๔
หาดบุ่งสระพัง มหัศจรรย์หาดทรายในแม่มูล
หาดบุ่งสระพัง คือ หาดทรายน้ำจืด ตั้งอยู่ที่บ้านปากน้ำ(บุ่งสระพัง) ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นมรดกทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่อาจสร้างขึ้นได้
หาดบุ่งสระพังในอดีตเป็นที่เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย และลงหาปลา หาหอย หากุ้งของชาวบ้านปากน้ำ
ในช่วงหน้าร้อนเดือนเมษายนของทุกปี เมื่อน้ำในแม่น้ำมูลลดลง จะปรากฏเนินทรายผุดขึ้นเป็นสันสูงต่ำสลับซับซ้อนอยู่กลางลำน้ำมูล กลายเป็นหาดทรายยาวตลอดแนวฝั่ง ราว ๕๐๐ เมตร เต็มไปด้วยหอยน้ำจืดนานาชนิด เช่น หอยกาบกี้ หอยอีหมอ หอยจางนาง (หรือหอยเล็บม้า) และหอยทราย ลักษณะคล้ายหอยจูบ แต่ต่างกันที่หอยทรายจะมีสีขาว และมีอยู่เฉพาะบริเวณหาดทรายในแม่น้ำมูล มีฝูงนกเป็ดน้ำมาลงมุดกินปลานับพัน ๆ ตัว (ราวช่วงพุทธศักราช ๒๕๒๗ )
ตลอดสายน้ำมูลที่ทอดตัวยาวคดเคี้ยวเหมือนงูยักษ์ ธรรมชาติได้รังสรรค์ให้มีทรายไหลมารวมกันอยู่ตรงบริเวณหาดบุ่งสระพัง จนเกิดเนินทรายกระจายอยู่กลางแม่น้ำมูล เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นโค้งคุ้งน้ำ แม่น้ำมูลฝั่งอำเภอวารินชำราบ เป็นร่องน้ำลึก มีตลิ่งค่อนข้างสูงจึงทำให้กระแสน้ำพัดเอาทราย ไหลมารวมกันอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เขตอำเภอเมือง ตรงบริเวณหาดบุ่งสระพัง ซึ่งมีท่าน้ำราบเรียบ พอถึงหน้าแล้งก็จะปรากฏเนินทรายผุดขึ้นกลางลำน้ำมูลขาวโพลน ทำให้สามารถลงเล่นน้ำมูล หรือเดินไปกลางแม่น้ำมูลได้
หาดบุ่งสระพังเป็นที่รู้จักของชาวบ้านปากน้ำมาพร้อมกับการตั้งหมู่บ้าน และเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น จากการที่หลวงปู่พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) นำพระภิกษุสามเณรและชาวบ้านปากน้ำไปขนทราย เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ภายในวัด
หลวงปู่พระมงคลธรรมวัฒน์ได้สร้างศาลาไม้ริมหาดเอาไว้ สำหรับเป็นที่ถวายเพลพระเณรเวลามาขนทราย เรียกว่า “ฉันข้าวป่า” และใช้เป็นสถานที่ทำบุญวันเนาว์ตบประทายในเดือนเมษายน ตามประเพณีสงกรานต์
ท่านได้นำชาวบ้านตัดถนนลงสู่หาดบุ่งสระพัง เพื่อสะดวกในการขนทรายขึ้นไปยังหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านปากน้ำที่ทำนา ทำไร่อยู่ในย่านนั้น ตลอดจนชาวบ้านจากหมู่บ้านใกล้ไกลซึ่งมาหาปลาที่แม่น้ำมูลและบุ่งสระพัง ได้รับความสะดวกในการเดินทางสัญจรไปมา
ส่วนอีกด้านหนึ่งของบุ่งสระพัง เป็นทางที่ชาวบ้านกระโสบใช้ลงบุ่งหาปลา เวลามีเนาว์ช่วงสงกรานต์ชาวบ้านกระโสบจะมาเนาว์ที่ท่ากระโสบ ท่านได้ขอความช่วยเหลือจากทหารสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้นตั้งฐานทัพปฏิบัติการอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี ให้ช่วยตัดถนนลงสู่บุ่งสระพัง เพื่อให้ชาวตำบลกระโสบ ตลอดจนตำบลใกล้เคียง เดินทางลงสู่บุ่งสระพังได้สะดวก ชาวบ้านจึงเรียกถนนสายดังกล่าวว่า “ทางหลวงกระโสบ” หมายถึงทางที่หลวงทำให้ประชาชนชาวตำบลกระโสบ
ปัจจุบันหาดบุ่งสระพังมีสันทรายสวยงามส่องประกายวาวระยิบระยับยามเมื่อต้องแสงอาทิตย์
หากยืนอยู่บนฝั่ง มองลงไปในแม่น้ำก็จะเห็นสันทรายสูงต่ำทอดไปมาจนถึงอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเหมือนพญานาคเผือก ดำมุดปุดว่าย อยู่กลางแม่น้ำมูล สันทรายจะเปลี่ยนไปตามกระแสน้ำมูลที่ขึ้นลงพัดพาไปในแต่ละวัน แต่ละปี
เพื่อให้ลูกหลานได้ระลึกถึงคุณของบรรพชนผู้เลือกทำเลที่ตั้งหมู่บ้าน ทำให้ลูกหลานได้มีแหล่งทำมาหากินอุดมสมบูรณ์ และเพื่อเป็นการสืบรอยมือรอยเท้าของหลวงปู่พระมงคลธรรมวัฒน์ ลูกหลานชาวบ้านปากน้ำจึงได้ร่วมกันสร้างพระธาตุครอบเสาหลักเจดีย์ทรายเอาไว้เป็นอนุสรณ์
จากบุ่งสระพังในอดีตที่เป็นเพียงแหล่งทำมาหากิน เลี้ยงวัว เลี้ยงควายของชาวบ้าน ยามหน้าแล้ง ผู้คนก็เริ่มหลั่งไหลมาลงเล่นน้ำ ต่างเล่าขานถึงความสวยงาม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๔ “หาดบุ่งสระพัง มหัศจรรย์หาดทรายในแม่มูล ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ส่วนหนึ่งจากคำนำ
นับตั้งแต่วันที่โยมพ่อโยมแม่ยอมอนุญาตให้ลูกชายบรรพชาเป็นสามเณร (พุทธศักราช ๒๕๒๗) จนถึงวันเข้าสู่มณฑลแห่งการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ (พุทธศักราช ๒๕๓๕ ถึงแม้โยมทั้งสองจะลำบาก จะขัดสน จะประสบกับความยุ่งยาก ในการประกอบอาชีพเพียงใด ก็ตาม แต่โยมทั้งสอง ก็ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากพระลูกชาย ในฐานะของลูก เกินไปจากสมณวิสัย ที่พระสงฆ์จะพึงแสดงความกตัญญูต่อโยมพ่อโยมแม่ได้ จึงไม่ต้องคอยกังวลกับฐานะและความเป็นอยู่ของโยมทั้งสอง ทำให้มีจิตมุ่งตรงต่อการทำงานพระศาสนา สนองงานพระอุปัชฌาย์ เท่ากับโยมทั้งสองให้โอกาสลูกชาย ได้ทำห้าที่พระสงฆ์ อย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ทั้งนี้ เพราะโยมทั้งสองเคารพในความเป็นพระของลูกชาย ทั้งยังรู้แจ้งชัดว่า พระสงฆ์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนอย่างไร
เมื่อความชรามาเยือน ในวันที่วัยและสังขารของโยมทั้งสองเริ่มโรยราลง เพื่อแสดงความขอบคุณโยมทั้งสอง ที่ยอมสละลูกชายถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อแสดงคุณของโยมทั้งสองให้ปรากฏ จึงได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น
บัดนี้ มโนรสในใจได้ถึงความบริบูรณ์แล้ว ขอท่านผู้มีส่วนอุปถัมภ์การทำหน้าที่พระสงฆ์ของอาตมภาพ จงเป็นผู้มีความไพบูลย์ในธรรม และร่วมอนุโมทนาในโอกาสนี้ด้วย
ญาณวชิระ
พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร, มกราคม ๒๕๖๗
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน : ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๙๓๓๗๘-๖-๗
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์ เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร