
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์

ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔๕. “พ่อผูกเสี่ยวที่บ้านคำหนามแท่ง” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์

๔๕. พ่อผูกเสี่ยวที่บ้านคำหนามแท่ง
ตอนที่พ่อวิ่งเป็นนายหน้าขายที่ดินกับพ่อจอม คนบ้านเรายังไม่ตื่นตัวเรื่องที่เรื่องทางกันเท่าไหร่ ใครจะขายพ่อก็ไปบอกคนซื้อก็ได้ค่านายหน้า ได้ครั้งละ ๒๐,๐๐๐ – ๓๐,๐๐๐ บาท

ต่อมา คนจึงเริ่มตื่นตัว บางคนก็เห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วย
คนอยากซื้อขายที่ดินก็จะเงียบ ๆ ค่อยพูดค่อยจากัน ไม่อยากให้ดังไปไกล ให้รู้กันเฉพาะคนซื้อกับคนขาย

ถ้ามีเงินซื้อที่ดินเก็บไว้ก็จะดี ไม่เน่าไม่เสีย ดีกว่าเก็บอย่างอื่น ร้อนเงินมาจะขายก็ได้ หรือจะเอาเข้าธนาคารเหมือนที่เขาทำกันก็ได้ พ่อไม่มีเงินจึงไม่ได้เก็บที่ไว้ อย่างดินแม่ใหญ่แพงมาบอกขายให้ ก็ไม่ได้ซื้อเอาไว้ พอจะซื้อแม่ก็ไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้ซื้อ
มาวันนี้ก็นึกเสียดายว่า ได้เป็นแค่คนวิ่งหาที่ให้เขา ไม่ได้เก็บที่เอาไว้บ้าง

ยิ่งเป็นนายหน้ายิ่งรู้ว่าที่ตรงไหนราคาอย่างไร ขายอย่างไร ทำไมเขาจึงซื้อที่ตรงนั้น ที่ตรงไหนควรจะเก็บ ควรจะขาย ที่ตรงไหนต่อไปจะมีราคา แต่เราไม่มีเงินพอที่จะเก็บที่เก็บทางเอาไว้ เมื่อก่อนพ่อวิ่งหาดูที่ดินถึงบ้านหััวเรือก็ไป

อย่างที่ฟากชลประทาน พ่อนั่งรถมาจากในเมืองด้วยกันกับกำนันทัง กำนันทังถามขายดิน ๑๗ ไร่ให้ราคา ๒๕,๐๐๐ บาท บอกว่าจะปลูกบัวก็ได้ จะทำนาแล้งนาใจก็ได้ แต่พอคิดว่า ที่ตรงนั้นน้ำท่วม ยิ่งเบื่อนาน้ำท่วม เพราะนาลุ่มใกล้บุ่งน้ำท่วมเกือบทุกปี หนีนาน้ำท่วมไปซื้อนาโคก ยังมีคนมาบอกขายนาน้ำท่วมให้อีก ก็ไม่อยากซื้อ

ตอนนั้นก็มีเงินพอจะซื้อได้ ถ้าไม่คิดว่าเป็นนาน้ำท่วม ซื้อเอาไว้ ตอนนี้ก็มีนาเอาไว้หลายไร่ จะทำอะไรก็ได้ ทุกวันนี้นาฟากชลประทานกลายเป็นนาดี ถึงน้ำจะท่วมในหน้าฝน เราทำนาหน้าแล้งก็ได้

พ่อเบื่อนาน้ำท่วมจึงไม่ได้ซื้อดินกำนันทังเอาไว้ แล้วไปซื้อนาโคกที่บ้านคำหนามแท่ง
“อย่างที่ดินฟากชลประทาน กำนันทังถามขายให้ว่า “เกิน! ซื้อดินให้กันแน่นา” นั่งรถจากในเมืองมานำกัน”

“ดินอยู่ใส?” พ่อถาม
“ดินฟากชลประทานนั่นเด้ ปลูกบัวกะได้ เฮ็ดนาแล้งนาใจกะได้ ดิน ๑๗ ไร่ ขาย ๒๕,๐๐๐ บาท” กำนันทังว่า

“แต่พ่อมาคิดว่า ฟากฮ่องเป็นที่น้ำท่วม แฮ่งเบื่อนาน้ำท่วม เพราะว่านาลุ่มใกล้บุ่งน้ำท่วมทุกปี หนีน้ำท่วมไปซื้อนาโคกแล้ว ยังมีคนมาถามขายนาน้ำท่วมให้อีก กะบ่อยากซื้อ ตอนนั้นกะมีเงินพอซื้อได้อยู่ ถ้าสิเอา”
“ถ้าบ่คิดว่า เป็นนาน้ำท่วม ซื้อเอาไว้ ตอนนี้กะมีนาหลายนำเขาแล้ว ถ้าซื้อเอาไว้ สิเฮ็ดหยังกะได้ ทุกมื้อนี้นาฟากชลประทานกลายเป็นนาดี น้ำท่วมหน้าฝน เฮ็ดนาแล้งเอากะได้ ย้อนเจ้าของเบื่อนาน้ำท่วมกะเลยบ่ได้ซื้อเอาไว้ ไปซื้อนาโคกที่บ้านคำหนามแท่ง”
กำนันทังเป็นคนบ้านกระโสบ นามสกุล มุทระพัฒน์ พ่อของกำนันทังเคยเป็นกำนันมาก่อน ต่อมากำนันทังก็ได้เป็นกำนันต่อจากพ่อ
กำนันทังมีที่ดินอยู่มาก คงจะหาไว้ตั้งแต่รุ่นพ่อ ในบ้านเราก็มีอยู่หลายแปลง นอกจากที่ดินฟางฮ่องแล้ว ตรงดอนหัวนาทามน้อยก็มีที่ดินของกำนันทังอยู่ด้วย ที่ดินแต่ละแปลงจะมีต้นยางใหญ่อยู่มาก พอตัดต้นไม้ขายหมด กำนันทังก็ขายที่ให้คนปลูกปอ กำนันทังเคยมาถามขายที่ดอนหัวนาทามน้อยให้พ่อใหญ่ ๒๐๐ บาท บอกว่าที่ติดกันอยากให้พ่อใหญ่เอาไว้ แต่พ่อใหญ่ไม่เอา กำนันทังจึงขายให้คนอื่น

พ่อเล่าว่า ตอนไปทำนาโคกบ้านคำหนามแท่งก็ลำบาก เพราะอยู่ไกลบ้าน ลูกไปทำด้วยก็ก้อย ๆ แก้ย ๆ ขึ้นมอเตอร์ไซค์ได้ก็หนีคุงบ้าน มันเป็นป่าเป็นดง ทางไปทางมาก็ไม่ได้สะดวก ต้องทนสู้ทนทำให้ได้ข้าวได้น้ำ
ตอนยังหนุ่มยังแน่นพ่อไม่เหมือนคนอื่น อยู่โคกอยู่ป่าคนเดียวก็พออยู่ได้ ไม่ได้นึกกลัวอะไร แต่พอแม่ไปอยู่ด้วยกลับกลัว
ที่กลัวก็กลัวว่าเผื่อมีคนมาปล้นมาจี้ เพราะอยู่ดงอยู่ป่า กลางโคก ห่างไกลผู้คน ไม่มีนาใครเลย มีเถียงนาอยู่หลังหนึ่ง ก็อยู่ไกลมาก เป็นคนบ้านหนองหินลาด อยู่ต่อมาจึงผูกเสี่ยวกันกับพ่อ
บ้านหนองหินลาดอยู่ใต้บ้านคำหมากหนอกลงมา อยู่ใกล้กับนาพวกหลานหลวงพ่อ พอพ่อไปอยู่แล้วก็รู้จักมักคุ้นกัน ฮักแพงกัน พอเขามาหาก็ต้อนรับเขาดีหน่อย เห็นว่าเขาเป็นนักเลง พอไปดำนามีอะไรจะได้อาศัยเขา เวลามีการมีงานอะไรเขาก็มาหา มาเล่นมากินถึงบ้าน

พ่อหยุดครู่หนึ่งเหมือนครุ่นคิดอะไรบางอย่าง แล้วเล่าต่อ
ช่วงที่พ่อไปซื้อนาบ้านคำหนามแท่งยังมีแต่ป่าแต่ดง ถึงจะเป็นป่าเป็นดงก็ซื้อเพราะอยากได้นาโคก น้ำไม่ท่วม คิดว่าพ่อไปอยู่คนเดียวก็ไม่เป็นไร ถ้าเกิดอะไรขึ้น ตัวคนเดียวก็หนีไปได้ แต่พอแม่ไปอยู่ด้วยก็กลัวขึ้นมา ที่กลัวก็เป็นห่วงว่า เวลาเกิดอะไรขึ้นจะหลบจะหนีก็ต้องคอยเป็นห่วงแม่ ต้องห่วงหน้าห่วงหลัง ถ้าตัวคนเดียวก็พอจะเอาตัวรอดได้ แต่พอมีแม่ไปอยู่ด้วย จะหลบจะหนีก็ลำบาก
“นอนอยู่นาโคก ซ่าวนา*คนเดียว แต่ละมื้อ สองทุ่มสามทุ่มจังได้หยุด เสี่ยว*บ้านหนองหินลาด บอกว่า โตบ่ต้องย่านดอกหมอ! ให้มันมาปล้นโลด! ปล้นไปกะหนีบ่พ้นเฮาดอก” (*เสี่ยว คือ เพื่อนสนิท)
“บ้านหนองหินลาดอยู่ใกล้บ้านคำหมากหนอก ใกล้กับนาพวกหลานหลวงพ่อ พอพ่อไปอยู่แล้วกะฮู้จักมักคุ้นกัน เลยฮักแพงกัน พอเขามาหาอยู่บ้าน เฮากะต้อนรับเขาดีแน่ เห็นว่าเขาเป็นนักเลง ยามไปดำไฮ่ดำนา มีหยังกะสิได้อาศัยเขา”
“เวลามีการมีงานหยัง เสี่ยวกะมาหา มาเยี่ยมยาม มาเล่นมากินเถิงเฮือนเถิงซาน”
“ยามเสี่ยวมาหา พ่อกะมีเนื้อเลี้ยงเขาทุกเถื่อ เสี่ยวว่าโตมาคือได้กินแต่เนื้อแท้ เขาคือสิคึดว่าพ่อเป็นนักเลงคือเขา มาตอนใด๋กะได้กินแต่เนื้อ”
“มีหมู่เป็นนักเลง แถบนั้นคนเกรงขามเขาเบิ่ด พ่อไปอยู่นาบ้านคำหนามแท่ง บ่มีไผกะพอได้อุ่นใจว่ามีนักเลงเป็นเสี่ยว กะบ่มีไผมายุ่ง”
พ่อบอกว่า ตอนนั้น เห็นที่เห็นทางที่คนบอกขาย อยากซื้อเก็บไว้ ก็ไม่มีปัญญา เพราะไม่มีเงิน เมื่อก่อนเงินหายาก กว่าจะได้แต่ละร้อยแต่ละพันก็เหงื่อตกยางออก ต้องวิ่งหน้าวิ่งหลัง อาบเหงื่อต่างน้ำ กว่าจะได้สักร้อยสักพัน
“เหงื่อบ่ตก ยางบ่ออก กะบ่ได้เงิน”

ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔๕. “พ่อผูกเสี่ยวที่บ้านคำหนามแท่ง” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์

เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร
เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง
เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร