วันนี้วันพระ
วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒
บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๓๒)
“วิธีปฏิบัติต่อนิมิตเมื่อนิมิตเกิดขึ้น”
เขียนโดย พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร)
วิธีปฏิบัติต่อนิมิตเมื่อนิมิตเกิดขึ้น
ต่อไปจะพูดถึงนิมิต เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องประสบพบเจอระหว่างการปฏิบัติสมาธิ บางคนก็รับรู้ได้น้อย บางคนก็รับรู้ได้มาก บางคนก็เกิดน้อย บางคนก็เกิดมาก บางคนก็เกิดขึ้นเร็ว หายไปเร็ว บางคนก็เกิดขึ้นเร็ว หายไปช้า บางคนก็ทรงอยู่สั้น บางคนก็ทรงอยู่นาน บางคนอาจจะไม่มีอยู่เลย คือมีอยู่แต่บางเบาจนเหมือนรับรู้ไม่ได้ จึงเหมือนไม่มี
ที่จริง เรื่องนี้ครูบาอาจารย์ท่านไม่นิยมนำมาพูด เว้นแต่ผู้ปฏิบัติติดขัดเกิดข้อสงสัยในการปฏิบัติท่านก็จะอธิบายเฉพาะเป็นคนๆ ไป จะเรียกว่าสอบอารมณ์ก็ได้ เพราะเมื่อพูดไปก็จะออกไปทางให้คนเข้าใจไขว้เขวไปว่าเป็นเรื่องอุตริ แต่เพื่อให้เข้าใจในสภาวอารมณ์ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติควรจะรู้ไว้ก่อน เหมือนเตรียมตัวจะเดินทางไปในป่าใหญ่ที่ไม่เคยไป ก็ควรจะศึกษาแผนที่ ควรจะรู้เส้นทาง รู้ว่าช่วงไหนเป็นหุบเป็นเหว ช่วงไหนมีสัตว์ร้าย ช่วงมีอันตราย ก็ควรจะรู้ไว้ จะได้ระมัดระวัง การเดินทางก็จะไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย
นิมิตเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง
เกิดขึ้นจากผลของการภาวนาจนจิตสงบ
ก็จะปรากฏอาการต่างๆ ขึ้น
อาการที่ปรากฏเพราะความสงบจากสมถะ
เรียกว่า “นิมิต”
อาการที่ปรากฏเพราะความสงบจากวิปัสสนา
เรียกว่า “วิปัสสนูปกิเลส”
พระอาจารย์ญาณวชิระ
พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร )
: พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น ภาพในอดีต
ซึ่งว่าไปตามหลักที่ท่านแสดงไว้ตามคัมภีร์ แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นนิมิต หรือวิปัสสนูปกิเลส ก็ไม่อาจแยกอาการออกจากกันว่าสภาวะไหน เรียกว่า นิมิต สภาวะไหน เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส เพราะทั้งสองเพียงแต่ต่างกันโดยคำทางภาษาเท่านั้น แต่โดยอาการก็อย่างเดียวกัน คือผลที่เกิดสืบเนื่องมาจากการดำเนินจิตเข้าสู่ความสงบ ไม่ว่าความสงบนั้นจะเกิดขึ้นจากวิธีปฏิบัติแบบใด รสของความสงบเป็นแบบเดียวกัน และผลที่เกิดจากความสงบก็ย่อมเป็นแบบเดียวกัน แยกกันเพียงชื่อ แต่อาการไม่ได้แยก เหมือนคนๆ เดียว อาจจะมีชื่อเรียกหลายชื่อ แต่จะเรียกว่าอะไร ถ้ารู้จักตัวตนกันแล้ว ก็หมายถึงคนนั้นแหละ ถ้ายังไม่รู้จักก็อาจจะถกเถียงกันเพราะชื่อ ทั้งๆ ที่เป็นคนๆ เดียวกัน แต่คนที่ไม่รู้จักมาก่อน ก็อาจจะทะเลาะกันเพราะชื่อเรียก
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนิมิตหรือวิปัสสนูปกิเลส ก็ให้รู้ไว้ว่า เป็นอาการที่เกิดจากความสงบ ปฏิบัติสมาธิจนเกิดความสงบ นิมิตหรือ วิปัสสนูปกิเลส จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการที่เกิดจากสมถะที่เรียกว่านิมิต หรืออาการที่เกิดจากวิปัสสนา ที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ก็อย่างเดียวกัน คือผลของความสงบ
ส่วนจะเกิดน้อยเกิดมาก สัมผัสได้น้อยสัมผัสได้มาก หรือรับรู้ได้น้อยรับรู้ได้มาก ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล หรือบางคนอาจจะไม่เกิดก็ก้าวเข้าสู่ความสงบ คือความว่างภายในเลยก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็นับว่าดี เหมือนกัปตันขับเครื่องบินขึ้นลงโดยไม่เจอแรงสั่นสะเทือนจากลมพายุ ก็ควรจะดีใจว่านำเครื่องขึ้นลงได้จังหวะดี ไม่เจอพายุ ส่วนครั้งใดที่ต้องเจอพายุก็ต้องระมัดระวังให้มาก ต้องตั้งสติให้ดี อย่าให้เกิดความเสียหายแก่ผู้โดยสาร
พระอาจารย์ญาณวชิระ (เทอด ญาณวชิโร )
: พระราชกิจจาภรณ์ ในขณะนั้น ภาพในอดีต
เมื่อมีความสงบจิตจะสังขารปรุงแต่งไปเพราะปีติบ้าง เพราะความสุขจากความสงบบ้าง เกิดความเข้าใจผิด เป็นสัญญาวิปลาส เกิดโอภาสคือแสงสว่างสาดส่องทั่วไปหมด สว่างไสวสุดขอบจักรวาล ก็เข้าใจผิดคิดว่า รู้โลกจนจบสิ้นแล้ว เข้าใจผิดไปว่าเป็น โลกวิทู เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งแล้วก็ยึดความเห็นความเชื่อนี้อย่างแน่น ที่จริงเป็นแสงสว่างตามธรรมดาของจิตสงบ แต่เข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากความจริงที่ว่า เป็นเพียงแสงสว่างที่ปรากฏขึ้น ก็จะหายไป แต่ก็ไปยึดเป็นจริงเป็นจัง ก็เป็นอุปาทานยึดมั่นในขันธ์ คือความคิดความเห็น
เมื่อปฏิบัติสมาธิ ก็จะมุ่งให้เกิดแสงสว่างนี้เพื่อจะเพ่งจดจ่ออยู่กับแสงสว่าง เมื่อสอนก็จะสอนเพื่อให้เกิดแสงสว่างนี้ เพื่อให้จิตเพ่งจดจ่ออยู่กับแสงสว่างนี้ กลายเป็นความเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ดำริก็ดำริผิด เป็นมิจฉาสังกัปปะ ไม่ใช่สัมมาสังกัปปะ ไปจนถึงพยายาม ก็จะพยายามผิด เป็นมิจฉาวายามะไม่ใช่สัมมาวายามะ ระลึกรู้ก็เป็นระลึกรู้ผิด เป็นมิจฉาสติ ไม่ใช่สัมมาสติ ความตั้งใจมั่น ก็ตั้งใจมั่นผิด เป็นมิจฉาสมาธิ การปฏิบัติสมาธิก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิขึ้นมา ไม่ใช่สัมมาสมาธิ
สมาธิจะเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ
ก็อยู่ที่ความคิดเห็นที่คลาดเคลื่อนไปเพียงเท่านี้
พระอาจารย์ญาณวชิระ