เนื่องในวันพ่อแห่งชาติของปวงชนชาวไทยทั้งแผ่นดิน
๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
ลูกขอน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า พสกนิกรผู้รักพระองค์ท่านยิ่งชีวิตเหนือเศียรเกล้า…
ขอน้อมอรรถธรรมเหนือกาลเวลาที่พระองค์ทรงมอบให้ปวงชาวไทยทุกคน
พระพุทธศาสนาคือขวัญแห่งแผ่นดิน
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
จาก คอลัมน์ รายงานพิเศษ เรื่อง พระพุทธศาสนาคือขวัญแห่งแผ่นดิน (เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒๘๔ วันที่ ๖- ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙)
ย้อนอดีตวันวานอังงดงามผ่านบทสัมภาษณ์ท่านอาจาารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งรู้จักกันในนาม วัดภูเขาทอง ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่มีความสืบเนื่องกันมาตลอดสายแห่งราชวงศ์จักรี สองร้อยกว่าปีที่ฐานรากมั่นคงจากพระพุทธศาสนา ดำรงอยู่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์และชาติไทยอย่างแน่นแฟ้นยาวนาน สืบสานย้อนไปถึงกรุงศรีอยุธยาและกรุงสุโขทัยอันเป็นปฐมแผ่นดินสยามที่ให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์มาตลอดกาลจนถึงปัจจุบัน
ท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น เมตตาเล่าย้อนไปเมื่อคราวที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ (ขณะมีพระชนม์ ๑๓ พรรษา) พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ (ขณะมีพระชนม์ ๑๑ พรรษา) และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระเชษฐภคินี (ขณะมีพระชนม์ ๑๕ พรรษา) เสด็จนิวัติจากยุโรปสู่พระนครเป็นครั้งแรก
“ในครั้งนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จฯ สักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต(ภูเขาทอง) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อครั้งเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมเจดีย์ ถวายการรับเสด็จฯ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๑”
หลังจากนั้น ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านเจ้าคุณเทอดเล่าต่อมาว่า เมื่อครั้งที่พระธรรมเจดีย์ ได้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ก็มีผู้ทูลว่า ทำไมไม่ทูลเชิญในหลวงเสด็จมาที่วัดสระเกศ เหมือนที่อื่นเขาทำกันบ้าง
“สมเด็จพระสังฆราชตรัสว่า
วัดเป็นของท่านอยู่แล้ว
เราเป็นเพียงผู้เฝ้า ท่านจะมาเมื่อไหร่ก็ได้”
ต่อมา ในหลวงในรัชกาลที่ ๙ เสด็จเยี่ยมสมเด็จพระสังฆราช เป็นการส่วนพระองค์ และเสด็จฯ วัดสระเกศหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
“มีเรื่องเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีความสนิทสนมเป็นการส่วนพระองค์กับ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยามหาเถระ) โดยพระองค์มักเสด็จมาทางหลังวัด โดยที่ตำหนักสมเด็จจะมีประตูหลังวัด เรียกว่า ประตูเสด็จ ฯ ซึ่งประตูเสด็จก็ยังเก็บไว้อยู่ มีเรื่องเล่าว่า ตอนที่จะเตรียมรับเสด็จที่ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชนั้น ในหลวงตรัสว่า อยากไปกราบท่านที่กุฏิ พอไปกราบที่กุฏิ ทางเจ้าหน้าที่ต่างๆ ก็ไปเตรียมจัดที่กุฏิของท่าน สมเด็จพระสังฆราชตรัสว่า ถ้าในหลวงจะเสด็จมา แสดงว่าพระองค์ท่านทรงมาหาพระ ไม่ต้องจัดอะไร เพียงเตรียมแต่เก้าอี้ไว้ ท่านว่าอย่างนั้นนะ ซึ่งปัจจุบันด้านหลังวัดตรงประตูเสด็จ ยังเก็บรักษาไว้ จนถึงปัจจุบัน”
พระมหากษัตริย์ กับวัดสระเกศ
การกำเนิดวัดสระเกศ จึงมาพร้อมกับ การกำเนิดราชวงศ์จักรี และกำเนิดกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเจ้าคุณเทอด เล่าย้อนอดีตว่า ถ้าดูตามพระราชประวัติ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ท่านเสด็จกรีธาทัพสงครามที่กัมพูชา และหลังจากนั้นท่านก็ยกทัพกลับมาแก้ปัญหาเรื่องกรุงธนบุรีเกิดจลาจลในครั้งนั้น เมื่อแผ่นดินสงบ พระองค์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และในพระปฐมราชโองการแสดงพระราชปณิธานของพระองค์อย่างชัดเจนว่า
ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรี
“หลังจากพระองค์สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างพระบรมมหาราชวังเสร็จแล้ว พระองค์ท่านทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสะแกทั้งหมด ซึ่งเดิมเป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา ที่สำคัญคือ พระองค์ท่านยังย้ายพระตำหนักของท่านจากฝั่งธนบุรีมาไว้ที่วัดสระเกศด้วย เป็นมรดกที่ล้ำค่าที่ซ่อนตัวอยู่ในวัดสระเกศ ที่สังคมยังไม่ทราบ
“เรียกว่า รัชกาลที่ ๑ ทรงบูรณะวัดสระเกศแล้วสร้างอาราม สร้างโบสถ์ ขยายโบสถ์ให้เป็นหลังปัจจุบัน แล้วพระองค์ท่านทรงให้ปั้นพระหุ้มองค์พระประธานองค์ในซึ่งมาจากวัดสะแก เป็นองค์ปัจจุบันด้วย”
“ที่สำคัญอีกเรื่องก็คือ ในรัชกาลที่ ๑ ยังทรงโปรดเกล้าฯให้สังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดมหาธาตุ จนเสร็จ ก็ตกมาถึงรัชกาลที่ ๒ พระองค์ทรงดำริให้อัญเชิญพระไตรปิฎกที่ยืมมาจากลังกา นำไปคืนที่ลังกา
ในหลวงรัชกาลที่ ๒ ทรงแสวงหานิมนต์พระที่จะไปลังกา จึงเสด็จมาที่วัดสระเกศ ก็ได้พระอาจารย์ดี และพระอาจารย์เทพไปสองรูป ซึ่งสมัยก่อน วัดสระเกศ เป็นวัดพระกรรมฐาน หรือเป็นวัดป่า ในยุคต้นรัตนโกสินทร์
“เมื่อนำพระ ไตรปิฎกไปคืนลังกา กษัตริย์ลังกาทรงดีใจที่ได้พระไตรปิฎกคืน จึงมอบกิ่งโพธิ์กลับมาให้สามกิ่ง ซึ่งกิ่งโพธิ์ลังกา นั้นมาจากต้นสายเดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ต้นแรกอยู่ที่พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งต้นโพธิ์ในลังกาก็มาจากในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้นำกิ่งโพธิ์ไปปลูกที่ลังกา จะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นต้นลูก ต่อมา กษัตริย์ลังกาก็มอบกิ่งโพธิ์ให้อาจารย์ดี และอาจารย์เทพ กลับมาถวายรัชกาลที่ ๒ แล้วพระองค์ทรงกิ่งโพธิ์มาปลูกไว้ที่วัดสระเกศเพื่อรำลึกถึงเสด็จพ่อ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ที่วัดภูเขาทองจึงมีหน่อเนื้อต้นโพธิ์จากที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานอยู่ด้วย
“ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๓ เรียกว่ามาตามรอยเสด็จปู่ ตามรอยเสด็จพ่อ จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและวางผังใหม่หมด ปรับพระตำหนัก แล้วทรงอัญเชิญพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุไม่น้อยกว่า ๗๐๐ ปี หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ มีความสูงถึง ๒๑ ศอก ๑ นิ้ว คือมีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก เดิมประดิษฐานอยู่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังจันทน์ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาก่อนนั้น รัชกาลที่ 3 ทรงมีดำริที่จะให้มีพระอัฏฐารสไว้ประจำพระนคร จึงโปรดฯ อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร “
ตามประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า การสร้าง พระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนไว้ประจำพระนคร ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงคราม ป้องกันความแตกแยกของคนในชาติ ให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคี และให้ประเทศชาติสถิตสถาพรมั่นคงยั่งยืนนาน ประหนึ่งพระพุทธปฏิมากรประทับยืนสถิตสถาพรเป็นนิรันดร์
ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ทรงมีดำริที่จะสร้างภูเขาไว้กลางพระนคร ท่านเจ้าคุณเทอดในขณะน้ันเล่าถึงจุดกำเนิดภูเขาทองต่อมาว่า การสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ต้องใช้ความเพียรอย่างยิ่ง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล
“เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๔ ทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด แต่ก็สร้างไม่เสร็จ มาสร้างเสร็จในรัชกาลที่ ๕ ทรงมีความผูกพันกับวัดภูเขาทองมาก ทรงอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจำลอง มาประดิษฐานไว้ให้ผู้คนสักการะบูชา จึงเกิดงานฉลองพระเขี้ยวแก้วจำลองขึ้นที่วัดภูเขาทองเป็นครั้งแรก
“ต่อมาพระองค์ทรงทราบว่าอินเดียขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ และจะมอบให้กับกษัตริย์ของสยามประเทศที่ทรงเป็นพุทธมามกะ เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจ ราวกับว่า ภูเขาทองสร้างไว้รองรับพระบรมสารีริกธาตุ”
จากบันทึกในหนังสือ “๑๑๒ ปีแห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จากกรุงกบิลพัสดุ์ สู่สยามประเทศ” ตอนหนึ่งว่า เหตุเกิดในปี ๒๔๔๐ อินเดีย โดยมิสเตอร์วิลเลียม เปปเป ชาวอังกฤษ ได้ขุดพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระราชกิจจาภรณ์ขยายความว่า การขุดพบก็เป็นเรื่องอัศจรรย์ เนื่องจากเขาไปขุดในพื้นที่ของเขาที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอังกฤษ แล้วพบผอบ เขาก็ให้เพื่อนที่เป็นนักโบราณคดี อ่าน แปลได้ใจความว่า เป็นผอบที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เลยคิดว่าจะมอบให้กับรัฐบาลอินเดีย ซึ่งตอนนั้นอังกฤษปกครองอยู่ รัฐบาลก็บอกว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวพุทธ น่าจะมอบคืนให้กับชาวพุทธ และควรทำตามประเพณีโบราณที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งกษัตริย์ที่นับถือพระพุทธศาสนาในสมัยนั้นก็มีแต่พระเจ้ากรุงสยามเท่านั้น
“รัฐบาลอินเดียจึงมอบพระบรมสารีริกธาตุถวายในหลวงรัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงมอบให้เจ้าพระยายมราชไปรับ แล้วอัญเชิญกลับมาขึ้นที่จังหวัดตรัง จึงเกิดประเพณีชักพระ จากการเฉลิมฉลองพระบรมสารีริกธาตุในปีนั้น พ.ศ. ๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗)
“เมื่ออัญเชิญมาก็ให้ประดิษฐานที่พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ก่อนที่จะเข้าสู่พระนคร และนำมาประดิษฐานที่วัดสระเกศ บนภูเขาทอง จากนั้นก็ทำพิธีชักผ้าแดงขึ้นห่มภูเขาทอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ประชาชนเห็นจากที่ไกลๆ ประเพณีการห่มผ้าแดงภูเขาทองจึง สืบเนื่องมาจากรัชกาลที่ ๕”
ความสำคัญของวัดสระเกศสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงให้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อารายางกูร ) เป็นผู้สอนหนังสือให้กับรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ซึ่ง พระยาศรีสุนทรโวหาร เคยบวชเรียนอยู่ที่วัดสระเกศเป็นเวลานาน อันเป็นจุดกำเนิดให้กับการแต่งตำรับตำรา มูลบทบรรพกิจ มูลบทบรรพกิจ , วาหนิติ์นิกร, อักษรประโยค, สังโยคภิธาน, ไวพจน์พิจารณ์ ฯลฯ เป็นตำราเรียนภาษาไทยที่สำคัญในเวลาต่อมา
“มาถึงในรัชกาลที่ ๗ แม้ว่ารัชกาลของพระองค์ไม่นานนัก แต่พระองค์ทรงโปรด จิตกรรมฝาผนังที่โบสถ์ในวัดสระเกศ จึงมีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลของท่าน ซึ่งทรุดโทรมมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ เพราะเขียนขึ้นตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๑ เป็นต้นมา คุณูปการของพระมหากษัตริย์ต่อพระพุทธศาสนาจึงมีอยู่สูงมาก มาจนถึงปัจจุบันอันเป็นรัชสมัยในรัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาเช่นกัน” ท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ในขณะนั้นกล่าว
ในวันพ่อแห่งชาติของพสกนิกรชาวไทยทั้งแผ่นดิน และทุกๆ วัน ไปจนถึงต้นปีของการเปลี่ยนผ่านพุทธศักราชใหม่ ขอเชิญชวนชาวไทยแวะไปสวดมนต์ ไหว้พระ และกราบพระบรมสารีริกธาตุที่วัดภูเขาทอง ซึ่งเป็นต้นทางแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่จะนำเราเดินทางก้าวไปในยุคสมัยใหม่อันรุ่งเรืองด้วยจิตสถาพร น้อมถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ด้วยเศียรเกล้า
พระพุทธศาสนาคือขวัญแห่งแผ่นดิน
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
จาก คอลัมน์ รายงานพิเศษ เรื่อง พระพุทธศาสนาคือขวัญแห่งแผ่นดิน (เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒๘๔ วันที่ ๖- ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙)