ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

ทำบุญได้ตลอดวัน จากตื่นจนหัวถึงหมอน

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่

ฉบับที่ ๑ (ตอนที่ ๒)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน"
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้เขียน “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชร

โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน

การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖

เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

ทำบุญได้ตลอดวัน จากตื่นจนหัวถึงหมอน

ส่วนเรื่องการทำบุญนั้น ไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายแสวงบุญจากที่ไหน  เพราะบุญอยู่ในตัวเรา จึงควรขวนขวายแสวงบุญในตัวเรานี้แหละ  เราสามารถทำบุญได้ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอน   จวบจนเมื่อหัวถึงหมอน   โดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงบุญจากที่ไหน

กายเป็นที่ตั้งแห่งบุญ  วาจาเป็นที่ตั้งแห่งบุญ   ใจเป็น ที่ตั้งแห่งบุญ  แสวงบุญจากกาย   วาจา   ใจ   ด้วยการทำดี พูดดี  คิดดี  ตลอดวัน  เราก็สามารถทำบุญได้ตลอดวัน

ต่อไปนี้ จะขอแนะนำ “หลักการทำบุญและวิธีปฏิบัติ ธรรมในชีวิตประจำวัน” อย่างถูกวิธี ซึ่งน่าจะเหมาะสำหรับโยมทั้งสองที่ไปวัดไม่ได้ เนื่องจากร่างกายและสังขารไม่อำนวย

ก่อนอื่นโยมทั้งสองต้องคิดอย่างมีหลักว่า บุญกุศลอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ แม้เราไม่สามารถไปแสวงบุญในที่ต่างๆ ได้ ตามที่ผู้คนโฆษณาบอกกล่าว่า ไปแสวงบุญที่นั้นที่นี้จึงจะได้บุญมาก ก็อย่าไปทุกข์ร้อนใจว่า เราไปไม่ได้ อยู่ที่บ้านก็สามารถทำบุญได้ตลอดวัน เนื่องจากการกระทำต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นบ่อเกิดแห่งบุญกุศลอยู่แล้ว เช่น

การอุปัฏฐากบำรุงเลี้ยงดูพ่อแม่ก็เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ  การแสดงความเคารพนอบน้อมต่อปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา ผู้เป็นบรรพบุรุษ ที่เรียกว่า วุฑฒาปจายนธรรม แปลว่า การแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ก็เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ ความรัก ความผูกพัน ช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างญาติพี่น้อง ก็เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ  การอนุเคราะห์บุตรหลานด้วยเมตตาจิตก็เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ  การมีน้ำใจเกื้อกูลเพื่อนฝูงพวกพ้องบริวาร ตามสมควรแก่โอกาสก็เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ การอนุเคราะห์บุคคลผู้ตกยาก ก็เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ หรือแม้กระทั่งการสงเคราะห์สัตว์ตัวเล็กตัวน้อย สูงขึ้นไปจนถึงการให้ทานรักษาศีล เจริญภาวนา ล้วนเป็นบ่อเกิดแห่งบุญ

หากเราทำดี พูดดี คิดดีกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ตลอดจนการทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่เราอยู่อาศัย เหล่านี้ ล้วนเป็นบุญเป็นกุศลทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“สิ่งทั้งหลายมีใจเป็นหนึ่ง มีใจประเสริฐที่สุด ทุกสิ่งสำเร็จมาจากใจ ถ้าใจไม่ดีเสียแล้ว จะพูดหรือจะทำอะไรก็ตาม ก็ย่อมจะเกิดทุกข์ตามมาเหมือนล้อหมุนไปตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียน”

โคลากเกวียนเป็นอย่างไร โยมพ่อใหญ่โยมแม่ใหญ่ก็รู้อยู่แล้ว เพราะบ้านเรามีเกวียน

ด้วยเหตุนี้  โยมทั้งสองจึงต้องคิดให้เป็นบุญเป็นกุศล คิดแต่สิ่งที่ดีๆ ขอแนะนำวิธีทำบุญในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอน จวบจนเมื่อหัวถึงหมอน ตามความเหมาะสมแก่ร่างกายและสังขารของโยมทั้งสอง

แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม ( โยมย่า)
แม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม ( โยมย่า)

เมื่อแรกตื่น ปฏิบัติธรรมด้วยการตามดูลมหายใจ

การปฏิบัติธรรมหรือการทำสมาธินั้น เราสามารถทำได้ตลอดทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า เราก็เข้าสู้เส้นทางนักปฏิบัติธรรมด้วยการดูลมหายใจ วิธีปฏิบัติง่ายๆ คือ

เมื่อแรกรู้สึกตัว อย่าพึ่งขยับตัวหรือลุกจากที่นอน ให้นอนอยู่ในท่าเดิมพร้อมกับเอาความรู้สึกไปจับที่ลมหายใจ หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้  สองครั้ง สามครั้ง หรือมากกว่านั้น ตามความเหมาะสม เป็นการเริ่มต้นชีวิตวันใหม่ที่ลมหายใจเข้าออก

จากนั้น ค่อยเอาความรู้สึกไปสำรวจดูร่างกายว่า เรานอนท่าไหน มือวางอยู่อย่างไร เท้าวางอยู่อย่างไร ดูให้เห็นทั่วร่างกาย ตลอดจนผ้าห่ม หมอน มุ้ง และอากาศ จึงลุกขึ้น หรือหากมีเวลา จะนั่งทำสมาธิต่อก็ได้

นี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมเช่นกัน หากไม่ยึดติดรูปแบบจนเกินไป การปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย

การปฏิบัติธรรมไม่จำเป็นต้องมีวิธีมาก    ไม่จำเป็นต้องขึ้นกัมมัฏฐาน ไม่จำเป็นต้องขึ้นครู  ไม่จำเป็นต้องขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายตรงดำรงสติมั่น มีสติเป็นไปเฉพาะหน้า   หายใจเข้ารู้หายใจออกรู้   ให้เอาความเหมาะสมของร่างกายและสังขารของเราเป็นประมาณ

ปฏิบัติธรรมควรให้กลมกลืนไปกับการดำเนินชีวิตของเราให้มากที่สุดอย่าไปยึดรูปแบบมากเกินไป

พ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (โยมปู่)
พ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (โยมปู่)

ตั้งใจรักษาศีลด้วยการอธิษฐานศีล

เมื่อกำหนดลมหายใจแล้ว ต่อไปให้กำหนดที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ เป็นการสมาทานศีลด้วยตนเอง

การระวังกายไม่ให้ทำร้ายผู้ใด หรือสัตว์ใด จนเกิดความลำบากเดือดร้อน การระวังวาจาไม่ให้กระทบกระทั่งผู้ใด หรือ สัตว์ใด จนเกิดความลำบากเดือดร้อน การระวังใจไม่ให้คิดที่จะทำร้ายผู้ใด หรือสัตว์ใด ไม่ให้มีความต้องการที่จะเห็นผู้ใด หรือ สัตว์ใด ได้รับความพินาศย่อยยับ การระวังดังกล่าวนี้ชื่อว่า “การรักษาศีล”

สำหรับศีลในระดับพื้นฐาน ที่ชาวบ้านโดยทั่วไปรักษา มี ๕ ประการ เรียกว่า “ศีล ๕” คือ

(๑)  ไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าผู้อื่นให้ได้รับความลำบาก เดือดร้อน เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ทั้งทางกายและทางจิตใจ ตลอดจนการฆ่าด้วยสายตา คือ การมองผู้อื่นด้วยสายตา ดูหมิ่นดูแคลน

(๒) ไม่ฉ้อโกง ลักขโมย ยักยอก บีบคั้น เบียดบัง คอร์รัปชันเอาสมบัติของผู้อื่น    ตลอดจนใช้วิธีการถ่ายเทสมบัติของส่วนรวม หรือของชาติ มาเป็นสมบัติของตน

(๓) ไม่ประพฤติผิดลูกเมียผู้อื่น อันจะเป็นเหตุให้พ่อ แม่ ญาติ พี่น้องเขาเจ็บปวดใจ ตลอดจนการค้าประเวณี และการทำตน หรือประดิษฐ์สิ่งให้เกิดการยั่วยุทางเพศ

(๔) ไม่โกหกพกลม  หลอกลวง   ปลิ้นปล้อน   มีเล่ห์เหลี่ยม สร้างเรื่องเท็จหลอกผู้อื่นให้หลงเชื่อ โดยที่ตนเองไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้นอยู่ในตัว  หรือใช้ภาษาโน้มน้าวฝูงชน  ให้เกิดความคิดเห็นไปในทางที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง แก่พวกพ้องบริวาร หรือประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมด้านใดด้านหนึ่ง

(๕)  ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดของมึนเมา  ตลอดจนไม่สนับสนุน  ส่งเสริมโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้คนเกิดความเห็นคล้อยตาม เกิดความนิยมชมชอบสิ่งเสพติดของมึนเมา

ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ ยังมีข้อความที่ต้องขยายเพิ่มเติมอีก แต่จะหาโอกาสอธิบายความถึงโทษที่จะเกิดขึ้น ในจดหมายฉบับหน้า

ศีล ๕ นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ เป็นส่วนเบื้องต้นในการประคับประคองจิตใจให้สูงขึ้น หากไม่มีโอกาสไปรับจากพระสงฆ์ที่วัด ตื่นเช้ามา ก็ให้นึกอธิษฐานในใจทุกวัน เป็นการรักษาศีลด้วยการอธิษฐานศีลว่า

“วันนี้จะตั้งใจรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ให้ด่างพร้อย  ไม่ให้เศร้าหมอง”

คำว่า  “ด่างพร้อย” นี้ หมายถึง ศีลยังไม่ขาด แต่ศีลเศร้าหมอง หรือมีรอยด่าง เช่น อยากกินปลา แล้วบอกลูก บอกหลานไปหาปลาให้กิน จึงเป็นเหตุให้ลูกหลานต้องฆ่าปลา

อย่างนี้ศีลยังไม่ขาด  แต่ศีลด่างพร้อย  หรือเศร้าหมอง  เพราะ แม้เราไม่ได้ฆ่าสัตว์ด้วยตัวเอง แต่ก็เป็นเหตุให้ผู้อื่นฆ่า อาหารการกินก็อย่าไปยุ่งยาก ลูกหลาน จัดหาอะไรให้กิน ก็กินตามมีตามได้ กินพอให้ร่างกายดำรงอยู่ เพื่อทำคุณงามความดีต่อไป คนแก่มีชีวิตอยู่เพื่อเป็นหลักใจให้กับลูกกับหลาน เพื่อให้ลูกหลานได้ปลดหนี้ชีวิต แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องบ่นไม่ต้องว่าให้ลูกหลาน ยิ่งมีอายุยืนอยู่นาน ลูกหลานก็ยิ่งมีโอกาสได้ปลดเปลื้องหนี้ชีวิตได้มาก

เมื่อถึงวันพระ ๘  ค่ำ ๑๕ ค่ำ  โยมทั้งสองไปวัดไม่ได้  ก็ให้อธิษฐานศีลอุโบสถที่บ้าน    ถ้าตั้งใจอธิษฐานศีลอุโบสถจะมีอานิสงส์มาก  ศีลนั้นสำเร็จได้ด้วยการอธิษฐาน คือ การตั้งใจรักษาศีลอย่างหนึ่ง   และสำเร็จได้ด้วยการสมาทาน   หรือ การรับศีลจากพระสงฆ์ อย่างหนึ่ง

การรักษาศีลทั้งสองอย่าง มีอานิสงส์เช่นเดียวกัน เราสะดวกอย่างไร ก็เลือกตามความเหมาะสม อย่าให้เกิดเป็นความยึดติดรูปแบบ จนทำให้ชีวิตดูแปลกแยกจากสังคม อึดอัด ขัดข้องไปเสียหมด ตนเองก็ขัดข้อง คนรอบข้างก็อึดอัด สังคม ก็มองด้วยสายตาแปลกประหลาด เอาความเหมาะสมแก่สังขาร และให้สอดคล้องไปกับการดำเนินชีวิตเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องนุ่งขาวห่มขาว ใส่เสื้อม่อฮ่อม อวดให้คนอื่นเห็นว่า เราเคร่งศีลเคร่งธรรม จนดูเป็นการสร้างภาพมากกว่าจะสร้างศีล ศีลอยู่ที่กาย วาจา ใจ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องแต่งตัว

ส่วนผู้ที่อธิษฐานศีลอุโบสถ แล้วปลอดภัยจากอุบัติเหตุสามารถรักษาชีวิตรอดมาได้ ก็เห็นจะมีพระมหาชนกเป็นตัวอย่าง

เมื่อพระมหาชนกเดินเรือไปค้าขายทางทะเล เรือได้ประสบมรสุม ถูกคลื่นใหญ่ซักแตกกลางมหาสมุทร พระมหาชนกแหวกว่ายน้ำอยู่กลางทะเลตลอด ๗ วัน ห้วงมหรรณพจรดขอบฟ้ามองไม่เห็นฝั่ง แต่พระมหาชนกก็ไม่ย่อท้อ ยังคงแหวกว่ายต่อไป ด้วยความเพียรพยายาม ครั้นถึงวันที่ ๗ จึงเงยหน้าขึ้นบนท้องฟ้า เห็นพระจันทร์เต็มดวงก็รู้ว่า วันนี้เป็นวันพระอุโบสถ จึงบ้วนปากด้วยน้ำเค็ม ตั้งใจอธิษฐานศีลอุโบสถกลางทะเล ด้วยอานิสงส์แห่งศีลที่อธิษฐาน เป็นเหตุให้เทพธิดามาช่วยให้รอดชีวิต เรื่องพระมหาชนกปรากฏอยู่ในพระเจ้า ๑๐ ชาติ โยมทั้งสองคงเคยได้ยินพระท่านเทศน์จากหนังสือผูกใบลานให้ฟัง

นี่เป็นตัวอย่างอานิสงส์ ที่เกิดจากกาารอธิษฐานศีล แม้ไม่ได้รับจากพระสงฆ์ ด็มีอานิสงส์เช่นกัน เพราะขึ้นอยู่ที่ความตั้งใจดี

กล่าวโดยสรุป การรักษาศีล คือ

การประคับประคองจิต ไม่ให้คิดร้าย

ประคับประคองวาจา ไม่ให้พูดร้าย

ประคับประคองกาย ไม่ให้ทำร้ายใครๆ

อันเป็นเหตุให้เขาเกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน

เกิดความเศร้าเสียใจนั่นเอง

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

พระมหาเทอด ญาณวชิโร กับโยมแม่ใหญ่
พระมหาเทอด ญาณวชิโร กับโยมแม่ใหญ่
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“ ทำบุญได้ตลอดวัน จากตื่นจนหัวถึงหมอน” จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๑ (ตอนที่ ๒) จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here