จิรํ ติฏฺฐตุ พุทธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
ญาณวชิระ
ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช
(ตอนที่ ๓๔)
บรรพ์ที่ ๖ สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับศีล ๒๒๗ ข้อ
(ตอนที่ ๑)
จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย
โดย ญาณวชิระ
: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
บรรพ์ที่ ๖
สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจ
เกี่ยวกับศีล ๒๒๗ ข้อ
จุดประสงค์การบัญญัติพระวินัย
โทษของอาบัติ
สาเหตุที่ทำให้พระภิกษุต้องอาบัติ
ผลที่มุ่งหมายในการบัญญัติพระวินัย
ศีล ๒๒๗ ข้อ
และ หากผิดพระวินัยแล้วต้องแก้ไขอย่างไร
ความงดงามของชีวิตพระภิกษุ เกิดขึ้นเพราะพระวินัย เหมือนดอกไม้หลากสีที่ร้อยเข้าเป็นมาลัย ย่อมเกิดความงาม เหมาะแก่การเป็นเครื่องสักการบูชา ถ้าชีวิตพระภิกษุ ขาดวินัยก็ไม่ต่างอะไรจากชีวิตชาวบ้าน เมื่อพระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวากราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยแก่สาวก พระองค์ตรัสว่ายังไม่ถึงกาลสมควร เมื่อไม่มีผู้ทำผิดพระองค์ก็ยังไม่บัญญัติพระวินัย แต่เมื่อมีผู้ทำผิดเกิดขึ้นจึงบัญญัติตามความผิดนั้นๆ จะไม่ทรงบัญญัติวินัยไว้ล่วงหน้า
แท้จริงพระวินัยไม่ได้หมายถึงข้อบังคับ แต่เป็นระเบียบแบบแผนข้อฝึกหัดขัดเกลาอุปนิสัยให้เป็นคนละเอียดอ่อน เป็นการเกื้อกูลต่อผู้บวชเอง ที่จะได้รับประโยชน์จากการบวช พระวินัยจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สิกขาบท” คือ ข้อที่จะต้องศึกษา พระวินัยจึงเป็นเรื่องของการศึกษา
จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัย
พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงบัญญัติพระวินัยแต่ละข้อที่มารวมกันเป็นสิกขาบท เรียกว่า ต้นบัญญัติ เพื่อเป็นข้อฝึกหัดทางกายวาจานี้ พระองค์แสดงวัตถุประสงค์ทุกครั้ง จุดประสงค์ของการบัญญัติพระวินัยมี ๑๐ ประการ คือ
จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยส่วนรวม
๑. สังฆะสุฏฐุตายะ เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์ คือ เพื่อความดีงามของสถาบันสงฆ์ทั้งหมดโดยรวม ที่ยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์นั้น หมายถึง
พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติโดยการบังคับ
กดขี่ตามพระพุทธอำนาจ
แต่ทรงบัญญัติสิกขาบท
โดยการยอมรับจากสงฆ์ว่า
ที่บัญญัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีแก่ส่วนรวม
เพื่อให้เกิดผลดีร่วมกัน
และทุกฝ่ายต่างให้การยอมรับ
ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
๒.สังฆะผาสุตายะ เพื่อความผาสุกของพระสงฆ์ หมายถึงเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยดี นอกจากพระสงฆ์จะอยู่ร่วมกันด้วยความเรียบร้อยแล้ว ต้องเกิดความสบายใจแก่ทุกฝ่ายด้วย
ประโยชน์เฉพาะบุคคล
๓. ทุมมังกูนัง ปุคคะลานัง นิคคะหายะ เพื่อกำราบคนหน้าด้าน ไม่มียางอาย หมายถึง หากพระองค์ไม่บัญญัติสิกขาบทชี้โทษให้เห็นว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรมีโทษน้อยอะไรมีโทษมาก คนที่หน้าด้านไร้ยางอายเหล่านี้เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็จะทำอะไรได้ทุกอย่างตามใจชอบ เพราะถือว่าไม่มีข้อห้าม
๔. เปสะลานัง ภิกขูนัง ผาสุวิหาระตายะ เพื่อความอยู่ผาสุกของพระภิกษุผู้มีศีล หมายถึง การบัญญัติสิกขาบทก็เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่มีศีล เพราะคนเหล่านี้มักจะมีความละอายสงบเสงี่ยมเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่สร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่น หากพระองค์ไม่บัญญัติสิกขาบท ท่านที่มีศีลเหล่านี้ ก็จะอยู่ด้วยความลำบาก เพราะจะถูกรบกวน จากคนที่ไร้ยางอายคอยสร้างปัญหา สร้างความรำคาญให้
จุดประสงค์เพื่อประโยชน์คือความดีงามแห่งชีวิต
๕. ทิฏฐะธัมมิกานัง อาสะวานัง สังวะรายะ เพื่อปิดกั้นโทษความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน หมายถึง การบัญญัติสิกขาบทเพราะคำนึงถึงผลดีและผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้บวช เช่น ถูกชกต่อย ถูกตีด้วยไม้ ถูกตัดมือตัดเท้า ถูกลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองในลักษณะต่างๆ ตามสมควรแก่ความผิด ตลอดถึงการเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นต้น เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทแล้วจะทำให้ผู้บวชมีความสำรวมระวังมากขึ้น เป็นการป้องกันไม่ให้โทษดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังบวชอยู่
๖. สัมปะรายิกานัง อาสะวานัง ปะฏิฆาตายะ เพื่อปิดกั้นโทษความเสียหายที่จะเกิดในอนาคต เป็นการป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้บวชในอนาคต อันเนื่องมาจากผลแห่งบาปกรรมที่ไม่สำรวมระวังในความเป็นพระภิกษุ ท่านแสดงโทษของการผิดศีลไว้ ดังนี้ บ้านแตกสาแหรกขาด ทรัพย์สมบัติล่มจม ร่างกายเกิดโรคภัยเบียดเบียน
จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชน
๗. อัปปะสันนานัง วา ปะสาทายะ เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส
๘. ปะสันนานัง วา ภิยโยภาวายะ เพื่อให้ผู้เลื่อมใสแล้วมีความเลื่อมใสยิ่งขึ้น
ประโยชน์แก่พุทธศาสนิกชนทั้งสองข้อนี้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเอง คือ เมื่อคนเป็นอันมากได้เห็นพระสงฆ์ผู้สมบูรณ์ด้วยศีล งดงามด้วยอาจาระ ก็จะเกิดความเลื่อมใส และผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะเกิดศรัทธามากยิ่งขึ้น นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติตามธรรมะคำสั่งสอนเพื่อเข้าสู่ความดีที่สูงยิ่งขึ้นไป
จุดประสงค์เพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา
๙. สัทธัมมัฏฐิติยา เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม คือ เมื่อมีการบัญญัติสิกขาบท พระภิกษุทั้งหลายย่อมเรียนสิกขาบทและพระพุทธวจนะเมื่อปฏิบัติสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ย่อมได้บรรลุโลกุตตรธรรม ที่ตนจะพึงบำเพ็ญข้อปฏิบัติแล้วบรรลุได้ด้วยความปฏิบัติ เพราะฉะนั้น พระสัทธรรมทั้งหมด ชื่อว่าเป็นสภาพตั้งอยู่ยั่งยืนนานด้วยสิกขาบทบัญญัติ
๑๐. วินะยานุคคะหายะ เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย คือ เพื่อให้พระภิกษุเคารพในวินัย อันเป็นกฎระเบียบเเบบแผนขนบธรรมเนียมที่ทรงบัญญัติไว้ ให้บังเกิดมีผลในการปฏิบัติตามหลักการอย่างหนักแน่นมั่นคง
โปรดติดตาม “ทำไม…ลูกผู้ชายต้องบวช” ตอนต่อไป
ญาณวชิระ เป็นนามปากกาของท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ท่านเขียนหนังสือธรรมะมากมาย แต่ละเล่มล้วนเต็มไปด้วยสารัตถะแห่งธรรมที่เข้าใจง่าย และนำมาปฏิบัติแก้ทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หนังสือทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับ คณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร , หลักแห่งการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน , พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ , มหาสมัยสูตร ,การ์ตูนแอนนิเมชั่น เรื่อง ปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ ,ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งปรัชญาไทย, ประทีปแห่งแม่น้ำมูล , ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ,ตำนานภูเขาทอง , ลูกผู้ชายต้องบวช , สมาธิเบื้องต้นสำหรับชาวบ้าน ,หนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ,บามิยัน ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และมืดมนยาวนานแห่งพระพุทธศาสนา, สุวรรณบรรพต สยามพุทธศิลป์ , พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ ความเป็นมาของพระอภิธรรม เป็นต้น
ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” โดย ญาณวชิระ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ / ที่ปรึกษา : พระเทพรัตนมุนี , พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง) และพระมหาธีระศักดิ์ ธีรปญฺโญ /บรรณาธิการ โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี และ มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ / ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส ภาพวาดประกอบโดย หมอนไม้ / แบบปก – รูปเล่ม โดย พระมหาเดชา ปญฺญาคโม และ พระมหาสมบัติ ภูริปญฺโญ / ภาพปกโดย ศิลปิน พีร์ ขุนจิตกร/ ผู้อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด / ขอรับหนังสือได้ฟรีที่ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ จนกว่าหนังสือจะหมด