ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ  พระศาสนา พระมหากษัตริย์  วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

“ปณิธานมหาบุรุษ บนเส้นทางแห่งปัญญา ถึงพระวิทยากรกระบวนธรรมทั่วประเทศ”

เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ปณิธานมหาบุรุษ บนเส้นทางแห่งปัญญา ถึงพระวิทยากรกระบวนธรรมทั่วประเทศ" เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ จาากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ปณิธานมหาบุรุษ บนเส้นทางแห่งปัญญา ถึงพระวิทยากรกระบวนธรรมทั่วประเทศ” เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ จาากคอลัมน์ หมายเหตุพระไตรสรณคมน์ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๐

           ผู้เขียนเปิดบันทึกในหน้านสพ.คมชัดลึก เมื่อครั้งที่ยังทำงานอยู่ที่สำนักข่าวเนชั่น ในกองบรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์ แม้จะผ่านไปสามปีกว่าแล้ว แต่ความทรงจำยังกระจ่าง การได้ดูแลหน้าธรรมวิจัย ทุกวันอังคาร และหน้าพระไตรสรณคมน์ ทุกวันพฤหัสบดี เป็นธรรมบรรณาการให้กับผู้อ่านทุกสัปดาห์ ให้มีพื้นที่เย็นใจ ท่ามกลางความรีบเร่ง และความร้อนรนในการทำงาน ที่ต้องขับเคลื่อนไปบนสายพานแห่งชีวิต ให้มีพื้นที่พักใจเล็กๆ ซึ่งกลายเป็นที่พักใจของผู้เขียนด้วยมาจนถึงทุกวันนี้

การรำลึกความทรงจำ และนำธรรมะจากครูบาอาจารย์มาเผยแผ่อีกครั้งบนเว็บไซต์ Manasikul.com ซึ่งได้จัดทำขึ้นเป็นธรรมทานแห่งนี้ ทำให้ผู้เขียนได้ทบทวนชีวิต และได้เรียนรู้วิถีแห่งธรรมจากพระอาจารย์และครูบาอาจารย์หลายๆ ท่าน ที่อุทิศและเสียสละชีวิตเพื่อธรรมมาโดยตลอด

เป็นการพิสูจน์ว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้น อกาลิโก จริงๆ ไม่ว่าจะผ่านไปถึงสองพันหกร้อยกว่าปีก็ตาม รอยพระพุทธบาทของพระองค์ ยังประดิษฐานอยู่ในใจของสมณะจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมั่นคงในวัตรปฏิบัติแห่งพระธรรมวินัยไม่คลอนแคลน ดังเช่น บทความนี้ ที่ขอนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง

“ปณิธานมหาบุรุษ บนเส้นทางแห่งปัญญา ถึงพระวิทยากรกระบวนธรรมทั่วประเทศ”

และแล้ว คณะพระวิทยากรกระบวนธรรม ๘๐ รูป ที่เดินทางไปปฏิบัติธรรม ณ แดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย-เนปาล จัดโดยสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ ระหว่างวันที่ ๗ –๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๐ ก็เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ

เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทึ่คณะพระวิทยากรได้เรียนรู้ปฏิปทาของมหาบุรุษของโลก คงไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ หากเป็นแรงบันดาลใจในการที่จะทำหน้าที่เป็นพุทธบุตรของพระพุทธเจ้าในการสานงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านหน้าที่ของพระธรรมทูตทุกรูปแบบ เพื่อทำจิตของตนให้พ้นทุกข์และเกื้อกูลผู้คนให้มีโอกาสรับรสแห่งพระธรรม ตราบที่ลมหายใจแห่งพระพุทธศาสนายังมีการสืบทอดโดยพระสงฆ์ เพื่อยังให้พระรัตนตรัยบริบูรณ์เป็นที่พึ่งของผู้ร่วมทุกข์ในสังสารวัฏต่อไป   

ดังช่วงเวลาสำคัญของวันเสาร์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๐ คณะพระวิทยากรกระบวนธรรม เดินทางไปเขาดงคสิริ สถานที่บำเพ็ญทุกรกิริยาของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ตำบลพุทธคยา จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ในบันทึกของคณะพระวิทยากรตอนหนึ่งเล่าว่า

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงผนวชแล้ว พระองค์ทรงพยายามเสาะแสวงทางพ้นทุกข์ ด้วยการศึกษาค้นคว้าทดลองในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร เมื่อเรียนจบทั้งสองสำนัก ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ตามที่มุ่งหวังไว้

ดงคสิริ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม สถานที่ที่พระพุทธเจ้า เมื่อบำเพ็ญทุกรกิริยา

จากนั้นพระองค์เสด็จไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ในปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เรียกว่า ดงคสิริ) เมื่อบำเพ็ญทุกรกิริยาโดยขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร หลังจากทดลองมา ๖ ปี ก็ยังไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาบำรุงพระวรกายโดยปกติตามพระราชดำริว่า

เหมือนสายพิณควรจะขึงพอดี

จึงจะได้เสียงที่ไพเราะ”

เหตุนั้น พระองค์ทรงค้นพบทางสายกลางจากการฟังพระอินทร์เสด็จลงมาดีดพิณ ๓ สายถวาย พิณสายหนึ่งขึงไว้ตึงเกินไป พอถูกดีดก็ขาดผึงออกจากกัน พิณสายที่สองหย่อนเกินไป ดีดไม่ดัง พิณสายที่สามไม่หย่อนไม่ตึงนัก ฟังไพเราะ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นทางสายกลางว่าเป็นหนทางที่จะนำไปสู่พระโพธิญาณได้ แล้วได้หันมาบำเพ็ญทางปัญญา ในที่สุดพระองค์ก็ได้บรรลุธรรม และน้อมนำความอบอุ่นมาสู่ชาวโลก

สถูปบ้านนางสุชาดา อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์พุทธคยา ชาวอินเดียเรียกว่า สุจาตากุฏิ หรือ สุจาตาสะตูปป้า (Sujata kuti, Sujata stupa) ปัจจุบันเหลือแต่สถูปเจดีย์เป็นเนินดินก่อด้วยอิฐหุ้มไว้ไม่สูงนัก พอเป็นเครื่องบ่งบอกว่าที่นี่คืออดีตบ้านของนางสุชาดา : ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
สถูปบ้านนางสุชาดา : ขอขอบคุณ ภาพถ่ายจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

จากนั้น คณะพระวิทยากรกระบวนธรรม  เดินทางไปสถูปบ้านนางสุชาดา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์พุทธคยา ซึ่งชาวอินเดียเรียกว่า สุจาตากุฏิ หรือ สุจาตาสะตูปป้า (Sujata kuti, Sujata stupa) ปัจจุบันเหลือแต่สถูปเจดีย์เป็นเนินดินก่อด้วยอิฐหุ้มไว้ไม่สูงนัก พอเป็นเครื่องบ่งบอกว่าที่นี่คืออดีตบ้านของนางสุชาดา

จากบันทึกของพระวิทยากรอีกเช่นเดียวกันเล่าว่า  

ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ถือเป็นภัตตาหารมื้อแรก เป็นการถวายอันสำคัญ ก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอาหารทิพย์อันจะคุ้มครองพระองค์ได้ถึง ๔๙ วัน ในการเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้

 พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล
พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล

ในช่วงที่พระองค์เสวยวิมุติสุขนั้น  พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ได้กล่าวไว้ตอนเปิดโครงการพระวิทยากรกระบวนธรรม  ณ วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย ตอนหนึ่งว่า

” ช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่พระองค์ทรงวางแผนความเป็นครู ๔๙ วัน เป็นการเตรียมความเป็นครูที่จะออกไปสอนผู้คน เพราะการตรัสรู้ของพระองค์กว่าจะถึงวันเพ็ญเดือนหกผ่านมาทั้งคืน คือกระบวนธรรมอันยิ่งยวด ในการรู้จักตัวเอง รู้จักความถนัดของตัวเอง และรู้ว่าจะสอนผู้อื่นอย่างไร”

 และในค่ำวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๐ คณะพระวิทยากรก็ได้ทบทวนบทเรียนทุกเรื่องราว ที่ได้เรียนรู้ตลอด ๑๐-๑๑ วันที่ผ่านมา ในการตามรอยปณิธานมหาบุรุษตลอดสาย ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนต์ ไหว้พระ  นั่งสมาธิ  น้อมระลึกคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม เเละคุณพระสงฆ์  ที่ได้เพิ่มสติปัญญา ความศรัทธาเดิมและเสริมเเรงบันดาลใจ ที่ทำให้เกิดความปีติในพระพุทธศาสนา ตามรอยพระพุทธเจ้าบนดินเเดนที่เรียกว่า “พุทธภูมิ”

 อินเดีย เป็นผืนแผ่นดินมาตุภูมิ และเป็นโลกแห่งความมหัศจรรย์ เพราะพระพุทธศาสนาได้บังเกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ พระธรรมคำสอนอันลึกล้ำนั้น เป็นสิ่งมหัศจรรย์อันทรงคุณค่ายิ่ง

ชาวโลกจึงต่างมุ่งตรงสู่ประเทศอินเดียอย่างมิขาดสายเสมือนเปลวไฟที่ไม่เคยดับ เพื่อมุ่งศึกษาค้นคว้าสิ่งอันเป็นอมตธรรม นี้ด้วยศรัทธา และความจริงใจที่มีต่อพระพุทธศาสนา

ดังเช่นคณะวิทยากรกระบวนธรรมที่กลับมาแล้ว พร้อมด้วยความมุ่งมั่น ดังที่ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เลขานุการ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์กล่าวว่า

สิ่งที่อยากเห็นจากพระวิทยากร คือ เป้าหมาย แรงบันดาลใจ และไฟศรัทธาที่ไม่รู้จัดมอดดับ ในการทำงานเผยแผ่บูชาพระบรมศาสดา

พระราชกิจจาภรณ์  (เทอด ญาณวชิโร)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

บัดนี้ หน้าที่ของพระวิทยากรกระบวนธรรมหลังจากกลับมาถึงประเทศไทยคงจะมีงานสานต่อลมหายใจพระพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยมจากปณิธานของมหาบุรุษแห่งลุ่มน้ำเนรัญชราเป็นล้นพ้น  จนถึงปัจจุบัน และอนาคตกาล

บันทึกความทรงจำ…จากพระวิทยากรกระบวนธรรม ถึง ปณิธานมหาบุรุษ บนเส้นทางแห่งปัญญา เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

หน้าพระไตรสรณคมน์  นสพ.คมชัดลึก  วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๐
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here