อาจาริยบูชา ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓
ครบรอบ ๖ ปี วันสลายสรีรสังขาร
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
พระเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์
ความทรงจำ พระพุทธศาสนาโลก
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม
ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์
(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ
ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
๙ มีนาคม ๒๕๕๗
คำปรารภ
เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว
ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ
ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ
อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”
ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธีบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูลย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม
ตอนที่ ๑๓
หาคอมมิวนิสต์ เห็นโรงละครโลก
“อเมริกาพอจะสําราญเต็มที่
ก็ถูกผีร้ายคอมมิวนิสต์หลอกหลอน“
: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบลง โดยฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies) มีชัยนั้น ในฝ่ายอักษะ (Axis) อิตาลี(Italy) ยอมแพ้ก่อนตั้งแต่ปี 1943/๒๔๘๖ แล้วต่อมาอีก ๓ ปี ได้กลายเป็นสาธารณรัฐ ญี่ปุ่นยอมแพ้หลังสุด ในเดือนสิงหาคม 1945/๒๔๘๘ โดย สหรัฐอเมริกาผู้เดียวเข้ายึดครอง
ส่วนเยอรมนีซึ่งยอมแพ้ในเดือนพฤษภาคม 1945/๒๔๘๘ ถูกแบ่งเป็นเขตพันธมิตรยึดครอง ๔ ส่วน (four Allied occupation zones) โดยเขตยึดครองของอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส เรียกรวมกันว่าเยอรมนีตะวันตก (West Germany) จัดตั้งเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี/Federal Republic of Germany ในปี1949/๒๔๙๒ ส่วนเขตยึดครองของโซเวียต เรียกว่า เยอรมนีตะวันออก (East Germany) ตั้งเป็นสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยเยอรมัน/German Democratic Republic
แต่ที่สําคัญ คือ เบอร์ลิน (Berlin) ซึ่งเป็นเมืองหลวง ถูกแบ่งเป็นเขตยึดครอง ๔ ส่วน ตั้งแต่ปี 1945/ ๒๔๘๘ และก็แยกเป็นเขตของ ๒ ค่าย โดยเขตยึดครองของอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส เรียกว่าเบอร์ลินตะวันตก (West Berlin) และเขตยึดครองของโซเวียต เรียกว่า เบอร์ลินตะวันออก (East Berlin)
ทีนี้ที่จะเป็นเรื่องใหญ่ก็คือ เบอร์ลินทั้งเมือง อันได้แก่ทั้ง ๔ เขตยึดครองของ ๔ ชาตินั้น อยู่ในเยอรมนีตะวันออกของโซเวียตทั้งหมด
ดังได้กล่าวแล้วว่า แทบจะทันทีที่โลกผ่านพ้นสงครามลุถึงสันติภาพ โลกก็แตกแยกเป็น ๒ ค่ายอุดมการณ์แล้วก็มีสงครามเย็นตามมา ไม่มีสันติภาพที่แท้จริง มีแต่ความตึงเครียดและความขัดแย้งชิงดีชิงเด่นกันเรื่อยมา
เมืองเบอร์ลินที่แบ่งเป็น ๒ ซีกนี้ได้กลายเป็นจุดขัดแย้งแข้งพลังอย่างสําคัญของ สงครามเย็น เริ่มด้วยหลังจากจบสงคราม และเบอร์ลินถูกแบ่งเป็น ๒ ซีก เพียง ๓ ปี คือถึง ปี1948/๒๔๙๑ สหภาพโซเวียตก็ปิดล้อมเบอร์ลินตะวันตกทั้งทางบกและทางน้ำ ไม่ให้สามมหาอํานาจตะวันตกส่งกําลังบํารุงเข้าไปได้
สามชาติตะวันตกอยู่ในฐานะลําบาก แต่แล้ว อเมริกาก็เป็นผู้นําในการแก้ปัญหา โดยลงทุนใช้เครื่องบินขนส่งเป็นการใหญ่ เลี้ยงเบอร์ลินตะวันตกไว้จนในที่สุด โซเวียตก็ ยอมเปิดทางให้เข้าออกได้ตามปกติ
ปัญหาเรื่องเมืองเบอร์ลินมีมาเรื่อย จนกระทั่งปี1961/๒๕๐๔ ฝ่ายโซเวียตก็ได้ สร้างกําแพงเบอร์ลิน/Berlin Wall ที่มีไฟดูดขึ้นกั้นระหว่าง ๒ เบอร์ลิน ยาว ๔๗ กม. และ อีก ๑๒๐ กม.ล้อมเบอร์ลินตะวันตก เพื่อกันคนหนีลี้ภัยออกจากเบอร์ลินตะวันออก เขาไปในเบอร์ลินตะวันตก∗
สหรัฐอเมริกานั้นมีความภูมิใจและก็อุ่นใจว่า ตนผู้เดียวมีอาวุธที่ร้ายแรงที่สุด คือ ระเบิดปรมาณู(atomic bomb) ซึ่งได้ทําได้สําเร็จในปี1945/๒๔๘๘ และใช้ยุติ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในปีนั้น โดยทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา /Hiroshima และเมืองนาคาซากิ/ ในวันที่ ๖ และวันที่ ๙ สิงหาคม ตามลําดับ แต่แล้ว ในช่วงเวลาแห่งการแข่งขันอย่างเครียดเข้มนั้น พอถึงปี 1949/๒๔๙๒ สหภาพโซเวียตก็ทําระเบิดปรมาณูได้สําเร็จ ก่อความหวั่นหวาดให้แก่ชาวอเมริกันอย่างมาก
แล้วต่อมา พออเมริกาทําระเบิดไฮโดรเจน (hydrogen bomb หรือ thermonuclear bomb, เรียกสั้นๆ ว่า H-bomb) ได้สําเร็จในปี1952/๒๔๙๕ ซึ่งแรง ๕๐๐ เท่าของระเบิดปรมาณูลูกที่ทิ้งที่ฮิโรชิมา เวลาผ่านไปปีเดียว โซเวียตก็เริ่มทําได้บ้างในปี1953/๒๔๙๖
เหตุการณ์ที่ทําให้อเมริกาตื่นตระหนกได้ตามมาติดๆ กันอย่างนี้และที่ตกใจอย่างมากก็คือข่าวที่เหมา เจ๋อตง/Mao Zedong (คนไทยเวลานั้น เรียกแบบเก่าว่า เมาเซตุง/ Mao Tse-tung) รบชนะในเมืองจีน ทําให้เจียง ไคเชค/Chiang Kai-shek ต้องพาพวกจีน คณะชาติหนีจากแผ่นดินใหญ่ไปตั้งประเทศจีนคณะชาติ/Nationalist China ที่เกาะไต้หวัน/Taiwan) แล้ว เหมา เจ๋อตง ก็เปลี่ยนจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เรียกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน/People’s Republic of China ในปี1949/๒๔๙๒ นี่เป็นก้าวใหญ่ที่แสดงให้เห็นว่า คอมมิวนิสต์ได้ขยายตัวไปมากแล้ว
∗ กําแพงเบอร์ลินเปิดในวันที่ ๙ พ.ย. 1989/๒๕๓๒ แล้วหลังจากนั้น ๑๐ วันก็มีประกาศยุติสงครามเย็น ต่อมาถึงวันที่ ๑ ต.ค. 1990/๒๕๓๓ มหาอํานาจทั้งสี่ได้สละสิทธิ์ของตนในเยอรมนีแล้วจากนั้นอีก ๒ วัน เยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออก ก็ได้รวมกลับเป็นประเทศเดียวกัน ครั้นถึงปลายปี1991/๒๕๓๔ สหภาพโซเวียตก็แตกสลาย เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก และ สหรัฐอเมริกากลายเป็นเอกอภิมหาอํานาจผู้เดียว อย่างน้อยตลอดช่วงเวลาระยะหนึ่ง ก่อนจะมีคู่แข่งใหม่
(โปรดติดตามตอนต่อไป…)
พระมองโลก มองความเป็นไป มองเหตุปัจจัย รวมทั้งมองการเมืองโดยมองแบบพระ ไม่ใช่มองแบบชาวบ้าน คือพระมองด้วยเจตนาเพื่อรู้เข้าใจสภาพของมนุษย์และภาวะการของโลกตามที่มันเป็น ให้ชัดเจนเพียงพอเพื่อสนองเจตนาที่จะแก้ปัญหาของโลกของมนุษย์ ให้ลุถึงประโยชน์สุข โดยไม่มีเจตนาที่เป็นเรื่องของตนเอง ไม่มีวัตถุประสงค์ของตนเอง หรือโยงอิงหมู่พวกใด ที่จะได้จะเอาอะไรๆ หรือเพื่อใคร เพื่อพวกใด จึงเรียกว่า รู้โลก เพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ พหุชนหิตายะ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนมาก พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของคนมาก โลกานุกัมปายะ เพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก
ที่ว่านี้ ก็โยงมาถึงการที่จะเล่าเรื่องของมหาจุฬาฯ กลายเป็นว่าจะพูดถึงมหาจุฬาฯ แต่เลยไปพูดถึงทั้งโลก ที่จริง นี่แหละคือเรื่องที่ควรพูดเพราะว่ามหาจุฬาฯก็ดำเนินเดินหน้าไป ในบ้านเมือง ในโลก อย่างน้อยก็ต้องรู้ตระหนักว่าตัวเป็นอยู่เป็นไปในสภาพแวดล้อม ท่ามกลางบ้านเมือง และในโลก ที่กำลังเป็นไปอย่างไร ตอนนั้นเวลานั้นมหาจฬาฯ อยู่ในบรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่เป็นอย่างไร ไม่ใช่เดินไปในความมืด มองอะไรมัวๆ เมื่อตัวไม่รู้ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะคิด แล้วก็เลยคิดเห็นไป กลายเป็นลุ่มหลงไม่ตรงตามจริง จะต้องรู้ให้พอที่จะมองเห็น ไม่ใช่มัวแต่หรืออยู่แค่คิดเห็น
ยิ่งกว่านั้น ในที่สุด แม้มองถึงจุดหมายที่แท้ เมื่อมาเรียนที่มหาจุฬาฯก็เพื่อมีการศึกษา ที่จะให้เจริญงอกงามในธรรมวินัย แล้วสามารถไปบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อคนทั้งมวล ทั้งโลก ด้วยรู้เข้าใจทั่วทันโลกดังได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
กราบขอบพระคุณที่มา : สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ www.watsrakesa.com และ หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
ดาวน์โหลดธรรมนิพนธ์ “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่นกลางทะเลแห่งคลื่นลม” : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺตโต) ได้ที่ เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/604
https://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/_.Pr.4_580301.pdf