ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ผู้เขียน
ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒๖. เรื่องของเสือที่หนองห้าง
เมื่อก่อน รอบหมู่บ้านยังเป็นป่ารก ยิ่งห่างหมู่บ้านออกไปถึงหัวไร่ปลายนา ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ยังเป็นป่าช้างดงเสือ เถียงนาพ่อใหญ่ต้องมีหน้าเก้ง*สำหรับยิงเสือ(*หน้าเก้ง คือ หน้าไม้) ห้อยไว้ข้างฝาขัดแตะอยู่ตลอด
หน้าเก้งคันนี้ทำขึ้นมาพิเศษเพื่อยิงสัตว์ใหญ่ มีน้ำหนักมาก คันหน้าเก้งสำหรับเหนี่ยวลูกศรทำจากไม้เหนียวเนื้อแข็ง เหลาจนสามารถโก่งได้ ด้ามทำจากไม้พยุงขึ้นเงาเป็นมัน จึงมีขนาดใหญ่กว่าหน้าเก้งทั่วไป
พ่อใหญ่บอกว่าหน้าเก้งคันนี้พ่อใหญ่เคยใช้ยิงเสือมาก่อน เพราะที่นาทามน้อย เคยมีเสือโคร่งลงมากินวัว ที่เถียงนาจึงต้องมีหน้าเก้งสำหรับยิงเสือเตรียมเอาไว้ ถึงแม้ต่อมา ไม่ได้ใช้แล้ว แต่พ่อใหญ่ก็ยังเก็บไว้บนหัวเถียง
พ่อเล่าว่าตอนแม่ใหญ่ท้องพ่อ แม่ใหญ่ไปหาเห็ดที่หนองห้าง พอขากลับออกจากป่ามาถึงหนองห้างก็ปะเข้ากับเสืออย่างจัง มันยักคิ้วให้ยิก ๆ แม่ใหญ่เอาเสียมตีดิน ทั้งวิ่ง ทั้งจาด เสือก็เข้าป่าไป
หนองห้างอยู่ถัดจากหนองพิลาศขึ้นไป อีกด้านหนึ่งเป็นหนองแคน สมัยนั้นเหนือหนองห้างยังเป็นป่าใหญ่ มีต้นไม้ปกคลุม มีฮ่องน้ำไหลมาจากหนองพิลาศแล้วไปลงหัวบุ่ง เวลาแม่ใหญ่ไปหาเห็ดที่หนองห้าง ตอนขากลับต้องเดินเลาะจากหนองห้างตามฮ่องลงมา ผ่านหนองพิลาศ ก็จะถึงหัวนาแหลม แล้วเดินตามทางเกวียนมา ก็จะถึงนาลุ่มและนาทามน้อย
พ่อเล่าว่า ที่เรียกหนองห้างคงเพราะเป็นหนองที่คนไปทำห้างดักยิงสัตว์มาลงกินน้ำ จึงเรียกหนองห้าง เพื่อให้ต่างจากหนองอื่น ๆ จะได้จำง่าย เมื่อก่อนมีหนองจุกลุกอยู่กลางป่า ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ มีน้ำตลอดทั้งปี พอถึงหน้าฝนน้ำจะไหลจากหนองห้างมาฮ่องหนองพิลาศผ่านหัวนาแหลมมาลงฮ่องหนองหมาที่หัวบุ่ง ใกล้กับโนนพระเจ้า พอถึงหน้าแล้ง แม้ว่าน้ำในหนองห้างจะงวดขอด แต่ก็ยังมีน้ำพอให้สัตว์ได้ลงกิน
ตอนนั้น แม่ใหญ่ออกจากป่าหาเห็ดมาทางหนองห้างจะได้ไม่หลงป่า เนื่องจากริมหนองห้างเป็นที่โล่งแปลนเดินได้สะดวก พอเดินพ้นออกจากหนองห้างก็จะเป็นหนองพิลาศ เดินตามฮ่องหนองพิลาศลงมาก็จะถึงหัวนาแหลม
เนื่องจากเป็นหน้าแล้ง เสือคงจะมาลงกินน้ำที่หนองห้าง พอแม่ใหญ่ลุยป่าเห็ดทะลุออกมาหนองห้างก็เจอเข้ากับเสือกำลังลงกินน้ำพอดี แม่ใหญ่ตกใจที่เจอเสือ ส่วนเสือก็ตกใจที่เจอคน ทั้งเสือทั้งคนต่างก็ตื่นตกใจกัน ต่างก็จ้องมองกัน เสือมันย่อตัวลงเหมือนจะกระโดดตะครุบ แม่ใหญ่ก็นึกถึงลูกในท้อง ทั้งแผ่เมตตา ทั้งตกใจกลัว จึงเอาเสียมตีดินตุบ ๆ แล้วร้องจาดดัง ๆ “เห้ว ๆ ไป ๆ” มันก็หันหลังเดินกลับเข้าป่า
พอพ่อโตมาหน่อย แม่ใหญ่บอกว่า เสือมันยักคิ้วให้ยิก ๆ แล้วหันหลังเดินกลับเข้าป่าไป
แม่ใหญ่เล่าให้พ่อฟังว่า ตอนนั้น เสือมันย่อตัวลงตาจ้องเขม็งเหมือนมันจะกระโจนตะครุบ แต่มันก็ไม่ตะครุบ แม่ใหญ่จึงเอาด้ามเสียมตีดินตุบ ๆ พร้อมกับร้องตะโกนไล่ เสือก็ไปทางเสือ คนก็ไปทางคน
ตอนหลัง แม่ใหญ่เล่าให้ญาครูเก่งฟัง ญาครูเก่งบอกว่า “ถ้าลูกในท้องเจ้าบ่เป็นผู้ชาย เสือกินเจ้าแล้วละ”
ญาครูเก่งจะเป็นพระมาจากไหน พ่อก็ไม่รู้จัก เพราะตอนเป็นหนุ่มพ่อก็มุ่งแต่เรื่องทำมาหากิน ไม่ได้สนใจทางพระทางเจ้าเท่าไหร่ ท่านจะมาหาพ่อถ่านหรือจะมาอยู่ที่โนนวัด ก็ไม่แน่ใจ เพราะเมื่อก่อนโนนวัดยังมีพระไปมาอยู่บ้าง ตอนหลังถูกปล่อยทิ้งร้างไป ผู้ใหญ่บ้านชิดจึงเช่าปลูกปอ พ่อกับแม่ก็ไปเกี่ยวหญ้าจากโนนวัดมาให้วัว
ญาครูเก่งท่านเป็นพระที่ดังมาก พ่อได้ยินชื่อเสียงท่าน แต่ไม่เคยได้เห็นท่าน พอได้ยินว่าญาครูเก่งมาชาวบ้านก็เฮกันไปกราบ แม่ใหญ่ก็คงไปกับเขา เพราะแม่ใหญ่ชอบทางพระ อายุญาครูเก่งก็คงจะใกล้ ๆ กับพ่อถ่าน เพราะท่านไปมาหาสู่กันอยู่เป็นประจำเหมือนพ่อถ่านทัน วัดท่ง
ทุกวันนี้ บ้านเมืองเจริญขึ้น ถนนหนทางไปมาสะดวก บ้านก็เป็นบ้าน เมืองก็เป็นเมือง ผู้คนถางป่าบุกเบิกที่ทาง ขุดดินถมหนองทำสวนยาง ปลูกไร่ปอ สัตว์ป่าก็แตกหนีหมด หนองก็ไม่ได้เป็นหนองเหมือนอย่างเดิมแล้ว ป่าก็แปนเอิดเติด* จึงไม่หลงเหลือสภาพป่า สภาพหนองแบบเดิมให้เห็น (*แปนเอิดเติด คือ โล่งเตียน)
เรื่องแม่ใหญ่เจอเสือที่หนองห้าง ยักคิ้วใส่แม่ใหญ่ จึงกลายเป็นเพียงเรื่องราวที่พ่อเล่าขานสู่ลูกหลานฟัง
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๒๖ “เรื่องของเสือที่หนองห้าง” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร