ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔๗. “ทางหลวงกระโสบ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๔๗. ทางหลวงกระโสบ
บ้านกระโสบอยู่ห่างจากแม่น้ำมูลและบุ่งสระพังออกไปทางด้านเหนือของบ้านปากน้ำ ราว ๔ กิโลเมตร เวลาลงหาปลาจะมาที่บุ่งสระพัง ท่าน้ำที่ชาวบ้านกระโสบลงหาปลาที่บุ่งสระพัง เรียกว่า “ท่ากระโสบ” ทางที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างบ้านกระโสบกับบุ่งสระพัง เรียกว่า “ทางหลวงกระโสบ” พอลงจากถนนใหญ่เลี้ยวมาทางหนองข้าวเม่า ลัดไปหนองบักฟ้า เข้าหนองแล้งตรงไปบุ่งสระพังก็เป็นท่ากระโสบ
พ่อเริ่มต้นการสนทนาในบ่ายวันนี้ด้วยเรื่องทางหลวงกระโสบและท่ากระโสบ
บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทุกวันนี้หนองบักฟ้าก็ไม่ได้เป็นหนองอย่างแต่ก่อน เปล่าแปนเป็นนาเป็นสวนไปตามการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง
ส่วนทางหลวงกระโสบที่จะไปท่ากระโสบก็ไม่ได้เป็นทางคนเทียวอย่างเก่าก่อน เมื่อคนไม่เทียว ทางหลวงกระโสบจึงรกเรื้อเรียวลงทุกวัน นานเข้าก็คับแคบ กลายเป็นทางจอกหลอกลงไปถึงท่ากระโสบ คนที่มีนามีสวนอยู่แถบนั้น อยากให้มีการพัฒนาทางหลวงกระโสบจะได้สัญจรไปมาสะดวก
เวลามีประชาคมก็คอยยกมือขอให้เขาทำทางลงไป แต่ก็ไม่มีใครช่วยยกมือให้เพราะมีคนใช้น้อย คนอื่นต่างก็ยกมือไปเส้นทางที่เขาเทียว
“ถ้าเฮ็ดให้กว้างขวางได้กะดีคือกัน มื้อนี้บ่ได้ใซ้ มื้อหน้าบ้านเฮือนขยายออกไปอยู่ตามไฮ่ตามนา รุ่นลูกรุ่นหลานกะสิได้ใซ้”
พ่อแสดงความเห็น
ท่ากระโสบอยู่ถัดจากหอปู่บุ่งสระพัง เมื่อก่อนไม่ว่าจะหาปู หาปลา ส้อนกุ้ง งมหอย บ้านกระโสบก็มาลงที่ท่ากระโสบ พอถึงช่วงสงกรานต์ แห่ดอกไม้ ตบประทาย บ้านกระโสบก็จะมาเนาว์ที่ท่านี้ คนจึงเรียกท่ากระโสบ ส่วนบ้านปากน้ำเนาว์อยู่ปากบุ่ง เมื่อก่อนจะมีหลักไม้เอาไว้ตบประทาย ใกล้วันเนาว์พวกผู้นำจะชวนกันไปแปลงสถานที่เอาไว้ให้ลูกหลานตบประทาย ตอนนี้สร้างเป็นธาตุขึ้นมาแทน
ข้ามไปฟากบุ่งยังมีหนองสำหรับชาวบ้านกระโสบลงสักสุ่ม งมหอย หาปลาอยู่อีกแห่งหนึ่งชื่อ “หนองหวายกระโสบ” (หนองหวายกระโสบอยู่ฟากบุ่งเป็นคนละหนองปู่กระโสบที่ชาวบ้านกระโสบไปเนาว์ในปัจจุบัน)
ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่คงไม่รู้ว่าบ้านกระโสบมีท่ากระโสบอยู่บุ่งสระพัง เพราะว่าบ้านกระโสบเปลี่ยนสถานที่เนาว์ใหม่ ไปอยู่หนองกระโสบ ไม่ได้เนาว์อยู่บุ่งสระพังเหมือนสมัยก่อน คงเห็นว่า การมาเนาว์บุ่งสระพังต้องเดินทางไกล ลูกหลานไปมาลำบาก จึงเปลี่ยนไปเนาว์อยู่หนองกระโสบ ที่ดอนปู่ตา คนรุ่นเก่าหมดไปเรื่องเก่าก็หายไปด้วย คนรุ่นใหม่ที่จะรู้เรื่องเก่าเรื่องหลังก็ไม่มีแล้ว
“ทุกมื้อนี้ ทางหลวงกระโสบมันกะคนเทียวบ่หลาย เวลาเขาประชาคม คนที่ยังใซ้อยู่กะเทียวยกมืออยากให้เขาเฮ็ดทางลงไปท่ากระโสบ ปานนั้นกะบ่มีไผสอยยกมือให้ ย้อนมันบ่ค่อยมีคนเทียว เขากะยกมือเอาทางไปไฮ่ไปนาเขา คันเฮ็ดให้มันกว้างขวางเอาไว้กะดีอยู่ จักหน่อยบ้านเฮือนขยายออกไป บ่ได้ไซ้มื้อนี้ มื้อหน้ากะได้ไซ้”
“แต่กี้บ้านกระโสบเขาไปเนาว์ไปนิวอยู่ท่ากระโสบกันเบิด ยามสงกรานต์ผู้บ่าวผู้สาวเขากะลงไปท่ากระโสบแตกจ้น ๆ แม่นว่าสิส้อนกุ้ง งมหอย เขากะไปลงท่ากระโสบ กะเลยเอิ้นท่ากระโสบมาจนทุกมื้อนี้”
“แต่ว่าคนรุ่นใหม่ เขาจักสิฮู้จักบ่ว่ามีท่ากระโสบอยู่บุ่งสระพัง เพราะว่ารุ่นหลังมานี้เขาไปเนาว์อยู่หนองปู่กระโสบ บ่ได้มาเนาว์อยู่บุ่งคือเก่า คนรุ่นใหม่ใหญ่ลุนกะสิบ่ฮู้จักแล้วละ”
“ทุกมื้อนี้ ทางหลวงกระโสบยังเหลือเป็นทางจอกหลอก ข้างดินบักเต่าลงไปฮั่น ทางลงเป็นดงน้ำเกลี้ยงใหญ่ เป็นดงพอก ป่าหมากยาง แต่กี้ครูบายังน้อย ๆ นั่งเกวียนเมือนานำพ่อ เห็นว่าวค้างอยู่ปลายกกน้ำเกลี้ยง ผัดแอ่วให้พ่อขึ้นให้ กะเลยบอกลูกว่าสิให้พ่อใหญ่เฮ็ดอันใหม่ให้ดอก คันพ่อใหญ่เฮ็ดให้แล้ว ผัดแล่นไปค้างยอดเซือกอีก ออกจากท่งข้าวเม่าไปจนสุดหนองบักฟ้า ทุกมื้อนี้กะบ่มีทางลงไปหาท่ากระโสบแล้ว ทางหลวงกระโสบเลยสุดอยู่ฮั่น คนกะเบี่ยงไปลงท่าน้ำคำแทน ถ้าบ่ไปทางท่าน้ำคำกะไปทางหนองท่งน้อย อ้อมไปทางเฮือนตาขาว จังสิลงไปท่ากระโสบได้”
“แม้นว่าทางหลวงกระโสบสิบ่เป็นทางแล้ว แต่ว่าท่ากระโสบกะยังมีท่าอยู่คือเก่า อยู่ถัดหอปู่ไปฮั่น แต่บ่มีคนลงคือเก่า ย้อนทางมันไปยากมายาก พอทางบ่มีคนเทียว ท่าบ่มีคนลงมันกะสิฮกสิเฮื้อไป”
น้ำเสียงที่ราบเรียบ มีลมลอดออกมาตามซี่ฟันที่หลุดร่วง บางครั้งก็ทอดเสียงเว้นระยะเหมือนกำลังใช้ความคิดทบทวนเรื่องราวในวันเก่า ๆ ยิ่งทำให้เรื่องของทางหลวงกระโสบผ่านคำบอกเล่าของพ่อดูเก่าแก่ยาวนานลงไปอีก
“ท่าน้ำคำ เดียวนี้ พวกเด็กเล็กเด็กน้อยเขากะมนต์พระไปฉันข้าวป่า น้องผู้ใหญ่บ้านทวีเป็นต้นคิด เขากะเฮ็ดดีของเขาอยู่ เขาพากันเอาเยาะแล้วกะมนต์พระไปฉัน เจ้าคุณวิมานเพิ่นกะมาคือกัน”
“ปีก่อนพุ้นเขากะมนต์ ปีนี้กะมนต์อีก”
“ทางเฒ่าหยัดเพิ่นผัดว่า คันเอาเจ้าคุณเฮามาได้กะสิไคแม้ เพิ่นว่าซั้น เพิ่นเห็นเขาไปกินข้าวป่ากันเต็มท่าน้ำคำ แล้วคึดฮอดครูบา คนกะไปกันหลายเต็มท่าของเขาอยู่ กินลาบปูลาบปลากันแตกจ้น ๆ เขาเอาเยาะกะได้ปลาหลายเบิ่งบ่เป็น จนกินบ่เบิดพู้นละ กินเหลือกะต่างคนต่างถือเมือเฮือนไผเฮือนมันกะมี”
ตั้งแต่ย้ายหมู่บ้านขึ้นไปอยู่ดงบากใหญ่ วัดท่าน้ำคำก็ถูกปล่อยทิ้งร้างไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ท่าน้ำคำก็เงียบเหงา จะมีคนไปมาอยู่บ้างก็น้อย โดยมากจะเป็นคนหาปลา
เป็นธรรมดาท่าไม่มีคนลงก็ร้าง ทางไม่มีคนเทียวก็รก แม้ท่ากระโสบและทางหลวงกระโสบก็ไม่ต่างจากทางอื่น ๆ และท่าอื่น ๆ ของบุ่งสระพัง เมื่อไม่มีคนไปมาก็รกเรื้อ พ่อบอกว่า ทุกวันนี้ ทางหลวงกระโสบเล็กลงเหลือแค่ทางจอกหลอกไปถึงหนองบักฟ้า พอเลยหนองบักฟ้าไปก็ไม่ได้เป็นทางอย่างเก่าก่อน ทางหลวงกระโสบมาสิ้นสุดตรงหนองบักฟ้า
ถ้าจะลงท่ากระโสบก็ต้องอ้อมไปทางหนองท่งน้อย มาเลี้ยวตรงเฮือนตาขาวจึงวกไปลงท่ากระโสบ
ถ้าจะมาหัวบุ่งก็ต่อจากเฮือนตาขาวมาถึงท่ากกไผ่ ทางมาสิ้นสุดตรงแนวเขตวัดท่าน้ำคำ พวกคนหาปลาทำทางอ้อมไปตามเขตวัดแล้ววกมาลงท่าน้ำคำ ทางจึงขยายต่อจากท่ากกไผ่มาสุดตรงท่าน้ำคำ แต่จากท่าน้ำคำมาท่ากกแต้ จนถึงหัวบุ่งไม่มีทางรถแล้ว เป็นแค่ทางคนเดิน รถไปมาไม่ได้
ทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่นิมนต์พระมาฉันข้าวป่าที่ท่าน้ำคำ คนมากันมากเต็มบุ่งเต็มท่า ทำให้ท่าน้ำคำคึกครื้นขึ้นมา ปลาก็หาได้มาก เหลือจากกิน ต่างคนต่างก็ถือกลับบ้านใครบ้านมัน
“ท่าบ่มีคนลงกะฮ้าง ทางบ่มีคนเทียวกะฮก ประเพณีบ่มีคนสืบต่อกะสุดเสี้ยน กะเศร้ากะหมองไป เขากะเฮ็ดดีอยู่”
พ่อเอ่ยคำชมคนคิดรื้อฟื้นประเพณีการนิมนต์พระมาฉันข้าวป่าที่ท่าน้ำคำให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔๗. “ทางหลวงกระโสบ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร