อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓

ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์

ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม

ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์

(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

๙ มีนาคม ๒๕๕๗

คำปรารภ

เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้

ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว

ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ

ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ

อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”

ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต), สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม

ตอนที่ ๑๔

หาคอมมิวนิสต์ เห็นโรงละครโลก

“โฉมหน้าอเมริกา ที่ปรารถนากันนักอยากจะตาม”

: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ), สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ภาพในอดีตเมื่อครั้งจาริกธรรมในสหรัฐอเมริกา
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ), สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) และ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ภาพในอดีตเมื่อครั้งจาริกธรรมในสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ถือลัทธิแยกตัวโดดเดี่ยว (isolationism) ตั้งตัวเป็นเอกเทศ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับประเทศอื่นๆ หรือโลกภายนอกมานาน แม้แต่ในสงครามโลกครั้งที่ ๑/World War I (1914-1918/๒๔๕๗-๒๔๖๑) ตอนแรกอเมริกาก็ตั้งตัวเป็นกลาง จนกระทั่งมีเหตุกระทบตัวอย่างแรง เช่น เรือลูซิทาเนีย (Lusitania) ของอังกฤษจมลง เพราะถูกตอร์ปิโดของเรือดําน้ำเยอรมัน มีคนโดยสารชาวอเมริกันตายไป ๑๒๘ คน ต่อมา เรือดําน้ำเยอรมันอาละวาดไม่เลือก จนกระทั่งเมื่อความสัมพันธ์กับเยอรมนีเสื่อมลงเรื่อยๆ ในที่สุด อเมริกาจึงเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามนั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่๑ อเมริกายิ่งแยกตัวโดดเดี่ยวมากขึ้น พอจบสงคราม วุฒิสภาอเมริกันไม่ยอมให้สัตยาบันสนธิสัญญาแวร์ไซลส์ปี ๒๔๖๒ (Versailles Treaty of 1919) ที่ว่าด้วยการยุติสงครามนั้น และอเมริกาก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ/ League of Nations ที่ประธานาธิบดีวิลสัน (Woodrow Wilson) อุตส่าห์ไปริเริ่ม คนอเมริกันส่วนมากเห็นว่าการที่อเมริกาเข้าร่วมสงครามนั้นเป็นความผิดพลาด

ยิ่งใกล้สงครามโลกครั้งที่ ๒ คนอเมริกันยิ่งคิดแยกตัวหนักขึ้น จนถึงขั้นเป็นการถือแยกตัวโดดเดี่ยวสุดโต่ง (extreme isolationism) มีการออกกฎหมายวางตัวเป็นกลาง (neutrality laws) ออกมาเป็นชุด จนกระทั่งญี่ปุ่นบุกจีนในปี 1937/๒๔๘๐ มีการฆ่าฟันทําลายล้างอย่างโหดร้ายทารุณ เรือปืนอเมริกันถูกเครื่องบินญี่ปุ่นโจมตีจมลงในแม่น้ำแยงซี/Yangtze River รัฐบาลอเมริกันจะเอาเรื่อง แต่ชาวอเมริกันก็ยังไม่ค่อยถือสา

จนเยอรมนีบุกโปแลนด์เปิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปี 1939 กระทั่งฝรั่งเศสถูกยึดครองในปี1940 อเมริกาตกลงหนุนฝ่ายสัมพันธมิตร ด้วยการเงินและยุทโธปกรณ์ เน้นการให้กู้ให้ยืม แม้ว่าในปี 1941 รัฐบาลส่งเรือส่งทหารไปช่วยรบบ้าง ประชาชนก็ยังไม่ให้เข้าร่วมสงคราม

แต่ทางด้านแปซิฟิก/Pacific เมื่อญี่ปุ่นขยายสงครามในจีน บุกมาถึงอินโดจีนไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันออก/East Indies ก็เกิดความขัดแย้งและตึงเครียดมากขึ้นๆ

ในที่สุด ณ วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔/1941 กองบินญี่ปุ่น ๓๖๐ ลํา ได้เข้าโจมตีแบบฉับพลันไม่ให้ทันรู้ตัวที่ฐานทัพเรืออเมริกันในอ่าวเพิร์ล/Pearl Harbor ทําลายกําลังยุทธการทางนาวีของอเมริกาที่นั่น ทําให้เรือ ๑๘ ลํา จมลงหรือไม่ก็เสียหายร้ายแรง พร้อมทั้งเครื่องบินพินาศ ๓๔๗ ลํา และทหารตาย ๒,๔๐๓ คน บาดเจ็บ ๑,๑๗๘ คน

ณ บัดนั้น ชาวอเมริกันตื่นตระหนกและโกรธแค้นมาก รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันได้แล้ว วันรุ่งขึ้น รัฐสภาอเมริกันก็มีมติให้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น

จากนั้น ๓ วัน เยอรมนีและอิตาลีก็ประกาศสงครามกับอเมริกา แล้วสงครามก็ดําเนินไปจนจบสงครามโลกครั้งที่๒ ใน พ.ศ. ๒๔๘๘ ดังกล่าวข้างต้น นับแต่นั้น อเมริกาก็สลัดตัวออกจากลัทธิแยกตัวโดดเดี่ยว (isolationism) สืบมา

อย่างไรก็ดีสงครามใหญ่นี้มิได้ทําให้อเมริกาบอบช้ำอะไรมาก ไม่เหมือนประเทศอื่นๆ ที่เป็นสนามรบในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา มิใช่เพราะดินแดนอเมริกากว้างใหญ่ แต่เพราะส่งกองทัพออกไปรบนอกประเทศ ดินแดนของตนเองแทบไม่ถูกกระทบเลย

เมื่ออเมริกาประกาศสงครามนั้น เขารบกันมาเข้าปีที่ ๓ แล้ว ความสูญเสียทั้งหมดเมื่อเทียบกับชาติอื่นนับว่าไม่มาก ดูจากตัวเลขคนที่ตายทั้งหมดในสงครามโลกครั้งที่๒ ที่ประมาณว่า ๔๕ ล้านคน (ตัวเลขจริงไม่มีใครรู้ได้ คะเนหรือประมาณกันตั้งแต่ ๔๐ ถึง ๕๕ ล้านคน, บางแห่งก็ว่า ระหว่าง ๓๕ ถึง ๖๐ ล้านคน) แยกเป็นทหาร ๑๕-๒๐ ล้านคน และพลเรือน ๒๕-๓๐ ล้านคน

กองทัพอเมริกันได้ขยายใหญ่ขึ้นในสงครามนี้จนมีกําลังพล ๑๖ ล้านคน และ อเมริกาเสียทหารตายไป ๒.๙๒ แสนคน (ทหารโซเวียตตาย ๗.๕ ล้าน เยอรมัน ๓.๕ ล้าน จีน ๒.๒ ล้าน ญี่ปุ่น ๑.๕ ล้าน อังกฤษ ๓ แสนเศษ ฝรั่งเศส ๒.๑ แสน อิตาลี๒ แสน) ส่วนพลเรือนอเมริกันตายเพียง ๖ พันคน (สหภาพโซเวียตตาย ๑๐-๑๙ ล้าน จีน ๖-๑๐ ล้าน เยอรมัน ๕ แสน ญี่ปุ่น ๖ แสน ฝรั่งเศส ๔ แสน อิตาลี ๑.๔๕ แสน อังกฤษ ๖.๕ หมื่น, นี่ บอกเฉพาะประเทศคู่สงคราม ไม่นับชาติอื่น เช่น ยิวที่นาซีฆ่าราว ๖ ล้านคน)

นอกจากในดินแดนไม่บอบช้ำแล้ว ในระดับหนึ่งก็กลายเป็นเวลาที่จะสะสมทุนทรัพย์และชื่นบานหรรษาพัฒนากันเต็มที่ คนที่ได้รับแจ้งข่าวสูญเสียพ่อ เสียลูก สามีพี่น้องในสนามรบนอกแดนก็โศกเศร้าไป แต่สังคมส่วนใหญ่อยู่สุขสบายกันดี

นอกจากให้กู้ยืมเงินแก่ประเทศที่ทําสงครามแล้ว ก็ต้องรีบเร่งผลิตอาวุธ ยุทโธปกรณ์ส่งไป ทั้งเรือรบ เครื่องบิน รถถัง ปืนใหญ่ฯลฯ ตั้งโรงงานและขยายโรงงานทําอุปกรณ์เหล่านี้ไม่พอ ต้องเปลี่ยนโรงงานทําอุตสาหกรรมอย่างอื่นมาทําอาวุธ และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพิชิตอย่างเร่งด่วน เช่น ที่ดีทรอยท์/Detroit โรงงานรถยนต์เปลี่ยนมาผลิตรถถัง ทํางานกันวันละตลอด ๒๔ ชั่วโมง

พวกผู้ชายประมาณ ๑๕ ล้านคน เข้ากองทัพออกไปสนามรบ ประเทศชาติจึงขาดแรงงาน เป็นเหตุให้สตรีนอกจากออกไปร่วมรบราว ๒๖๐,๐๐๐ คนแล้ว ประมาณ ๖.๕ ล้านคน ออกจากบ้าน อพยพจากชนบทเข้าเมือง มาทําการผลิตในโรงงาน สํานักข่าว ABC News บันทึกไว้ว่าด้วยกําลังงานที่มีสตรีร่วมนี้เดือนหนึ่งผลิตรถถังได้ ๔,๐๐๐ คัน เครื่องบิน ๔,๕๐๐ ลํา และเรือที่เคยใช้เวลาต่อ ๑ ปี บัดนี้ทําเสร็จใน ๑๗ วัน

ความต้องการกําลังและอุปกรณ์อย่างเร่งด่วนในสงคราม ทําให้อเมริกาคึกคักมีอุตสาหกรรมเขมแข็งก้าวหน้า พัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ผู้คนพลเมืองก็พากันร่ำรวย

ก่อนเข้าสงครามใหญ่นี้สหรัฐอเมริกามีกําลังทัพเล็กน้อยเป็นอันดับที่ ๑๙ ของโลก ต่อจากฮอลแลนด์และโปรตุเกศ อุตสาหกรรมกําลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ สงครามทําให้ทุกคนรวมใจกันได้เป็นหนึ่งเดียว และเรียกร้องให้ตื่นตัวกระตือรือร้นผลิต พลิกฟื้นทุกอย่างที่จําเป็นเร่งด่วนขึ้นมา พอเสร็จสงคราม อเมริกากลายเป็นผู้ร่ำรวย และมีกําลังทัพผงาดขึ้นมาเป็นอันดับ ๑ ในฐานะผู้นําโลกเสรี

พอสงครามเสร็จ ประเทศอื่นหดหายย่อยยับ แต่อเมริกาโดดเด่นขึ้นมายิ่งใหญ่กลายเป็นเจ้าหนี้ที่ช่วยโอบอุ้มคนอื่น โรงงานที่ผลิตยุทโธปกรณ์กับทั้งเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาแล้วอย่างมาก เปลี่ยนมาผลิตอุปกรณ์เพิ่มพูนความสะดวกสบาย ประชาชนสะสมรายได้ไว้โดยไม่มีโอกาสใช้จ่ายในยามสงคราม ก็มีเงินพร้อมจะใช้กันใหญ่ ทหารผ่านศึกกว่า ๑๑ ล้านคน กลับประเทศ รัฐบาลออกกฎหมายให้ทุนเรียนมหาวิทยาลัยได้ฟรี เกิดสมัยนิยมอ่าน “พอกเกตบุ๊ค” (๒๔๙๑ ปีเดียว ขาย pocket books ๑๓๕ ล้านเล่ม) จะสร้างบ้าน ก็มีเงินให้ยืม ผู้หญิงก็ออกจากโรงงานกลับไปเลี้ยงลูกดูแลบ้าน

การก่อสร้างเบ่งบาน (building boom) เกิดบ้านจัดสรรผุดโผล่มากมายในชานเมือง  ภายในไม่กี่ปีคนอเมริกัน ๑ ใน ๓ อยู่ในบ้านชานเมือง พร้อมด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าเกร่อขึ้นมา อะไรๆ ก็แค่เปิดปิดสวิทช์ เข้าสู่ยุคทรานซิสเตอร์/transistor ได้ใช้ตู้เย็น นาฬิกาไฟฟ้า วิทยุไฟฟ้า วิทยุมือหิ้ว วิทยุในรถยนต์ เครื่องเล่นจานเสียง เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจานชาม เครื่องดูดฝุ่น มีไนลอน/nylon แฟชั่นฟู่ฟ่า ได้แต่งตัวแบบ “ นิวลุก/New Look” ทีวี/TV ซึ่งเกิดก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ถูกสงครามขัดชะงักไป ก็ได้โอกาสพัฒนาขึ้นมาเป็นเครื่องให้ข่าวสารการบันเทิงประจําบ้านและสถานหย่อนใจ

โรงงานเลิกผลิตรถรบรถถัง หันมาผลิตรถเที่ยวโชว์รถโอ่อ่า รถนําสมัยออกมากันใหญ่ สมัยนั้น น้ำมันก็ราคาแสนถูก ลิตรละราว ๘๐ สตางค์ (แกลลอนละ 25 เซนต์เทียบตามอัตราแลกเปลี่ยนเวลานั้นราวดอลลาร์ละ ๒๐ บาท) รถยนต์ราคาตั้งแต่คันละ 1,800$ ถึง 5,000$ (ราว ๓๖,๐๐๐ – ๑ แสนบาท) ในบ้านห้าหลัง ๔ หลังมีรถยนต์

ในปี1956/๒๔๙๙ อเมริกาออกรัฐบัญญัติจัดทุน ๓๓ พันล้านดอลลาร์ให้สร้างทางหลวงระหว่างรัฐเพิ่มอีก ๖๗,๒๐๐ กม. คนอเมริกันนั่งรถเดินทางเที่ยวกันใหญ่ สถานีเติมน้ำมัน ร้านอาหารด่วน ที่พักรถแรมคืนคนเดินทาง ผุดขึ้นทั่วทุกหนแห่ง มีสถิติว่า ในช่วงทศวรรษ 1950s (พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๐๒) คนอเมริกันตายด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ มากกว่าทหารอเมริกันตายในสงครามโลกครั้งที่ ๒

อเมริกามาถึงยุคบริโภคนิยม (consumerism) เป็นสังคมมั่งคั่งพรั่งพร้อม (affluent society, คํานี้เกิดในปี1958/๒๕๐๑) เหมือนจะได้สัมฤทธิ์ฝันอเมริกัน (American dream) และเข้าสู่ยุคของคนหนุ่มสาว อยู่กันหรูหราสะดวกสบาย แต่จะสุขหรือไม่ คน อเมริกันยุคนั้นเองก็ดูจะไม่ยอมรับ ดังที่หนุ่มสาวยุคนั้นแหละประกาศออกมา

ขณะที่ญี่ปุ่นและยุโรปแทบจะเหลือแต่ซาก อเมริกาผลิตสินค้า ๒ ใน ๓ ที่ขายในโลก เศรษฐกิจเจริญเอาๆ ตําราว่า ตั้งแต่ปี 1947/๒๔๙๐ เศรษฐกิจของอเมริกาเติบโตเรื่อยมา ๒๕ ปี ทหารผ่านศึกอเมริกันหางานแสนง่าย เงินเดือนก็ดี ต่างกันห่างไกลกับก่อนสงครามโลกที่เศรษฐกิจตกต่ำ เงินฝืด ตอนนั้น คนแต่งงานช้า และระวังตัวไม่ค่อยยอมมีบุตร แต่ตอนนี้เงินคล่อง คนสําราญบันเทิงเต็มที่ ปรากฏว่ามีเด็กเกิดใหม่ๆ เพิ่มจํานวนขึ้นมากมายอย่างรวดเร็ว เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “baby boom” (ยังหาคําแปลที่กะทัดรัดเหมาะดีไม่ได้ อาจจะใช้ไปพลางก่อนว่า “บานเบาะ” หรือ “แบเบาะบาน”)

เด็กที่เกิดในช่วงเวลานี้คือ 1946-1964/๒๔๘๙-๒๕๐๗ (บางตํารานับแค่ 1947-1961) เรียกรวมๆ ว่า baby-boom generation เพิ่มประชากรอเมริกันขึ้นมา ๗๕ ล้านคน โดยเฉพาะปีที่เกิดมากที่สุดคือ พ.ศ. ๒๕๐๐ (ค.ศ. 1957) เกิดปีเดียว ๔.๓ ล้านคน

เด็กรุ่นบานเบาะนี้ทําให้ถิ่นชานเมือง และการก่อสร้างเบ่งบาน ดังที่กล่าวแล้ว ทั้งบ้าน โรงเรียน และห้างร้านขายของเพิ่มขึ้นมากมาย เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ก็ได้ทําให้สังคมอเมริกันเกิดความเปลี่ยนแปลงไปมากในทางวัฒนธรรม เป็นต้น

และบัดนี้ ยุคที่กําลังจะผ่านไปก็คือช่วงสมัยที่คนรุ่นบานเบาะซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่จนได้ครองอเมริกาสืบมากําลังจะสิ้นสุดลง แล้วพวกคนรุ่นนี้ก็กําลังจะกลายเป็นคนชรา ที่อเมริกาจะต้องแบกภาระหนักในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุรุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่มากสืบต่อไป

โปรดติดตามตอนต่อไป …

พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมืองโดยมองแบบพระ ไม่ใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์และภาวะการของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเจนเพียงพอเพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลกของมนุษย์ ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก

ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่าจะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูดเพราะว่ามหาจุฬาฯก็ดำเนินเดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กำลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้นเวลานั้นมหาจฬาฯ อยู่ในบรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น

ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯก็เพื่อมีการศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลกดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com  และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗

ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604

https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here