ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๑ “จักรยานของพ่อ”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒๑.
จักรยานของพ่อ
การเดินทางของชาวบ้านในยุคก่อนนั้น นอกจากเกวียนแล้ว จักรยานก็เป็นพาหนะที่จำเป็นในการเดินทางอย่างหนึ่ง
เกวียนใช้ในการรับจ้างและขนข้าวของ ส่วนจักรยานใช้ในการขับขี่ให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น
พ่อเล่าว่าเมื่อก่อนถนนจากบ้านเข้าเมือง เป็นทางดินทราย ต่อมาก็พัฒนามาเป็นทางหินแฮ่ เวลามีรถโดยสารวิ่งผ่านมา ฝุ่นจากถนนหินแฮ่ก็จะฟุ้งกระจาย คละคลุ้ง มองแทบไม่เห็นทาง ใครถีบจักรยานก็ต้องหยุด รอให้รถวิ่งผ่านไปก่อน จึงถีบจักรยานไปต่อ ต้นไม้สองข้างทาง แดงเต็มไปด้วยฝุ่นขี้หินแฮ่
พอถึงหน้าฝน น้ำก็ขังเป็นหลุมเป็นบ่อ ยิ่งปีไหนมีการเทหินซ่อมทางใหม่ แม้จะมีรถเกรด รถบดวิ่งกลับไปกลับมาบดหินแฮ่ให้ถนนเรียบ แต่พอฝนเทลงมา รถวิ่งหน่อยก็กลายเป็นบวก ทางก็เต็มไปด้วยเลนดินเหนียวจากลูกรัง ติดเท้าติดเกิบ เดินไม่ระวังก็ลื่น คนขับรถไปมาต้องระวังให้ดี ถ้าไม่ระวัง รถก็อาจไถลลงข้างทางได้
พ่อเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญของหมู่บ้านว่า คราวหนึ่ง รถประจำทางประสบอุบัติเหตุไถลตกข้างทาง ใกล้คลองไผ่ ทำให้แม่ใหญ่คำตาตกออกจากรถตายทั้งกลม ที่ตรงนั้นจึงเฮี้ยน เข็ดขวาง คนลือกันไปว่า ยามโพล้เพล้เข้าใต้เข้าไฟมักมีคนเห็นแม่ใหญ่คำตายืนอุ้มลูกคอยรถอยู่ข้างทาง บางคนถึงกับลือไปว่า กลางแสก ๆ ก็เห็น คนจึงเรียกตรงนั้นว่า “ค้อยแม่ใหญ่คำตา” ใครขับรถผ่านไปมาต้องบีบแตรขอทาง ชาวบ้านจึงไปนิมนต์พ่อถ่านให้มาทำพิธีฝังดาบกันแก้เอาไว้ แผ่เมตตาขอให้ไปผุดไปเกิด จึงค่อยสงบ ตั้งแต่นั้นมา
ถัดจากค้อย*แม่ใหญ่คำตาไป(*ค้อย คือ มอ หรือเนิน) เป็นสะพานคลองไผ่ ขึ้นค้อยคลองไผ่ พ้นป่ายางใหญ่ไปจึงถึงท่งกุดลาด เมื่อก่อนสะพานคลองไผ่ยังเป็นสะพานไม้ น้ำมูลหนุนชลประทานขึ้นมาจากวังหล่ม จะท่วมสะพานคลองไผ่เป็นประจำ มีปีหนึ่งน้ำท่วมใหญ่ สะพานคลองไผ่ขาด พ่อถ่านพาพระเณรมาลอยน้ำช่วยชาวบ้านซ่อมสะพานให้สัญจรไปมาได้
ระหว่างทางเข้าเมือง พอออกจากหมู่บ้าน พ้นคูผีแปลงคำขี้นาคไป ยังเป็นป่าดงหนาทึบจนถึงทุ่งกุดลาด มีต้นยางใหญ่และไม้นานาพันธุ์สลับกับป่าเห็ดอยู่สองข้างทาง
ต่อมา เมื่อมีสถานีวิทยุเพื่อการศึกษามาตั้งอยู่ในดงยางใกล้คลองไผ่ ทางหินแฮ่เริ่มถูกพัฒนากลายเป็นทางลาดยาง จากสะพานไม้ก็กลายเป็นสะพานปูน จากป่ารกร้างก็เริ่มแปนออก แล้วป่าไผ่ที่คลองไผ่ก็หมดไป กลายเป็นบ้านเรือนผู้คนอย่างทุกวันนี้
ตอนทางการทำทางออกมาจากเมือง จากทางเกวียนดินทรายมาเป็นทางหินแฮ่ ทำถึงหมู่บ้านไหน ชาวบ้านก็มาช่วยกันเก็บรากไม้ พอมาถึงบ้านเรา พ่อถ่านก็เกณฑ์ชาวบ้านไปช่วยกันเก็บเศษไม้ เก็บรากไม้ออกจากถนน ต่อมา เริ่มมีรถประจำทางมาวิ่ง การเดินทางเข้าเมืองจึงสะดวกขึ้น แล้วผู้คนก็เปลี่ยนการเข้าเมืองทางเรือไฟมาเป็นทางรถ
ยุคก่อนนั้น นอกจากผู้คนจะใช้เกวียนแล้ว จักรยานก็เป็นพาหนะที่สำคัญในการเดินทางอย่างหนึ่งเช่นกันเพราะไปมาสะดวก ใครพอมีเงินก็จะหาซื้อจักรยานไว้ใช้
พ่อเล่าว่าตอนนั้นพ่อเห็นใคร ๆ ก็มีจักรยานกันทั้งนั้นจึงอยากได้จักรยานกับเขาบ้าง ตีปอขายได้ปีหนึ่งจึงขอแม่ใหญ่ซื้อ แม่ใหญ่ก็ให้เงินไปซื้อจักรยานมาคันหนึ่ง
จักรยานคันแรกของพ่อตราฟิลลิปส์ ซื้อมาจากร้านในเมือง ราคา ๕๐๐ บาท เป็นจักรยานขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก ทำด้วยเหล็กหนา มีคาน ตากลม ๆ ตะแกงสำหรับคนนั่งซ้อนท้าย หรือสำหรับใช้ขนของ เป็นเหล็กสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ เรียกกันว่า “จักรยานผู้ชาย”
ในยุคนั้น นอกจากคนจะนิยมใช้จักรยานฟิลลิปส์แล้ว ก็ยังมีจักรยานแสตนดาร์ดอีกชนิดหนึ่งที่คนนิยมใช้ แล้วแต่ว่าใครจะชอบตราไหน
ตอนนั้นยังไม่มีรถมอเตอร์ไซค์อย่างทุกวันนี้ คนนิยมใช้จักรยานกันเป็นส่วนมาก ใคร ๆ ก็มีจักรยานกันทั้งนั้น จะไปเมืองไปนา ไปเที่ยวที่ไหน หรือไปจังหันจังเพลก็ถีบจักรยานไป
เวลามีงานบุญ หมู่บ้านไหนมีหมอลำก็ขี่จักรยานซ้อนท้ายตามกันไปฟังลำ ยิ่งหมู่บ้านไหนจ้างหมอลำคณะดัง ๆ มางัน* (*งัน คือ ฉลอง) ใครไม่มีจักรยานก็ต้องลงทุนเดินไปฟังกันเลยทีเดียว
แม้จักรยานจะเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทาง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีกันได้ทุกบ้านทุกเรือน เพราะจักรยานคันหนึ่งถึงจะมีราคาหลักร้อย ก็นับว่ามีราคาค่อนค้างสูงสำหรับคนในยุคนั้น หมู่บ้านหนึ่ง ๆ จึงมีจักรยานเพียงไม่กี่คัน
พ่อบอกว่าตอนไปคัดเลือกทหารในเมือง พ่อก็ปั่นจักรยานไป ตอนนั้นไปกันหลายคน มีพ่อฝั้น พ่อหนูแดง พ่อแสง(เค) พ่อตา พ่อคำดี และอาวพา ถีบจักรยานซ้อนท้ายกันไป แล้วเอาไปจอดฝากไว้ที่บ้านสาวหมุด พ่อใหญ่กาญจน์ ฉัตรวิไล ปากห้วยวังนอง จากนั้น จึงไปคัดเลือกทหาร ตอนเย็นก็ถีบจักรยานกลับ พ่อให้พ่อแสง(เค)เพื่อนสนิทของพ่อ ซ้อนท้ายไปด้วยเพราะพ่อแสงไม่มีจักรยาน
พ่อบอกว่าปีนั้นในหมู่บ้านจับทหารติด ๓ คน คือ พ่อแสง(เค) พ่อตา และพ่อคำดี ส่วนพ่อจับไม่ติด
พ่อใช้จักรยานฟิลลิปส์คันนี้อยู่นานหลายปี จนออกเรือนกับแม่ ลูกเริ่มโตกันแล้วจึงมีจักรยานแบบใหม่ออกมา คนบอกว่าเป็นจักรยานอย่างดี เขาทำเองใช้เหล็กอย่างดี พ่ออยากได้จักรยานที่ออกมาใหม่ จึงขายจักรยานฟิลลิปส์ ราคา ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ บาท รวมกับเงินขายวัว เอาไปซื้อจักรยานคันใหม่ ราคา ๑,๓๐๐ หรือ ๑,๖๐๐ บาท เป็นจักรยานสีแดง
พ่อใช้จักรยานสีแดงคันนี้มานาน ทั้งขี่ไปดูมวย ขี่เทียวนา ทั้งขี่ไปเกี่ยวหญ้าให้วัว เวลาเกี่ยวหญ้าให้วัวก็เอากระสอบหญ้ามัดใส่ท้ายจักรยานขนมา พอตกเย็นก็ยกขึ้นบ้านเพราะกลัวหาย
เมื่อมีมอเตอร์ไซค์เข้ามา คนก็นิยมมอเตอร์ไซค์กัน พ่อขายวัวได้ปีหนึ่ง จึงซื้อมอเตอร์ไซค์ใส่เป็นชื่อแม่ ใช้มาจนทุกวันนี้ ลูกเอาไปใช้เคยขายไปแล้ว แต่แม่ก็ให้ไปตามซื้อกลับคืนมา มีอยู่ปีหนึ่งพ่อขี่มอเตอร์ไซค์มาเสียอยู่กลางทาง ใกล้กับร้านซ่อม พ่อเห็นว่ามอเตอร์ไซค์คันนี้เก่าแล้ว ใช้มานานมาก คิดจะซื้อคันใหม่จึงขายให้ร้านซ่อม แม่รู้เข้าก็ให้ไปซื้อกลับคืนมาอีก คงเห็นว่าเป็นมอเตอร์ไซค์คู่ทุกข์คู่ยากมาด้วยกัน
พอมีมอเตอร์ไซค์จึงใช้มอเตอร์ไซค์เป็นหลัก จักรยานแดงคันนั้น ก็ไม่ได้ใช้อีกต่อไป มีคนมาขอซื้อต่อพ่อจึงขายให้เขาไป
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๒๑ “จักรยานของพ่อ”
ผู้เขียน ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์