ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อ และโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๗ “เรื่องของคนบ้านไกล”
ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๗
เรื่องของคนบ้านไกล
ทุกวันนี้อากาศเปลี่ยนแปลงมาก ถึงหน้าหนาวก็หนาวผิดมนุษย์มนา ถึงหน้าฝนจะฝนก็ไม่ฝน จะแล้งก็ไม่แล้ง พอร้อนก็ร้อนจนตับจะแตก ถึงคราวฝนตกก็ตกจนลืมหูลืมตาไม่ขึ้น หลายปีมานี้อากาศหน้าหนาวหนาวลงทุกปี หนาวจนต้องต้มน้ำอาบ
พ่อเริ่มต้นบทสนทนาของวันนี้ด้วยเรื่องดินฟ้าอากาศ
ที่จริงอากาศหน้าหนาวก็คงจะหนาวเป็นปกติอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ร่างกายของพ่อต่างหากที่แก่ชราลงจนเริ่มรับลมหนาวไม่ได้เหมือนเมื่อตอนยังหนุ่ม แม้อากาศจะหนาวแต่พ่อก็ยังลงเรือหาปลาเหมือนฤดูหนาวทุกปีที่ผ่านมา คนแก่คนเฒ่าหัวบุ่งที่ยังหาปลาอยู่เวลานี้ก็มีแต่พ่อกับใหญ่ทา วันหนาเท่านั้น คนรุ่นราวคราวเดียวกันก็ล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว ที่ยังหาปลาอยู่บ้างก็เป็นแต่เพียงรุ่นหลัง พ่อเปรย
เมื่อก่อนท่าซาละวันของพ่อใหญ่จะมีคนไปมาคึกคักตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นหน้าฝน หน้าหนาว หรือหน้าแล้งก็จะมีคนแวะเวียนกันมาหาปลา หรือข้ามไปเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ขัวหอย ขุดมัน และดกผือมาต่ำสาด*อยู่ไม่ขาด (*ภาษาอีสานเรียกเสื่อว่า สาดส่วน ต่ำ คือ ทอ,ทอสาด,ทอเสื่อ,ทอผ้า,ทอแพร)
ยิ่งเข้าหน้าหนาว น้ำบุ่งเริ่มลด หัวลมหนาวพัดมาวอย ๆ ก็ยิ่งคึกครื้นขึ้นมา เพราะช่วงนี้จะไม่มีแค่คนบ้านปากน้ำเท่านั้นที่มาลงต้อน ลงมองหาปลา แต่จะมีคนแปลกหน้าแปลกตาจากบ้านไกลมาปลูกตูบ ปลูกเพิงหาปลากันเป็นครอบครัว เรียงรายอยู่ตามริมบุ่ง ตั้งแต่ท่ากกแต้ ท่าซาละวัน มาจนถึงท่าโฮงแมบ เรื่อยขึ้นไปจนถึงท่ากวด (ท่าลากอวน) ขุมดิน และโนนพระเจ้า ซึ่งจะมีทั้งเด็กมีทั้งผู้ใหญ่ ทักทาย พูดจา หยอกเหย้า เล่นหัวกันไม่ขาดระยะ
วิธีหาปลาจะมีหลายวิธี แล้วแต่ใครถนัดแบบไหน เช่น ใส่มองไหลมอง (สำหรับจับปลาใหญ่) ใส่ลอบ ใส่ไซ ใส่เบ็ด มีทั้งเบ็ดเผียก* (*เบ็ดเผียก คือ เบ็ดราว) เบ็ดคัน ใส่จั่น ใส่บั้งลัน ใส่ตุ้ม ใส่ลาน ลงต้อน หรือล้อมเผือกเอาเยาะ
ตอนหัวค่ำและใกล้ย่ำรุ่งจะมีแสงไฟวอมแวมจากหัวเรือคนหาปลา จากกองไฟตามตูบ ตามเถียงที่ท่าน้ำ เสียงผู้คนร้องทักทายถามกันก้องไปตามน้ำบุ่ง
“หมานอยู่บ่ ทางนั่น” “หมานอยู่” “เป็นจังใด๋ ทางนั่น” “พอได้แลง พอได้งาย“ “พอได้ป่น“ (*หมาน คือ โชคดีไหม หรือ ได้มากไหม)
เสียงถามไถ่กันดังอยู่ทางโน้นที ทางนี้ทีไม่ขาดระยะ ทำให้บุ่งสระพังไม่เงียบเหงา คนนอนนาหัวบุ่งก็พลอยมีชีวิตชีวาไปด้วย
ที่ท่าซาละวันจะมีตูบตาขาว, ตาจันทร์บ้านดงเจริญ ยายแก้ว, ยายโสม และยายจรที่สร้างอย่างดี ดูจะถาวรกว่าตูบคนอื่น ๆ เพราะอยู่กันยาว บางปีก็อยู่จนน้ำบุ่งขึ้นท่วมตูบจึงย้ายกลับบ้าน ต่างคนต่างหาปลาตากแห้ง ทำปลาแดก หาบเข้าไปขายที่ตลาดในเมือง บ้างก็เอาไปแลกข้าว บ้างก็ทำหน่อไม้ส้ม*เอาไว้กิน (*หน่อไม้ส้ม คือ หน่อไม้ดอง) ทุกคนจะคุ้นเคยกับพ่อกันทั้งนั้น
อยู่มาปีหนึ่ง ยายแก้วเมียตาจันทร์ไปหาปลาหรือหาหน่อไม้ตามริมบุ่งข้ามไปจนถึงท่าเตาไห แล้วเหยียบกระดูกงูที่กอหญ้าหมกเต่าใกล้หนองปัจฉิม ยายแก้วปวดมากไม่เป็นอันหลับอันนอน จนตาจันทร์ต้องพา กลับบ้านก่อนหมดฤดูกาลหาปลา
พ่อเล่าว่า ยายแก้วปวดมาก หลังเท้าปูดขึ้นมาเท่ากำปั้นเหมือนมีอะไรชอนไชกัดกินฝ่าเท้า จนแทบทะลุหลังเท้าจึงต้องกลับบ้านเร็วกว่าทุกปี ทั้งที่ยังไม่สิ้นสุดฤดูหาปลา คงเป็นกระดูกงูเห่าจึงมีพิษ อยู่ต่อมา ไม่นาน พ่อก็ได้ยินข่าวว่า ยายแก้วทนปวดไม่ไหว ก็สิ้นใจ
“คือสิแม่นกระดูกงูเห่าตั๊ว มันจังปวดป่านนั่น” พ่อสันนิษฐาน
หลังยายแก้วตายหลายปีถัดมา ตาจันทร์แต่งงานใหม่กับยายโสม เมื่อน้ำบุ่งลดถึงหน้าหาปลา ตาจันทร์ได้พายายโสมและลูก ๆ มาหาปลาด้วย ครอบครัวตาจันทร์สร้างตูบอยู่ที่ท่าซาละวันเหมือนเดิม เวลาพ่อแม่ไปหาปลาพวกเด็ก ๆ ก็จะเล่นอยู่ตามท่าน้ำ ขึ้นท่าลงท่าเห็นอยู่ประจำ จึงคุ้นเคยกับพ่อ อยู่ต่อมา ตาจันทร์เลิกกับยายโสมแล้วมาแต่งงานใหม่กับยายจร
เมื่อพูดถึงยายแก้ว ยายโสม ยายจร พ่อจะมีคำนำหน้าเรียกอย่างให้เกียรติเสมอว่า “นายแก้ว นายโสม นายจร” เหมือนเป็นคำเรียก คุณนายแก้ว คุณนายโสม คุณนายจร จะมีพ่อคนเดียวเท่านั้นที่เรียกอย่างนี้ บางทีอาจเป็นเพราะพ่อชอบตั้งฉายาให้คนนั้นคนนี้ ลูกหลานแต่ละคนก็มักจะมีฉายาที่พ่อตั้งให้
หลายปีมานี้อากาศหัวบุ่งหนาวลงทุกปี เมื่อน้ำบุ่งเริ่มลด หัวลมอ่วย พัดหนาวมาวอย ๆ เสียงสะนูว่าว*กินลมดังหวูดหวิวลอยมาจากนาคนโน้นทีนาคนนี้ที น้ำในบุ่งอุ่นแต่อากาศเย็นเหลือหลาย สิ่งที่มาพร้อมกับความหนาว คือ คนแปลกหน้าจากบ้านไกล จากคนแปลกหน้านานเข้าก็เป็นคนคุ้นเคยแล้วกลายเป็นเหมือนญาติในที่สุด
*สะนูว่าว คือ เครื่องทำเสียงชนิดหนึ่งสำหรับติดหัวว่าว เวลากระทบลมจะเกิดเสียงสูงต่ำหวูดหวิวตามจังหวะลมไพเราะจับใจ แม้ชาวนาจะทุกข์ยากเพียงใด แต่พอได้ยินเสียงสะนูว่าวหัวใจก็ชุ่มชื่นขึ้นมาพอคลายทุกข์ลงได้บ้าง
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๗ “เรื่องของคนบ้านไกล” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร