ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๙ “เรื่องของนาดงบะเฮนและสะพานไม้วังหล่ม” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อ และโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อ และโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
๙
เรื่องของนาดงบะเฮนและสะพานไม้วังหล่ม
พ่อมีนาอยู่อีกที่หนึ่งเป็นส่วนที่ตากับยายแบ่งให้แม่ อยู่เหนือชลประทานไกลจากบุ่งสระพังออกไปทางโรงเรียนอุบลราชธานีศรีวนาลัย เดิมเป็นสองโรงเรียนที่มีรั้วติดกัน คือ โรงเรียนพระวอพระตาวิทยานุสรณ์ (พุทธศักราช ๒๕๓๘) เป็นโรงเรียนระดับมัธยมปลายที่รับเฉพาะนักเรียนโควตาสายวิทย์-คณิตจากจังหวัดใกล้เคียงมาเรียนรวมกัน และโรงเรียนปทุมวรราชวิทยา (พุทธศักราช ๒๕๔๐ ) เป็นสาขาของโรงเรียนปทุมวิทยาคม สอนระดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย ต่อมา ควบรวมเป็นโรงเรียนเดียวกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอุบลราชธานีศรีวนาลัย (พุทธศักราช ๒๕๕๔ ) โดยใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์บ้านหนองทามเป็นที่ตั้ง ปัจจุบัน เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย (พุทธศักราช ๒๕๖๖ )
ด้านเหนือของโนนพระเจ้า เรียกกันว่า ฟากฮ่อง* (*ฮ่อง คือ คลอง หรือร่องน้ำ) มีฮ่องหนองหมา หรือฮ่องหมาข้ามเชื่อมต่อไปถึงชลประทาน คงเพราะฮ่องหนองหมาเป็นฮ่องขนาดใหญ่เชื่อมมาจากฮ่องไผ่ใกล้กับ สภาตำบลกุดลาด อีกด้านมาจากฮ่องคำขี้นาคซึ่งลากยาวมาจากท่งข้าวเม่าและหนองผือ มีน้ำซับตลอดทั้งปีไหลมารวมกันที่ “วังหล่ม”และ “วังหวาย” มีเวิ้งวุ้งกว้างอยู่ตรงดงบะเฮน ทางการจึงทำชลประทานขั้นระหว่างดงบะเฮนกับฟากฮ่อง เพื่อกักน้ำจากฮ่องไผ่กับฮ่องคำขี้นาคไว้เพื่อการเกษตร ให้ชาวบ้านทำนา ทำไร่ ทำสวน จึงเกิดเกาะอยู่กลางน้ำ เรียกว่า “เกาะวังหล่ม” และ “เกาะวังหวาย” มีศาลไม้โบราณเตี้ย ๆ เก่าแก่น่าเกรงขามอยู่บนเกาะทั้งสอง ผู้คนนับถือว่า ศักดิ์สิทธิ์มาเก่าก่อน ปลายสุดของชลประทานเป็นฮ่องแหลมยาวเชื่อมไปจนถึงคลองไผ่
ใต้ชลประทานลงมาเป็นโฮงเกลือของชาวตำบลกระโสบ หน้าแล้ง ชาวตำบลกระโสบจะมาต้มเกลือกันที่นี่ ส่วนชาวบ้านปากน้ำจะต้มเกลือที่โนนพระเจ้า
เหนือชลประทานขึ้นไป เรียกว่า “นาดงบะเฮน” เป็นนาส่วนของแม่ที่ได้รับแบ่งมาจากตากับยาย ส่วนที่เป็นคันนาอยู่ติดกับชลประทาน ส่วนที่เป็นดอนยังไม่ได้เบิกเป็นคันนา บางส่วนยังมีต้นยางใหญ่ ต้นงิ้วหนาม ต้นแดง ต้นแก ต้นก่อ และป่าติ้วอยู่ติดกับทางเกวียน พ่อกับแม่ใช้ปลูกปอ ปลูกผัก และเผาถ่าน ที่ดินอีกแปลงอยู่หัวหนองพิลาศ ข้างทางเกวียน ยังเป็นป่าก่อ ป่าติ้ว พ่อกับแม่เพิ่งช่วยกันถางป่าออก แล้วขุดส้าง ตักน้ำรดสวน ต่อมา แม่ขายที่ดงบะเฮนไปซื้อนาอยู่บ้านคำหนามแท่ง อำเภอตาลสุม เพื่อให้ได้ที่นาจำนวนหลายไร่มากขึ้น จากนั้นจึงไม่ได้มานาดงบะเฮน
ที่ชลประทานคนนิยมจับปลาด้วยวิธีใช้ตะกั่วรูปปลาเป็นเหยื่อ สะบัดออกไป แล้วลากไปตามน้ำ หลอกให้ปลาฮุบเบ็ด บางคนก็ทำห้างนั่งซุ่มเฝ้าใช้ปืนฉมวกยิงปลา เพราะน้ำในชลประทานนิ่งจึงใสมองเห็นปลาได้ง่าย ที่มีมาก คือ หอยโข่งและหอยปังเกาะอยู่ตามจอก ตามแหน
ส่วนเด็ก ๆ จะชอบลงเล่นน้ำในอ่างชลประทาน ยิ่งเวลาน้ำกระโจนลงอ่างจะเกิดอุโมงค์น้ำ เด็ก ๆ จะลงเล่นกันสนุกสนานจนตาแดงก่ำ บางคนก็มุดเข้าไปในอุโมงค์น้ำ เวลามองลอดออกมาเหมือนมองผ่านม่านน้ำใส ๆ
แม่เล่าว่าที่บริเวณนี้ชื่อดงบะเฮน เพราะมีส้าง*บะเฮน (*ส้าง หรือน้ำส้าง คือ บ่อน้ำ) ที่ม้าบักเฮนมาตก ชาวบ้านมาช่วยกันขุดดินเอาม้าบักเฮนขึ้น จนกลายเป็นบ่อน้ำไหลไม่หยุดตลอดทั้งปี จึงเรียกบริเวณนี้ ว่า “ดงบะเฮน” คงเพี้ยนเสียงมาจาก “ดงม้าบักเฮน” หรือ “ดงม้าบักเคน”สอบถามความเป็นมา ว่าม้าบักเฮนเป็นม้าของใคร ไปมาอย่างไรจึงมาตกส้างน้ำคำที่ดงนี้ แม่กับน้าน้อยก็จำเรื่องราวความเป็นมาไม่ได้ ถามลุงดิษฐ์ บ้านหนองทาม ซึ่งเป็นพี่ชายของแม่ก็ได้ความไม่ชัด รู้แต่ว่า “เป็นส้างเก่าแก่มีมาแต่พู้น แต่พระวอพระตาพุ้น” พ่อแม่เล่าต่อ ๆ กันมาอย่างนี้
ส้างบะเฮนเป็นบ่อน้ำคำ หรือ น้ำส้างแซ่ง* (*น้ำคำ หรือ น้ำส้างแซ่งคือ น้ำซับ) อยู่ใต้นาพ่อใหญ่เสริม มีน้ำใสสะอาดตลอดทั้งปี คนที่มีนาในย่านดงบะเฮนจะมาตักน้ำกินที่บ่อน้ำนี้ น้าน้อยบอกว่า แค่เอามือกวาดจอก กวาดแหนออกก็ตักน้ำใส ๆ เย็น ๆ หาบไปดื่มกินที่เถียงนาได้แล้ว
แม่เล่าเสริมว่า ทุกวันนี้ไม่มีใครกินน้ำที่ส้างบะเฮนแล้ว เพราะน้ำไม่สะอาดเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากสวนยางใช้ยาใช้สารเคมีมาก กลัวกันว่า ยาฆ่าหญ้าอาจไหลมาสะสมในน้ำเป็นอันตรายได้
แม้ทุกวันนี้พ่อกับแม่จะไม่มีนาอยู่ที่ดงบะเฮนแล้ว แต่ดงบะเฮนยังคงเป็นเรื่องเล่าที่มีชีวิต ยังมีกลิ่นไอของบรรพชน ลูกหลานที่เกิดใหม่ใหญ่ทีหลังยังคงทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ที่นี่
เสียงน้ำกระโจนลงอ่างชลประทานยังดังกึกก้องไม่ขาดสาย ไม่ต่างจากวันวาน เหมือนเสียงจิตวิญญาณบรรพชนกำลังบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของดงบะเฮนให้ลูกหลานฟัง
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๙ “เรื่องของนาดงบะเฮนและสะพานไม้วังหล่ม” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร