เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒๗.
น้ำท่วมอุบลในวัยชราของพ่อ
และเรือลำสุดท้ายของพ่อใหญ่
เรือเป็นสิ่งแสดงถึงความผูกพันที่พ่อมีต่อแม่น้ำ สำหรับพ่อแล้ว ไม่ว่าปีไหน ฤดูใด น้ำจะท่วมมาก หรือท่วมน้อย เรือก็สำคัญต่อชีวิตของพ่อ
ปีนี้ (พุทธศักราช ๒๕๖๕) เรือของพ่อถูกย้ายตามน้ำมาจนถึงเถียงนาแล้ว น้ำท่วมหนักมาก ทุกพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเมือง และฝั่งวารินชำราบ ตลอดสองฝั่งแม่น้ำมูลไปจนถึงพิบูลมังสาหาร ล้วนเต็มไปด้วยน้ำ
หลังอุบลราชธานีถูกพายุโนรูถล่ม ตลอดเส้นทางที่พายุเคลื่อนผ่านไป ได้ทิ้งร่องรอยความสูญเสียเอาไว้มากมาย ไม่เพียงผู้คนเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก แม้สัตว์เลี้ยง วัว ควาย เป็ด ไก่ ก็ได้รับความลำบากไปด้วย เพราะไม่มีที่หากิน
หลังพายุผ่านไป ชาวอุบลก็ต้องเผชิญหน้ากับมวลน้ำมูลจากโคราชที่ไหลผ่านศรีสะเกษลงมารวมกับน้ำชี แล้วสมทบกับน้ำฝนที่ตกลงมาตลอดอาทิตย์ ทำให้ระดับน้ำในแม่มูลเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
ในขณะเดียวกัน เขื่อนอุบลรัตน์ จากขอนแก่นก็เร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน และแล้วทุกพื้นที่ของเมืองอุบล ซึ่งอยู่ปลายทางของน้ำก่อนลงโขงก็จมอยู่ใต้น้ำ
ที่นาหัวบุ่ง พอน้ำปีนตลิ่งท่าโฮงแมบได้ สุดท้ายข้าวในนาก็ไม่รอด น้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเนินแท่นรอยมือรอยเท้าริมสระบัว แล้วน้ำก็อ้อมเนินสระบัวขึ้นไปจ่ออยู่โนนเถียงนา ตีนสวนยาง
พ่อบอกว่า น้ำไม่ได้ท่วมสูงมานานหลายปีแล้ว นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ เป็นต้นมาที่น้ำไม่เคยขึ้นมาสูงจนถึงที่นี่
ขณะนี้(๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ) น้ำท่วมสูงเกินปีพุทธศักราช ๒๕๖๒ ไปแล้ว ใครมีนาอยู่ใกล้บุ่งใกล้มูลก็ไม่ต้องพูดถึง จมมิดทั้งหมดตั้งแต่พายุมาคืนแรก ส่วนคนที่มีนาอยู่ห่างขึ้นมาหน่อยก็ใจเต้นตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ได้แต่ภาวนาขอให้น้ำหยุดขึ้นเสียที
พ่อบอกว่า ปีนี้น้ำอาจสูงเท่ากับปี พุทธศักราช ๒๕๒๑ ต้องย้ายเรือของพ่อมาจอดไว้ใกล้เถียงนา
พ่อมีนาอยู่ใกล้น้ำบุ่ง เรือจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพ่อ เป็นความผูกพัน เป็นลมหายใจ เป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ด้วยภาษาตัวหนังสือ เช่นเดียวกับคนที่มีนาใกล้แม่น้ำทุกคน
พ่อเรียนรู้การดำรงชีวิตอยู่ใกล้ริมแม่น้ำมาจากพ่อใหญ่ เรียนรู้วิธีการดูลักษณะเรือ และชนิดของต้นไม้ที่จะนำมาขุดให้เป็นเรือ เรือลักษณะไหนใช้แล้วเบา พายไม่หนักมือ ไม่กินแรงเวลาวาดไม้พายกวักน้ำ
เรือดีต้องไม่หนักหรือไม่เบาจนเกินไป เรือหนักเกินไปพายแล้วกินแรง ทำให้เหนื่อย ถ้าเบาเกินไปถูกลมพัดก็หมุนคว้างบังคับทิศทางยาก เรือที่ดีแค่ใช้มือเดียวกวักไม้พาย หรือใช้เท้ากวักน้ำก็ทำให้เรือหมุนไปตามทิศทางที่ต้องการได้ เพราะการหาปลาต้องนั่งอยู่บนเรือคราวละหลายชั่วโมง การมีเรือดีจะช่วยให้ผ่อนแรงได้ ทำให้นั่งอยู่บนเรือได้นาน
ตอนพ่อใหญ่อายุมากแล้ว พ่อใหญ่บอกว่าจะหาเรือดี ๆ เอาไว้ให้ลูก*ใช้ (*หมายถึง น้าเวิน) จึงชวนพ่อไปหาซื้อเรือให้น้องที่บ้านดอนตาลี ซึ่งอยู่หมู่บ้านไปทางอำเภอพิบูลฯ ทางบ้านหนองโพธิ์ ใกล้บ้านป้าผัน พ่อใหญ่ซื้อเรือได้ลำหนึ่ง ราคา ๒,๗๐๐ บาท พอซื้อได้แล้ว ตอนขากลับต้องจ้างรถขนย้ายมา
เรือลำนี้เป็นเรือขุด ค่อนข้างหายาก มีขั้นตอนทำยาก ทำจากไม้ลำเดียว ต้องค่อย ๆ ขุด ค่อย ๆ ใช้ไฟเผา แล้วใช้ไม้ถ่างออกให้เป็นลำ จึงเป็นเรือดี พ่อใหญ่ใช้เรือลำนี้อยู่ระยะหนึ่ง พอล้มป่วยก็จอดทิ้งไว้ที่ท่าซาละวัน
หลังพ่อใหญ่ตายเรือลำนี้จึงตกเป็นของน้าเวิน แต่น้าเวินไม่ค่อยได้ใช้เพราะไม่ค่อยได้หากินทางน้ำเหมือนพ่อ ใช้บ้าง จอดทิ้งไว้บ้าง เรือจึงมาเก่าแล้วผุพังอยู่กับน้าเวิน นานเข้าก็กลายเป็นเรือฮ้างจอดค้างโคกไว้ พ่อเห็นเรือฮ้างค้างโคกอยู่ ถูกปลวกกิน จึงเอาเรือที่พ่อใช้อยู่ไปแลกกับน้อง พอให้น้องได้ใช้ เอาเรือพ่อใหญ่มาแปลงใหม่ จ้างพ่อใหญ่ขาวท่าหอปู่ช่วยแปลง*ให้(*แปลง คือ ซ่อม) เพราะเป็นเรือขอนหรือเรือขุด ทำจากไม้ทั้งลำ นอกจากจะดีกว่าเรือที่ทำจากไม้แผ่นแล้ว ยังเป็นเรือลำสุดท้ายของพ่อใหญ่ด้วย
พอแปลงเสร็จ พ่อใหญ่ขาวก็นึกชอบจึงขอซื้อต่อจากพ่อ ทีแรกพ่อไม่ยอมขายเพราะเป็นเรือพ่อใหญ่ แต่พ่อใหญ่ขาวก็รบเร้า บอกว่าอายุมากแล้ว นาไร่ก็ไม่มีกับเขา ต้องหาปลาขายซื้อข้าว อยากได้เรือเบา ๆ พอได้หาอยู่หากินอยู่กับบุ่ง พ่อจึงยอมขายให้เพราะเคยหาปลาขายมาด้วยกัน แล้วไปหาซื้อเรือลำใหม่มาใช้
พ่อใหญ่ขาวสั่งเสียลูกหลานเอาไว้ว่า ถ้าพ่อใหญ่ขาวไม่อยู่แล้ว อย่าขายเรือลำนี้ให้คนอื่น ให้ขายคืนให้ลูกหลานพ่อใหญ่โทน เจ้าของเก่า
เรือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพ่อไม่ต่างจากวัวจากควาย พ่อซื้อเรือมาขายเรือไปอยู่บ่อยครั้ง พอซื้อลำไหนมาก็มักจะมีคนขอซื้อต่อ แล้วพ่อก็มักใจอ่อนขายให้ทุกครั้งไป จนจำไม่ได้ว่า เรือผ่านมือพ่อมากี่ลำแล้ว
ปีนี้น้ำมูลขึ้นสูงมาก จนต้องย้ายเรือของพ่อมาจอดไว้ใกล้เถียงนา ชาวบ้านปากน้ำหลายคนขอนำเรือมาจอดฝากไว้ด้วย พ่อบอกว่า เป็นครั้งแรกที่น้ำท่วมถึงโนนม่วง นับแต่สร้างเถียงนาหลังนี้มา หากระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยู่อย่างนี้ ก็มีโอกาสที่น้ำจะท่วมสูงเหมือนปีพุทธศักราช ๒๕๒๑
น้ำมูลปีนั้นหนุนสูงขึ้นมาตามฮ่องใหญ่จนถึงทุ่งนาบริเวณถนนใหญ่ใกล้วัดบ้าน ข้าวกำลังมาน*จมอยู่ใต้น้ำจนมิด (*มาน คือ กำลังตั้งท้อง) เมืองอุบลทั้งเมือง ตั้งแต่ตลาดบ้านดู่จนถึงโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ไม่มีส่วนไหนที่ไม่มีน้ำ พ่อใหญ่กับพ่อใหญ่พวงจึงเอาเรือหาปลาไปพายรับจ้างส่งหมอและพยาบาล ตลอดประชาชนที่สัญจรไปมา
ปีนั้นเป็นปีที่ข้าวยากหมากแพงทุกหย่อมหญ้าเพราะน้ำท่วมนาหมด แม้ทางการจะเอาข้าวถุงมาแจกจ่ายประชาชนพอบรรเทาทุกข์ แต่ก็ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ชาวบ้านจึงต้องเข้าดงเข้าป่าหาขุดเผือก ขุดมัน ขุดกอยมาแช่น้ำนึ่งกินแทนข้าว แต่ก็ผ่านปีที่แสนทุกข์ยากนั้นมาได้
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๗ “น้ำท่วมอุบลในวัยชราของพ่อ และเรือลำสุดท้ายของพ่อใหญ่”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร