น้อมเศียรเกล้า อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์

ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม ๒๕๕๗

คำปรารภ

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม

ตอนที่ ๑๘

หาคอมมิวนิสต์ เห็นโรงละครโลก

“ ไม่อยู่แค่การเมือง เป็นเรื่องของการเห็นโลก รู้จักมนุษย์ ”

: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) , สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา (ภาพในอดีต)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) , สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา (ภาพในอดีต)

“ไม่อยู่แค่การเมือง

เป็นเรื่องของการเห็นโลก รู้จักมนุษย์”

สงครามเย็นจบไป ไม่ได้หมายความว่า โลกจะสงบสบาย คนจะได้จะมีความสุข เพราะว่าสงครามร้อนที่เป็นสงครามตัวจริง ยังมากมาย และไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป เดี๋ยวก็เพิ่มขึ้นใหม่ๆ แม้แต่สงครามเย็นก็อาจจะกําลังก่อตัวที่จุดใหม่

แถมมีทายาทที่สงครามเย็นทิ้งไว้ให้คือ การก่อการร้ายสากล หรือการก่อการร้ายนานาชาติ (international terrorism) ดังเช่น การถล่มพินาศของตึก World Trade Center ที่เมืองนิวยอร์ก เป็นภัยร้ายแรงอย่างใหม่ที่ยากนักจะคาดได้น่าประหวั่นพรั่นพรึงไปถึงได้ทุกแห่ง และดูเหมือนว่า ยิ่งเป็นที่เจริญมาก ก็ยิ่งเป็นเป้าให้มุ่งหมาย ยิ่งเจริญ ยิ่งไม่ปลอดภัย แถมไอทีที่ก้าวหน้าก็กลายเป็นมาหนุนด้านทําลายนี้ได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม การก่อการร้ายนั้น เป็นเรื่องของคนที่เป็นศัตรูทําแก่กัน หรือมีผู้มุ่งร้าย ซึ่งมีได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่คนยุคนี้ที่ว่าเจริญมากนั้น มีภัยที่อยู่รอบตัว ข้างตัว ติดตัว ตลอดจนภัยในตัวมากขึ้นๆ และก็เป็นปัญหาจากความเจริญ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีเป็นตัวการใหญ่

รอบตัวก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เป็นพิษ เป็นภัย ก่อโรคแก่คน ก่อความเสียหายต่องานสร้างสรรค์ของอารยธรรม สหประชาชาติประชุมใหญ่โตเมื่อปี1972/ ๒๕๑๕ ทำท่าเอาจริงเอาจังกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้

ผ่านมา ๒๐ ปีถึง ค.ศ. 1992 มีการประชุมยิ่งใหญ่เป็น Earth Summit ได้ฟัง ผลงาน ปรากฏว่า แทนที่จะแก้ปัญหาได้ ปัญหากลับยิ่งมากขึ้น เรื่องขยะ เรื่องดินเสีย น้ำเสีย อากาศเสีย เวลานี้ก็เห็นกันอยู่ชัดว่าเป็นอย่างไร ก็ยังมองไม่ออกว่าจะแก้ได้อย่างไร

โรคาพาธ ความเสื่อมเสียสุขภาพ จากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมเสีย ก็มากมายอยู่แล้ว อันไม่เคยมีในสมัยที่โลกยังไม่พัฒนา แต่นั่นยังแค่รอบตัว ทีนี้ก็มีภัยที่ถึงตัว ที่ตัว ในตัว ซึ่งทั้งที่อารยธรรมแสนจะเจริญ ก็ไม่มั่นคงปลอดภัย อันได้แก่โรคภัยต่างๆ

ไปๆ ก็มีโรครายใหม่ๆ โผล่มาคุกคามเรื่อยๆ อย่างไม่อาจคาดหมาย เช่น โรคเอดส์ โรคอีโบลา ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ไม่รู้ว่าวันไหนมนุษย์จะหาทางแก้ไมทัน และกวาดเอาเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้ร้างหรือแทบหมดสิ้นจากโลกไป

นอกจากนี้ ยังมีโรคชนิดที่ว่า คนยิ่งเจริญ โลกยิ่งฟู่ฟ่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยิ่งก้าวหน้า มนุษย์ยิ่งก่อกรรมทําโรคให้แก่ตัวเอง ยิ่งทําตัวเองให้เป็นโรค เพราะตัวเองดําเนินชีวิตไม่เป็น ปฏิบัติต่อความเจริญที่ตัวทําขึ้นมาไม่ถูกต้อง ไม่พัฒนาจิตใจของตัวให้นําหน้าหรือเป็นนายเหนือความเจริญนั้น แต่กลับมีจิตใจที่ล้าหลัง หรือตกต่ำลงกลายเป็ทาสของความเจริญไปเสีย

อย่างง่ายๆ ซึ่งเห็นกันชัดแจ้ง เวลานี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าอาการ อ้วนเป็นโรคระบาดของโลกแล้ว ประเทศที่พัฒนามากๆ ที่เจริญนําหน้า ยิ่งก้าวนําไปมาก ยิ่งเป็นอย่างหนัก

จับดูที่อเมริกา ในช่วงราว พ .ศ. ๒๕๒๕ ตอนนั้น อเมริกาก็เจริญมากมานานแล้ว คนอเมริกันที่โตแล้ว อายุ๒๐-๗๔ ปีเป็นโรคอ้วนราว ๑๕% พูดพอให้เห็นภาพว่า ราว ๖-๗ คน ก็อ้วนเสีย ๑ คน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเวลานั้น โดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่พัฒนา ก็ต้องพูดว่าอเมริกามีคนอ้วนเยอะ

แต่ผ่านมา ๒๕ ปีถึง พ.ศ. ๒๕๕๐ อเมริกาพัฒนาเทคโนโลยีเช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ก้าวหน้าขึ้นมาอีกมาก คนอเมริกันรุ่นอายุ ๒๐ ปีขึ้นไปนั้น บัดนี้เป็นโรคอ้วนถึง ๓๔% หรือพูดให้เห็นง่ายๆ ว่า ในคนอเมริกัน ๓ คน เป็นโรคอ้วนเสีย ๑ คน

ทีนี้ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ เด็กๆ ที่ว่าเป็นอนาคตของชาติยิ่งอาการหนัก ศูนย์ ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ของอเมริกา บอกว่า ในช่วงเวลา ๒๐ ปี(1980-2000/๒๕๒๓-๒๕๔๓ ) คนอเมริกันเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น แยกเป็น ผู้ใหญ่อ้วนเพิ่มขึ้น ๒ เท่า เด็กและวัยรุ่นที่อ้วนเพิ่มขึ้นเกือบ ๓ เท่า

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอายุวัฒนะสรุปว่า ถ้าหยุดยั้งโรคอ้วนที่แพร่ขยายไปอย่างนี้ไม่ได้ เด็กอเมริกันรุ่นนี้จะมีสุขภาพด้อยลง และอาจจะอายุสั้นกว่าคนรุนพ่อแม่

แต่จะอายุสั้นลงไปบ้าง ก็ช่างเถิด หรือจะมีสุขภาพด้อยลงไปบ้าง ก็ไม่ต้องถือสาอะไร สําคัญที่ว่า ไม่ใช่แค่นั้น โรคอ้วนจะพาโรคอื่นพ่วงมาด้วยเป็นขบวน อย่างน้อย ร่างกายก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคโน้นโรคนี้ได้ง่ายๆ

โรคที่รอโจมตีคนอ้วน ก็เริ่มตั้งแต่เบาๆ เบาะๆ อย่างโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งคนอ้วนมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไปถึง ๒ เท่า แล้วก็โรคไขมันในเส้นเลือด (cholesterol) สูง ทั้งที่ยังเด็ก ก็เป็นเบาหวาน (แต่เดิมมาแทบว่ามีแต่ผู้ใหญ่ล้วนๆ จะเป็นเบาหวาน) เด็กน้ำหนักมากก็จะกระดูกหักง่าย แล้วก็มีปัญหากับข้อทั้งหลาย ตั้งแต่ข้อมือ และข้อเท้า

ใหญ่กว่านั้น ก็มีโรคหัวใจ (ตําราว่า ในอเมริกา คนไข้โรคหัวใจเกือบ ๗๐% เกิดปัญหาเนื่องมากับการมีไขมันมาก) สตรีที่อ้วนเสี่ยงจะเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นเกือบ ๒ เท่า ทุกคนที่อ้วนมีโอกาสเพิ่มขึ้น ๔๒% ที่จะเป็นมะเร็งปลายลําไส้ใหญ่ คนมีโรคเบาหวานเป็นคนอ้วนเสีย ๘๐%

ถ้าพูดกว้างออกไปในสังคม จะเล่าเรียน จะเข้างาน หรือแม้แต่จะคบหากัน คนอ้วนมักจะถูกเลี่ยงถูกหลบ เหมือนกับเป็นการแบ่งแยกหรือรังเกียจน้อยๆ โดยไม่รู้ตัว

ข้างบน ได้พูดถึงเมืองจีนไว้บ้าง จีนนั้นทั้งใหญ่โต และในช่วงที่ผ่านมานี้ได้ ก้าวหน้าขนานใหญ่ จะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่างไปไกล จึงลองไปดูเรื่องอ้วนนี้ที่เมืองจีนสักหน่อย

ตําราหนึ่ง (Encyclopædia  Britannica,  2013) บอกว่า ที่เมืองจีน เมื่อปี1990/๒๕๓๓ คนอ้วนมี๑ เปอร์เซ็นต์แต่ถึงปี 2005/๒๕๔๘ คือ ๑๕ ปี ต่อมา จีนมีคนอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น ๒๐ เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นผลของความเจริญแน่ๆ แต่เป็นผลดีหรือเป็นผลร้ายกันแน่

ผู้ที่เจริญขึ้นมาใหม่ น่าจะดูบทเรียนจากพวกที่ได้เจริญขึ้นมาก่อน และใช้บทเรียนนั้นให้เป็นประโยชน์ ตนควรจะได้แต่ส่วนที่ดี กันส่วนที่เขาเสียออกไป มนุษย์ที่ว่าเจริญ หาแสนยากหรือไม่มีเลยที่จะทําได้อย่างนั้น แต่ก็ยังพูดว่าพัฒนา บอกว่าเจริญ

จีนนั้นประสบความสําเร็จจริง มีเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ถึงปี ๒๕๕๖ ได้ก้าวเลยญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นเจ้าเศรษฐกิจอันดับ ๒ ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา แถมประกาศว่าตนจะขึ้นเป็นอันดับ ๑ ของโลกในไม่ช้า ซึ่งอเมริกาก็ยอมรับแล้ว

พร้อมกับเศรษฐกิจที่เติบโตเบ่งบาน และความเจริญฟู่ฟ่าทางวัตถุ จีนก็เจอ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาเร็วและรุนแรงยิ่งกว่าพวกประเทศที่พัฒนามาก่อน พร้อมไปกับปัญหาชีวิตจิตใจ ดังเช่นเรื่องโรคอ้วน ที่ได้พูดถึงเป็นทางคิดไว้ข้างบน

อีกด้านหนึ่งที่สําคัญ คือเรื่องวัฒนธรรม แง่ที่คนพูดถึงกันมาก เพราะเป็นของเด่น เห็นง่าย ชัดแก่สายตา ได้แก่การแต่งตัว

ย้อนหลังไปสมัยคอมมูน คนจีนแต่งตัวเป็นระเบียบ เรียบง่าย ทั้งหญิงและชาย เหมือนกันหมดทั้งประเทศ แต่สมัยนี้พอเศรษฐกิจฟู เปิดโอกาสให้คนก็แต่งตัวกันใหญ่ ตามใจชอบ ฉูดฉาด วื้ดวาด แวววับ วาบแวบ ข้ามแบบไปฝั่งตรงข้าม ก้าวกระโดดไปเลย

นี่ทําให้มองเหมือนว่า ก่อนนี้ ถูกกดถูกปัดถูกบีบถูกบังคับอยู่ พอปล่อย ก็ลิงโลด เตลิดไปเต็มที่ระเบิดกระจาย ไม่มีระเบียบ หรือพลิกไปตรงข้าม น่าจะเลยเถิดไป ถ้าถือว่าเดิมนั้นอยู่ในวินัย ก็แสดงว่าวินัยนั้นไม่ได้ผล เพราะว่าวินัยได้กลายเป็นการบังคับ

วินัยมิใช่การบังคับ แต่วินัยเป็นการฝึก ซึ่งต้องมีความพร้อมอยู่ข้างใน เฉพาะอย่างยิ่งคือพร้อมใจ ฝึกก้าวไป ให้ใจเอาได้แค่ไหน ก็พัฒนาได้แค่นั้น แล้วก็จะอยู่ตัว และพร้อมที่จะฝึกที่จะก้าวต่อไป

วิธีนี้ มิใช่การทําให้ใจพลุ่งขึ้นมาด้วยแรงปลุกใจ ซึ่งไม่ใช่ใจจริงของเขา พอแรง พลุ่งด้วยการปลุกเร้าหมดไป ก็ล้า ถ้าอยู่ต่อ ก็กลายเป็นบังคับ พอเปิด ก็ระเบิดเตลิดไป

ใจพลุ่งแรงด้วยการปลุกก็ใช้ได้และก็ดีได้ด้วย ถ้าให้เป็นขั้นตอนเริ่มต้น โดยมีการทําความพร้อมใจ ด้วยความรู้เข้าใจ แล้วก็เต็มใจ มารับช่วงต่อไป ให้เป็นการฝึกแท้จริง

ส่วนทางด้านอเมริกา ได้พัฒนาก้าวมาอีกไกล โดยเบาเสียงที่เน้นด้านอวกาศ มาเชิดความเป็นผู้นําทางไอที เฉพาะอย่างยิ่ง พาโลกให้เพลินไปในกระแสการเสพบริโภค หรือบริโภคนิยม ที่เดินด้านบันเทิงยิ่งขึ้น พร้อมกับความเจริญเบ่งบานเชิงธุรกิจ พูดรวมๆ ก็อยู่ในแนวทางสังคมของอเมริกาที่ว่าแล้วข้างต้น ยังไม่ควรใช้ที่ใช้เวลาพูดเพิ่มให้มากไป

รวมแล้ว ที่สร้างความเจริญกันมานั้น เป็นแค่อารยธรรมซีกเสี้ยว ยอมรับกันแล้วว่า เป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เพราะพัฒนาผิดทาง พัฒนาด้านเติมกิเลสอย่างเดียว และขาดความรู้ประมาณ ไม่รู้จักพอดี กลายเป็นสุดโต่ง โดงดิ่งเอียงข้าง ใกล้เสียหลักจะคว่ำลง

เป็นอันว่า อารยธรรมที่เป็นมา พัฒนาโลกได้เก่ง แต่พัฒนาคนไม่ถึงไหน ไม่ตรงจุดที่จะให้คนพัฒนา และไม่ได้มองว่าจะจัดโลกจัดสังคมอย่างไร ให้คนที่พัฒนามาได้ต่างระดับกัน อยู่ได้ดีมีสุข สมตามระดับการพัฒนาของตนๆ ที่จะให้พร้อมเพื่อจะพัฒนาต่อไป

ถึงเวลานี้เรื่องคอมมิวนิสต์ที่เป็นสังคมนิยม ก็ไม่ได้หมดไป ก็ยังแข่งกันอยู่นั่น แหละ กับทุนนิยม ที่เป็นปัจเจกชน เพียงแต่ว่า คนที่เอาลัทธิสองอย่างนี้มาไว้ที่ตัว แล้วเขาขัดแย้งแย่งขู่กันนั้น บางทีก็ดุดัง บางคราวก็ด้อมๆ ใครอยู่ในโลกนี้ก็ไม่พ้นไปได้จากแรงดึงแรงดันของเขา ไม่โดยตรง ก็โดยอ้อม เขาอาจจะวนวุ่นอยู่แค่วัตถุและเป็นแค่ที่สุด สองขั้วสองข้างของวัตถุนิยมเดียวกัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ควรรู้เท่าทัน และถ้าเขาแสดงหรือว่ามีอารมณ์ต่อกัน ก็ควรชวยให้สติเขาด้วย จะได้พัฒนาไปด้วยกัน

ที่พูดมานั้น ย้ำอีกทีว่า ผู้เล่านี้มิได้ใส่ใจในเรื่องการเมือง เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องธรรมดา โดยภาวะ เมื่ออยู่ในภพของมนุษย์ คนเขามีบ้าน มีเมือง มีโลก แล้วบ้าน เมือง และโลกนั้น เป็นอยู่เป็นไป มีสภาพเป็นอย่างไร คนที่อยู่ในบ้าน ในเมือง ในโลกนั้น อยู่กันดีอยู่กันร้าย มีสุข มีทุกข์อะไร มีเหตุปัจจัย มีองค์ประกอบภายนอกอันใด ที่มาโยงใยกับเหตุปัจจัย องค์ประกอบภายใน นําให้เป็นไปทางนั้นทางนี้มีทุกข์มีโศก มีเศร้า มีสุขอย่างไร

ตรงนี้แหละที่เรื่องมาถึงพระในภาวะที่เป็นความรู้อันจะให้มองออกได้ว่า เมื่อ บ้าน-เมือง-โลก เป็นอย่างนี้ จะทําอย่างไร จะช่วยแก้ไขให้บ้าน ให้เมือง ให้โลก ปลอดโทษทุกข์ประสบประโยชน์สุขตามธรรม ได้อย่างไร

ยิ่งเมื่อมีจุดมีแง่ที่เหล่าลัทธิข้างนอกพวกนั้น มองข้าม ไม่ใส่ใจ ทั้งที่สําคัญ ก็เป็นงานของพระที่จะนําพาให้เขามีจิตใจตรงดีและมีปัญญาที่จะจัดจะแก้ไข บนฐานของศีลของวินัย

ที่จริงนั้น ความเป็นไปในโลก เรื่องภาวะของโลกที่เป็นไปอย่างไรๆ นี้พระควรจะรู้ให้ทั่วให้ทันยิ่งกว่าคนทั่วไป

 เพราะพระมองเรื่องราวเหตุการณ์ความเป็นไปนั้น ในฐานะที่เป็นส่วนเป็นองค์อยู่ในระบบสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายทั่วทั้งหมด ซึ่งอิงอาศัย เชื่อมโยงส่งผลถึงกัน เมื่อรู้ทั่วถึงเท่าทัน จึงจะเห็นชัด มองออก เข้าใจจริง แก้ไขตรงจุดตรงแง่ ปฏิบัติจัดการได้ถูกที่ถูกทาง

ที่ว่ามานั้น ก็เป็นด้วยเจตนาที่ต่างกัน จะเห็นว่า ตามปกติแม้โดยไม่รู้ตัว คนทั่วๆ ไป รวมทั้งที่เรียกว่านักการเมือง เวลามองดูความเป็นไปในโลก ในบ้านเมือง รวมทั้งมองการเมือง มักมองโดยโยงโดยอิงกับตัว หรือโยงอิงหมู่พวกของตัว บางทีก็มองอย่างแยก พวกต่างฝ่าย แล้วก็เลยมองอย่างจับจุด เจาะจง ลงลึกจําเพาะลงไป อาจจะถึงกับหาแง่ หามุม หาจุดอ่อนของปรปักษ์เจตนาของเขาในการแก้ปัญหานั้น กลายเป็นการที่จะได้ การที่จะเอาอะไรบางอย่าง ตลอดจนเพื่อเอาชนะกัน

แต่พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมือง โดยมองแบบพระ ไมใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์ และ ภาวการณ์ของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเพียงพอ เพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลก ของมนุษย์ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด

จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณยแก่โลก

ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่า จะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูด เพราะว่ามหาจุฬาฯ ก็ดําเนิน เดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กําลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้น เวลานั้น มหาจุฬาฯ อยู่ในบรรยากาศ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น

ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯ ก็เพื่อมี การศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบําเพ็ญกิจ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลก ดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

(โปรดติดตามตอนต่อไป …)

กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com  และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here