วันนี้วันพระ วันเสาร์ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๕)

“วิธีแก้นิมิต”

เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

วิธีแก้นิมิต

นอกจากนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสอนวิธีแก้นิมิต หรือวิปัสสนูปกิเลสเอาไว้ ขณะจิตถูกดึงดูดลงสู่ความสงบ เห็นอะไร ได้ยินอะไร แว่วเสียงอะไร ได้กลิ่นอะไร ให้บริกรรมว่า “รู้ๆๆ” “เห็นๆๆ” “ได้ยินๆๆ” หรือ “รู้หนอๆๆ” “เห็นหนอๆๆ”  “ได้ยินหนอๆๆ

เป็นการเตือนให้จิตมีสติ แล้วกลับไปที่อารมณ์พระกรรมฐานเดิม เหมือนเตือนจิตให้มีสติ จะได้ไม่เกิดอันตรายในการปฏิบัติสมาธิ  คือ ไม่เป็นอันตรายต่อการรวมดวงของจิต

เมื่อกำหนดบริกรรม “รู้ๆๆ” หรือ “รู้หนอๆๆ” แล้วเกิดความรู้สึกตัว ให้ถอยจิตกลับมาตั้งหลักไว้ที่ลมหายใจ ซึ่งเป็นกรรมฐานเดิม หากอาการที่ปรากฏนั้นเป็น “นิมิตใน” ที่จิตสังขารขึ้น หรือจิตปรุงแต่งขึ้น อาการนั้นก็จะหายไป ที่อาการนั้นหายไปก็เพราะจิตพลิกขณะจากการปรุงแต่งเป็นภาพ เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นแสง หรือเป็นอาการต่างๆ อื่นใด กลับมาอยู่กับลมหายใจ ภาพเสียง  กลิ่น แสงนั้นก็จะหายไป เพราะจิตไม่ได้ปรุงแต่งต่อ แต่ถ้าเป็น “นิมิตนอก” คือนิมิตที่เกิดจากภายนอก อาการนั้น ภาพนั้น เสียงนั้น กลิ่นนั้น จะไม่หายไป เพราะมีผู้เจตนาจะให้รู้สิ่งนั้น หรือจิตละเอียดลงไปรับรู้สิ่งนั้นที่มีอยู่เป็นธรรมดา

ถึงแม้จะเป็นนิมิตนอก

นิมิตใน

ก็รู้เฉยๆ

อย่าให้ความสำคัญอะไร

พระอาจารย์ญาณวชิระ

ถ้าจะดูก็ให้มีสติกำหนดรู้ เพื่อป้องกันไม่ให้นิมิตดึงความสนใจให้ออกนอกทางสมาธิหลงติดตามนิมิตไป ความเนิ่นช้าในการที่จิตจะรวมดวงมีอารมณ์เป็นอันเดียวก็จะเกิดขึ้น

คำว่า “อันตรายเกิดจากนิมิต” หมายถึง อันตรายต่อการรวมดวงของจิต ไม่ใช่อันตรายอย่างอื่น เพราะมัวแต่หลงเพลินอยู่กับนิมิต การทำหน้าที่ในการรวมดวงของจิตก็ไม่เกิดขึ้น

เมื่อหลงในนิมิตแล้ว ความวิปลาศคลาดเคลื่อนจากความจริงก็จะตามมา จะเกิดภาวะอย่างหนึ่ง คือผู้นั้นจะมีลักษณะของทิฏฐิแรงกล้า มีลักษณะของการไม่ยอมรับฟังผู้อื่นอย่างแรงกล้า มีลักษณะของการตอบโต้ทางความคิดอย่างแรงกล้า แม้มีการถอนความยึดถือในรูป แต่ก็ไปยึดถือในความเป็นตัวตนของความเห็น เป็นการยึดในความคิดเห็นและความเชื่อของตนอย่างแรงกล้า ซึ่งก็เป็นอันตรายต่อการพัฒนาปัญญาและความคิด เหมือนจะปล่อยวางสิ่งของ แต่ก็ยึดในความคิดเห็นของตน

บางขณะ เมื่อจิตสงบเยือกเย็น กายเบาใจเบา ปลอดโปร่งเพราะปัสสัทธิ บางทีธรรมะข้อใดข้อหนึ่งผุดขึ้นมา เช่น ความกรุณา ก็สำคัญตนผิด คิดไปว่าได้เป็นพระอริยบุคคลแล้ว จิตจะเกิดความกรุณาอย่างแรงกล้า ใครบอกใครสอนไม่ได้ จนเหมือนคนหัวรั้น เพราะเชื่ออย่างนั้นไปแล้ว ก็อยากบอกอยากสอนครูบาอาจารย์ และบุคคลที่รู้จักมักคุ้น คิดเห็นไปว่า ครูบาอาจารย์ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็อยากบอกอยากสอนท่านและสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ เจอใครก็จะเทศน์ก็จะสอน โดยไม่ดูความเหมาะสมของกาละเทศะ เจอช้างม้าวัวควาย ก็จะสอน อยากสอนแม้กระทั่งต้นไม้ เพราะเห็นไปว่าเป็นที่อยู่ของรุกขเทวดา ก็จะสอนให้รู้ธรรมให้พ้นทุกข์

อีกอย่างหนึ่ง มีลักษณะยึดมั่นในความคิดเห็นอย่างแรงกล้า ใครบอกใครสอนใครเห็นแย้งความเชื่อความคิดเห็นไม่ได้ จะแสดงออกให้เห็นถึงอารมณ์โทสะอย่างแรง จะแสดงอาการขัดเคืองต่อต้านอย่างแรง

เมื่อมีใครขัดแย้งความคิดความเห็น ให้ดูเข้ามาที่ใจว่า มีความรู้สึกขัดขืนต่อต้าน ไม่พอใจ ก่อตัวขึ้นมาในใจไหม มีความขัดเคืองฟุ้งขึ้นมาไหม บางทีครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน ก็เกิดทิฐิขึ้นมาว่า ท่านไม่ได้เป็นพระอริยะ จะมาบอกมาสอนเราทำไม ท่านไม่ได้ปฏิบัติสมาธิ ไม่ได้บรรลุผลของสมาธิ ไม่ควรที่จะมาแนะนำสั่งสอนเรา

นี่ความยึดมั่นในความคิดความเห็นเป็นอย่างนี้ แล้วก็เกิดยึดในทิฐิอย่างใหม่ขึ้นมา ครูบาอาจารย์จะบอกจะสอนไม่ได้ คนอื่นจะแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความคิดเห็นของตนไม่ได้ ต้องแย้งอย่างแรง ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้จะเป็นลักษณะของจิตที่อยู่ในสมาธินาน ความสงบกดทับกิเลสละเอียดให้จมนิ่งสยบอยู่ ก็เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า บรรลุธรรมแล้ว เมื่อกระทบอารมณ์ภายนอกจึงไหวแรง สติไปไม่ทันอารมณ์

ครูบาอาจารย์จึงสอนว่า

เมื่ออยู่กับความสงบแล้ว

ก็เปลี่ยนอารมณ์

ไปทำงานบ้าง

ไปพบปะผู้คนบ้าง

จิตจะได้กระทบอารมณ์ที่หลากหลาย

พอคนด่าคนว่า

กิเลสละเอียด

ที่ถูกความสงบกดทับไว้

จะได้ฟุ้งขึ้นมาให้เห็น

พอรู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง

ไปตามธรรมดาของโลก

ก็จะได้รู้ว่า

ออ อันที่จริง

ยังเป็นคนธรรมดาอยู่

ไม่ได้วิเศษวิเสโสอะไร

พระอาจารย์ญาณวชิระ

เรื่องนิมิตเป็นสภาวะธรรมอย่างหนึ่งของผู้ปฏิบัติสมาธิ เป็นของเฉพาะตน บางทีเกิดความรู้ทางธรรมขึ้นมา ก็อยากจะพูดอยากจะแสดง แล้วก็จะมีอาการแปลกๆ ไปจากปกติ จนมีลักษณะเหมือนคนหัวรั้น คนที่ไม่เข้าใจว่า เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติ ก็ไปอธิบายว่า “กรรมฐานแตก” คนก็เลยกลัวกันไปใหญ่ว่า หากนิมิตเกิดแล้วไปหลงนิมิตจะทำให้กรรมฐานแตก เป็นอันตราย เป็นบ้าเป็นหลังไปเพราะฝึกปฏิบัติสมาธิ

นั่นก็อธิบายจากความเห็นไม่ได้อธิบายจากธรรม

ที่จริงคนไม่เข้าใจสภาวะ ไม่เคยประสบสภาวะที่เป็นอาการซึ่งเกิดจากความสงบ เมื่ออธิบายสิ่งที่เป็นสภาวธรรมที่คนทั่วไปไม่เคยประสบ ก็เรียกตามภาษาคนทั่วไปว่า “กรรมฐานแตก

คือเข้าใจไปคนละทาง ท่านพูดสภาวธรรมด้วยภาษาธรรม แต่คนทั่วไปพูดภาษาโลก ไม่เข้าใจภาษาสภาวธรรมตามนิมิตที่ปรากฏ แต่คนทั่วไปเข้าใจไปตามภาษาโลก พอพูดไปตามภาษาโลกก็ไม่ตรงกัน เมื่อเข้าใจไม่ตรงกัน ก็พูดกันคนละเรื่อง ชี้ไปตามความเห็นของเรา ตามภาษาโลกว่า “พระท่านกรรมฐานแตก” บ้าง  “พระบ้า” บ้าง “พระอุตริ” บ้าง

ที่จริง ขณะนั้นจิตท่านทรงอยู่กับสภาวธรรม ท่านพูดไปตามสภาวธรรม แต่สภาวธรรมนั้นไม่ตรงกับเรา เพราะเราไม่เคยประสบสภาวะ ก็สรุปลงไปว่า ไม่มี ไม่เป็น แต่ผู้ที่ปฏิบัติแล้วเคยผ่านสภาวะเช่นนี้มาก่อน ก็จะเข้าใจและรู้ว่าเป็นสภาวะธรรมดา เพราะสภาวะธรรมดาอย่างนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว บางทีหลงไป  ก็เกิดความเห็นผิดไปว่า เป็นผู้วิเศษกว่าคนปกติทั่วไป กลายเป็นว่ามีความเป็นผู้วิเศษขึ้นมา ที่จริงไม่ใช่วิเศษ แต่เป็นธรรมดาของการปฏิบัติสมาธิ เมื่อปฏิบัติถึงแล้วก็จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และก็จะดับไปเป็นธรรมดา เมื่อออกจากสมาธิ จิตกระทบอารมณ์ปกติทั่วไป ถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ขัดเคืองใจบ้าง ไม่ได้ดั่งใจบ้าง ตามธรรมดาของโลก จิตก็จะย้อนกลับและรู้ว่าสิ่งที่เห็นน่ะไม่จริง เพราะจิตหมุนไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบในแต่ละวันจะเห็นกิเลสที่ก่อตัวเป็นอารมณ์ความรู้สึกชัดขึ้น

เรื่องของสภาวะธรรมที่เกิดจากความสงบที่เรียกว่านิมิต ที่เห็นน่ะเห็นจริง เพราะรับรู้ได้ทางจิต เป็นการรู้อารมณ์ด้วยใจ เมื่อกระทบธรรมารมณ์ขึ้นที่ใจจริง การรับรู้อารมณ์จึงเป็นการรับรู้จริง การเห็นจึงเป็นการเห็นจริง แต่อารมณ์ที่เห็นนั้นไม่จริง เพราะสิ่งที่เห็นประกอบขึ้นตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่ทำให้นิมิตปรากฏ ก็คือ ความสงบที่เกิดจากความเพียรที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อเพียรพยายามไปจนถึงที่เหมาะแก่เหตุปัจจัย นิมิตก็ปรากฏ  เมื่อความสงบคลายออก เหตุปัจจัยไม่พร้อมให้นิมิตดำรงอยู่ นิมิตก็หายไปพร้อมกับจิตที่ถอนออกจากสมาธิ

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๕) “วิธีแก้นิมิต” เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here