิชาการ ไม่ว่าจะอย่างไร สังคมจะได้แก้ไขเริ่มมองเห็นปัญหา และแก้ไขอย่างมีเหตุผลบนการฟังและพูดกันอย่างมีเหตุมีผล

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙ ,ดร. ผู้เขียน
พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙ ,ดร. ผู้เขียน

ยกเลิกวิชาพระพุทธศาสนาใครได้ ใครเสีย โดย กิตติเมธี กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here