ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

เข้าพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

(บทที่ ๓)

กำเนิดพระอภิธรรมปิฎก

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

กำเนิดพระอภิธรรมปิฎก

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาพระอภิธรรม ในสัปดาห์ที่ ๔ หลังการตรัสรู้ ทรงปรารภความกตัญญูที่มีต่อพระมารดา ซึ่งเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ สู่การแสดงปรมัตถธรรม อันมีนัยหลากหลาย ละเอียด ประณีตยิ่ง หตุการณ์นี้มีอธิบายไว้ใน อรรถกถาอัฏฐสาลีนี (คัมภีร์ที่แต่งขยายธรรมสังคณี อันเป็น ๑ ในพระอภิธรรม)

ครั้นแสดงพระอภิธรรมบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จบลงแล้ว พระพุทธมารดา ได้ดวงตาเห็นธรรม ทรงบรรลุโสดาปัตติผล

ส่วนเทวดาอีกจำนวนมาก นับได้หลายหมื่นโกฏ ได้บรรลุมรรคผลตามสมควรแห่งนิสัยตน

ขณะนั้นบนโลกมนุษย์ ประชาชนต่างพากันโศกเศร้า คร่ำครวญ เพราะไม่ได้พบพระพุทธเจ้านานหลายเดือน นับตั้งแต่ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้วได้เสด็จหายไป เปรียบเสมือนดวงเดือน หรือดวงตะวันหายไปจากโลก จึงพร้อมใจกันเข้าไปถามพระโมคคัลลานะ

พระโมคคัลลานะแม้ทราบเรื่อง เพื่อให้คุณของพระเถระรูปอื่นปรากฏ ก็ให้ประชาชนไปถามพระอนุรุทธเถระ ท่านพระอนุรุทธเถระ บอกประชาชนให้ทราบว่า พระบรมศาสดาเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา จะเสด็จกลับสู่โลก ณ เมืองสังกัสสนคร ในวันมหาปวารณา

ครั้นถึงวันมหาปวารณาออกพรรษา ประชาชนไปรอรับเสด็จพระพุทธองค์ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร และได้เกิดประเพณีทำบุญวันเทโวโรหณะ ในเวลาต่อมา

ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

พระเถระผู้นำพระอภิธรรมสืบต่อกันมา

พระอภิธรรมนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงแก่มนุษย์โดยตรง ทรงแสดงโปรดเทวดา ซึ่งมีสันดุสิตเทพบุตรเป็นประธาน เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธมารดา แล้วนำมาแสดงให้สารีบุตรเถระฟัง อีกต่อหนึ่ง

พระอภิธรรมแพร่หลายในโลกมนุษย์ ก็ด้วยอาศัยพระสารีบุตรเถระ และพระสาวก ทรงจำไว้สืบต่อกันมา

รายนามพระสาวกผู้สืบต่อพระอภิธรรมนั้น ปรากฏในอรรถกถาอัฏฐสาลินี ดังนี้

๑. พระสารีบุตร

๒. พระภัททชิ

๓. พระโสภิตะ

๔. พระปิยชาลี

๕. พระปิยปาละ

๖. พระปิยทัสสี

๗. พระโกสิยปุตตะ

๘. พระสิคควะ

๙. พระสันเทหะ

๑๐. พระโมคคัลลีบุตร

๑๑. พระติสสทัตตะ

๑๒. พระธัมมิยะ

๑๓. พระทาสกะ

๑๔. พระโสณกะ

๑๕. พระเรวตะ

พระเถระเหล่านี้ สืบต่อพระอภิธรรมเป็นลำดับมา จนถึงสังคายนา ครั้งที่ ๓ พ. ศ. ๒๓๕ ต่อจากนั้น พระพุทธศาสนาก็แพร่หลายไปยังลังกาทวีป และส่วนอื่นๆ ของโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ภาพประกอบโดย หมอนไม้
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

พระอภิธรรมกับการสังคายนาพระธรรมวินัย

การสังคายนา ครั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒ ยังเรียกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พระธรรมวินัย” ดังปรากฏในคำกล่าวของพระมหากัสสปเถระที่ชักชวนพระสงฆ์ให้ร่วมกันทำปฐมสังคายนาว่า

ผู้มีอายุทั้งหลาย เอาเถิด เราทั้งหลายจะสังคายนาพระธรรมวินัยกัน เพราะในการภายหน้า อธรรมจะรุ่งเรือง ธรรมจะถูกขัดขวาง อวินัยจะรุ่งเรือง วินัยจะถูกขัดขวาง ในการภายหน้า พวกอธรรมวาทีจะมีกำลัง พวกธรรมวาทีจะหย่อนกำลัง พวกอวินัยวาทีจะมีกำลัง พวกวินัยวาทีจะหย่อนกำลัง

ในการสังคายนา พระมหากัสสปเถระมอบให้พระอุบาลีเถระเป็นผู้วิสัชนาพระธรรมวินัย และให้พระอานนท์เถระเป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ซึ่งรวมทั้งพระอภิธรรมด้วย

โดยเริ่มสังคายนานิกาย ทั้ง ๔ ก่อน คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย และ อังคุตตรนิกาย เสร็จแล้ว จึงสังคายนาขุททกนิกาย ๑๕ คัมภีร์ โดยรวมเอาพระอภิธรรมเข้าไว้ในคัมภีร์ขุททกนิกายนี้

ต่อมา เมื่อมีการสังคายนา ครั้งที่ ๓ได้มีการจัดแบ่งพระธรรมวินัยออกเป็นพระไตรปิฎกอย่างชัดเจน คือ

แบ่งส่วนที่เป็นพระวินัยได้ ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จัดเป็น วินัยปิฎก

แบ่งพระธรรมออกเป็น ๒ ส่วน คือ เป็น พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และ เป็นพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ จนปรากฏเป็นพระอภิธรรมปิฎก ในการสังคายนา ครั้งที่ ๓ และถูกจดจำ บันทึก ถ่ายทอดโดยพระสาวก สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เข้าพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” (บทที่ ๓) กำเนิดพระอภิธรรมปิฎก : เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

ความเป็นมาของพระอภิธรรม (ตอนที่ ๓) กำเนิดพระอภิธรรมปิฎก จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๗ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙
ความเป็นมาของพระอภิธรรม (ตอนที่ ๓) กำเนิดพระอภิธรรมปิฎก จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๗ วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

จากใจศิษย์

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน

ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เล่มนี้ เกิดจากมโนปณิธาน และเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่ตั้งใจเขียนน้อมถวายเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้กับนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ๒๔ ตอนเป็นธรรมทาน (ก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลงในเดือน มิถุนายน ๒๕๖๐) เพื่ออธิบายความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งเป็นผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเสด็จไปบนสวรรค์เพื่อโปรดพระพุทธมารดาอย่างเป็นลำดับด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นดั่งแผนที่นำจิตที่ชอบท่องเที่ยวกลับมาสู่ใจได้อย่างน่าทึ่ง สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่เคยลิ้มรสพระอภิธรรมอยากให้อ่านบทสุดท้ายก่อน ซึ่งกล่าวถึง “จากรากฐานแห่งพระอภิธรรมสู่รากฐานชีวิตชาวพุทธ” ที่จะทำให้เราทราบถึงการนำพระอภิธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันจนเกิดความสงบสุขภายในใจได้ จากหลักการทำบุญ ๑๐ ประการ

ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้อธิบายเรื่อง ทิฏฐุชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงก่อนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นเข็มทิศกำหนดทิศทางของชีวิตด้วย เนื่องจากเมื่อมีความเห็นตรงแล้ว การทำบุญข้ออื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา รวมไปถึงบุญจากการภาวนา เพื่อชี้ทางไปสู่ความพ้นทุกข์ในที่สุด อันจะเป็นแรงจูงใจให้อ่าน “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เล่มนี้ด้วยฉันทะ

ขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระราชกิจจาภรณ์ที่ให้เกียรติเขียนบทนำ ทำให้กลับมาทบทวน “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” อีกหลายๆ เที่ยว และท่านยังเมตตาให้เขียนภาพประกอบด้วย จึงเป็นความอิ่มใจยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ในวาระสำคัญ และยังได้รับใช้ครูบาอาจารย์ ในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา ผ่านหนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

กราบขอบพระคุณพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙,ดร.,ที่ช่วยดูแลหนังสือเล่มนี้แทนท่านจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี และขอขอบพระคุณเป็นที่สุดคือ “คนข้างหลัง” ที่มาร่วมบุญกุศลในครั้งนี้อย่างเต็มกำลังในการออกแบบปกและจัดรูปเล่มให้ด้วยความใส่ใจในทุกอักขระธรรมจนปรากฏออกมาอย่างงดงาม

กราบขอบพระคุณและกราบนมัสการ

จากใจศิษย์

มนสิกุล  โอวาทเภสัชช์

๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

Manasikul.com

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here