น้อมเศียรเกล้า อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์

ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม ๒๕๕๗

คำปรารภ

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม

(ตอนที่ ๑๙) มหาจุฬาฯ กับเรื่องเก่าๆ ที่ควรเข้าใจ

๒. มหาจุฬาฯ ทําไมผู้บริหารเป็นเลขาธิการ

: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ภาพในอดีตเมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ภาพในอดีตเมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา

มหาจุฬาฯ ทําไมผู้บริหารเป็นเลขาธิการ

รู้กันทั่วไปว่า ในมหาวิทยาลัยทั้งหลาย หัวหน้าผู้บริหาร หรือผู้บริหารสูงสุด คือ อธิการบดี คําว่า “เลขาธิการ” ได้ยินแต่ที่อื่น เช่น เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติหรือ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ(ปัจจุบัน สองนามนี้ไม่มีแล้ว – เปลี่ยนเป็น เลขาธิการสภาการศึกษา ใน ศธ.) ทําไมที่มหาจุฬาฯ สมัยนั้น มีเลขาธิการเป็นผู้บริหาร

อันนี้เป็นเรื่องยุคสมัยของบ้านเมือง แต่เบื้องแรก พึงทราบก่อนว่า มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะมีตัวตนได้จริงตามสมมติในสังคม ต่อเมื่อมีกฎหมายรองรับ หรือเป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมือง มิฉะนั้น ก็ถือวาเป็นของเถื่อน ไม่มีจริง

แม้เมื่อยังไม่มีจริง หรือเมื่อบ้านเมืองยังไม่ยอมรับโดยกฎหมาย ตนต้องการหรือ พยายามให้บ้านเมืองยอมรับ ก็ต้องจัดดําเนินการให้เป็นไปตามระบบกิจการอย่างของเขา อย่างน้อยไม่ให้เขายกเป็นข้ออ้างได้ง่ายๆ ที่จะปฏิเสธเสียแต่ตั้งต้น พอจัดเข้าระบบอย่างที่เขายืนยันแล้ว ก็มีทางเดินหน้าหรือก้าวรุดไปได้

เรื่องเดิมมีว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ร.๕ โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกหนังสือพระ จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาจัดเป็นบาลีวิทยาลัยขึ้นที่วัดมหาธาตุ เรียกว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” เป็นครั้งแรกที่ใช้นามวิทยาลัยในประเทศไทย

ต่อมา มี “ประกาศพระราชปรารภ ในการก่อพระฤกษสังฆเสนาสน์ราชวิทยาลัย” ที่ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓ แผ่นที่ ๒๕ วันที่ ๒๐ กันยายน ร.ศ. ๑๑๕ หน้า ๒๖๕-๒๖๘ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ โปรดเกล้าฯ ให้บรรจุในหีบศิลาพระฤกษ์แห่งสังฆิกเสนาสน์ สําหรับมหาธาตุวิทยาลัย ที่ทรงประกาศ พระราชปรารภนี้ไว้ว่า “เพื่อเป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรมแลวิชาชั้นสูงสืบไปภายน่า พระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อให้เป็นที่เฉลิมพระเกียรติยศสืบไป” (วันที่ทรงวางศิลาพระฤกษ์คือ ๑๓ กันยายน ร.ศ. ๑๑๕)

กาลล่วงมา ๕๑ ปี โดยรําลึกถึงพระราชประสงค์ ตามประกาศพระราชปรารภนั้น อันมีคําว่า “วิชาชั้นสูง” ซึ่งเป็นความหมายของ “อุดมศึกษา ” มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เปิดดําเนินการศึกษา ซึ่งว่าโดยกิจการ เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ และว่าโดยสาระของงาน เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ณ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐

อย่างไรก็ตาม กิจการที่เป็นทางการในประเทศชาติต้องเป็นไปตามกติกาของ บ้านเมืองในเวลานั้นๆ คือมีกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยทั้งหลาย เมื่อถึงเวลานั้น ต้องมีพระราชบัญญัติรองรับเป็นของตนโดยเฉพาะ อันกําหนดวางระบบงานบริหารจัดการทั้งหมด

เพื่อให้เห็นชัดขึ้น ขอให้มองระบบงานของมหาจุฬาฯ เมื่อเปิดการศึกษาในปี ๒๔๙๐ นั้น โดยเทียบกับมหาวิทยาลัย ๓ แห่งแรกของประเทศไทย คือ

๑. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดจาก ใน ร. ๖ โปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ใน ร. ๕ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยให้สังกัดในกระทรวงธรรมการ และในปี ๒๔๙๐ นั้น มีพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๘๖ รองรับ

๒. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดิมชื่อ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และ การเมือง (ม.ธ.ก.) ถือวันสถาปนาโดยพิธีเปิดในวันที่ ๒๗ มิ.ย. ๒๔๗๗ จัดตั้ง ตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๖ ซึ่งให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาขึ้นต่อ มหาวิทยาลัยนี้ ต่อมา พ.ร.บ. นี้จนถึง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๘๖ ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งตัดคําว่า “การเมือง” ออกจากชื่อมหาวิทยาลัย และยกเลิก ตําแหนงผู้ประศาสน์การ โดยใช้ชื่อตําแหน่งว่าอธิการบดีแทน

๓. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาปนาเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ โดย พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๖

(ต่อจากแห่งที่ ๓ คือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีอีก ๒ มหาวิทยาลัยได้รับการสถาปนาใน พ.ศ. ๒๔๘๖ คือปีเดียวกันนั้น ได้แก่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ,๗ ก.พ. และ มหาวิทยาลัย ศิลปากร, ๑๒ ต.ค. ทั้งสองแห่งนั้น เวลานั้น ให้การศึกษาเฉพาะทาง ทํานองเดียวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงกล่าวเพียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นตัวอย่างของทั้งรุ่น)

พึงสังเกตว่า มหาวิทยาลัยทั้งสาม (รวมอีก ๒ ด้วย คือทั้งห้า) นั้น มีพ.ร.บ. ต่างหากกัน ซึ่งตรงเวลากัน คือ พ.ร.บ. ฉบับ พ.ศ. ๒๔๘๖ ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ

เป็นอันว่า ในช่วงใกล้พ.ศ. ๒๔๙๐ มหาวิทยาลัยเท่าที่มีอยู่ของประเทศไทย มี ระบบการบริหารจัดการดําเนินงาน ตามที่กําหนดวางไว้ในพระราชบัญญัติสําหรับมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น

ถ้าจะนับด้วย ก็พูดว่า ในช่วงใกล้ พ.ศ. ๒๔๙๐ นั้น ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่ไม่มีพ.ร.บ. รองรับ ๒ แห่ง คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ณ วันที่ ๓๐ ธ.ค. ๒๔๘๘ เปิดการศึกษา ๑๖ ก.ย. ๒๔๘๙ และ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายพระพุทธศาสนา ณ วันที่ ๙ ม.ค. ๒๔๙๐ เปิดการศึกษา ๑๘ ก.ค. ๒๔๙๐

มหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ ๒๑ ม.ค. ๒๕๐๗ เป็นต้นไป อันถือเป็นวันสถาปนาของม.ช.

หลังจากนี้นาน เมื่อมีพ.ร.บ. สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ ออกมา จึงเกิดมีมหาวิทยาลัยเอกชน (รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนระดับต่างๆ) ขึ้นในประเทศไทย ดังมีสถาบันที่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งขึ้น อันถือว่าได้รับสถาปนาใน พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นรุ่นแรก ตามที่พบรายชื่อ ได้แก่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (เริ่มการเรียน-สอนในระดับการศึกษาที่เปิดขึ้น ตั้งแต่ปี ๒๔๘๓) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (เริ่มปี ๒๕๐๕) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(เริ่มปี ๒๕๑๑) มหาวิทยาลัยพายัพ (จ.เชียงใหม่,เริ่มปี ๒๕๑๗)

มหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ต้องมีพระราชบัญญัติรองรับจําเพาะของแต่ละแห่ง แตอาศัย พ.ร.บ. สถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น [เท่าที่ทราบ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ . ๒๕๔๖ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่๒) พ.ศ. ๒๕๕๐] จัดตั้งโดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี

ในฝ่ายมหาวิทยาลัยของรัฐ ต่อมา ก็มีความเปลี่ยนแปลงก้าวใหม่โดยที่หลาย แห่งต้องการมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระจากระบบราชการ จึงแยกไปเป็น มหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการ แต่ยังมีฐานะเป็นหน่วยงานในกํากับของรัฐ มีการใช้คําเรียกให้ง่ายว่า “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” (รวมอยู่ในประเภทสถาบันอุดมศึกษา ในกํากับของรัฐบาล) ไม่มีรายได้จากเงินที่กําหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดิน แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปี

ถือกันว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐแห่ง แรก โดยออกนอกระบบตั้งแต่ก่อตั้งใน พ.ศ. ๒๕๓๓

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้เปลี่ยนฐานะไปเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกํากับของรัฐแล้ว โดยพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราช วิทยาลัย เมื่อมีพระราชบัญญัติออกมารองรับใน พ.ศ. ๒๕๔๐ แล้วก็ได้มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ แต่อยู่ในกํากับของรัฐ เช่นว่านี้

ย้อนกลับไปที่เรื่องเก่าของมหาจุฬาฯ ดังว่าค้างไว้ ขอให้ดูระบบงานเมื่อแรกตั้งในปี ๒๔๙๐ โดยเทียบเคียงมหาวิทยาลัยของรัฐ ๓ แห่งแรก คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (๕ ปีหลังจากนี้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดังนั้น การที่จะพูดถึงระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย จึงว่าไปตามระบบของมหาวิทยาลัยทั้งสามนั้น ในช่วงเวลานั้น

ในระบบงานของมหาวิทยาลัยยุคแรกนั้น ตําแหน่งหลักในการดําเนินกิจการของมหาวิทยาลัย มี ๓ คือ นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีและเลขาธิการ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระพรหมคุณาภรณ์ เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระพรหมคุณาภรณ์ เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ในที่นี้ที่ควรพูดถึง คือ อธิการบดีและเลขาธิการ ซึ่งเป็นตําแหน่งของผู้บริหาร

อธิการบดีนั้น ก็ดังที่ทราบกันตลอดมา ไม่ว่าจะเขียนจํากัดความอย่างไร ก็คือเป็นหัวหน้างานบริหาร ทํานองเดียวกับใน พ.ร.บ. เฉพาะอย่างยิ่งในยุคใกล้ ๆ นี้ที่บางฉบับว่า “เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบงานทั้งปวงของมหาวิทยาลัย” บางฉบับว่า “เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย” บางฉบับว่า “เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัย”

ส่วนเลขาธิการมหาวิทยาลัย นอกจากเป็นเลขาธิการสภามหาวิทยาลัยแล้ว ก็มีหน้าที่ช่วยอธิการบดีในธุรการทั่วไปของมหาวิทยาลัย ประสานงานกับคณะและแผนกต่างๆ โดยมีอํานาจหน้าที่ราว ๕ ข้อ โดยเฉพาะข้อที่ว่า “กิจการอื่นที่อธิการบดีมอบหมาย หรือที่กําหนดไว้ในข้อบังคับของมหาวิทยาลัย” นี่คือเปิดกว้าง จะว่ารวบยอด ก็แทบจะได้

เรื่องอํานาจหน้าที่ตามตัวบทกฎหมายนั้น ก็แคให้แนวทาง วางขอบเขต เดี๋ยวค่อยยกตัวบทมาดูกันบ้าง แต่จุดสําคัญโดยสัมพันธ์กับยุคสมัย อยู่ที่งานบริหารเชิงปฏิบัติการ

ในสภาพของบ้านเมือง โดยสัมพันธ์กับการเมืองในยุคนั้น คงเห็นได้ไม่ยากว่า การตามรู้ดูแลควบคุมชุมชนในสถาบันที่เรียกว่ามหาวิทยาลัย เป็นเรื่องใหญ่สําคัญมาก

ว่าโดยรวบรัด ไปๆ มาๆ อธิการบดีที่เรียกได้ว่าเป็นหัวหน้าสถาบันนั้น ก็กลายเป็นตําแหน่งที่พูดอย่างชาวบ้านว่า เป็นเรื่องเชิงเกียรติยศ (หรือคุมนโยบายการเมือง)

โดยนัยนี้มหาวิทยาลัยของรัฐเวลานั้น จึงมักตั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีท่านใดท่านหนึ่ง ให้เป็นอธิการบดี บางทีอธิการบดีก็มาเป็นหัวหน้าในพิธีบ้าง เซ็นหรือลงนามในคําสั่งและประกาศต่างๆ บ้าง

ส่วนตัวงานจริงในทางปฏิบัติจะทําอย่างไร นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี จะรู้ทั่วหรือจะทําไปถึงย่อมยากจะเป็นได้แต่ก็มีข้อที่เปิดให้คือมอบหมายแก่เลขาธิการ ก็เลยเป็นเรื่องของเลขาธิการ เท่ากับว่าเลขาธิการเป็นหัวหน้างานบริหารในทางปฏิบัติ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมือง โดยมองแบบพระ ไมใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์ และ ภาวการณ์ของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเพียงพอ เพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลก ของมนุษย์ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด

จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณยแก่โลก

ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่า จะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูด เพราะว่ามหาจุฬาฯ ก็ดําเนิน เดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กําลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้น เวลานั้น มหาจุฬาฯ อยู่ในบรรยากาศ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น

ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯ ก็เพื่อมี การศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบําเพ็ญกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลก ดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com  และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here