พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น บิณฑบาตพร้อมกับคณะสงฆ์ที่บ้านปากน้ำ (บุ่งสระพัง) จ.อุบลราชธานี (พ.ศ.๒๕๕๘)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น
บิณฑบาตพร้อมกับคณะสงฆ์ที่บ้านปากน้ำ (บุ่งสระพัง) จ.อุบลราชธานี (พ.ศ.๒๕๕๘)

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ตอนที่ ๔๕

“กว่า ๒๖๐๐ ปีที่สืบเนื่อง บิณฑบาต –ใส่บาตร ถ้าขาดสิ่งนี้ไป พระพุทธศาสนาก็ขาดตอน

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ) โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

คอลัมน์ “ธรรมโอสถ” นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒๐๐ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๓ มิถุนายน  พ.ศ.๒๕๕๘ จึงนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งถึงเรื่องราวของ “การบิณฑบาต - ใส่บาตร ถ้าขาดสิ่งนี้ไปพระพุทธศาสนาก็ขาดตอน”
คอลัมน์ “ธรรมโอสถ” นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒๐๐ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๘ เรื่อง “บิณฑบาต – ใส่บาตร ถ้าขาดสิ่งนี้ไป พุทธศาสนาก็ขาดตอน”
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

         “ที่วัดปากน้ำ จ.อุบลราชธานี ซึ่งอาตมาเคยอยู่ เราเห็นว่าตลอดระยะเวลาร่วม ๓๐ ปี ที่อาศัยร่มเงาพระพุทธศาสนา  ได้ศึกษา ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เราเห็นการเกื้อกูลกันมาตลอด ทำไมชาวบ้านเพียง ๓๐๐ หลังคาเรือน สามารถเลี้ยงพระเณรได้เป็นร้อยๆ รูปในวัด เขาทำได้อย่างไร ตอนเช้า แทบทุกหลังคาเรือน ออกมาใส่บาตรพระ พระได้รับอาหารไปที่วัด จากนั้น โยมยังเดินตามเอากับข้าวมาส่งที่วัดอีก แล้วเขาก็จะแบ่งกันว่า ประมาณ ๕๐ หลังคาเรือน มาเช้า อีก ๕๐ หลังคาเรือนมาเพล แล้วเว้นไว้อีก ๕๐ หลังคาเรือนให้พัก ก็จะสลับกันไปอย่างนี้” 

         พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น เมตตาให้ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์อันงดงามที่แยกไม่ออกในวิถีชีวิตอันมีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานที่ทำให้ชีวิตมั่นคง ชุมชนแข็งแรง ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว ซึ่งผู้เขียนเปิดบันทึกพบในคอลัมน์ “ธรรมโอสถ” นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับ ๑๒๐๐ วันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๓ มิถุนายน  พ.ศ.๒๕๕๘ จึงนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งถึงเรื่องราวของ “การบิณฑบาต – ใส่บาตร ถ้าขาดสิ่งนี้ไปพระพุทธศาสนาก็ขาดตอน”

         ท่านอธิบายว่า เป็นเกื้อกูลกันระหว่างวัด พระ และชุมชน ชาวบ้าน อย่างน้อยที่กระจายตัวอยู่ในจำนวน ๓๐,๐๐๐ วัดทั่วประเทศ นี้เป็นสิ่งสำคัญมาก 

         “กลิ่นควันไฟที่เขาหุงข้าว ถนนมีคนไล่วัว ไล่ควายไปลงทุ่งลงท่า มีเสียงเรียกว่า แม่ พระมาแล้ว มันมีความรู้สึกว่า เมื่อสามสิบปีที่แล้วก็เป็นเสียงนี้ เสียงพระตีระฆัง ก็เป็นเสียงอย่างนี้  ฉะนั้น ย้อนกลับไปเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว บรรยากาศพระพุทธศาสนา ก็คงเป็นเช่นนี้  ซึ่งเราเองที่เป็นชาวพุทธก็ต้องทำหน้าที่ต่อ เพื่อที่จะส่งทอดวิถีชีวิตอันนี้ ไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นรุ่นเดินตามเรามา เป็นหน้าที่ของเรา  ถ้าขาดสิ่งนี้ไป พุทธศาสนาก็ขาดตอน”

         วันนี้ คนมองพุทธศาสนาเป็นวิชาการ ท่านมีแง่มุมให้เห็นว่า  นักวิชาการ แต่ละวิชาการก็มาวิพากษ์วิจารณ์ พุทธศาสนาอย่างนั้นอย่างนี้  มันไม่ใช่เลือดเนื้อชีวิต 

         “แต่เลือดเนื้อชีวิต คือ สิ่งที่อาตมากำลังกล่าวอยู่นี้ พระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่อง ตำรา แต่เป็นเรื่องของชีวิต การสัมผัส การเป็นอยู่อย่างมีสติ สมาธิ และปัญญาในการตัดรากถอนโคนกิเลส จนเห็นไตรลักษณ์ปรากฏ คือลมหายใจแห่งพระพุทธศาสนา”

         แล้วท่านก็รำลึกความหลังเมื่อครั้งเป็นเณรน้อยให้ฟัง

         “เมื่อตอนอาตมาอายุ ๑๓ –๑๔ ปี ไปอยู่ป่ากับพระอาจารย์มหามังกร ปัญญวโร ท่านเป็นพระที่เคยอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่มาวันหนึ่ง ท่านไม่อยากใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ท่านก็ไปอยู่ต่างจังหวัด หลวงพ่อที่วัดปากน้ำ พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของอาตมารูปแรก ก็บอกอาตมาว่า มีอาจารย์รูปหนึ่งมาอยู่ที่วัดป่า ซึ่งเป็นวัดร้างที่หลวงพ่อท่าน ทำไว้เป็นที่ปฏิบัติธรรม และเป็นป่าจริงๆ พระอาจารย์มหามังกรก็ขอไปพักปฏิบัติธรรมที่นั่น  หลวงพ่อก็ถามเณรที่วัดว่าใครจะสมัครไปอยู่เป็นเณรอุปัฏฐากอาจารย์มหามังกร อาตมาจึงขอไปอยู่อุปัฏฐากท่านที่วัดป่า

         “จากวันนั้นก็ได้ไปใช้ชีวิตฉันมื้อเดียว เวลาบิณฑบาต เดินออกจากวัดเวลาตีห้าครึ่ง เดินไปเรื่อยๆ เข้าหมู่บ้าน แล้วก็รับบาตรกลับมาถึงวัดราวแปดโมงเช้า ก็ต้องกวาดวัดก่อน แล้วก็ไปสรงน้ำ ให้ร่างกายมันเย็น แล้วจะได้ฉันประมาณเก้าโมงครึ่ง ใช้เวลาฉันประมาณ ๔๕ นาทีถึง ๑ ชั่วโมง ที่ฉันนาน เพราะต้องเคี้ยวให้ละเอียด ฉันช้าๆ ถึงประมาณสิบโมงครึ่งก็ฉันเสร็จ ก็มีเวลาพักหน่อย ช่วงบ่ายก็ทำโน่นทำนี่

         “ท่านอาจารย์มหามังกร เนื่องจากท่านเป็นพระด้านการศึกษา เป็นพระนักเทศน์ มีชื่อเสียงพอสมควร เวลาท่านมากรุงเทพฯ แล้วกลับไปท่านจะวางหนังสือไว้ เป็นแถว เป็นชุดๆ ไว้ เราอยู่ที่นั่นก็มีโอกาสได้อ่านทุกสัปดาห์ จนเราทราบเรื่องสังคมมาเรื่อยๆ จากการอ่านหนังสือ มุมมองก็เริ่มแตกออกมา เพราะได้อ่านหนังสือ อาทิ ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น สามก๊ก มิลินทปัญหา ฯลฯ “

         ณ วันหนึ่ง เมื่อท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้นเดินออกจากป่า มาสัมผัสกับชีวิตสังคมเมือง มีโอกาสมาอยู่กับเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ  ท่านเล่าต่อมาว่า  เจ้าพระคุณสมเด็จฯ พยายามบุกเบิกให้เกิดพระธรรมทูตในระดับนานาชาติ ให้พระธรรมทูตได้ไปทำงานในที่ต่างๆ ทั่วโลก 

         “พระพุทธศาสนาได้ถูกเชื่อมโยงไปทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เชื่อมความคิดของเราที่ปูพื้นไว้ ทำให้มองเห็นภาพที่กว้างขึ้น  ณ วันนี้จึงไม่ใช่แค่บิณฑบาต  แต่การบิณฑบาต แยกไม่ออกจากวิถีพระ” 

ล้อมกรอบ

การภาวนาก็เหมือนกับการหายใจ

“ในการภาวนาของอาตมา ตอนที่อยู่กับอาจารย์มหามังกร ท่านสอนเดินจงกรม และให้ภาวนาพุทโธ วันพระ ท่านบรรยายถึงสี่ทุม แล้วภาวนาไปถึงเที่ยงคืนแล้วก็พัก ตื่นขึ้นมาตอนตี ๓ ก็ตื่น มีเวลานอนประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง ในวันพระ แล้วก็ตื่นขึ้นมา อาตมามีหน้าที่ตีระฆัง เพราะอยู่กับ ๒ รูป ตอนเย็น ๕ โมง ๑๕ นาทีก็ตีระฆังทำวัตรไปจนถึง ๖ โมงครึ่ง นั่งสมาธิยาวไปจนถึงสองทุ่มครึ่ง สิ่งเหล่านี้ นำมาใช้จนถึงปัจจุบัน ในการภาวนาส่วนตัวของเรา”   

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้นอธิบายเรื่องการภาวนาต่อมาว่า

         “การภาวนา เหมือนกับเราหายใจ เราจะรู้ตัว ไม่รู้ตัว ก็ต้องหายใจ แต่การภาวนาคือ เพิ่มความรู้สึกตัวเข้าไปในการหายใจ หายใจให้รู้ตัว ให้มีสติ จนกระทั่งสติต่อเนื่องเป็นสมาธิ เวลาปัญหาอะไรมา ก็สามารถดึงปัญญามาใช้ได้ ไม่ใช้อารมณ์ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิต คนที่ฝึกมาแล้ว ก็เหมือนคนขับรถนั่นแหละ ฝึกจนชำนานก็ไม่ต้องหัดอีก เวลาจะใช้ก็ใช้ได้เลย การปฏิบัติธรรม การเจริญภาวนาของทุกคนก็คล้ายๆ กัน เวลามีสติก็สามารถกำหนดลมหายใจได้เลย ไม่ต้องเริ่มต้นด้วยการยกขันแล้วก็มาขึ้นกรรมฐาน  ไม่ต้อง เมื่อเราฝึกจนชำนาญ ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหน เดิน ยืน นั่ง นอน เรามีสติกำหนดปุ๊บ  ก็สามารถกำหนดลมหายใจได้เลย แล้วก็จะเห็นลมหายใจ

         “การจะเห็นลมหายใจได้ แม้ไม่มีคำบริกรรม ก็เป็นการปฏิบัติธรรม อยู่กับปัจจุบันขณะด้วยการดูลมหายใจ อยู่กับปัจจุบันขณะด้วยการดูอาการเคลื่อนไหวของเรา ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด สิ่งรอบข้างของเราต่างๆ ถ้าเรานั่งอยู่เรากำหนดลงไปปั๊บ เรากำหนดรู้ เรารับรู้บรรยากาศรอบตัวของเรา จนสามารถแยกเราออกจากการเป็นส่วนหนึ่งจากบรรยากาศ หรือรวมเรากับบรรยากาศได้ อันนั้น เรียกว่า การอยู่กับปัจจุบันขณะ  ซึ่งจิตของเราต้องมีความลึกซึ้งมากพอสมควร จึงสามารถที่จะอยู่ในบรรยากาศไหนก็ตาม อึกทึกครึกโครมแค่ไหนก็ตาม อยู่กับคนที่เล่นดนตรีกี่ชิ้นก็ตาม  เราก็สามารถที่จะเอาจิตของเรา ไปกำหนดแยกเครื่องดนตรีได้ ในขณะที่มีเสียง หรือในขณะที่รถวิ่ง ก็สามารถแยกเสียงคนที่กำลังพูดกันกระจอกระแจได้ เรียกว่า สามารถรวมจิตเป็นส่วนหนึ่ง กับบรรยากาศ หรือแยกจิตออกจากบรรยากาศได้ เรียกว่า การปฏิบัติธรรมอยู่กับชีวิตของเรา

ล้อมกรอบ ๒

บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ”  โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น   ภาพประกอบโดย หมอนไม้
บันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ”
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น
ภาพประกอบโดย หมอนไม้

 ๑๑. วิธีถอนจิตออกจากสมาธิ

จากตอนที่แล้วเกี่ยวกับ “การขจัดนิวรณ์เพื่อเข้าสู่สมาธิสูงขึ้นไปตามลำดับ” ในบันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ฉบับนี้อธิบาย “วิธีถอนจิตออกจากสมาธิ” กันต่อ

การจะออกจากสมาธิในแต่ละบัลลังก์ ต้องอดทนจนถึงที่สุดก่อน เมื่อจิตร้องขออยากหยุด ก็บอกจิตว่า อีกสักครู่ ขอดูลมหายใจอีกสักครู่ ขอดูความว่างอีกสักครู่ ขอดูความไม่เที่ยงอีกสักครู่ ขอพิจารณาธรรมอีกสักครู่ พอกำหนดไปอีกสักหน่อย จิตก็จะร้องขออีกแล้ว ขอหยุด ก็บอกจิตว่า  อีกสักครู่ ก็ต่อรองกันไปเรื่อยอย่างนี้ เหมือนลูกร้องขอแม่อยากออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านกับเพื่อน แม่ก็จะตอบลูกว่า เดี๋ยวก่อนอยู่เรื่อย แม้ลูกจะร้องขออย่างไร แม่ก็จะหาอุบายมาต่อรองกับลูกอยู่เสมอ 

ในขั้นของการฝึกหัดก็ต้องอดทนต้องข่มใจ

         แต่พอเผลอ บางทีจิตก็แอบออกไปคิดเรื่อยเปื่อย ก็นำจิตกลับมา  คือ เปลี่ยนความคิดกลับมา จะเรียกว่าพลิกขณะจิตกลับมาก็ได้  แล้วสอบสวนทวนความดูว่า ไปไหน คิดเรื่องอะไร คิดทำไม แล้วก็อบรมสั่งสอนจิตไม่ให้คิดไปอย่างนั้น ไม่ว่าจิตจะคิดเรื่องอะไร พอได้สติมีความรู้สึกตัวขึ้นมา ก็เปลี่ยนความคิดนำจิตกลับมา สอบสวนดูก่อนว่าทำไมไปคิดแบบนั้น ชอบใช่ไหม ชังใช่ไหม โกรธเคืองใช่ไหม ทำไมรู้สึกเหงา ซึมเศร้า เดียวดาย เดี๋ยวก็ละห้อยหาอดีต เดี๋ยวก็หวาดหวั่นอนาคต กลัวใช่ไหม ยอมรับความจริงไม่ได้ใช่ไหม แล้วก็สอนจิตให้รู้ว่า สิ่งที่เกิดในอดีตก็ดับไปแล้วในอดีต สิ่งที่เกิดในปัจจุบันก็จะดับลงในปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดในอนาคตก็จะดับไปในอนาคต

ความคิดที่ยึดโยงอยู่กับความชอบชัง โกรธเกลียด ขัดเคือง ไม่พอใจ ก็เช่นกัน  ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตก็ดับไปแล้วในอดีต ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็กำลังจะดับไป และที่จะเกิดในอนาคตก็จะดับไปในอนาคต

         ก็สอนจิตอยู่อย่างนี้ บัลลังก์แล้วบัลลังก์เล่า จะกี่ครั้งที่ความคิดเกิด จะกี่วัน กี่ปี ก็ต้องสอนจิตอยู่อย่างนั้น ไม่เหนื่อยที่จะตามสอน ไม่เหนื่อยที่จะพร่ำสอน เหมือนพ่อแม่ไม่เหนื่อยที่จะบอกที่จะสอนลูกด้วยความกรุณา ด้วยหวังที่จะให้ลูกจดจำคำสอน

         พระพุทธเจ้าเองก็ไม่เหนื่อยที่จะสอนเราแบบนี้ จนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพก็ยังทรงตามสอน ยังทรงพร่ำสอนเรื่องเดิมเนืองๆ อยู่จนกระทั่งพระองค์ปรินิพพาน คำสอนของพระองค์ยังคงสอนอยู่ตราบที่เรายังหมั่นเพียรขวนขวายปฏิบัติไม่หยุดตามรอยพระองค์ท่าน การเห็นทุกข์และการพ้นทุกข์ตามลำดับก็จะบังเกิดขึ้นในที่สุด

รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๔๕ “กว่า ๒๖๐๐ ปีที่สืบเนื่อง บิณฑบาต –ใส่บาตร ถ้าขาดสิ่งนี้ไป พระพุทธศาสนาก็ขาดตอน โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ จากคอลัมน์ มโนปณิธาน (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ )


ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here