น้อมเศียรเกล้า อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓
ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์
ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม
ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
๙ มีนาคม ๒๕๕๗
คำปรารภ
เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว
ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ
ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ
อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”
ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม
ตอนที่ ๑๗
หาคอมมิวนิสต์ เห็นโรงละครโลก
“ จบสงครามเย็น มองเห็นจีนเด่นขึ้นมา ”
: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
จบสงครามเย็น มองเห็นจีนเด่นขึ้นมา
เรื่องของอัฟกานิสถานยังไม่จบ แต่จะวุ่นวายกันไปอีกนาน ตอนนี้พักไว้ก่อน ลองตามกลับไปกับทัพโซเวียต ปรากฏว่า เรื่องที่อัฟกานิสถานยังไกลตัว ขณะนั้น โซเวียตมีเรื่องใกล้ตัวหรือข้างในตัวที่สําคัญอย่างยิ่ง
เรื่องก็คือ ประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันออก ที่เป็นบริวารและเป็นคอมมิวนิสต์ตามรัสเซีย รวมอยู่ด้วยกันในสหภาพโซเวียตนั้น ได้เริ่มปลีกตัวออก ตั้งต้นแต่ปี1981/ ๒๕๒๔ ที่โปแลนด์/Poland นายเลก วาเลนซา/Lech Walesa ได้เป็นผู้นําในการปฏิรูปประชาธิปไตย และก็สําเร็จ ต่อมาในปี1990/๒๕๓๓ ก็ได้เป็นประธานาธิบดี
แล้วประเทศข้างเคียงอย่างฮังการี/Hungary เชคโกสโลวาเกีย/Czechoslovakia และโรมาเนีย/Romania ก็ตามอย่าง
ตอนนั้น เป็นช่วงเวลาดํารงตําแหน่งของกอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev) คือท่านที่เรียกทัพโซเวียตกลับจากอัฟกานิสถานนั่นเอง ท่านผู้นี้ได้ริเริ่มนโยบาย Glasnost (เปิดเผย – openness) และ Perestroika (ปฏิรูป, ปรับโครงสร้าง = reform, restructuring) ตัวท่านเองได้ทําให้การเมืองของโซเวียตเป็นประชาธิปไตยขึ้น และก็ปล่อยให้ประเทศในยุโรปตะวันออกปฏิรูปการเมืองเป็นประชาธิปไตยกันไป โดยไม่เข้าไปแทรกแซง กับทั้งได้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาให้ดีขึ้นอย่างมาก เป็นอันว่า ม่านเหล็ก (Iron Curtain) ได้ถูกเปิดออกไปแล้ว
เมื่อเหล่าประเทศอย่างที่ว่ามา ได้เลิกเป็นคอมมิวนิสต์และมีการปกครองตัวเองเป็นประชาธิปไตย โดยโซเวียตเปิดปล่อยไม่เข้าไปแทรกแซง สหภาพโซเวียต (Soviet Union หรือเรียกเต็มว่า Union of Soviet Socialist Republics, USSR) ก็สลายตัวในปี1991/๒๕๓๔ กอร์บาชอฟจึงเป็นประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต (1988– 91/๒๕๓๑-๓๔) และเหลือเป็นประเทศรัสเซีย/Russia กับประเทศอิสระนั้นๆ
ในความเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ก็มีเหตุการณ์ที่ถือเป็นสัญลักษณ์อันสําคัญรวมอยู่ด้วย คือ ได้มีการทลายเปิดประตูกําแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) ในวันที่๙-๑๐ พ.ย. 1989/๒๕๓๒ อันนับว่าเป็นการสิ้นสุดสงครามเย็น (Cold War) พอถึงเดือนตุลาคม 1990/๒๕๓๓ เยอรมนีตะวันออก กับเยอรมนีตะวันตก ก็กลับรวมกันเป็นประเทศเดียว โดยมีการเลือกตั้งให้มีรัฐบาลเดียวกันในเดือนธันวาคมปีนั้นเอง
เมื่อสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นชาติอภิมหาอํานาจคู่แข่งสลายไป ในวันที่๘ ธ.ค. 1991/๒๕๓๔ ก็คงเหลือสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอํานาจยิ่งใหญ่ที่สุดผู้เดียว
ในค่ายคอมมิวนิสต์นั้น เมื่อมองดูสหภาพโซเวียตแล้ว ก็ควรพูดถึงจีน หรือ สาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย เพราะนอกจากเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่อันดับถัดไป และกําลังโดดเด่นมากขึ้นแล้ว แม้แต่มองในแง่เนื้อที่และประชากร ก็ควรรู้ไว้
จีนนั้น ถึงจะมีเนื้อที่เป็นรองรัสเซีย แต่ใหญ่พอๆ กับสหรัฐอเมริกา คือ เกิน ๙ ล้าน ตร.กม. และที่ใหญ่ยิ่งคือ จีนมีประชากรมากที่สุดในโลกเกิน ๑.๓ พันล้านคน
เมื่อใกล้ที่สหภาพโซเวียตจะสลายนั้น ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟได้ไปเยือน อเมริกา พบกับประธานาธิบดีเรแกนในปี1987/๒๕๓๐ แล้วต่อมาในปี1989/๒๕๓๒ ก็มาเยือนเมืองจีน แม้ว่าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเรียกกอร์บาชอฟว่าเป็นผู้ทรยศ (“traitor”) ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ที่จริง ทั้งสองประเทศต่างก็กําลังดําเนินแนวทางที่เฉจากลัทธิคอมมิวนิสต์ มีการเยื้องย้ายนโยบายถึงขั้นพื้นฐาน
ตอนที่กอร์บาชอฟไปเยี่ยมจีนนั้น ก่อนจะถึง นักศึกษาได้มาชุมนุมกันที่จตุรัส เทียนอันเหมิน/Tiananmen Square ในเมืองหลวงปักกิ่ง คนมากันเป็นจํานวนล้าน เพื่อเรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง และการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่รัฐบาลให้ทหารเอารถถังมาปราบและขับไล่หมดไปได้ทันก่อนพิธีต้อนรับ คนตายไปมากมาย
ดังว่าแล้ว ตอนที่ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟมาเยี่ยมนั้น จีนก็กําลังเปลี่ยนแปลง ผู้ที่นําการเปลี่ยนแปลง คือ เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping หรือ Teng Hsiao-p’ing, ท่านเติ้งนี้เคยไปเยี่ยมสหรัฐเสริมไมตรีกันเมื่อปี1979/๒๕๒๒)
เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ชื่อว่าเป็นผู้นําที่มีอํานาจยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนต่อจากประธานเหมา ขอทวนความว่า เหมา เจ๋อตง เป็นผู้นํานับแต่ตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี1949/ ๒๔๙๒ จนสิ้นชีพในเดือน ก.ย. 1976/๒๕๑๙
ระหว่างนี้เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง เข้ามา เขาเห็นว่า ประธานเหมายึดติดเคร่งต่อ หลักการคอมมิวนิสต์เกินไป ทําให้เสียผลทางเศรษฐกิจ เขาเสนอแนวทางเปลี่ยนแปลง ก็คือขัดแย้งกับประธานเหมา ต่อมา พวกปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution, 1966– 76/๒๕๐๙-๑๙) โจมตีให้เติ้งหลุดหมดตําแหน่ง แต่นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล หนุนเติ้ง ให้กลับเข้ามาได้ตําแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีในปี1973
ครั้นโจว เอินไหล สิ้นชีพในเดือน ม.ค. 1976 พวกกลุ่มกวนทั้งสี่ (“Gang of Four”) ก็จัดการเอาเติ้งออกจากตําแหน่ง แต่ต่อมาอีก ๘ เดือน ประธานเหมาสิ้นชีพ และ พวก “Gang of Four” สิ้นอํานาจ ท่านเติ้งจึงกลับเข้ามาใหม่ แล้วรุ่งโรจน์แต่นั้นไปตลอด
เติ้ง เสี่ยวผิง นําจีนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาก เฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ โดยนําสาระบางอย่างของระบบทุนนิยมมาปรับใช้หรือแทรกใส่ในเศรษฐกิจของจีน ผ่อน ลดการควบคุมของรัฐ หันไปหนุนการได้ประโยชน์และผลกําไรของปัจเจกชน เชิญชวต่างชาติเข้ามาลงทุน อิงกลไกตลาดเสรีผูกโยงตัวกับเศรษฐกิจโลก เร่งความเจริญ “สี่ ทันสมัย” คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีและการป้องกันประเทศ
เพื่อให้เศรษฐกิจของจีนเจริญเดินหน้า ไม่ว่าแนวคิดไหนดีจะเป็นของคอมมิวนิสต์หรือเป็นทัศนะในระบบการปกครองแบบไหน เติ้ง เสี่ยวผิง นํามาใช้อย่างยืดหยุ่น สมที่เขาเป็นเจ้าของวาทะ (1962/๒๕๐๕) ว่า “แมวนั้น จะดําหรือขาว ก็ไม่สําคัญ ให้มันจับหนูได้ก็แล้วกัน” (“It does not matter whether a cat is black or white so long as it catches mice.”)
โดยการนําของเติ้ง เสี่ยวผิง จีนมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ยกระดับการครองชีพของประชาชนขึ้นได้ ขยายเสรีภาพของบุคคล เปิดเสรีภาพทางวัฒนธรรม ได้กลไกเศรษฐกิจเชิงทุนนิยมมาขับเคลื่อน เพื่อจะให้จีนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยยังมีการปกครองที่ครองอํานาจโดยพรรคเดียว
[แนวทางเศรษฐกิจของเติ้งนี้น่าจะตรงข้ามกับโครงการก้าวกระโดดใหญ่ไป ข้างหน้า (Great Leap Forward, 1958-1960/๒๕๐๑-๐๓) ของท่านประธานเหมา ที่ระบบคอมมูน/commune ของท่าน ทําให้คนจีนอดตายไปราว ๒๐ ล้านคน]
แม้ว่าเติ้งจะช่วยให้สังคมจีนเปิดกว้างขึ้นทางการเมือง คนจีนไม่น้อยก็ยังต้องการให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่านั้น จึงได้มีนักศึกษาและประชาชนมากมายมาชุมนุม เรียกร้องที่เทียนอันเหมิน ดังว่าข้างต้น และทานเติ้งก็เร่งให้ใช้กําลังปราบปรามจนจบไป
แม้เมื่อเติ้งลาออกเป็นทางการจากตําแหน่งสูงสุดในเดือน พ .ย. 1989 (ปีเดียวกับที่กอร์บาชอฟมา) และลาหมดทุกตําแหน่งแล้ว ก็ยังมีอํานาจสูงสุด ดังที่เขาเรียกท่านว่า “paramount leader” (ผู้นําสูงสุด) จนท่านสิ้นชีพในปี1997/๒๕๔๐ (เรียงเป็นยุค: ประธานเหมา 1949/๒๔๙๒-1976/๒๕๑๙; เติ้ง เสี่ยวผิง 1977/๒๕๒๐-1997/๒๕๔๐)
จีนมีเรื่องมาก ควรพักไว้เท่านี้ก่อน ไปมองที่อื่นเพิ่มให้เห็นภาพรวมของโลกทั่วขึ้น
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ทางทิศใต้ลงไป โลกมีข่าวใหญ่ที่ดีมากเรื่องหนึ่ง คือ แอฟริกาใต้/South Africa ซึ่งเป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกรังเกียจผิวอย่างมากตลอดมา โดยมีคําเรียกเฉพาะว่า “apartheid” รัฐธรรมนูญกําหนดให้คนผิวขาวที่เป็นชนส่วนน้อย ต้องเป็นผู้ปกครอง และมีสิทธิ์สมัครเขารับหรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในตําแหน่งราชการ โดยเฉพาะคนผิวดําถูกจํากัดสิทธิ์ให้ด้อยที่สุด และคนต่างสีผิวต้องอยู่แยกต่างหากกัน
การแบ่งแยกรังเกียจผิวที่ว่านี้ถือกันมานานแล้ว จนถึงปี1948/๒๔๙๑ ก็กําหนดเป็นทางการ ในฝ่ายคนผิวดํา ก็มีผู้เรียกร้องสิทธิกันมา จนกระทั่งนายเดอ เคลิร์ก (F. W. de Klerk) ได้เป็นประธานาธิบดีในปี1989/๒๕๓๒ คนผิวขาวผู้นี้ทําการจริงจังในการเลิก “apartheid” ปีต่อมา เขาปล่อยนายเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) นักเรียกร้องสําคัญซึ่งถูกขังคุก ๒๗ ปีแล้ว ออกมา เขาจัดการกับบรรดากฎหมายจนถึงร่างรัฐธรรมนูญให้การปกครองโดยคนผิวขาวจบสิ้นไป แล้วทุกคนทุกสีผิวก็ได้เลือกตั้งด้วยกัน โดยเนลสัน แมนเดลา ได้เป็นประธานาธิบดีผิวดําคนแรกของที่นั่น (1994-99/๒๕๓๗-๔๒)
เรื่องที่เล่าเสร็จไปที่ว่าเป็นข่าวดีมากนี้ก็ดีจริงแน่ แต่มองอีกทีก็เป็นเพียงการ แก้ไขเรื่องที่ไม่ดีให้ลงตัวเข้าที่ตามที่มันควรจะเป็นอย่างสามัญตามปกติเท่านั้นเอง
ทีนี้ที่ว่า “สงครามเย็น/cold war” จบไปแล้วนั้น ก็น่าสงสัยว่า โลกจะอยู่ดีคนจะมีสุขขึ้นหรือไม่ เพราะมองอีกด้านหนึ่ง “สงครามร้อน/hot war” กลับมีทีท่าว่าจะไม่ได้เบาลงไป
กลับมาทางด้านตะวันออกกลางอีก คราวนี้มองลึกเข้าไปในตัวตะวันออกกลางเอง ในเวลาระหว่างนี้ นอกจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างยิวกับอาหรับ ที่เรื้อรังมาไม่รู้จบแล้ว เหตุการณ์ที่เด่น ก็มีสงครามใหญ่ที่แดนอิรัก/Iraq เริ่มด้วยครั้งแรกในปี1990-91/ ๒๕๓๔-๓๕ เรียกว่า สงครามอ่าวเปอร์เซีย/Persian Gulf War (เรียกสั้นๆ ว่า Gulf War)
เรื่องเกิดขึ้นว่า ซัดดัม ฮุซเซน/Saddam Hussein ผู้นําอิรัก ให้ยกทัพไปยึดครองคูเวต/Kuwait ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ แต่อุดมด้วยน้ำมัน เสร็จแล้วมีท่าทีที่ทําให้สงสัยกันว่า จะรุกเขาไปในซาอุดีอาระเบีย/Saudi Arabia ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ของน้ำมัน
ตรงนี้คือเรื่องน้ำมันนั้น เป็นผลประโยชน์สําคัญอย่างยิ่ง ชาติทั้งหลายยอมไม่ได้ จึงร่วมกัน ๓๙ ประเทศ โดยการนําของสหรัฐอเมริกา ในสมัยของประธานาธิบดีบุช ผู้บิดา (George Herbert Walker Bush) และสหประชาชาติส่งกองทัพไปป้องกัน กดดัน ขับไล่ จนอิรักพ่ายแพ้ถอนตัวกลับไป เรื่องจบลง แต่ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน และ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมจากการเผาบ่อน้ำมันเกิดมลพิษมากมาย มีผลซ้ำเติม ทุกข์มากมายแก่โลกมนุษย์ไปอีกนาน
สืบเนื่องจากสงครามนั้น จึงมีการปลดอาวุธอิรักเพื่อป้องกันภัยเบื้องหน้า อิรักถูกกําหนดให้รับการตรวจสอบอาวุธโดยคณะผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติ(UN weapons inspectors) แต่เรื่องไม่เป็นไปด้วยดี อิรักไม่ค่อยร่วมมือ อิดออดว่ากันไปว่ากันมา
ในที่สุด สหรัฐ โดยประธานาธิบดีบุช ผู้บุตร (George Walker Bush) ก็กล่าวหาว่าอิรักละเมิดข้อกําหนดปลดอาวุธของสหประชาชาติ ซัดดัมมีอาวุธร้ายแน่ ๆ แล้วในเดือน มีนาคม 2003/๒๕๔๖ ก็ใช้กําลังทหารโจมตีอิรัก โดยมีอังกฤษเป็นต้น ร่วมด้วย ทําให้รัฐบาลของซัดดัม ฮุซเซน สิ้นสุดลง ซัดดัมหนีไปหลบซ่อนตัว แต่ในที่สุดก็ถูกจับได้แล้ว ถูกเจ้าหน้าที่อิรักประหารชีวิต เมื่อวันที่๓๐ ธ.ค. 2006/๒๕๔๙ โดยที่ว่า อีกด้านหนึ่ง คณะผู้ตรวจสอบก็ไม่พบอาวุธร้ายอยางที่สหรัฐยืนยันว่ามีในอิรัก แต่อย่างใด
สงครามครั้งหลังนี้เรียกว่า สงครามอิรัก/Iraq War (บางทีก็เรียกว่า สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่๒/Second Persian Gulf War)
สงครามที่อิรักจบไป ก็เพียงผ่านพ้นเหตุการณ์ใหญ่ แต่ที่จริง เรื่องร้ายไม่จบเลย ประเทศอิรักเองก็ไม่สงบ มีเรื่องวุ่นวาย ไร้ความมั่นคง และแผ่ความเดือดร้อนออกไป กระทบแดนข้างเคียง เป็นแหล่งเพิ่มความขาดสันติแก่โลกจนบัดนี้
ทีนี้ชิดชานตะวันออกกลาง ก็ดังได้ว่าแล้ว เรื่องที่อัฟกานิสถาน เมื่อโซเวียตเลิกยุ่งด้วยและถอนทหารกลับไปแล้ว ฝ่ายขบถก็โค่นรัฐบาลพวกคอมมิวนิสต์โซเวียตได้สําเร็จ ถึงโอกาสที่จะมีรัฐบาลอย่างที่ตนต้องการ แต่ก็หาได้เป็นไปด้วยดีอย่างนั้นไม่
เรื่องต่อมาก็คือ พอศัตรูไปแล้ว มูจาฮีดินหลายกลุ่มหลายพวกก็แย่งชิงอํานาจกัน เปลี่ยนรัฐบาลกันเรื่อย จนผ่านไป ๓-๔ ปีก็มีพวกทาลิบัน/Taliban เกิดขึ้นแล้วมีอํานาจเข้มแข็งมากขึ้นๆ ได้เข้าควบคุมดินแดนกว้างออกไปๆ จนกระทั่งก่อนถึงปี2001/ ๒๕๔๔ ก็คุมดินแดนอัฟกานิสถานได้ทั้งประเทศ เว้นส่วนเหนือเพียงหย่อมเล็กๆ แห่งเดียว
พวกทาลิบันปกครองโดยใช้หลักศาสนาอิสลามที่ตนตีความเคร่ง เช่น ห้ามมีห้ามดูโทรทัศน์ ห้ามเครื่องบันเทิงสมัยใหม่แทบทุกอย่าง ให้สตรีแต่งตัวปกปิดมิดชิดในที่สาธารณะ ห้ามเด็กหญิงไปโรงเรียน ห้ามสตรีไปทํางานนอกบ้าน
ในปี2001/๒๕๔๔ นั้นเอง พวกทาลิบันก็ประกาศจะทําลายพระพุทธรูปและรูป เคารพทั้งหมดในอัฟกานิสถาน แล้วในเดือนมีนาคม ก็ได้ใช้ปืนใหญ่และวัตถุระเบิดทําลายพระพุทธรูปใหญ่ทั้ง ๒ องค์ อายุราว ๑,๗๐๐ ปี ซึ่งแกะสลักไว้ที่หน้าผา ( สูง ๕๓ และ ๓๗ เมตร) ที่พามิยาน (Bamiyan หรือ Bamian) จนแหลกละเอียดหมดสิ้นไป
หลังจากนั้น ๖ เดือน ที่อเมริกา ณ วันที่๑๑ ก.ย . 2001/๒๕๔๔ ก็ได้มีผู้ก่อการร้ายพวกอัล-คาอีดะ ขับเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกคู่ World Trade Center ในนครนิวยอร์ก มอดไหม้พังทลายหมดไปทั้งสองตึก และชนตึก Pentagon Building อันเป็นที่ตั้งกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ใกล้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี./Washington, D.C.
นี้เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงใหญ่โตแสนตระหนก จํากันแม่น จนพูดสั้นๆ ก็รู้กัน จึงนิยมเรียกง่ายๆ ว่า 9/11 (บางทีก็เขียนว่า 9-11)
สหรัฐกล่าวหาว่า พวกทาลิบันช่วยเหลือและเป็นแหล่งอาศัยของอัล-คาอีดะ ที่มี บิน ลาเดน เป็นหัวหน้า จึงขอให้ทาลิบันจับตัวบิน ลาเดน กับพวกอัล-คาอีดะชั้นนําส่งให้แก่ตน แต่พวกทาลิบันปฏิเสธ สหรัฐอเมริกากับพันธมิตรจึงเริ่มงานปราบทาลิบัน จนในที่สุด ปลายปี2001/๒๕๔๔ นั้นเอง ฝ่ายขบถก็ขับไล่พวกทาลิบันให้หมดอํานาจไป
จากนั้น สหรัฐช่วยให้กลุ่มอํานาจและเผ่าชนต่างๆ มาพบปะกันหาทางตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่แต่ก็มีการแย่งชิงอํานาจกันต่อมา จนกระทั่งถึงกลางปี2002/๒๕๔๕ จึงตั้งรัฐบาลช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อชั่วคราว ๒ ปีขึ้นมาได้ โดยมีนายฮามิด การ์ไซ/Hamid Karzai เป็นประธานาธิบดี แม้ว่าเรื่องราวที่ดําเนินต่อมาจะมีความยุ่งยากมากมาย แต่ฮามิด การ์ไซ ก็ยังเป็นที่ยอมรับและเป็นประธานาธิบดีของอัฟกานิสถานอยู่จนบัดนี้
หลังโค่นทาลิบันลงแล้ว สหรัฐค้นหาตัวบิน ลาเดน ต่อมาอีกนาน จนในที่สุดจับจุดได้ว่าอยู่ในปากีสถาน ที่เมืองขนาดย่อมๆ ชื่อว่า แอบบอตตาบัด/Abbottabad ใกล้เมืองหลวง คือ อิสลามาบัด/Islamabad แล้วกองกําลังทหารอเมริกันเล็กๆ หน่วยหนึ่ง มาโดยเฮลิคอปเตอร์ก็เขาจู่โจมสังหารบิน ลาเดน สิ้นชีพไปในวันที่๒ พ.ค. 2011/๒๕๕๔
(โปรดติดตามตอนต่อไป …)
พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมืองโดยมองแบบพระ ไม่ใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์และภาวะการของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเจนเพียงพอเพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลกของมนุษย์ ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก
ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่าจะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูดเพราะว่ามหาจุฬาฯก็ดำเนินเดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กำลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้นเวลานั้นมหาจฬาฯ อยู่ในบรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น
ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯก็เพื่อมีการศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลกดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604