ขุนเขาย่อมมีวันทลาย

สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง

แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ทศชาติ

ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง

เขียนโดย ญาณวชิระ

: พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

(ชาติที่ ๒)

พระมหาชนก : วิริยะบารมี

(ตอนที่ ๔) “สู่ราชบัลลังก์มิถิลานคร”

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง" เขียนโดย ญาณวชิระ ; พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” เขียนโดย ญาณวชิระ ; พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

“เกิดเป็นคนควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป

จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ

นรชนผู้มีปัญญา

แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง”

ญาณวชิระ

ความเดิมตอนที่แล้ว … หลังจากในวันที่ ๗ จากวันที่พระเจ้าโปลชนกสวรรคต และถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้วนั้น เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่า ใครเหมาะสมที่จะครองราชสมบัติตามที่พระราชารับสั่งไว้ …จึงปรึกษากันป่าวประกาศออกไปหลากหลายหนทาง แต่ก็ยังไม่สามารถหาพระราชามาครองราชสมบัติและราชบัลลังก์ได้… เหล่าเสนาพฤฒามาตย์ทั้งหลายต่างปรึกษากันว่า แว่นแคว้นที่ขาดพระราชาไม่สามารถดำรงอยู่ได้…

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง" เขียนโดย ญาณวชิระ ; พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” เขียนโดย ญาณวชิระ ; พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ปุโรหิตได้แนะนำเหล่าอำมาตย์ว่าควรจะประกอบพิธีอัศวเมธปล่อยราชรถเทียมม้ามงคลสีขาวออกไป พระราชาที่เชิญเสด็จได้ด้วยพิธีอัศวเมธสามารถครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น

เหล่าเสนาอำมาตย์ต่างเห็นด้วย จึงให้ตกแต่งพระนคร แล้วให้เทียมม้าสีขาว ๔ ตัว ในราชรถอันเป็นมงคล ปูด้วยเครื่องลาดอันวิจิตรสำหรับประดิษฐานเบญจราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยจาตุรังคเสนาให้นักดนตรีประโคมดนตรีทั้งข้างหน้า และข้างหลังราชรถ ให้เอาน้ำจากพระเต้าทองคำ รดสายหนังเชือก แอก ประตัก จึงปล่อยราชรถออกไป พร้อมสั่งว่า

“จงไปที่อยู่ของผู้มีบุญญาธิการที่จะได้ครองราชสมบัติ”

ราชรถทำประทักษิณพระราชนิเวศน์แล้วมุ่งหน้าออกสู่ถนนใหญ่แล่นทะยานไปเบื้องหน้าด้วยความเร็ว ชนทั้งหลายต่างภาวนาให้ราชรถมาหยุดที่ตน ราชรถนั้นแล่นผ่านเคหสถานบ้านเรือนของชนทั้งปวงไป ทำประทักษิณพระนครแล้ว ออกประตูพระนครด้านตะวันออกมุ่งหน้าตรงไปยังอุทยาน

ชนทั้งหลายเห็นราชรถแล่นออกพระนครไป จึงบอกให้นำราชรถกลับ ปุโรหิตห้ามว่า แม้จะแล่นไปไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ ก็อย่าให้กลับ ราชรถมุ่งหน้าสู่อุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคลแล้ว หยุดอยู่เตรียมรับเสด็จขึ้น

ปุโรหิตเห็นชายคนหนึ่งนอนอยู่บนศิลา ต้องการทดสอบชายผู้นั้นว่ามีปัญญาสมควรแก่เศวตฉัตรหรือไม่ จึงหยุดคอยสังเกตดูอยู่ ถ้าผู้มีปัญญาจะไม่ลุกขึ้นมองดู ถ้าเป็นคนกาลกิณีจะตกใจกลัวลุกขึ้นมองดูด้วยความลนลานแล้วหนีไป จึงให้ประโคมดนตรีเป็นร้อยๆ ชิ้นขึ้นทันที เสียงดนตรีดังกึกก้องแผ่สะท้อนออกไปทั่วท้องสมุทรสาคร

พระมหาชนกรู้สึกตัวเพราะเสียงนั้น เปิดผ้าคลุมศีรษะออกเห็นฝูงชน จึงคิดว่า

“เศวตฉัตรมาถึงเราแน่แล้ว”

คงอยู่ในอาการสงบไม่ได้แสดงอาการดีใจแต่อย่างใด ดึงผ้าคลุมปิดศีรษะพพลิกตัวนอนตะแคงซ้าย ทำทีเหมือนไม่ใส่ใจเหตุการณ์รอบข้างหลับต่อไป ปุโรหิตจึงเข้าไปเปิดเท้าพระมหาชนกตรวจดูลักษณะแล้วกล่าวว่า

“อย่าว่าแต่ทวีปหนึ่งเท่านั้นเลย ท่านผู้นี้สามารถครองราชสมบัติในมหาทวีปทั้ง ๔ ได้”

แล้วให้ประโคมดนตรีขึ้นอีก

พระมหาชนกเปิดหน้าออกมาอีกครั้ง พลิกตัวกลับมานอนตะแคงขวามองดูฝูงชน ปุโรหิตให้ฝูงชนถอยออกไป ประคองอัญชลีกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทพ ขอพระองค์ได้โปรดเสด็จลุกขึ้นเถิด ราชสมบัติมาถึงพระองค์แล้ว”

พระมหาชนกถามปุโรหิตว่า

“พระราชาของพวกท่านไปไหน”

ครั้นปุโรหิตกราบทูลว่า พระราชาสวรรคตแล้ว จึงตรัสถามว่า

“พระราชาไม่มีพระราชโอรสหรือ”

ปุโรหิตกราบทูลว่า

พระราชาไม่มีพระโอรส มีแต่เพียงพระธิดาเพียงองค์เดียว

พระมหาชนกจึงกล่าวว่า

“ถ้าอย่างนั้น เราจะครองราชสมบัติ”

จึงเสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง เหล่าเสนาพฤตามาตย์ ปุโรหิต ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ ได้ประกอบพิธีอภิเษกพระมหากษัตริย์ ณ สถานที่ ถวายพระนามว่า

“พระมหาชนกราช”

พระองค์ประทับบนราชรถเสด็จนำขบวนเข้าสู่พระนคร ด้วยเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ แล้วเสด็จขึ้นสู่พระราชนิเวศน์

ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(โปรดติดตาม ตอนต่อไป… ทศชาติ : ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง (ชาติที่ ๒) พระมหาชนก : วิริยะบารมี (ตอนที่ ๙ ) “ขุมทรัพย์จอมจักรา” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here