ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ

(บทที่ ๑) “ภูเขาความคิด”

เขียนโดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ภาพประกอบ ลาายเส้นพู่กันจีน "ภูเขาความคิด" โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ ลาายเส้นพู่กันจีน “ภูเขาความคิด” โดย หมอนไม้

๑. ภูเขาความคิด

            กายคตาสติมีสติเป็นไปในกาย คือให้สติอยู่ภายในกาย เฝ้าสังเกตกายและจิต เหมือนนักดาราศาสตร์อดทนเฝ้าสังเกตกลุ่มดวงดาว เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มดวงดาวในจักรวาล

“การเฝ้าดูกายและจิต

จะทำให้เกิดการสังเวชสลดใจ

เพราะได้เห็นความเปลี่ยนแปลง

ของกายและจิตอยู่เสมอ

เห็นความคิดสลับกันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เห็นธาตุในกายแตกดับอยู่ตลอดเวลา”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เพราะเห็นความไม่สะอาด เห็นความเปื่อยเน่าไปของกาย จิตจะถูกดึงดูดลงสู่ภาวะความสงบ จะปลอดโปร่งจากกามคุณที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ปลอดโปร่งจากอารมณ์ขุ่นมัวทางใจ ปลอดโปร่งจากการยึดถือในตัวตนของตน ในสิ่งของของตนจากความเห็นและความเชื่อของตน สติสัมปชัญญะจะบริบูรณ์ จะเกิดความรู้จากภายใน มีความเบิกบาน สว่างไสวอยู่ภายใน

เมื่อเพ่งมองกลับเข้าไปในจิต จะเห็นกระแสความคิดที่เกิดขึ้นจากความยึดถือ ซึ่งมีส่วนผสมมาจากโลภะ โทสะ โมหะก่อตัวขึ้นแล้วดับไปกลายเป็นกระแสวิญญาณสืบเนื่องติดต่อกันไปไม่ขาดสาย ล้วนมีรากมาจากตัณหา

เมื่อสืบย้อนกลับไปก็จะรู้ว่า นับตั้งแต่เราเกิดมา  เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เกิดจากโลภะโทสะ โมหะอย่างธรรมดา จะเลือนหายไปตามวันเวลา เราจดจำไม่ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดจากโลภะ โทสะ โมหะที่รุนแรงก็จะถูกเก็บไว้ในจิตตกตะกอนขุ่นคลักกลายเป็นอนุสัยนอนเนื่องให้จิตดึงกลับมาเป็นเชื้อให้เกิดกระแสวิญญาณหล่อเลี้ยงชีวิตสืบเนื่องกันไปอีก

“เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่เกิดจาก

โลภะ โทสะ โมหะ ที่รุนแรง

จะถูกดึงกลับมาวนคิดย้ำๆ ซ้ำๆ

อยู่บ่อยๆโดยไม่รู้ตัว

โดยขาดสติ เพราะระลึกไม่ได้

หรือโดยไม่มีสัมปชัญญะ

เพราะไม่รู้ตัว คืออวิชชา”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

แต่ขณะใดที่เกิดระลึกได้และรู้ตัวขึ้นมา ภูเขาความคิดที่ก่อตัวขึ้นจากโลภะ โทสะ โมหะ อันมีตัณหาเป็นตัวการก็จะทลายลงมาในทันทีที่ระลึกได้และรู้ตัว อวิชชาจึงถูกทำลายลงในขณะนั้น

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

แต่ทำอย่างไรจึงจะระลึกได้และเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ในทุกครั้งที่คิดอยากได้ (โลภะ) ในทุกครั้งที่ถูกราคะกลุ้มรุม (ราคะ) ในทุกครั้งที่เกิดความหงุดหงิดเดือดดาล (โทสะ) ในทุกครั้งที่เกิดความขัดเคือง ไม่พอใจ (ปฏิฆะ) และในทุกครั้งที่จิตไม่ตั้งมั่น รู้สึกเหม่อหม่น เลื่อนลอย หมองเศร้า เดียวดาย หว้าเหว่ ใจลอย ไร้จุดหมาย (โมหะ)

ทางเดียวที่เป็นไปได้ คือ ต้องฝึกสติ ให้มีสติ ให้ความคิดอยู่ในความระลึกรู้ ให้จิตอยู่ที่จิต ให้ใจอยู่ที่ใจ ต้องฝึกความรู้สึกตัวให้มีความรู้สึกตัว ต้องฝึก ต้องหัด ต้องสอนจิตให้เกิดความรู้ขึ้นมา จนจิตรู้ว่าจิตเองมีสติและสัมปชัญญะ

“โดยเริ่มต้นจากการเฝ้าสังเกต

ทุกความเคลื่อนไหวในกาย

เฝ้าสังเกตความเป็นไป

ความเปลี่ยนแปลงของกายและจิต

เฝ้าสังเกตการนั่ง

การลุกขึ้นยืน

การเดิน

การนอน

การเหลียวซ้ายแลขวา

การกิน

การดื่ม เป็นต้น

การเฝ้าสังเกตกาย เป็นการเฝ้าสังเกตจิตไปในตัวทุกย่างก้าว ทุกความเคลื่อนไหวของกายที่มองผ่านการเฝ้าสังเกตด้วยสติ จะเห็นภูเขาความคิดก่อตัวขึ้นจากตัณหาคือความอยาก”

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

อยากให้อะไรๆ ได้ดั่งใจ อยากให้ผู้อื่นรู้จักเราว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากให้ผู้อื่นเชื่อและยอมรับในความคิดเห็นของเรา(โลภะ) มีความติดใจแรงกล้าในกาม(ราคะ) คิดแต่ในทางลบ ไม่มีความเบิกบานจากภายใน

มีจิตใจพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันเป็นโทษ อารมณ์เปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วเหมือนพายุร้ายเพราะโทสะกล้า(โทสะ) และมีจิตไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีความคิดหมุนไปผิด ไม่ระมัดระวังภัยจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (โมหะ)

ภูเขาแห่งความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วเลือนหายไป จากนั้นก็จะถูกดึงกลับมาฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าวนเวียนคิดกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น บางเรื่องก็มีอายุการคิดที่สั้น บางเรื่องก็มีอายุการคิดยาวนาน บางเรื่องนานๆ จะถูกดึงกลับมาคิดครั้งหนึ่ง บางเรื่องถูกดึงกลับมาคิดวนเวียนซ้ำๆ บางเรื่องคิดเพียงบางเบาแล้วจางหายไป บางเรื่องกลับหนักหน่วงจนปวดสมอง บางเรื่องบีบหัวใจแน่น ยิ่งวนคิดก็ยิ่งเหมือนน็อตถูกขันเขม็งเกลียวแน่น ไม่รู้ว่าจะทำให้ภูเขาแห่งความคิดนั้นทะลายลงได้อย่างไร

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

แม้คนเราจะถูกธรรมชาติสร้างมาให้มีการทอดถอนหายใจ เพื่อให้ผ่อนคลายในยามที่ใจต้องเผชิญกับการก่อตัวขึ้นของภูเขาแห่งความคิดทับอกอัดแน่นจนต้องถอนหายใจ แต่แล้วเพียงชั่วขณะเดียวภูเขาแห่งความคิดอันมีรากมาจากความยึดมั่นถือมั่นก็กลับก่อตัวขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และวนฉายครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะไม่มีวิธีการจัดการที่ถูกต้อง แล้วคนเราก็คิดวนเวียนอยู่กับความทุกข์ที่ทับถมและการทอดถอนหายใจ

ภูเขาแห่งความคิดที่ก่อตัวขึ้นจากความทะยานอยาก คือ ตัณหา กลายเป็นพายุอารมณ์โหมกระหน่ำพัดอยู่ภายในจิตใจไม่เคยหยุดพัก พระพุทธองค์ตรัสว่า “เป็นภัย เป็นโรค เป็นฝีหนอง เป็นความติดข้อง เป็นหล่ม” จึงทรงสอนให้เราพยายามทลายภูเขาแห่งความคิดที่เปรียบเหมือนภูเขาหิมพานต์เหล่านี้ลงให้ได้

การจะทลายภูเขาแห่งความคิดลงได้ต้องอาศัยจิตใจที่มีความมั่นคงเป็นสมาธิซึ่งดำเนินไปในหลักการที่สำคัญ คือ ต้องฉลาดในการเข้าสมาธิต้องฉลาดในการดำเนินจิตให้สมาธิตั้งอยู่นานต้องฉลาดในการออกจากสมาธิต้องฉลาดในความควรแก่กาลของสมาธิต้องฉลาดในอารมณ์ของสมาธิและ ต้องฉลาดในการเข้าสมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑) “ภูเขาความคิด” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here