วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘

ศึกษาปฏิปทาพระเถระ ผู้นำพระพุทธศาสนาก้าวสู่โลกยุคใหม่

กับร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

ได้เป็นเครื่องจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

สำหรับสองตอนนี้ เล่าย้อนเกี่ยวกับพระวินัยเกี่ยวกับเงิน หรือ ปัจจัย ที่อยู่ในมหาปเทส ๔ ว่าสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)  พระองค์มีการเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างไร ผ่านการบอกเล่าจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และการห้ามเรี่ยไร ซึ่งเป็นกฎเหล็กของพระองค์

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๕๑.เงินเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช(อยู่)

๕๒.ห้ามเรี่ยไร

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

 ๕๑.      เงินเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช(อยู่)

              สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)  ซึ่งเป็นต้นแบบแห่งวัตรและปฏิปทาของสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)  มีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่อง  “เอกลาภ”  หรือ ปัจจัยที่เขานํามาถวายให้ด้วยความศรัทธา

เป็นสิ่งธรรมดาที่พระในระดับสมเด็จพระสังฆราช  ย่อมต้องมีญาติโยมศรัทธาปรารถนาอยากทําบุญกุศลด้วย  ยิ่งพระองค์ท่านมีความรอบรู้ในศาสตร์หลายๆ ประการ  ดังที่ได้กล่าวเป็นส่วนน้อยพอเป็นตัวอย่างนั้น  เป็นต้น  ปัจจัยลาภย่อมมีมาถึงท่านอย่างคาดไม่ถึงแน่นอน

การเงินของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชนั้น  สมเด็จพระพุฒาจารย์ผู้เป็นศิษย์  ได้อธิบายให้ฟังดังนี้

เรื่องการเงินท่านทําแบบโบราณ  โดยมีกระถางลายครามอยู่ ๒ ใบ  ตั้งอยู่ในกุฏินอกห้องพักของท่าน  โดยท่านกําหนดว่า  ใบหนึ่งสําหรับใส่ปัจจัยถวายท่าน  อีกใบหนึ่งใส่ปัจจัยถวายสงฆ์  ซึ่งพอโยมคนใดจะทําบุญกุศลกับท่าน  ท่านก็จะชี้บอกให้เขาเข้าใจ  และทําบุญตามเจตนา

ตกตอนค่ำทุกวัน  ท่านจะหยิบเงินจากที่บอกว่านี่เป็นกระถางของท่านใส่ในกระถางที่เป็นของสงฆ์วันละ ๑ บาท  ทำไปไม่เคยขาด

  “แล้วถ้าหากว่าท่านเห็นว่า  เงินในกระถางไม่ว่าจะเป็นของท่าน  หรือของสงฆ์มีมากแล้ว  ท่าน จะเรียกไวยาวัจกรให้มานับ  และรวบรวมไปเข้าบัญชีวัดเป็นของสงฆ์ทั้งหมด  ซึ่งก็เท่ากับว่าไม่ว่าจะเป็นเงินที่เขาถวายให้ท่านเป็นพิเศษ  หรือจงใจถวายสงฆ์ก็ตกเป็นสมบัติของวัด  เป็นปัจจัยของสงฆ์ทุกบาททุกสตางค์  เพราะไม่ปรากฏว่าท่านจะเคยหยิบฉวยเงินทองไปใช้โดยส่วนตัวเลย  แม้แต่บาทเดียว”

๕๒. ห้ามเรี่ยไร

              เจ้าปประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  ได้พูดเกี่ยวกับประเพณีของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  ที่ได้ยึดถือปฏิบัติ ในเรื่องเงินๆ ทองๆ  มาเป็นเวลานานแล้วว่า  ที่วัดแห่งนี้ไม่มีการบอกบุญเรี่ยไรโดยเด็ดขาด  การทำบุญไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆ ก็ตาม  ญาติโยมต้องตั้งใจไปสละให้เองด้วยศรัทธาเท่านั้น

โดยเฉพาะในสมัยของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)  กฎระเบียบนี้เคร่งครัดมาก  เคยปรากฏมีตัวอย่างอยู่ครั้งหนึ่ง  ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านเล่าว่า

เมื่อก่อนเขามีกำหนดว่า  วัดจะต้องสร้างโรงเรียน  จึงได้สร้างโรงเรียนขึ้น  เมื่อคํานวณงบประมาณ  การสร้างก็ตกเกือบ ๓ ล้านกว่าบาท  คนดําเนินงานเขาก็จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น  ด้วยหวังดีต่อสมเด็จอยากให้ท่านหมดภาระ  คือ  ประสงค์จะช่วยท่านหาเงินมาสร้างโรงเรียนให้

พอท่านรู้ข่าวเท่านั้น  ท่านห้ามเลย  ท่านว่าไม่ได้  ทำอย่างนี้ไม่ได้ ท่านขอ

    การที่จะจัดตั้งกรรมการนั้นได้  แต่ที่จะให้มีการเรี่ยไรนั้นไม่ได้  ไม่ให้เรี่ยไร  จะมีใบอนุโมทนานั้นได้  แต่ต้องหยุดทำการเรี่ยไรทั้งหมด  ท่านบอกว่าเรี่ยไรผิดวินัย  งานการสร้างที่นี่ทางวัดต้องทำเอง

คำสั่งห้ามเรี่ยไรนี้  ท่านสั่ง  กําชับเสมอ  จนกระทั่งท่านสิ้นพระชนม์  และท่านยังบอกอีกว่า  หากท่านตายลงเมื่อไหร่  อย่าขอเงินคนเป็นอันขาด  มีเท่าไรทำเท่านั้น  เรื่องขอเงิน  เรี่ยไรนี้ห้ามเด็ดขาด

สิ่งนี้จึงถือเป็นเรื่องพิเศษถึงปัจจุบันนี้ก็ต้องถือ  คือห้ามเด็ดขาด  ไม่ให้ออกฎีกาอะไรใดๆ ไม่ว่างานอะไรจะเรี่ยไรขอเงินขอทองไม่ได้  ต้องให้เขา (ผู้ศรัทธา) มาให้เอง  ถ้าเขาจะให้

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๕๑. เงินเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช(อยู่) ๕๒.ห้ามเรี่ยไร เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here