บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๒) การรับรู้เป็นหน้าที่ของจิต เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

การรับรู้เป็นหน้าที่ของจิต

จิตคืออะไร?

จิตคือการรับรู้สภาวะใดที่รับรู้ สภาวะนั้นแหละคือจิต  จิตคือความคิด สภาวะใดที่คิด สภาวะนั้นแหละคือจิต สภาวะใดที่ปรุงแต่งจินตนาการ สภาวะนั้นคือจิต ดังนั้น จิตก็คือสภาวะที่เกิดการรับรู้ จดจำ นำมาสู่การคิด ปรุงแต่งจินตนาการ

“เมื่ออธิบายแบบภาษาทางธรรมก็ว่า

จิตคือสภาวะที่รับรู้อารมณ์”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

สิ่งที่ทำให้จิตเกิดการรับรู้อารมณ์ขึ้นมาเรียกว่า “เจตสิก” เครื่องประกอบจิต ร่างกายมี ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นส่วนประกอบ แม้จิตก็มีเจตสิกเป็นเครื่องประกอบ ได้แก่ ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ พอใจ ไม่พอใจ ชอบ ชัง ขัดเคือง เรียกว่า “เวทนา” ความจดจำ ความหมายรู้ เรียกว่า “สัญญา” และความคิดปรุงแต่งจินตนาการไปตามความอยาก ความคาดหวัง ความโกรธ เกลียด พยาบาท และความลุ่มหลง หดหู่ ฟุ้งซ่าน เป็นต้น เรียกว่า “สังขาร

จิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างที่จะจับต้องได้ แต่สามารถรับรู้การมีอยู่ของจิตได้ด้วยความรู้สึก (เวทนา) รู้สึกว่าเป็นสุข รู้สึกว่าเป็นทุกข์ รู้สึกว่าพอใจ ไม่พอใจ รู้สึกว่าชอบ ชัง ขัดเคืองใจ เรารับรู้ว่าจิตมีอยู่ ผ่านความรู้สึกนึกคิดดังกล่าวนี้

เมื่อใดก็ตามที่เกิดความรู้สึกนึกคิด ก็ให้รู้ว่า จิตนั่นเองเป็นผู้คิด เหมือนเห็นใบไม้ไหวก็รู้ว่ามีลมพัด ลมไม่มีรูปร่างที่จะมองเห็นได้ อยากจะรู้ว่ามีลม สายตาก็เพ่งที่ยอดไม้ยอดหญ้าเอาไว้ พอยอดไม้ ยอดหญ้าไหวก็รู้ว่ามีลมพัด จะรู้ว่ามีจิตก็คอยสังเกตการเคลื่อนไหวของร่างกายเอาไว้

“พอร่างกายเคลื่อนไหว

นั่นแหละจิตไหว”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความรู้สึกนึกคิดนั้นดำเนินไป ๒ ด้าน คือรู้สึกนึกคิดไปตามอำนาจของกิเลสที่แฝงอยู่ในจิตให้คิดปรุงแต่งไปเช่นนั้น และรู้สึกนึกคิดไปอย่างนั้น ก็เพราะมีเจตนาที่จะคิดอย่างนั้น อันหนึ่ง คิดเพราะกิเลสชักให้คิดไปอย่างนั้น อีกอันหนึ่ง คิดเพราะเรามีเจตนาจะคิดอย่างนั้น

บางครั้งจิตใจก็เลื่อนลอยไปอย่างไร้เหตุผล 

บางครั้งก็นั่งนึกตรึกตรองไปด้วยความตั้งใจ

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

สรุปแล้ว ความคิดนั่นแหละคือ “จิต” ภาษาไทย เรียกว่า “ใจ” บางทีก็เรียกรวมกันว่า “จิตใจ

แต่พอสมมุติคำขึ้นมาใช้เรียกสภาวะการรับรู้หรือความคิดว่า “จิต” บ้าง “มโน” บ้าง “วิญญาณ” บ้าง ก็มีคำอธิบายตามมาอีกมากมาย แต่ไม่ว่าจะเป็น  จิต มโน วิญญาณ ก็คือคำที่บัญญัติขึ้นมาใช้เรียกแทน “สภาวะการรับรู้” เมื่อเกิดการรับรู้ก็ให้เรียกสิ่งนั้นว่า “จิต” บ้าง “มโน” บ้าง “วิญญาณ” บ้าง แล้วแต่ว่าจะอยู่ในบริบทไหนของคำพูด และสภาวะการรับรู้ที่เรียกว่าจิตนี้ก็รู้ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เพราะกิเลสชักนำให้เป็นอย่างนั้นบ้าง เพราะมีเจตนาที่อยากจะรู้อย่างนั้นบ้าง ตามแต่จะกระทบเข้ากับอารมณ์ใด เมื่ออยากให้จิตคิดไปในทางดี จึงต้องฝึกหัดจิตให้รู้จักคิดดี

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๒) การรับรู้เป็นหน้าที่ของจิต เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here