ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียง
ว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๒ “ข้าวหลามรสมือแม่ อร่อยกว่าข้าวหลามใดๆ”
แม่มักจะขมีขมันกับการเผาข้าวหลามสำหรับคนพิเศษ ยิ่งทำเพื่อใส่บาตร หรือถวายพระในงานบุญประจำปีของหมู่บ้าน แม่ยิ่งพิถีพิถันมากขึ้นอีกหลายเท่า
สำหรับคนทั่วไปแล้ว ข้าวหลามอาจเป็นแค่ขนมกินเล่นชนิดหนึ่ง แต่สำหรับข้าวหลามรสมือแม่ มันคืออะไรที่พิเศษมาก มันเป็นของฝากที่พิเศษ สำหรับคนพิเศษ
ถ้าไม่มีคนพิเศษมาเยี่ยม หรือ ไม่มีงานบุญ ก็อย่าหวังว่า จะได้กินข้าวหลามอร่อย ๆ รสมือแม่
ข้าวหลามนิยมทำกินกันในฤดูหนาว หลังข้าวใหม่ขึ้นเล้า ยิ่งได้ข้าวใหม่ ยิ่งทำให้ข้าวหลามหอมกรุ่น มีรสอร่อยมากขึ้น ไม้ไผ่ที่จะนำมาเผาข้าวหลาม ต้องเลือกจากไผ่บ้าน ลำงาม ๆ ไม่ใหญ่จนเกินไป พ่อจะทำหน้าที่ไปเลือกตัดมา ลำไผ่ต้องไม่อ่อน หรือไม่แก่จนเกินไป เพราะถ้าอ่อนเกินไป กระบอกไม้ไผ่จะไม่มีเนื้อเยื่อ หรือถ้าแก่เกินไป เนื้อเยื่อก็จะแข็งและเหนียว เผาข้าวหลามไม่อร่อย
เคยได้ยินแม่เล่าว่า การเผาข้าวหลามของชาวบ้านแบบดั้งเดิมนั้น เผากันแบบธรรมดา ถ้าหามะพร้าวทำกะทิไม่ได้ ก็ให้ซาวข้าวสารเหนียวกับน้ำเปล่า เติมน้ำตาล แล้วโรยด้วยเกลือพอให้มีรสหน่อยเท่านั้น ก็พอได้
แต่ถ้าได้มะพร้าวมาทำกะทิ แล้วใส่ถั่วลิสงบ้าง ถั่วดำบ้าง หรือเติมงาหน่อย ก็จะเพิ่มความอร่อยขึ้นไปอีก ยิ่งถ้าได้ข้าวก่ำ(ข้าวดำ) มาทำเป็นข้าวหลาม ยิ่งเพิ่มสีสันให้ข้าวหลามมีรสชาติน่ากินยิ่งขึ้น ส่วนที่อร่อยที่สุดของข้าวหลาม คงหนีไม่พ้นส่วนที่ถูกไฟไหม้กระบอกไม้ไผ่จนถึงข้าว ทำให้ข้าวหลามหอมกลิ่นไหม้นิด ๆ กรอบหน่อย ๆ
เด็ก ๆ มักเอาส่วนยอดลำไผ่เล็ก ๆ ที่เหลือจากผู้ใหญ่มากรอกข้าวเผาข้าวหลามเป็นของตัวเอง ไม่ว่า จะผ่านมากี่ปีต่อกี่ปี ข้าวหลามรสมือแม่ก็ยังอร่อยเสมอ
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๙๓๓๗๘-๖-๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์ เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๒ “ข้าวหลามรสมือแม่ อร่อยกว่าข้าวหลามใดๆ” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ส่วนหนึ่งจากคำนำ
“ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน”
นับตั้งแต่วันที่โยมพ่อโยมแม่ยอมอนุญาตให้ลูกชายบรรพชาเป็นสามเณร (พุทธศักราช ๒๕๒๗) จนถึงวันเข้าสู่มณฑลแห่งการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ (พุทธศักราช ๒๕๓๕ ถึงแม้โยมทั้งสองจะลำบาก จะขัดสน จะประสบกับความยุ่งยาก ในการประกอบอาชีพเพียงใด ก็ตาม แต่โยมทั้งสอง ก็ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากพระลูกชาย ในฐานะของลูก เกินไปจากสมณวิสัย ที่พระสงฆ์จะพึงแสดงความกตัญญูต่อโยมพ่อโยมแม่ได้ จึงไม่ต้องคอยกังวลกับฐานะและความเป็นอยู่ของโยมทั้งสอง ทำให้มีจิตมุ่งตรงต่อการทำงานพระศาสนา สนองงานพระอุปัชฌาย์ เท่ากับโยมทั้งสองให้โอกาสลูกชาย ได้ทำห้าที่พระสงฆ์ อย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ทั้งนี้ เพราะโยมทั้งสองเคารพในความเป็นพระของลูกชาย ทั้งยังรู้แจ้งชัดว่า พระสงฆ์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนอย่างไร
เมื่อความชรามาเยือน ในวันที่วัยและสังขารของโยมทั้งสองเริ่มโรยราลง เพื่อแสดงความขอบคุณโยมทั้งสอง ที่ยอมสละลูกชายถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อแสดงคุณของโยมทั้งสองให้ปรากฏ จึงได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น
บัดนี้ มโนรสในใจได้ถึงความบริบูรณ์แล้ว ขอท่านผู้มีส่วนอุปถัมภ์การทำหน้าที่พระสงฆ์ของอาตมภาพ จงเป็นผู้มีความไพบูลย์ในธรรม และร่วมอนุโมทนาในโอกาสนี้ด้วย
ญาณวชิระ
พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร, มกราคม ๒๕๖๗
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
55 ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘-๖๑๖-๙๓๓๗๘-๖-๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร