“บันทึกการเดินทาง…

“ทศชาติ ปณิธามหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ”

เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตอนที่ ๘ “การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน… เป็นวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ ” ๒๕๖๖ กตัญญูกตเวทิตา ตามรอยทศธรรม กำลังใจแห่งชีวิต

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นอกจากเป็นวันที่ลูกๆ ได้แสดงความเคารพรักอย่างเต็มเปี่ยมต่อแม่ของแผ่นดินแล้ว ยังเป็นวันที่เราได้แสดงความกตัญญูต่อแม่ผู้ให้กำเนิด แม้ว่า เราทุกคนนั้นต่างก็รักแม่ของเรา และแสดงความรักด้วยการกระทำอย่างยอดเยี่ยมมาตลอดชีวิตแล้วก็ตาม แต่วันแม่แห่งชาตินั้น มีความหมายอันเป็นสัญลักษณ์ที่หลอมรวมดวงใจให้เราเป็นหนึ่งเดียวกัน…เพราะมีแม่ จึงมีเรา เพราะมีแม่ จึงมีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ พระรัตนตรัยที่ดำรงมั่นด้วยหลักธรรมอันบริสุทธิ์ซึ่งเป็นหนทางในการพาเราออกจากทุกข์ในสังสารวัฏได้อย่างสมบูรณ์…

และในวันนั้นของปีที่แล้ว พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้ให้สัมภาษณ์ รายการบันทึกสถานการณ์ FM 92.5 MHz / AM 891 KHz สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับ ที่มาและความสำคัญของหนังสือ ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ นับเป็นครั้งแรกในรอบ ๔ ปี ที่พระอาจารย์ปรากฏเสียงผ่านสื่อสารมวลชน

รายการ บันทึกสถานการณ์ : พระอาจารย์ครับ ที่มา และความสำคัญ ของหนังสือ “ทศชาติ ฉบับ ญาณวชิระ ที่ได้จัดทำขึ้นมา มีที่มาและความสำคัญอย่างไรบ้างครับ

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) : เจริญพร เนื่องจากปีนี้ เป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย ตามที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าเป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา คนไทยถือกันว่า ผู้ที่จะเกิดมาเป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ก็ล้วนเสด็จมาเพื่อบำเพ็ญบารมีธรรม

ดังนั้น การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานาประการของพระองค์ท่านตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจึงเป็นวิถีแห่งพระโพธิสัตว์

การจัดพิมพ์หนังสือ “ทศชาติ” ซึ่งเป็นเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ทั้ง ๑๐ พระชาติ ก่อนตรัสรู้ในพระชาติที่ ๑๑ หนังสือทศชาติเล่มนี้ จึงเหมาะสมกับโอกาสอันเป็นมหามงคลของปวงชนชาวไทยเช่นนี้ ซึ่งมีไม่บ่อยนัก เราจะทราบว่า การเขียนหนังสือ เมื่อก่อนนี้ จะไม่มีความชัดเจนมาก ไม่มีความแพร่หลาย การเขียนทศชาติ คุณทรงพล คงเห็นว่า มีการเขียนเรื่องทศชาติ ตามผนังโบสถ์ในวัด ต่อมาก็มีการเขียนเป็นหนังสือ ซึ่งมีสำนวนหลายๆ สำนวน

ในการนี้ อาตมภาพทั้งห้ารูปจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ประกอบด้วย หลวงพ่อธงชัย สุขญาโณ (อดีตพระพรหมสิทธิ) พระมหาสังคม ญาณวฑฺฒโน (อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์) พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) พระมหาบุญทวี ปญฺญาวํโส (อดีตพระศรีคุณาภรณ์) และพระมหาสมจิตร จิตฺตธมฺโม (พระครูสิริวิหารการ) จึงได้รวบรวม เรียบเรียง หนังสือฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ เจริญพร

รายการบันทึกสถานการณ์ : หนังสือฉบับนี้ มีรายละเอียดและมีหลักธรรมอะไรบ้างครับที่แตกต่างจากบททั่วไป ครับ

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) : ในหนังสือทศชาติ ฉบับนี้ ได้เรียบเรียงขึ้นมาจากพระไตรปิฎก อรรถกถา แล้วก็นำมาปรับปรุง ใช้สำนวนภาษาที่เรียบง่าย ให้เข้ากับยุคสมัย และเป็นปัจจุบัน มีอรรถรสภาษาทางวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแก่นธรรมที่ปรากฏอยู่ในทศชาติได้ง่าย

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีการจัดแบ่งชื่อบทใหม่ในแต่ละพระชาติ ในแต่ละชาดก เพื่อให้ผู้ฟังชวนติดตาม โดยยึดเนื้อหาพุทธชาดกตอนนั้นๆ เป็นหลัก นอกจากนั้น ในหนังสือเล่มนี้ จะมีแผนที่ชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลไว้ด้วย เวลาเราอ่านชาดก จะมีชื่อเมืองต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในชมพูทวีป หรือว่าในอินเดียปัจจุบัน เราก็จะทราบว่ามีชื่อคล้ายๆ กัน

ทีนี้ เราต้องการยึดโยงให้ผู้อ่านเชื่อมโยงระหว่างชาดกกับสมัยพุทธกาล หรือว่าในพุทธประวัติ จึงเขียนภาพประกอบขึ้นมา เวลาผู้อ่านๆ ไปก็จะสามารถจินตนาการเพื่อจะเชื่อมโยงกับแผนที่โลกในปัจจุบันไว้ด้วย เพราะโดยปกติ ชาดกจะอยู่ในจินตนาการ เวลาอ่านจะทำอย่างไรให้รู้สึกว่าเหตุการณ์ในชาดกใกล้ชิดกับชีวิตเรามากที่สุด และก็ใกล้ชิดกับสมัยพุทธกาลมากที่สุด จึงมีการสร้างแผนที่ขึ้นมา

นอกจากนั้นแล้ว ในทศชาติฉบับนี้ ก็จะมีการเก็บรายละเอียดที่สำคัญ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสชาดกนั้นๆ เอาไว้ เหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดชาดก เกิดอะไรบ้าง แล้วพระองค์ก็จะตรัสเล่าเรื่องชาดกนั้นๆ ไปจนจบ พอจบแล้วพระองค์จะสรุปว่า ในชาตินั้น ใครเป็นใครแล้วกลับมาเกิดที่ร่วมกับพระชาติของพระองค์ในพระชาติสุดท้ายที่จะมาตรัสรู้ว่าใครเป็นใครบ้าง นอกจากนั้น ก็เขียนเชื่อมกับพุทธประวัติด้วยนะว่า หลังจากที่ตรัสชาดกเสร็จแล้ว มีพุทธกิจอะไรต่อ ก็จะเป็นฉบับที่พิเศษขึ้นมา

อาตมาขอยกตัวอย่าง ชาดกเรื่อง พระจันทกุมาร คุณทรงพล คงเคยได้ยินเรื่องพระเทวทัตใช่ไหม พระเทวทัตที่ประทุษร้ายพระพุทธเจ้าด้วยประการต่างๆ มีการกลิ้งหินลงมาจะทับพระพุทธเจ้า ปล่อยช้างนาฬาคิรีไป มีการส่งนายขมังธนูไป จะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า เหตุการณ์นี้แหละเป็นที่มาของการตรัสพระชาดกชื่อว่า จันทกุมาร ที่มีเหตุการณ์ที่พระจันทกุมารถูกใส่ความโดยประการต่างๆ อันมีสาเหตุมาจากการตัดสินอรรถคดีที่ตรงไปตรงมาาของพระจันทกุมาร ซึ่ก็นำมาสู่การจองเวรของผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อผู้ที่ตัดสินคดีอย่างตรงไปตรงมาของพระจันทกุมารจึงถูกจับไปบูชายันต์

ทีนี้เราไม่เคยเห็นว่า พระเทวทัต ที่ส่งนายขมังธนูไป จะไม่ปรากฏในสำนวนอื่นๆ ในพุทธประวัติที่เราศึกษากันว่า เอ๊ะ ที่พระเทวทัตส่งนายขมังธนูไปเนี่ย ได้มีวิธีการอย่างไรบ้าง ในทศชาติฉบับนี้ ก็จะมีการเก็บในรายละเอียดว่า พระเทวทัตส่งนายขมังธนูไปยิงพระพุทธเจ้า ว่ามีการเตรียมการอย่างไร โดยคัดสรรคนแแม่นธนูมาตั้ง ๕๐๐ คน จากนั้นก็เอามาฝึกจนเหลือ ๓๑ คน ในจำนวน ๓๑ คนนี้ ก็ยังคัดเอาหัวหน้าทีมขึ้นมาคนหนึ่ง จากนั้น เราก็จะเห็นการวางแผนปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า การวางแผนฆ่าตัดตอน เพื่อจะปกปิดความผิดของพระเทวทัต เพราะฉะนั้น เราจะเห็นต่อไปว่า ผลของการกระทำอย่างนี้ขอพระเทวทัตเนี่ย มีผลกรรมอะไรตามมาบ้าง ซึ่งพระเทวทัตได้ทำกรรมต่างๆ กับพระพุทธเจ้า ทำกรรมต่างๆ ไว้กับพระศาสนา ทำกรรมต่างๆ ไว้กับคณะสงฆ์

ฉะนั้น ในทศชาติฉบับนี้ จึงเขียนรายละเอียดไว้ค่อนข้างชัดเจนและละเอียดมาก นอกจากนั้นแล้ว ในท้ายเล่มของหนังสือเล่มนี้ ยังมีดัชนีอธิบายคำทางศาสนาที่ยากๆ เอาไว้ด้วย เวลาผู้อ่านๆ ไป อาจไม่คุ้นเคยกับศัพท์ทางพระศาสนา ว่าคำนี้หมายถึงว่าอะไร ก็เปิดไปด้านหลังท้ายหนังสือก็จะมีคำอธิบายไว้ เจริญพร

รายการบันทึกสถานการณ์ : ทศชาติ ก็คือ ชาดกสิบชาติ คือพระเจ้าสิบชาติ สำคัญ คือ พูดถึงการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ชาติ ก่อนที่จะเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งสิบชาตินี้ ถ้าสมมติว่า เราจะอ่าน ต้องอ่านรวดเดียวหมดเลยไหมหรือว่า เราจะอ่านทีละชาติแล้ว จะปะติดปะต่อกันไหมครับ

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) : พระพุทธองค์ตรัสชาดกทั้งสิบเรื่องต่างกรรม ต่างวาระ ต่างเหตุการณ์ เพราะฉะนั้น เวลาเราอ่าน ก็อ่านเป็นเรื่องๆ ได้ เปิดไปเรื่องใดก็อ่านเรื่องนั้นได้ เพราะแต่ละเรื่องก็มีแก่นธรรมอยู่ในนั้น และสำนวนนี้ก็สนุกสนาน เนื่องจากว่า มีการเก็บรายละเอียดจากอรรถกถา และพุทธประวัติจากพระไตรปิฎกด้วย อย่างเช่น การเกิดของพิธีกรรมการกรวดน้ำ ก็จะมีด้วย ปรากฏอยู่ในตอนที่ พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งถ้าอ่านในสำนวนอื่นจะไม่มี แต่ในสำนวนนี้มีเก็บรายละเอียดเหล่านี้เอาไว้

รายการ บันทึกสถานการณ์ : อ่านแล้วเป็นเหมือนอ่านนิทานไหมครับ

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) : เหมือนนิทาน แต่ว่าก็มีความใกล้เคียกับความเป็นจริง อย่างเช่น กรณีที่…ถ้าใครเคยไปอินเดีย จะเชื่อมโยงร้อยเรียงเรื่องราวเข้าไว้ด้วยกันได้หมดเลย เหมือนจะมีภาพปรากฏเด่นชัดขึ้นมาเหมือนกับเหตุการณ์ในชาดก อย่างเช่นเวลาไปวัดเวฬุวัน ที่ปรากฏเหตุการณ์ต่างๆ ของพระเจ้าพิมพิสารที่ถวายวัด ก็จะมาเชื่อมโยงกับชาดกในนี้ด้วย

รายการ บันทึกสถานการณ์ : ถ้ามีการได้อ่านและศึกษาอย่างถ่องแท้แล้ว พระอาจารย์ครับ หลักธรรมที่จะได้จากทศชาติชาดก จะได้หลักธรรมอะไรบ้างครับ

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) : ในทศชาติชาดกจะมีหลักธรรมใหญ่ๆ ที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เยอะอยู่ มีอยู่ ๑๐ ข้อ อันดับแรกก่อนนะ พระเตมีย์ ท่านบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี พระมหาาชนกบำเพ็ญวิริยะบารมี ซึ่งเราก็ทราบกันอยู่แล้ว เพราะในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านก็ทรงพระราชนิพนธ์พระมหาชนกไว้ เรื่องวิริยะบารมี เราก็ทราบอยู่แล้ว เรื่องที่ ๓ เรื่องสุวรรณสาม บำเพ็ญเมตตาบารมี นี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องความกตัญญู ถ้าใครได้อ่านเรื่องนี้ คุณพ่อคุณแม่น้ำตาไหล โดยเฉพาะเป็นพระภิกษุสงฆ์ ถ้าได้อ่านเรื่องนี้จะหวนระลึกถึงคุณของบิดามารดาอย่างยิ่ง

เหตุผลก็คือว่า ตอนที่ท่านบวช ท่านไม่มีโอกาสที่จะได้อุปัฏฐากบำรุงพ่อแม่เหมือนกับคนทั่วๆ ไป เนื่องจากความเป็นพระ เหตุการณ์ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสเล่าเรื่องสุวรรณสาม ก็มาจากเหตุการณ์ที่ลูกเศรษฐีคนหนึ่งที่ท่านบวช แล้วทำให้ครอบครัว พ่อแม่ของท่าน ครอบครัวล่มจม ท่านก็ถูกตำหนิจากพระด้วยกัน ท่านก็เลยอาศัยความเป็นพระบิณฑบาตมาก็เอาอาหารมาให้พ่อแม่ก่อนที่ตัวเองจะฉัน ได้ผ้าอะไรมาก็มาตัดเย็บด้วยมือของตัวเองให้พ่อแม่ พระสงฆ์ก็ตำหนิอย่างหนัก ในที่สุดท่านก็ลำบากใจเรื่องนี้ แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญท่านในเรื่องนี้ว่า ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ เป็นพระก็เลี้ยงดูบิดามารดาได้ ท่าานก็ยกตัวอย่างของพระองค์ว่า วิถีเช่นนี้ พุทธจริยาวัตรเช่นนี้ พระองค์เคยปฏิบัติมาก่อน แล้วพระองค์ก็ตรัสเรื่องสุวรรณสามขึ้นมา ในสำนวนทั่วๆ ไป จะไม่มีเรื่องนี้ แต่ในสำนวนนี้ มีเหตุการณ์เชื่อมร้อยเรียงไว้ด้วย

นอกจากนั้นก็จะมีฉากบารมีธรรมต่างๆ แต่ว่าหลักธรรมเหล่านี้ จะเป็นหลักธรรมหลัก ที่เรียกว่า บารมี ๑๐ ซึ่งปรากฏอยู่ในทศชาติ ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติกับชีวิตของเราได้จริงๆ ในที่นี้อาตมาจะขอยกมา ๓ หัวข้อ ละกัน ที่ปรากฏอยู่ในวิธูรบัณฑิต

วิธูรบัณฑิต มีสาระสำคัญ เหมือนสอนชีวิตข้าราชการ หรือสอนชีวิตข้าราชบริพารตรงๆ เลยนะ พระวิธูรบัณฑิต ท่านบอกว่า หลักธรรมส่วนตัวของคนที่จะทำให้คนเป็นคนดี ท่านบอกว่า คือ สาธุนรธรรม

“สาธุนรธรรม คือหลักธรรมของคนดี ท่านบอกว่า จงเดินทางไปตามทางที่ท่านเดินกันมาแล้ว ในที่นี้หมายถึงว่า การที่ท่านเดินกันมาแล้ว คือทางไหน ก็คือ ความกตัญญู ที่คนดีเขาทำกันตลอด”

“ท่านว่าให้เดินตามทางนี้ และก็ว่า อย่าเผาฝ่ามืออันชุ่ม ก็คือ อย่าคิดร้ายผู้ที่มีพระคุณ และต่อมาก็ อย่าทำร้ายมิตร ไม่ว่าในกาลไหนๆ มิตรภาพที่ดีต้องรักษาไว้ อย่าทำลาย”

และอย่าตกไปในอำนาจของอสตรี ก็คือ ผู้หญิงที่ไม่ดี ผู้หญิงที่มิใช่กุลสตรี ถ้าเป็นผู้หญิงก็อย่าตกไปในอำนาจของอสัตบุรุษ ก็คือ ผู้ชายที่ไม่ใช่คนดีนั่นแหละ

และหลักที่สอง ก็คือ ฆราวาสธรรม ที่ท่านแสดงไว้ ซึ่งชาวพุทธก็ทราบว่าเป็นหลักของครอบครัวที่ดี ครอบครัวที่ดีควรมีหลักอย่างไรให้ครอบครัวเป็นหลักเป็นฐาน ก็คือ สำหรับสามีก็ไม่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ไม่ประมาท สุภาพอ่อนโยน ทำบุญให้ทาน และคบมิตรที่ดี เป็นต้น แต่ว่า หัวข้อสำคัญที่อาตมาอยากจะนำมาขยายความนิดหนึ่งก็คือ ราชวสฺติธมฺม

ราชวัสดีธรรม เป็นหลักธรรมของข้าราชบริพารที่ดี หรือ หลักธรรมของข้าราชการที่ดี ซึ่งพระโพธิสัตว์ พระวิธูรบัณฑิต ท่านกล่าวสสอนไว้ มีทั้งหมด ๔๓ ข้อ อาตมาขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อย ก็คือ เมื่อรับราชการแล้ว ต้องเป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย อย่ากล้าเกินไป อย่าขลาดจนเสียข้อราชการ หมั่นรู้ในราชกิจ ฉลาดในราชกิจ อย่าตีตนเสมอเจ้านาย อย่าดื่มสุราเมามายจนเสียราชกิจ อย่าเห็นแก่กิน ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกาละเทสะ นี้คือ หลักราชวัสดีธรรม ซึ่งถ้าเราเคยติดตาม เราจะทราบว่า ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เคยทรงนิพนธ์ “ราชวัสดีธรรม” เอาไว้ พระองค์ท่านก็คงได้ศึกษาพระพุทธศาสนา แและก็ได้นำแนวคิด แก่นธรรมจากพระวิธูรบัณฑิต ไปเป็นพระราชนิพนธ์ขึ้นมา เจริญพร

รายการ บันทึกสถานการณ์ : หนังสือฉบับนี้พระคุณเจ้าทั้งห้ารูปใช้เวลาจัดทำนานแค่ไหนครับ

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) : รวมแล้วทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ยกร่างต้นฉบับ ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว (คือพุทธศักราช ๒๕๖๓) จนกระทั่งก่อนออกเป็นเล่มในเดือนสิงหาคมปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ รวมแล้วก็ ๑๐ เดือนได้ เจริญพร

รายการ บันทึกสถานการณ์ : แล้วถ้าพี่น้องประชาชนคนฟังอยากจะเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ จะไปหาที่ไหน ต้องทำอย่างไรครับ

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) : ตอนนี้ในรายละเอียด ผู้ที่จัดพิมพ์คือ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทในเครือเป็นผู้จัดพิมพ์ ทศชาติ ฉบับนี้ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม เป็นธรรมทาาน และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการพิมพ์ และจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และหนังสือ เสียง (Audiobook) เป็นธรรมทานเช่นกัน โดยความเห็นชอบจากรัฐบาล และได้รับการประสานงานอย่างดียิ่งเลยจากสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนในคราวนี้ก็มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มนี้ ส่วนประชาชน จะได้รับหนังสือเล่มนี้อย่างไรก็รอฟังจากสำนักนายกรัฐมนตรี ในแนวทางว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร

รายการบันทึกสถานการณ์ : ก็จะมีการแถลงข่าวนะครับ ในวันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล วันนี้เป็นวันพระและวันแม่แห่งชาติด้วย อยากจะให้พระอาจารย์ให้หลักธรรมในนี้ ซึ่งเป็นวันแม่แห่งชาติ

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีต พระราชกิจจาภรณ์) : ตรงนี้อาตมาขอให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ถ้าอยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ก็ดาวน์โหลดหนังสือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และหนังสือ เสียง (Audiobook) จากเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ไปอ่าน ไปศึกษา แล้วนำเอาหลักธรรมที่มีอยู่ในหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ไปประยุกต์บูรณาการใช้ในชีวิตของตน ใช้ในการบริหารงานขององค์กร ใช้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้สังคมเกิดสันติสุข อันเป็นสังคมอุดมธรรม ที่ปรารถนาของมวลมนุษยชาติ แล้วประมวลผลแห่งการประพฤติปฏิบัติหลักธรรมจากหนังสือทศชาติ น้อมเทิดพระเกียรติ ถวายพระพรชัยมงคล แะด่องค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จงทรงมีพระสุขภาพพลานามัย สมบูรณ์ แข็งแรง ขอจงทรงพระเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน ก็จะสมมโนรสปรารถนาแห่งการได้ศึกษาหลักธรรมจาก ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระนี้ ทุกประการ เจริญพร

รายการ บันทึกสถานการณ์ : กราบขอบพระคุณพระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) จากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ที่มาพูดคุยกันครับ ขอบพระคุณและกราบนมัสการลาครับ กราบนมัสการครับ

พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์ ) : เจริญพร

เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้ให้สัมภาษณ์ รายการบันทึกสถานการณ์ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM 92.5 MHz / AM 891 KHz เกี่ยวกับ ที่มาและความสำคัญของหนังสือ ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ

ต่อมา ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ” จัดพิมพ์แล้วเสร็จ จำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม โดยบริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทในเครือ เป็นผู้จัดพิมพ์ และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการพิมพ์ รวมทั้งจัดทำเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) และหนังสือ เสียง (Audiobook) และได้มีการกระจายเสียงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยไปแล้วเป็นลำดับ

และในวันที่ ๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ทางเว็บไซต์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดให้ลงทะเบียนรับหนังสือทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่นนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ ในเวลาเพียงครึ่งวันก็หมดทันที

ต่อมา ในวันอังคาร ที่ ๖ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๐ น. ได้มีการมอบหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ให้แก่คณะรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้การสนับสนุนการจัดทำหนังสือด้วยดี มาตั้งแต่ต้น และได้จัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของหนังสือทศชาติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเทิดพระเกียรติ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยมงคล แด่ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระองค์นั้น อย่างสูงสุด ด้วยระลึกถึงการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการของพระองค์ล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่บรรดาอาณาประชาราษฎร์ผู้อาศัยภายใต้ร่มพระบารมีอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย ประดุจดังการบำเพ็ญ พระบารมีของพระมหาโพธิสัตว์หลายพระชาติสุดที่จะคณานับด้วยปณิธานอันแน่วแน่เพื่อจะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกตราบจนปัจจุบัน

ขอเชิญดาวน์โหลด หนังสือ เสียง (Audiobook) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ จาก เว็บไซต์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี https://www.opm.go.th

https://www.opm.go.th/opmportal/multimedia/2022/project/audio.html

https://www.opm.go.th/opmportal/multimedia/2022/project/index.html

“บันทึกการเดินทาง…”ทศชาติ ปณิธามหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ” เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตอนที่ ๘ “การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน… เป็นวิถีแห่งพระโพธิสัตว์ ” ๒๕๖๖ กตัญญูกตเวทิตา ตามรอยทศธรรม กำลังใจแห่งชีวิต

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here