“พระผู้นำแสงสว่างสู่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้”
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๖)
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ผู้เขียนได้พูดคุย กับพระปลัดธันวาคม สญฺญโม รองประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดสตูล ในฐานะเพื่อนร่วมอุดมการณ์งานเผยแผ่ พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และอดีตประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส
พระอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่า รู้จักพระครูประโชติฯ เมื่อครั้งไปอบรมโครงการอบรมพระธรรมทูตอาสา ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้โครงการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระพุทธศาสนาใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการอบรมทั้งหมด ๔ รุ่น ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๕๓-๒๕๕๕
“จำได้ว่า หลังจากที่อบรมกันเสร็จแล้วก็มีการตั้งประธานเครือข่าย โดยในขณะนั้นสมาชิกได้คัดเลือก พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม (ผัง ๗) เจ้าคณะอำเภอมะนัง เป็นประธานเครือข่าย ภายหลังที่ประชุมได้ประชุมแต่ตั้งประธานเครือข่ายใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้คัดเลือก พระครูโฆสิตสุตาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม จังหวัดปัตตานี เป็นประธานเครือข่าย เนื่องจากท่านอยู่ในพื้นที่กึ่งกลางระหว่าง ๕ จังหวัด เหมาะสำหรับการประสานงาน ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ”
ในช่วงแรกหลังจากอบรมพระธรรมทูตอาสาในพื้นที่เสร็จแล้ว พระปลัดธันวาคม เล่าให้ฟังต่อมาว่า ท่านก็ได้ร่วมกันทำงานในโครงการค่ายพุทธบุตร และค่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๖ ซึ่งจัดเป็นค่ายละ ๒ รุ่น จังหวัดละ ๔ ค่าย รวม ๕ จังหวัด ซึ่งเป็นการทำงานที่สนุก ได้ลงไปในพื้นที่ครบทั้ง ๕ จังหวัด พระธรรมทูตอาสาก็ได้รู้จักมักคุ้นกัน ได้เห็นการทำงาน ได้ลงชุมชนร่วมกัน ซึ่งแต่ก่อนนั้นแต่ละรูปทำงานเผยแผ่ในพื้นที่ของตนเอง ใครอยู่ในพื้นที่ไหนก็ทำงานในพื้นที่นั้น แต่พอได้ทำงานในหลายพื้นที่ ทำให้ได้เห็นแต่ละรูปมีอุปสรรค์ปัญหาแตกต่างกัน มีวิธีการแก้ที่แตกต่างกัน บางครั้งเราคิดว่า เราทำงานหนัก พอไปได้ยินหลายรูปเล่าการทำงาน การเดินทาง ท่านมีความลำบากกว่าเยอะ ทำให้มีกำลังใจในการทำงานกันมากขึ้น
“กล่าวถึงพระครูประโชติฯ เท่าที่ได้สัมผัส ท่านจริงจังกับงาน รับผิดชอบหน้าที่ เป็นคนที่รักเพื่อน มีความจริงใจกับเพื่อน ไปนราธิวาสหลายครั้ง เห็นบรรยากาศการทำงานของท่าน ท่านพาลงชุมชนสงเคราะห์ชาวบ้าน ท่านไปหมด บ้านไหนลำบากไม่ใช่แค่พุทธ มุสลิมท่านก็ไป ไม่แปลกหรอกที่ทุกคนจะรักท่าน เวลาลงชุมชนรู้สึกสงบ ไม่ได้คิดว่าจะต้องโน่นนี่นั่น วัดก็มีความสงบ ไม่มีความหวาดระแวงอะไรในเรื่องความปลอดภัย หมู่บ้านไม่เคยมีเหตุการณ์อะไร ประทับใจที่ได้ร่วมงานกัน ท่านมีความตั้งใจ ทำอะไรจะต้องเป๊ะ ตรงไปตรงมา มาตรฐานในจิตใจสูงพอสมควร ความขาวสะอาดในใจท่านมีมาก”
ผู้เขียนได้อ่านข้อความของ พระอำพล สุตโฆโส ซึ่งเป็นเลขานุการเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ทำหน้าที่สนองงานพระอาจารย์ท่าน ได้เขียนถึงพระครูประโชติฯ ว่า จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ผมพระอำพล กราบขอขมาและกราบอโหสิกรรม ผู้เป็นต้นแบบในการยืนหยัดต่อสู้ในพื้นที่ ไม่คิดว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นกับพระอาจารย์ ได้อ่านข่าวแล้วตกใจ ผมยังไม่เชื่อว่าเป็นข่าวจริง ตัดสินใจโทรไปเบอร์พระอาจารย์ ไม่ติด สายไม่ว่าง น้ำตาก็ไหลออกมาเอง โดยไม่รู้ตัว ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวขนาดนี้
“ช่วงเวลาที่ได้ช่วยงานพระอาจารย์ ไปเป็นเลขาพระธรรมทูตอาสา ไปอยู่วัดรัตนานุภาพ ได้พระอาจารย์ คอยอบรมสั่งสอน ตักเตือนและเป็นต้นแบบ ชี้นำแนวทางให้ พระอาจารย์เล่าเรื่องราวดีๆ บอกหลักธรรมดำเนินชีวิตแบบพระ ผมยังจำสิ่งเหล่านั้นได้และจะไม่มีวันหาย ภาพของพระอาจารย์ที่ได้สร้างสิ่งดีๆ ในพระพุทธศาสนา จะเป็นสิ่งตอกย้ำให้ทำความดีต่อไป สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันหายไป หวังว่าภพชาติเบื้องหน้า จะได้มาสร้างบุญบารมีร่วมกันอีกนะครับ”
และอีกหนึ่งข้อความของนวพล ลีนิน ผู้เป็นลูกศิษย์ที่เคยบวชเรียนธรรมะที่วัดรัตนานุภาพ ได้เล่าถึงพระอาจารย์ผู้เป็นที่รักว่า พระอาจารย์ที่ผมสนทนาได้เหมือนเพื่อนได้จากไปแล้ว
๑.พระอาจารย์สว่างหรือพระครูประโชติรัตนานุรักษ์เป็นพระที่ผมสนทนาได้เหมือนเพื่อน หมายถึงพูดคุยเรื่องธรรม เรื่องหนักๆได้อย่างไม่อึดอัด ท่านเป็นอาจารย์ทางธรรมของผม ประเด็นที่เรามักคุยกันอยู่บ่อยคือเรื่องสันติวิธี และท่านเป็นเครือข่ายพระสายสันติวิธีที่หาได้น้อย ดังนั้นเมื่อกลับนราธิวาส หากมีเวลาผมมักแวะไปกราบท่านที่วัดรัตนานุภาพ บ้านโคกโก ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
คืนนี้คล้ายพระจันทร์ส่องแสงส่งข่าวเศร้า ผมนั่งรถไฟเที่ยว ๑๙.๒๔ น .วันศุกร์ที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๒ จากสถานีแปดริ้วไปสถานีปราจีนบุรี เพื่อกลับบ้านตามปกติ ราวสามทุ่มกว่า ที่บ้านขับรถมารับ เธอชวนไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นก่อนเข้าบ้าน ระหว่างนั้นข้อความของนาวินจากนราธิวาสบอกว่า “ท่านหว่างมรณภาพแล้ว”
ผมขอให้ที่บ้านโทรหาแม่ที่นราธิวาส เพื่อถามรายละเอียดความว่า แม่อยู่ที่สุไหงปาดี และเสียงปืนเพิ่งหยุดลง กำลังเจ้าหน้าที่บางส่วนยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะอาจถูกซุ่มโจมตี หลังจากนั้นไม่นาน ข่าวจากเพื่อนทางทางเฟซบุ๊กก็ทยอยแชร์รูปและภาพข่าวค่อนข้างแน่ชัด ผมไม่ร้องไห้ในทันทีเมื่อทราบข่าวร้าย อย่างตอนรู้ข่าวพ่อเสียชีวิตเมื่อ ๒ ปีก่อน น้ำตามันจะไหลโดยกระบวนการกรอภาพความทรงจำของเซลล์สมอง และมันเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตบอกเราว่า การพลัดพรากคือความเจ็บปวดความทุกข์
๒.ในปี พ.ศ.๒๕๕๐ ผมบวชที่วัดรัตนานุภาพ กราบขอเป็นศิษย์พระอาจารย์สว่าง ฝึกเดินบิณฑบาต เดินจงกรม รับวิปัสสนากรรมฐาน ทำวัตรเช้าเย็นอยู่ได้ ๑๖ วัน ตามบุญที่มีโอกาสได้ครองผ้าเหลือง ก่อนผมลาสิกขา ที่ระเบียงของกุฏิ ผมชงกาแฟถวายท่าน และสำหรับตนเอง เราสนทนากันถึงสถานการณ์ตั้งแต่เรื่องเด็กและเยาวชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสถานการณ์ความรุนแรง ปีนั้นแปลงต้นไม้ที่ท่านปลูก โตได้สักห้าหกปีแล้ว
นับถึงปัจจุบันสวนป่าของท่าน
กลายเป็นลานสมาธิที่เด็กและชาวพุทธมาร่วมปฏิบัติธรรม
สวนป่าที่ท่านปลูกใช้ประโยชน์ได้จริง จับต้องได้จริง
ความเป็นพระนักพัฒนา พระนักปลูกต้นไม้ พระสายสันติวิธี ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ ท่านพูดภาษามลายูได้ และชอบศึกษาหาความรู้ ท่านจบหลักสูตรสันติศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า เคยไปศึกษาดูงานที่อาเจะห์ เป็นพระธรรมทูตที่อินเดีย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และงานพระพุทธศาสนาในพื้นที่ ท่านมีแนวคิดขยายพื้นที่วัดเพื่อทำเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ร่มรื่น ขยายพื้นที่ปลูกสวนป่า และกุฏิที่ติดกับสวนยางพารานั้นเอง คงเป็นภาพที่ไม่อาจรู้เหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นได้อย่างไร
๓. เมื่อคืนผมทบทวนตัวเอง จากพฤติกรรมที่เลี่ยงวิถีปฏิบัติจากพระอาจารย์สว่างมานาน และพระหรือพระอาจารย์ที่ผมคุยได้อย่างไม่รู้สึกกดดัน ผมจะเดินทางไปสนทนาธรรมอย่างนี้อีกไม่ได้อีกแล้ว
ความตายแม้เราชาวพุทธจะเข้าใจได้บ้างว่า เป็นการเปลี่ยนที่อยู่ของจิตวิญญาณ ปุถุชนอย่างผมก็เศร้าอยู่ว่า เราจะพบกันหรือเดินทางไปกราบไหว้ หรือจับต้อง เหมือนตอนมีชีวิตไม่ได้อีกแล้ว ผู้ที่ผมคุยด้วยได้เหมือนเพื่อนได้จากไปแล้ว พระอาจารย์ที่ผมสนทนาได้เหมือนเพื่อนได้จากไปแล้ว ด้วยความอาลัยยิ่งนัก
“พระผู้นำแสงสว่างสู่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้” พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๖) : โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ