ตามรอยธรรม “พระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้ “

ขออุทิศแด่… พระธรรมทูตอาสาที่ล่วงลับ ด้วยความเสียสละ

: (๖) มหาเถรสมาคมจัดตั้งพระธรรมทูต ๙ สายในประเทศไทย

เรียบเรียงจาก ดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “ประสิทธิผลการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา ใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้”

จากงานวิจัยของ พระมหาปรีชา สาเส็ง
และขอขอบคุณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เจ้าของลิขสิทธิ์ไว้ ณ โอกาสนี้

เมื่อโครงการพระธรรมจาริกประสบผลสำเร็จ มหาเถรสมาคม จึงได้จัดตั้งหน่วยงานพระธรรมทูตเพื่อการเผยแผ่ในพื้นที่ราบเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๘ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ดำเนินงาน โดยใช้ระเบียบของมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ.๒๕๐๘ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้วัดทำหน้าที่อบรม แนะนำ สั่งสอนศีลธรรมและวัฒนธรรม สุขภาพอนามัยประกอบสัมมาชีพ สันติสุข ศึกษาสงเคราะห์สาธารณะสงเคราะห์ กตัญญูกตเวทิตาธรรม และสามัคคีธรรม อันจะเป็นประโยชน์แก่การดำรงชีพของประชาชน โดยได้รับงบประมาณดำเนินงาน จากกรมการศาสนาและวัดที่ตั้งเป็นศูนย์ อ.ป.ต. ๔๖ ในปีพ.ศ. ๒๕๓๖ ประเทศไทยได้จัดแบ่งพระธรรมทูตที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศออกเป็น ๙ สายดังนี้

สายที่ ๑ ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๗ จังหวัด คือ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี โดยมี พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร) วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าสาย

สายที่ ๒ ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๗ จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาทและอุทัยธานี โดยมี พระธรรมราชานุวัตร (กมล โกวิโท ป.ธ.๖) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าสาย

สายที่ ๓ ปฎิบัติงานในพื้นที่ ๘ จังหวัด คือ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก และ อุตรดิตถ์ โดยมี พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าสาย

สายที่ ๔ ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๘ จังหวัด คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยาและเชียงราย โดยมี พระเทพสุธี วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าสาย

สายที่ ๕ ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๘ จังหวัด คือ เลย อุดรธานี หนองคาย สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ดมหาสารคาม และขอนแก่น โดยมีพระอุดมญาณโมลี วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าสาย

สายที่ ๖ ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๙ จังหวัด คือ นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์บุรีรัมย์ นครราชสีมา และชัยภูมิ โดยมี พระราชเมธี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าสาย

สายที่ ๗ ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๗ จังหวัด คือ นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยมี พระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าสาย

สายที่ ๘ ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๗ จังหวัด คือ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพรสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยมีพระธรรมกิตติวงศ์ วัดราชโอรสารามราชวรววิหาร กรุงเทพมหานครเป็นหัวหน้าสาย

สายที่ ๙ ปฏิบัติงานในพื้นที่ ๑๑ จังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมี พระเทพเวที วัดชลประทานรังสฤษฎ์ เป็นหัวหน้าสาย

โดยมีศูนย์งานพระธรรมทูต ประจำจังหวัด ๗๖ จังหวัด คอยควบคุมดูแลการปฎิบัติงานในส่วนภูมิภาค มีหน่วยงานกำกับดูแลงานของพระธรรมทูตอำเภอ ประมาณ ๗๔๐ หน่วย คอยควบคุมดูแลการปฎิบัติงานของพระธรรมทูตในพื้นที่ ซึ่งมีประมาณ ๓,๕๐๐ รูป ให้เป็นไปตามนโยบาย และแผนการที่ดำเนินงาน ที่คณะกรรมการกลาง กองอำนวยการ งานพระธรรมทูตร่วมกับกรมการศาสนากำหนดขึ้น

สรุปได้ว่า บทบาทของพระธรรมทูตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่โดยตรงของพระสงฆ์มาตั้งแต่พุทธกาล พระสงฆ์ผู้เป็นศาสนทายาท โดยสืบเชื้อสายมาจากพระพุทธเจ้า กล่าวคือเป็นผู้ปฏิบัติตามและดำรงไว้ซึ่งหลักคำสอน ตลอดถึงไปเผยแผ่ให้ประชาชนได้ประโยชน์สุขครบวงจร ทั้งตนเอง สังคม และประเทศชาติ นั่นคือการศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนนั้นๆ อย่างเคร่งครัด

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ถือเป็นภาระสำคัญยิ่งของคณะสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันได้ขยายกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ พุทธศาสนามีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ เพราะพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่นั้นอย่างต่อเนื่องเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ

ตามรอยธรรม “พระธรรมทูตอาสาใน ๕ จังหวัดชายแดนใต้ “ ขออุทิศแด่… พระธรรมทูตอาสาที่ล่วงลับ ด้วยความเสียสละ : (๖) มหาเถรสมาคมจัดตั้งพระธรรมทูต ๙ สายในประเทศไทย : จากงานวิจัยโดย พระมหาปรีชา สาเส็ง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here