ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๒๘ “เพื่อนพ่อหาปลาที่ท่ากกแต้” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒๘. เพื่อนพ่อหาปลาที่ท่ากกแต้
ท่ากกแต้อยู่ถัดไปทางท่าน้ำคำ เวลาพ่อนอนนา ได้คนหาปลาที่ท่ากกแต้เป็นหมู่* (*เป็นหมู่ คือ เป็นเพื่อน)
ตอนนั้น คนนิยมไปหากินทางปักษ์ใต้กัน อาวลี*ก็ไป (*อาวลี คือน้องชายของแม่ใหญ่ มีศักดิ์เป็นน้า) พ่อคิดจะไปหากินปักษ์ใต้กับเขาบ้าง จึงไปขอเงินแม่ใหญ่ กะว่าเช้าวันรุ่งขึ้นจะไปปักษ์ใต้ แม่ใหญ่แอบให้เงินมาไม่ให้พ่อใหญ่รู้ พอพ่อใหญ่รู้เข้าจึงให้แม่ใหญ่ไปตามเอาเงินคืน
พ่อคิดไม่ตกงุ่นง่านลงบุ่ง เห็นมอง*พ่อใหญ่ห้อยอยู่เถียงนาจึงแบกลงบุ่ง (*มอง คือ ดางดักปลา หรือ ข่ายดักปลา) กางไปแบบไม่รู้ทิศรู้ทางปลา วันนั้น ปลาเกิดติดมองมาก ไม่รู้ปลามาจากไหน หย่อนลงตรงไหน ปลาก็ติดมองเต็มไปหมด ปลดจนเมื่อยมือ แม่เอาปลาไปขาย ได้เงิน ๗๐๐ บาท รู้ลายหากินจึงค่อยโล่งใจ
พ่อเล่าติดตลกว่า “เห็นเขาไปปักษ์ใต้กัน ว่าสิไปนำเขา ไปเอาเงินค่ารถกับอีแม่ อีพ่อฮู้ ยำอีแม่ให้ไปเอาเงินคืน(*ยำ คือ ไล่) อีพ่อบ่ให้ไป บอกอีแม่ว่า “ให้มันมาหาเอางัวเอามอไปแก่ปอแก่ป่านนำเขานี่” เลยหนีลงเมือนา แนมหน้าแนมหลัง คึดหยังบ่ออก เห็นมองอีพ่อห้อยอยู่เถียง แบกมองอีพ่อลงบุ่ง ไปไล่นำกองเยาะพ่อใหญ่เมือง ใกล้ท่าข้วม* (*ข้วม คือ ข้าม ) ปลากะติดมองหลวงหลายเอาพาโลพางาน ทั้งปลาค่อ ปลาสูด ให้แม่เพิ่นเอาไปขายตลาดในเมือง ได้กิโลละ ๑๐ บาท ปลาสูดกิโลละ ๑๓ บาท ไล่มองอยู่ ๒-๓ มื้อ ได้เงิน ๖๐๐-๗๐๐ บาท จังส่วง* (*ส่วง คือ โล่งอก) มีลายหากินแล้ว พอคนฮู้ว่า พ่อหาปลาขายได้เงิน กะพากันหลั่งลงบุ่ง คนลงบุ่งเต็มไปเบิ่ด ปีนั้นพ่อหาปลาขายได้เงินสองสามพัน”
พ่อเล่าว่า พ่อจะไปทำงานปักษ์ใต้จึงไปขอเงินแม่ใหญ่เป็นค่ารถ พ่อใหญ่ไม่ให้ไป จึงให้แม่ใหญ่ไปเอาเงินคืน ไม่ต้องไปถึงปักษ์ใต้ ให้มาเอางัวเกวียนของพ่อใหญ่ไปรับจ้างแก่ปอหาเงิน
พอพ่อใหญ่ไม่ให้ไปปักษ์ใต้ พ่อจึงลงไปนาหัวบุ่ง เหลียวหน้าเหลียวหลัง จะเอาอย่างไรดี เห็นมองพ่อใหญ่ห้อยอยู่เถียงนา จึงแบกลงบุ่งไปไล่มองตามกองเยาะพ่อใหญ่เมือง ท่าข้าม* ตรงขุมดิน ใกล้ท่ากวด (*ท่าข้าม หรือ ท่าข้วม บางทีก็เรียกท่ากวด หรือท่าขุมดิน)
พ่อเล่าเรื่องเกี่ยวกับขุมดินเสริมว่า ดินที่ขุมดินจะมีกลิ่นหอม ยิ่งเวลาฝนตกฮวย*รดหน้าดินใหม่ ๆ (*ฮวย คือ โปรยปราย หรือ รด) ดินท่าขุมดินยิ่งมีกลิ่นหอม แม่มาน*ชอบไปเอาดินที่ขุมดินมากิน (*แม่มาน คือ ผู้หญิงมีครรภ์)
ปีนั้น ปลาติดมองมากเหลือเกินจึงให้แม่เอาไปขายที่ตลาดในเมือง ขายได้กิโลละ ๑๐ บาท ถ้าเป็นปลาสูดกิโลละ ๑๓ บาท พ่อไล่มองอยู่สองสามวัน ขายปลาได้เงิน ๖๐๐-๗๐๐ บาท พอตกเย็นขึ้นจากเรือก็ใส่เบ็ดกบขายกิโลละ ๑๐ สลึง ได้เงินขายกบ ๒๐๐-๓๐๐ บาท
ที่เรียกท่ากวด ท่าขุมดินว่า “ท่าข้าม” เพราะเป็นท่า นำเกวียนข้ามบุ่งไปขนไม้ ขนฟืน ไม่ว่าจะเป็นบ้านบาก บ้านกระโสบ เวลาเอาเกวียนแก่ไม้ แก่ฟืนมาจากท่ากกไม้สูง หรือแก่ไปขายที่ท่าเตาไหก็จะข้ามที่ท่านี้ พอเทียวไปเทียวมานานเข้า หัวบุ่งบริเวณนี้ก็กลายเป็นร่องน้ำตามทางเกวียน ยาวไปจนถึงท่ากกไม้สูง อีกด้านก็เป็นทางเกวียนไปจนถึงบ้านกุดลาด บ้านกระโสบ ใครจะเอาสิ่งของไปขายในเมืองก็ต้องหาบข้ามท่าข้วมไปรอขึ้นเรือไฟที่ท่ากกไม้สูง
เวลาพ่อใหญ่ขนฟืนไปขายท่าเตาไห*ก็ต้องใช้ทางนี้เหมือนกัน (*ท่าเตาไห คือ ท่าทำเตาเผาไห อยู่ริมแม่น้ำมูลตรงข้ามกับบ้านท่าหมากมั่ง)
ต่อมา เมื่อมีรถประจำทางวิ่ง คนก็ไม่ได้ใช้เกวียนข้ามบุ่งที่ท่าข้ามอีกแล้ว แต่ก็ยังปรากฏแนวร่องน้ำตามทางเกวียนข้ามบุ่ง เพราะใช้มานานหลายชั่วอายุคน พ่อใหญ่เมืองจึงตัดไม้มาทำกองเยาะไว้เป็นช่วง ๆ ทำให้มีปลามาอาศัยอยู่มาก
เงิน ๓,๐๐๐ บาท สมัยนั้นนับว่ามีจำนวนมากอยู่ ปีนั้นพ่อไล่มองขายปลาขายกบได้เงินถึง ๓,๐๐๐ บาท รู้วิธีหาเงินจึงค่อยโล่งอก
พ่อบอกว่า เมื่อก่อนบ้านเรามีเงิน ๓,๐๐๐ บาท ทำอะไรก็ได้แล้ว ปีนั้นพ่อใช้เรือใช้มองพ่อใหญ่หาปลาขาย พอได้เงินก็เอามาซื้อเรือ ซื้อมองเป็นของตัวเอง ไม่ต้องใช้ของพ่อใหญ่อีกต่อไปแล้ว
มองสมัยนั้นก็ไม่ได้เป็นมองดีอย่างทุกวันนี้ เขาเรียกว่า “มองยโส” แต่ทำไมเรียกมองยโสพ่อเองก็ไม่เข้าใจ เห็นเรียกกันมาอย่างนั้นก็เรียกตามกันไป
พ่อซื้อเรือลำแรกจากพ่อใหญ่ ๓๐๐ หรือ ๔๐๐ บาท แล้วพ่อใหญ่ก็ไปหาซื้อลำใหม่มาใช้ ส่วนมองนั้นพ่อใหญ่ก็ถักก็สานใช้เอง
“พอได้เฮือได้แพเป็นของโตเองแล้ว กะหากิน ไปหาไล่ต่งไล่มองนำบุ่งนำมูลกับหมู่กับพวกบ้านบุ่งกะแทว เพิ่นพากันมาปลุกตูบหาปลาอยู่ท่ากกแต้ นาพ่อใหญ่โง่น”
พอได้เรือได้แพเป็นของตัวเองแล้วก็ไปไล่มองหากินตามบุ่งตามมูลกับพวกบ้านบุ่งกะแทวที่มาสร้างตูบหาปลาอยู่ท่ากกแต้ นาพ่อใหญ่โง่น
บ้านบุ่งกะแทวอยู่ไปทางฟากเมือง แต่มาหาปลาที่บุ่งสระพัง เพราะน้ำในบุ่งเป็นน้ำนิ่ง มีปลามาก ตามตลิ่งสามารถสร้างเถียงพักอาศัยชั่วคราวได้สะดวก ตอนนั้น พ่อหากินอยู่บุ่งอยู่มูลด้วยกันกับพ่อเลิศ พ่อพัน-ตา เวลาออกมูลออกชีใส่มองหาปลาก็ไปด้วยกัน กลางค่ำกลางคืนก็พอได้ร้องเรียกหากัน ถามไถ่เป็นเพื่อนกัน
เวลาหาปลาจะพากันพายเรือออกแม่น้ำมูลทางปากบุ่ง ไปท่าพ่อใหญ่พิมพ์ ท่ากกถ่ม ท่ากกไม้สูงขึ้นไปจนถึงท่ากกฉำฉา น้ำมูลบริเวณท่ากกฉำฉาจะลึกมาก เหมาะสำหรับหาปลาใหญ่ คนมีมองใหญ่ หาปลาใหญ่จึงจะไปถึงท่ากกไม้สูง ท่ากกฉำฉา ส่วนพ่อมีมองเล็ก หาปลาเล็กจึงไปถึงแค่ท่าพ่อใหญ่พิมพ์ แม่น้ำมูลช่วงนั้น เป็นบริเวณที่น้ำตื้น
พอหาปลาได้ก็ขังใส่กระชังเอาไว้ จะมีพ่อค้าปลาวิ่งมาซื้อถึงที่เพื่อนำไปขายต่อ
การค้าขายปลานั้น พวกกางมองหาปลาขายก็มี พวกวิ่งรับซื้อปลาไปขายต่อก็มี พ่อใหญ่ปั่นบ้านบุ่งกะแทว เป็นคนรับซื้อปลาไปขายต่อ ใครหาปลาได้ก็ขังใส่กระชังไว้ขายให้พ่อใหญ่ปั่น บางวันพ่อใหญ่ปั่นซื้อปลาได้มากจนพอแล้วก็บอกว่าไม่เอาแล้ว ใครไม่อยากเสียเวลาหาบปลาเข้าไปขายในเมืองเอง ก็ต้องคะยั้นคะยอขอให้พอใหญ่ปั่นช่วยซื้อ
เวลาพ่อออกหาปลา ต้องเอาหม้อใส่เรือไปหุงข้าวหุงปลากินอยู่ที่มูลด้วย เพราะไม่อยากเสียเวลาพายเรือกลับมากินข้าวที่เถียง พอเย็นก็ขึ้นฝั่งทำกับข้าวกับปลากินด้วยกันกับพ่อเลิศ พ่อพัน-ตา
(*ตา คือ แม่ใหญ่ตา เมียพ่อพัน เมียพ่อพัน ปลูกตูบหาปลาอยู่ท่ากกแต้)
พ่อเล่าว่า แม่ใหญ่ตาเป็นคนบุ่งกะแทวมาหาปลากับครอบครัว ทำเถียงอยู่ท่ากกแต้ รู้จักกับพ่อพันคนบ้านเรา ซึ่งหาปลาอยู่แถวนั้นเหมือนกันจึงอยู่กินกับแม่ใหญ่ตา ส่วนพ่อเลิศกับแม่จันทร์อยู่คนละหมู่บ้าน พ่อเลิศเป็นคนอำเภอม่วงสามสิบ ส่วนแม่จันทร์เป็นคนบ้านส้มโฮง ต่างคนต่างมาหาปลาแล้วมาเจอกันที่ท่ากกแต้จึงอยู่กินกัน
ด้วยความที่พ่อไม่ได้ขึ้นบ้านจึงเอาพวกหาปลาที่ท่ากกแต้เป็นหมู่ พวกหาปลาที่ท่ากกแต้ก็มีพ่อบุญมาขี้ชา*(*ขี้ชา คือ ชอบดูดกัญชาจนเมาอยู่เป็นประจำ) คนบ้านส้มโฮง วันไหนไม่ได้ไปหาปลาก็ดูดกัญชาเมาทั้งวัน นอกจากนั้นก็มีพ่อพัน พ่อเลิศ และจารย์เพิ่ม
เพราะหากินอยู่กับบุ่ง ไม่ได้ขึ้นบ้าน ลูกคนแรกจึงเกิดที่นาหัวบุ่ง ครูบาก็เกิดที่นาหัวบุ่งเหมือนกัน
พอพ่อแม่คุ้นเคยกันก็พลอยให้ลูกเต้าพ่อเลิศ พ่อพัน-ตาคุ้นเคยตามกันไปด้วย ครูบาจึงมักจะถูกล้ออยู่บ่อยเพราะเกิดอยู่ป่าอยู่ดง
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร