๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๖ “เรื่องของท่าซาละวัน ท่านาทามน้อยของพ่อใหญ่”
ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๖
เรื่องของท่าซาละวัน
ท่านาทามน้อยของพ่อใหญ่
จากนาทามน้อยของน้า ถัดมาจึงเป็นนาลุ่มของพ่อ ใกล้กับขุมดินเป็นเดิ่นจิก* (*เดิ่น คือ ลานโล่งกว้าง ) แล้วก็เป็นนาเทิง ปลายสุดจึงเป็นหัวนาแหลม เชื่อมกับหนองพิลาศ ถัดขึ้นไปจึงเป็นหนองห้าง
ระหว่างนาเทิงและหัวนาแหลมจะมีฮ่องขั้นโนนชาดนาพ่อใหญ่พวง แม่ใหญ่แพง และย่าสี มาจนถึงหนองพิลาศจึงเรียกว่า “ฮ่องหนองพิลาศ” ไหลลงมาเชื่อมกับฮ่องหนองหมา หรือ ฮ่องหมาข้าม
จากโนนพระเจ้าขึ้นไปจนถึงปลายสุดหัวบุ่งเป็นฮ่องหัวแฮด ต่อจากฮ่องหัวแฮดข้ามถนนดำไปเป็นฮ่องหนองจอก กุดอ้อ ยาวขึ้นไปเชื่อมกับทุ่งหัวช้าง ทุ่งตาดโตน ฮ่องบักฟอง ยอดตาก่ำ และบุ่งนางแพง นางเพา บ้านกุดลาด
ท่านาพ่อใหญ่ไม่เคยเงียบเหงา มีเรือหาปลามาจอดเรียงรายอยู่หลายลำ บ้างก็ฮัมเพลงสุขใจ บ้างก็ร้องทักทายไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ จึงทำให้ท่านาพ่อใหญ่ดูคึกคักครื้นเครงอยู่ตลอดปีคนจึงเรียกท่าซาละวัน หรือท่าสาละวัน
นอกจากนั้น ที่ท่านาทามน้อยชื่อท่าซาละวัน ยังมีเรื่องเล่ากันมาว่า น้ำท่วมปีหนึ่ง มีคนเห็นจระเข้ใหญ่โผล่ขึ้นที่ท่าน้ำพ่อใหญ่โทน คนจึงเรียกกันว่า “ท่าซาละวัน” ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีดีดัก คนหัวบุ่งก็ยังมีภาพจำเก่า ๆ และเรื่องเล่าเก่า ๆ เกี่ยวกับจระเข้ที่ท่าพ่อใหญ่โทน กลายเป็นเรื่องราวคู่กับท่าน้ำแห่งนี้ เดิมที ท่าน้ำแห่งนี้น่าจะชื่อ “ท่าสาละวัน” ตามชื่อเพลงรำวงสาละวัน แต่พอเหตุการณ์เจอจอระเข้ นานเข้า ชื่อท่าน้ำจึงเปลี่ยนไปเป็นท่าซาละวัน
“ปีหนึ่งนั้น ข้าวกำลังเหลืองเต็มท่ง น้ำมาท่วม พากันมุดน้ำเกี่ยวข้าวอยู่นาทามน้อย อีพ่อเลาว่า มีคนเห็นแข้ใหญ่ให้พากันระวังแน่เด้อ” แม่เอ่ย
ที่ท่าซาละวันมีท่านำควายข้ามไปเลี้ยงที่ฟากบุ่งด้วย ชาวบ้านจึงเรียกท่าซาละวันว่า “ท่าควาย” อีกชื่อหนึ่ง
ที่จริงไม่ว่าจะเรียกท่าซาละวัน ท่าควาย หรือท่าพ่อใหญ่โทน ก็เป็นท่าเดียวกัน ตรงที่จอดเรือ เรียกว่า ท่าซาละวัน ส่วนตรงที่ควายข้าม เรียกท่าควาย บางทีก็เรียกท่าพ่อใหญ่โทน เพราะว่าพ่อใหญ่โทนเป็นเจ้าของท่า เนื่องจากท่าซาละวันเป็นท่านาพ่อใหญ่โทน
เวลาคนหัวบุ่งนำควายข้ามไปเลี้ยงที่ฟากบุ่ง วัวควายจะข้ามที่ท่านี้ เด็ก ๆ ชอบเล่นขึ้นขี่หลังควายกระโดดตีลังกาลงน้ำ หรือจับหางควายว่ายน้ำเล่นตามไปด้วย ผู้ใหญ่จะสั่งสอนไม่ให้ทำเพราะสงสารควาย เนื่องจากจะทำให้ควายว่ายน้ำเหนื่อย ยิ่งควายตัวไหนท้องยิ่งเป็นข้อห้ามเด็ดขาด และยังสอนให้รู้จักบุญคุณของควายอีกด้วย แต่เด็ก ๆ ก็ได้แค่ฟังก็ยังทำอยู่เหมือนเดิม เพราะความสนุกสนานตามประสาเด็ก บางทีก็ปีนป่ายต้นกระโดนโยนลูกกระโดนลงน้ำแล้วแข่งกันกระโจนตามลงไปใครจะเก็บได้
เวลานำควายไปเลี้ยงที่ฟากบุ่ง ต้องห่อข้าวไปกินด้วยเพราะต้องไปทั้งวัน เที่ยงที่ไหนก็รวมกันกินข้าวที่นั่น ใครมีอะไรมาก็แบ่งกันกิน ส่วนน้ำไปหากินข้างหน้า ใช้มือกอบกินตามรอยวัวรอยควายบ้าง ตามบึงตามหนองบ้าง จากนั้นก็พากันตามควายที่แทะเล็มกินหญ้าไปตามหนองผือ หนองสะวาน และหนองหวายมน จนถึงท่ากกถ่ม ท่ากกฉำฉา ริมแม่น้ำมูล บางคนไปไกลสุดก็ถึงทางสาย ถึงหนองบัวทอง จึงต้อนควายกลับ
แต่ถ้าเลี้ยงควายไปไกลถึงทางสายอาจจะกลับเย็นเกินไป จนบางทีก็มืดค่ำคลำทางจึงไม่ค่อยมีใครไปถึง พอควายแทะเล็มกินหญ้าไปถึงท่ากกถ่ม กกฉำฉาก็จะเป็นอันรู้กันว่าต้องต้อนวัวควายวกกลับ
เสียงขอแขวนควายหรือกระดิ่งแขวนวัวควายแต่ละตัว จะแตกต่างกันออกไป มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เด็กเลี้ยงควายฟากบุ่งจะจำเสียงขอแขวนควายตัวเองได้แม่น ไม่ว่าจะเล่นสนุกสนานอย่างไร หูต้องคอยฟังเสียงขอควายหรือกระดิ่งแขวนควายของตัวเองเอาไว้ ควายกินหญ้าไปทางไหนจะตามได้ถูก นาน ๆ ทีต้องเงี่ยหูฟังที ถ้าเสียงขอควายหรือกระดิ่งเงียบไป หากควายไม่นอนหลบแดดใต้ร่มไม้ หรือลงแช่เปือกตมก็อาจถูกขโมยได้ ต้องตามไปดูให้เห็นตัว
บางทีฟังผู้ใหญ่เล่านิทานเพลิน หรือเล่นกันเพลินจนควายหาย ก็ต้องช่วยกันตามหา หากตามหาแล้วแต่ไม่เจอต้องรีบกลับไปบอกผู้ใหญ่
คนเลี้ยงควายฟากบุ่งจะเป็นอันรู้กันว่า ควายกินหญ้าเข้าไปที่ไหนก็ได้ แต่อย่าให้เข้าไปใกล้หลุมฝังศพบักจิ๊กโก๋เป็นอันขาด เพราะจะไม่มีใครกล้าเข้าไปตามไล่ควายออกมา ซึ่งเล่าลือกันในกลุ่มคนเลี้ยงควายฟากบุ่งว่า เคยมีคนตายลอยน้ำมาติดท่ากกฉำฉา จึงช่วยกันเอาขึ้นฝังกลบไว้ใกล้ต้นถ่ม และไม่มีใครกล้าเหยียบย่างเข้าไปใกล้
นานเข้าบริเวณหลุมศพจึงกลายเป็นดงหนาทึบ เต็มไปด้วยไผ่ป่า ดงหนามจ่าง ต้นหัวลิง ต้นแก ต้นเบ็ญ อุ่มพี้ และเฟือยฝ้ายน้ำหนาแน่น
ถามพ่อว่า ทำไมเรียกกันอย่างนั้น พ่อบอกว่า ไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนาม ไม่รู้เป็นมาอย่างไร เป็นลูกเต้าใคร มีตัวตนหรือไม่ เพียงแต่เล่าต่อ ๆ กันมา พ่อบอกว่าบางทีผู้ใหญ่คงไม่อยากให้เลี้ยงควายไปไกลนัก จะมืดค่ำทางกลับบ้านจึงพูดกันเด็กให้กลัวเอาไว้
เวลาไล่ควายกลับจากฟากบุ่งต้องมองดูยอดต้นคร้อ หรือยอดต้นประดู่ใหญ่ ที่ท่าซาละวัน ซึ่งยืนเด่นสง่าอยู่อีกฝั่งของบุ่งสระพัง เป็นหมุดหมายเอาไว้เพื่อไม่ให้หลงทิศ ไม่อย่างนั้นจะหลงทิศหลงทางได้ เพราะฟากบุ่งมีสุมทุมพุ่มไม้น้อยใหญ่เต็มไปหมด
ทุกวันนี้การนำควายไปเลี้ยงที่ฟากบุ่งไม่มีแล้ว สังคมเปลี่ยนไป พื้นที่ถูกจำกัดมากขึ้น วิธีเลี้ยงวัวเลี้ยงควายก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ส่วนมากจะทำคอกเลี้ยงอยู่ในที่นาของตัวเอง จะเกี่ยวหญ้าหรือไม่ก็ซื้อหญ้ามาให้กิน
บางคนลองเปลี่ยนจากเลี้ยงวัวเลี้ยงควายไปเลี้ยงแพะ เลี้ยงม้าก็มี
คนรุ่นหลังอย่างลูกหลาน เกิดไม่ทันวิถีชีวิตการเลี้ยงวัวเลี้ยงควายฟากบุ่ง ก็ได้แต่ฟังเรื่องเล่าจากรุ่นพ่อแม่ และจดจำเอาไว้ เล่าให้คนรุ่นต่อไปฟัง
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๖ “เรื่องของท่าซาละวัน ท่านาทามน้อยของพ่อใหญ่ ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร