น้อมเศียรเกล้า อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓
ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์
ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม
ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
๙ มีนาคม ๒๕๕๗
คำปรารภ
เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว
ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ
ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ
อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”
ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม
(ตอนที่ ๑๙) มหาจุฬาฯ กับเรื่องเก่าๆ ที่ควรเข้าใจ
๓. มองสามมหาวิทยาลัยไทย ในยุคแรก
: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
มอง ๓ มหาวิทยาลัยไทย ในยุคแรก
ดูที่มหาวิทยาลัยแรก คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นี่เดิมทีเดียวนั้น ผู้บริหารสูงสุด ไม่เรียกว่าอธิการบดี คือไม่มีอธิการบดีแต่มีตําแหน่งที่เรียกชัดตรงลงไปเลยว่า “ผู้บัญชาการ” ในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ในช่วงปี ๒๔๖๐-๒๔๗๕ มีผู้บัญชาการ ๒ ท่าน แต่เพื่อไม่ให้เรื่องยืดยาว ขอไม่ออกนาม
ครั้นมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ได้เริ่มมีประกาศตั้งอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยมีชาวตะวันตกเป็นท่านแรก ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์เอ.จี.เอลลิส แต่ดํารงตําแหน่งอยู่ไม่นาน เพียงปีต่อมา ๒๔๗๙ ก็สิ้นสุด
ต่อจากนั้น ตําแหน่ง อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ผูกกับตําแหน่งการเมืองโดยที่ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๙ ถึง ๒๔๘๗ และ ๒๔๙๒ ถึง ๒๔๙๓ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๕ วาระ
(พ.ศ. ๒๔๗๙ ถึง ๒๔๘๗ และ ๒๔๙๒ ถึง ๒๔๙๓; มี ศ. ม.จ. รัชฎาภิเศก โสณกุล คั่น ในช่วง ๒๔๘๗-๒๔๙๒) ตามด้วย พล อ.ท. มุนีมหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฎ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ในรัฐบาล จอมพล ป.) ติดต่อกัน ๖ วาระ (๒๔๙๕-๒๕๐๔); จากนั้น (ในสมัยปฏิวัติ) จอมพล ประภาส จารุเสถียร (เป็นตั้งแต่ รมช.กระทรวงมหาดไทย จนถึง รองนายกรัฐมนตรี) ดํารงตําแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ ติดต่อกัน ๔ วาระ (พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๑๒)
สําหรับตําแหน่งเลขาธิการ ก็แต่งตั้งจากข้าราชการประจํา จึงไม่ต้องพูดยาว เพียงยกตัวอย่างก็พอ ขอให้ดูในช่วงต้นที่มหาจุฬาฯ เพิ่งเปิดไม่นาน
ดูแค่ปี ๒๔๙๕-๙๖ ซึ่งอยู่ในช่วงที่พล อ. ท. มุนีมหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฎ์ (รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม) เป็นอธิการบดีนั้น ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นปีที่ผู้เล่าเรื่องนี้ยังเป็นสามเณรเล็กๆ อายุ๑๔ ปี เดินทางเข้ามาเพื่อจะเรียนบาลีในกรุงเทพฯ พอดีว่า ปลายปีนั้น ที่จุฬาฯ เกิดกรณีโยนบกนายจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นปัญหายากลําบากที่มาเกิดขึ้นในสมัยของท่านเลขาธิการนี้ และเป็นข่าว ใหญ่ ฟังแปลกๆ ซึ่งค่อนข้างดังจนผู้เล่าก็พลอยได้ยิน พอพูดถึง ก็กลายเป็นเตือนความจําขึ้นมา แล้วก็นึกได้ว่า จนกระทั่งบัดนี้ ประเด็นหรือจุดที่เป็นเป้าของเรื่องนั้น ก็ยังเป็นปมค้างคาให้มีคนพลุ่งพล่านขัดแย้งกันอยู่ในบางคราว
ที่จริง เรื่องอย่างนี้เมื่อมีขึ้นมา ควรจะช่วยให้คนพัฒนามากขึ้น จึงจะเกิดประโยชน์ กลายเป็นผลดี เมื่อมีเรื่องโผล่ขึ้นมาเป็นปม ไม่ต้องไปพลอยผสมหรือพลิกหันต้านอะไร แต่เราได้จุดสะกิดที่จะสืบสอบค้นหาความรู้จริงยิ่งขึ้นไปให้ชัดให้แท้ครบแง่ด้านทั่วตลอด มากกว่าที่เขาว่ากัน และมองมุมหักมุมเหมุมโย้มุมเย้ให้รอบสักหน่อย ย่อยให้กลืนเข้าไปในสายธารของการศึกษา ไม่ต้องไปฮึดฮัดฮื่อฮ่าด้วยฉันทาหรือโทสา พิจารณาเหตุปัจจัยโดยแยบคาย ไม่ขาดเมตตากรุณาคลอหล่อเลี้ยง แต่เที่ยงตรงทรงอุเบกขา ก็จะเพิ่มพูนปัญญาให้นําไปสู่การแก้ปัญหาได้ด้วยกุศลวิธี
หันไปดูทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ้าง ที่นั่นจัดตั้งตาม พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช ๒๔๗๖ ซึ่งไม่มีตําแหน่ง อธิการบดี แต่มีตําแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น กล่าวคือ ผู้บังคับบัญชาสูงสุด ซึ่งรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อแรกสถาปนา มีชื่อ ตําแหนงว่า “ผู้ประศาสน์การ”
ผู้ประศาสน์การท่านแรก และท่านเดียว คือ ศาสตราจารย์ปรีดี พนมยงค์ ดํารงตําแหน่ง ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๗๗ จนกระทั่ง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ และ การเมือง พ.ศ. ๒๔๗๖ ถูกยกเลิกไป โดย พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ที่ตราออกมาใหม่ ทั้งเปลี่ยนแปลงชื่อมหาวิทยาลัย และเปลี่ยนชื่อตําแหน่งผู้บริหารสูงสุด
ที่ว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็น ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และ การเมือง (ม.ธ.ก.) ใน พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๙๕ นั้น ที่จริง ท่านไม่มีโอกาสได้ดูแลมหาวิทยาลัยต่อเนื่องโดยตลอด แต่ความผันผวนทางการเมืองเป็นเหตุให้การทําหน้าที่ของท่านสะดุด ขาดตอน จึงได้มีท่านที่รักษาการแทนผู้ประศาสน์การตามลําดับวาระ ๓ ท่าน
พร้อมกันนั้น ถัดลงมาจากผู้ประศาสน์การ ก็มีเลขาธิการมหาวิทยาลัย ได้แก่ ดร. เดือน บุนนาค ซึ่งเคยได้รักษาการแทนผู้ประศาสน์การในวาระหนึ่งด้วย
นับแต่มี พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ที่ตราออกมาใหม่ ยกเลิก ตําแหนงผู้ประศาสน์การ โดยมีอธิการบดีขึ้นมาแทนแล้ว ตําแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ผูกกับตําแหน่งทางการเมืองมาอีกนาน เริ่มด้วยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๐ (แทบจะต่อจากเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๔๗๙- ๒๔๘๗ และ ๒๔๙๒-๙๓); จากนั้น มีผู้รักษาการแทนอธิการบดี ๒ ท่าน ๒ ปีเศษ แล้วก็ถึง พลเอกถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีเป็นอธิการบดี พ.ศ. ๒๕๐๓-๐๖ ต่อด้วย พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอฯ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นอธิการบดี พ.ศ. ๒๕๐๖-๑๔ เมื่อพูดถึงอธิการบดีดังกล่าวรายนามมาแล้ว ผู้อ่านก็คงมองเห็นได้เองว่าการบริหารงานของมหาวิทยาลัยสมัยนั้น ดําเนินมาได้อย่างไร
นั่นก็คือ ในทางปฏิบัติ เลขาธิการนั่นเองเป็นหัวหน้างานบริหารทั่วไปจึงไม่จําเป็นต้องแสดงรายนาม (ถึงแม้ถ้าจะแสดง ก็ยาก เพราะเอกสารที่เกี่ยวข้องไม่แพร่หลาย)
ตามที่ได้ยกนามของเลขาธิการท่านแรก คือ ดร. เดือน บุนนาค มาให้ดูเป็นตัวอย่าง ก็คงพอเห็นแนวทางแล้ว ท่านผู้นี้เป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัย เป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเคยรักษาการในตําแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ดังได้กล่าวแล้ว
สําหรับลําดับที่ ๓ คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสถาปนาโดยพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๖ ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรก ได้แก่ หลวงสินธุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีเป็นอธิการบดีคนที่ ๒ ในช่วง พ.ศ. ๒๔๘๘-๘๙
ส่วนผู้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัย ก็ได้แต่งตั้งจากข้าราชการประจํา เมื่อมองเห็นลักษณะงานแล้ว ก็ไม่จําเป็นต้องแสดงรายนาม ขอกล่าวถึงไว้ท่านหนึ่ง ซึ่ง บริหารงานในช่วงเวลาที่ตรงกับระยะแรกของมหาจุฬาฯ คือ อาจารย์กวีวิสุทธารมณ์ซึ่งดำรงตําแหน่งรักษาราชการในตําแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๙๕ จนถึงปี ๒๕๐๑ แล้วได้ดํารงตําแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เมื่อพูดพอให้มองเห็นภาพกว้างๆ และได้ความเข้าใจแล้ว ก็จะยกตัวบทกฎหมายในเรื่องนี้มาให้ดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งจะช่วยให้ทั้งภาพและความเข้าใจที่มีแล้วนั้นชัดยิ่งขึ้น
ในที่นี้ขอแสดงบทบัญญัติเกี่ยวกับเลขาธิการมหาวิทยาลัย โยงไปถึงอธิการบดีบ้างเท่าที่เกี่ยวข้อง เฉพาะจาก พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะค้นหาได้ค่อนข้าง สะดวก แต่จะยกมาไม่มาก พอได้รูปเค้าและแหล่งค้น ซึ่งท่านที่ต้องการจะไปดูได้เอง
*บทบัญญัติต่อไปนี้มีใน พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕ มาตรา ๑๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย โดยตําแหน่ง อธิการบดีเป็นอุปนายกโดยตําแหน่ง
มาตรา ๑๕ สภามหาวิทยาลัยมีอํานาจหน้าที่ดั่งนี้
(๑) …
(๕) แต่งตั้งผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งมีคุณวุฒิตามมาตรา ๒๒ เป็นเลขาธิการมหาวิทยาลัย หรือให้พ้นจากตําแหน่ง
มาตรา ๒๑ อธิการบดีมีอํานาจหน้าที่ดั่งนี้…
มาตรา ๒๒ เลขาธิการมหาวิทยาลัย ต้องมีวิทยฐานะ…
มาตรา ๒๓ ให้เลขาธิการมหาวิทยาลัยทําหน้าที่เป็นเลขาธิการสภามหาวิทยาลัย และมีหน้าที่ช่วยอธิการบดีในฝ่ายธุรการทั่วไปของมหาวิทยาลัย ประสานงานกับคณะ และแผนกต่างๆ อํานาจหน้าที่มีดั่งนี้
(๑) รักษาเอกสารต่างๆ ของมหาวิทยาลัย (๒) ควบคุมการทะเบียนและสถิติของนักศึกษา
∗ “ระเบียบมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๙๐” ที่องค์ปฐมสภานายกประกาศใช้ในการประกาศตั้งมหาจุฬาฯ เมื่อ ๙ ม.ค. ๒๔๙๐ มีบทบัญญัติอันเทียบเคียงได้กับกฎหมายที่ร่วมสมัยเหล่านี้ดังข้อ ๑๙ ว่า “เลขาธิการมหาวิทยาลัย มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยอธิการบดีควบคุมงานธุรการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ กับ ควบคุมทะเบียนสถิติและบัญชีของมหาวิทยาลัยทั้งหมด”
(๓) ควบคุมการบัญชีตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
(๔) ตรวจตราดูแลการเงิน การพัสดุสถานที่และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัย ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
(๕) กิจการอื่นที่อธิการบดีมอบหมายหรือที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
พึงสังเกตว่า ตามบทบัญญัตินี้เลขาธิการมีอํานาจหน้าที่อย่างหนึ่ง คือ “(๒) ควบคุมการทะเบียนและสถิติของนักศึกษา” เท่ากับรวมงานนายทะเบียนด้วย นับว่าเป็น ตําแหน่งที่สําคัญมากสําหรับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยบางแห่งในต่างประเทศ มีตําแหน่งที่เรียกว่า Registrar ซึ่งมิใช่เป็นแค่นายทะเบียน หากเป็นผู้บริหารสําคัญ มี อํานาจตั้งแต่ตัดสินรับนักศึกษา ในกรณีอย่างนี้ เราจึงถือ Registrar เป็นเลขาธิการ
หลังจากนี้ ๒๑ ปี ก็ได้มีพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่๕) พ.ศ. ๒๕๑๖ ออกมา ซึ่งยุบเลิกตําแหน่งเลขาธิการ และจํากัดความหมายของอธิการบดีให้ชัดขึ้น ให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชารับผิดชอบของ อธิการบดี ดังที่พอจะเห็นว่า ต่อแต่นี้ อธิการบดีเป็นผู้ทํางานตัวจริง (ผู้ใหญ่สายการเมืองมีแนวว่าจะไปมีตําแหน่งในสภามหาวิทยาลัย?)
[ถ้านับแต่ต้นที่มี พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งมีดร.เดือน บุนนาค เป็นเลขาธิการท่านแรก ตําแหน่งเลขาธิการ ม.ธ. ก็มีอยู่นานมาก ถึง ๔๐ ปี]
พึงดูบทบัญญัติใน พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่๕) พ.ศ. ๒๕๑๖
ต่อไปนี้ (มาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ ที่ยกเลิก คือข้อว่าด้วย เลขาธิการมหาวิทยาลัย)
มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕…และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๒ ให้มหาวิทยาลัยนี้อยู่ในความดูแลของสภามหาวิทยาลัย…ให้อธิการบดีเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยโดยตําแหน่ง ให้รองอธิการบดีเป็นเลขานุการสภามหาวิทยาลัยโดยตําแหน่ง ในกรณีมีรองอธิการบดีหลายคน ให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งรองอธิการบดีคนหนึ่งเป็นเลขานุการสภา มหาวิทยาลัย”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑ ๙ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๑๙ ให้มีอธิการบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการบริหาร
งานของมหาวิทยาลัย จะมีรองอธิการบดีคนหนึ่งหรือหลายคนทําหน้าที่เป็นผู้ช่วยก็ได้…”
มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกมาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๕
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมือง โดยมองแบบพระ ไมใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์ และ ภาวการณ์ของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเพียงพอ เพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลก ของมนุษย์ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด
จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณยแก่โลก
ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่า จะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูด เพราะว่ามหาจุฬาฯ ก็ดําเนิน เดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กําลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้น เวลานั้น มหาจุฬาฯ อยู่ในบรรยากาศ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น
ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯ ก็เพื่อมี การศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบําเพ็ญกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลก ดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง
“ต่อไปข้างหน้า หากพระสงฆ์ไม่มีการศึกษา ก็ไม่รู้ว่าพระสงฆ์จะอยู่ตรงจุดไหนของสังคมไทยและสังคมโลก สิ่งที่คณะสงฆ์จำเป็นจะต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คือ การศึกษาของพระเณร และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาลในต่างประเทศทั่่วโลก”
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf