วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๓ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๓ ที่ผ่านมา นพ.พิชัย ตั้งสิน กรรมการบริหารโรงแรมแม่น้ำ รามาดา พลาซ่า และคุณแม่มาลี ตั้งสิน ประธานบริหารโรงแรมแม่น้ำ รามาดาพลาซา จัดบวชศิษย์เก่ามูลนิธิตั้งสินอุปถัมภ์ ๒ คน และศิษย์ปัจจุบัน ๓๓ คน แบ่งเป็นอุปสมบทพระ ๓ รูป และบรรพชาสามเณร ๓๒ รูป ณ พระอุโบสถวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เวลา ๙.๐๐ น. โดยมีท่านเจ้าคุณพระเทพรัตนมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ และทางมูลนิธิตั้งสินอุปถัมภ์ จัดถวายเพลพระเณรทั้งอาราม

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายภูเขาทอง โดยศิลปิน ภัทริศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายภูเขาทอง โดยศิลปิน ภัทริศ

หลังการบรรพชาสามเณรและอุปสมบทพระภิกษุแล้ว ในช่วงบ่ายที่ศาลาหลวงพ่อดวงดีเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้การใช้ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์ โดยพระอาจารย์กาญจน์

อันดับแรกท่านให้แบ่งกลุ่มออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มศีล สมาธิ และปัญญา โดยให้สามเณรแต่ละท่านมีบัดดี้ดูแลกันและกัน แล้วให้สามเณรเรียกบัดดี้อีกรูปว่า “พี่เณร” ไม่ว่าสามเณรรูปนั้นจะอายุมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ตาม เป็นความงดงามแรกที่ผู้เขียนสัมผัสได้ในสังฆมณฑลที่พระพุทธองค์ทรงตั้งขึ้นเมื่อสองพันหกร้อยกว่าปีก่อน ที่ยังคงดำรงหลักพระธรรมวินัยมาได้จนถึงทุกวันนี้

พระอาจารย์กาญจน์ ปฐมนิเทศน์พระภิกษุ-สามเณร ผู้บวชใหม่

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า พุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าเป็นบริษัทที่มั่นคงเดินทางผ่านร้อนหนาวมายาวนานกว่าบริษัทใดๆ ในโลกที่ต่างปรากฏขึ้นมา ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไปตามเหตุปัจจัย แต่ตราบใดที่พระรัตนตรัยยังคงครบองค์ประชุม คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ แก่นธรรมในพระพุทธศาสนาก็ยังคงเป็นที่พึ่งให้ชาวโลกได้ตลอดกาลนาน

ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นามปากกา ญาณวชิระ เขียนไว้ในบทนำธรรมนิพนธ์เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” ตอนหนึ่งว่า ขอให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ตลอดกาล เพราะเมื่อใดที่พระพุทธศาสนายังคงประดิษฐานในใจคน ตราบนั้น สันติธรรมก็ยังคงดำรงอยู่ตลอดไป

จากนั้น เมื่อพระพระภิกษุและสามเณรบวชใหม่เดินมากันครบแล้ว พระอาจารย์กาญจน์ก็เริ่มต้นนำเข้าสู่บทเรียนแรก ท่านเล่าถึงความหมายของคำว่า สามเณร ภาษาบาลีว่า สา-มะ-เณ-ระ คือเหล่ากอของสมณะ หน่อเนื้อของสมณะ หมายถึงบวชชายในพระพุทธศาสนาที่อายุน้อย รักษาศีล ๑๐ และความหมายของจีวร ประดุจผืนนา พระสงฆ์เป็นผู้ทำนา เป็นการทำนาตามแบบของพระพุทธเจ้า คือ ไม่ทำให้มีการเกิดอีก จึงเป็นเนื้อนาบุญของโลก  

ต่อมาพระอาจารย์กาญจน์ถามพระภิกษุและสามเณรผู้บวชใหม่ว่า ใครว่าการบวชเป็นเวลาสิบห้าวัน สั้นหรือยาว

ก็มีทั้งพระภิกษุและสามเณรผู้บวชใหม่ยกมือตอบทั้งสองอย่าง ท่านจึงอธิบายว่า หากเป็นพระและสามเณรที่อายุมาก ก็จะคิดว่า บวนสิบห้าวันน้อยเกินไป ส่วนสามเณรที่ยังอายุน้อยก็คิดว่า มากไป เพราะคิดว่า เวลาในชีวิตยังเยอะ แต่ความจริงเวลาในชีวิตคนเราน้อยมาก ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร เป็นเรื่องจริง แล้วท่านก็เล่าประสบการณ์ตัวท่านอาพาธเป็นมะเร็งและรักษาโดยการฉายแสง ๓๐ ครั้ง จากน้ำหนักแปดสิบกว่ากิโลกรัม ผอมเหลือสรีระนิดเดียว

ท่านจึงสวดมนต์และทำสมาธิให้มากขึ้น หวังให้ใจสงบ แต่อานิสงส์ที่ได้คือ มะเร็งหายไป อานิสงส์ของการสวดมนต์และการทำสมาธิยังมีอีกมาก เช่นทำให้เรียนหนังสือได้ดีขึ้น เพราะมีสมาธิดีขึ้น มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาดีขึ้น

พระอาจารย์กาญจน์ให้กำลังใจพระใหม่และสามเณรผู้บวชใหม่ให้ตั้งใจปฏิบัติในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ให้เต็มกำลัง โดยตื่นนอนตั้งแต่ตี ๕ ทำกิจวัตรประจำวัน และต่อด้วยออกรับบิณฑบาตเวลา ๐๖.๐๐ น. เป็นการฝึกตนเองด้วยการขัดเกลากิเลส เดินเท้าเปล่าอย่างมีสติออกไปโปรดญาติโยมให้รู้จักการจาคะ คือ เสียสละ ฉันเช้าเวลา ๐๗.๐๐ น. แล้วจึงทำวัตรเช้า ขอให้ต้ังใจสวดมนตืให้ดี เพราะมีอานิสงส์มาก

หนังสือ "ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับธรรมทาน
หนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับธรรมทาน

ต่อมาท่านสอนการพับจีวร ต้องมีหลักในการพับ ด้านไหนอยู่บนให้สังเกตรังดุม แล้วพับตามที่ท่านแนะนำ โดยพระภิกษุและสามเณรผู้บวชใหม่แต่ละท่านมีบัดดี้ก็ช่วยกันพับให้ได้รูปตามที่ท่านสอน

พระอาจารย์กาญจน์เล่าว่า การผูกผ้ารัดประคตของวัดสระเกศ นั้นเป็นการผูกที่มีเอกลักษณ์ เรียกว่าเป็นขนบธรรมเนียมมาแต่โบราณ สำหรับจีวรและบาตรท่านว่า อย่าวางไว้ปลายเท้าเด็ดขาด เมื่อพับจีวรแล้วนำมาหนุนศีรษะได้ หรือวางไว้บนศีรษะได้

ท่านเล่าต่อมาว่า หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์บอกว่า ถ้านำจีวรไปตากไว้ที่ปลายเท้าขี้กลากจะขึ้นศีรษะ ถ้าไม่เชื่อก็ลองทำดู ท่านเคยไม่เชื่อและทำมาแล้ว ขี้กลากขึ้นศีรษะจริงๆ จนกระทั่งเปลี่ยนที่ตากจีวร จึงหาย

ภาพถ่ายโดย หมอนไม้

ทั้งหมดนี้ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องงมงาย แต่เป็นวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างเคารพในธรรม แล้วปัญญาจะก่อเกิดให้รู้ความจริง เห็นจริงในไตรลักษณ์ด้วยตนเอง ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็ยิ่งมั่นคงแน่นแฟ้นในใจเรา นั่นหมายถึงว่า เรามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันสูงสุดแล้ว จิตใจก็ไม่หวั่นไหว พร้อมเผชิญกับชีวิตและสิ่งที่มากระทบทุกรูปแบบ นั่นคือหนทางที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ให้พระภิกษุเดินตามเพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือ ถึงนิพพาน อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ในที่สุด ซึ่งเป็นเส้นทางสู่ความพ้นทุกขืโดยสิ้นเชิงไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

เพียงบทเรียนแรกในวันแรกของการบวชเรียน ผู้เขียนนั่งฟังด้วยความปีติ หนทางนี้แล คือหนทางอันประเสริฐจริงๆ

พระอาจารย์กาญจน์ กำลังสาธิตการพับจีวรให้พระภิกษุและสามเณรผู้บวชใหม่เรียนรู้

“บทเรียนแรกของพระภิกษุและสามเณรผู้บวชใหม่ สอนอะไรเราบ้าง” เขียนโดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here