“ควรทำความเพียรเสียตั้งแต่วันนี้
ใครจะรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะตายหรือไม่ ฯ”
(พระพุทธพจน์)
ส่วนหนึ่งจากคำนำ “ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน”
นับตั้งแต่วันที่โยมพ่อโยมแม่ยอมอนุญาตให้ลูกชายบรรพชาเป็นสามเณร (พุทธศักราช ๒๕๒๗) จนถึงวันเข้าสู่มณฑลแห่งการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ (พุทธศักราช ๒๕๓๕ ถึงแม้โยมทั้งสองจะลำบาก จะขัดสน จะประสบกับความยุ่งยาก ในการประกอบอาชีพเพียงใด ก็ตาม แต่โยมทั้งสอง ก็ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากพระลูกชาย ในฐานะของลูก เกินไปจากสมณวิสัย ที่พระสงฆ์จะพึงแสดงความกตัญญูต่อโยมพ่อโยมแม่ได้ จึงไม่ต้องคอยกังวลกับฐานะและความเป็นอยู่ของโยมทั้งสอง ทำให้มีจิตมุ่งตรงต่อการทำงานพระศาสนา สนองงานพระอุปัชฌาย์ เท่ากับโยมทั้งสองให้โอกาสลูกชาย ได้ทำห้าที่พระสงฆ์ อย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ทั้งนี้ เพราะโยมทั้งสองเคารพในความเป็นพระของลูกชาย ทั้งยังรู้แจ้งชัดว่า พระสงฆ์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนอย่างไร
เมื่อความชรามาเยือน ในวันที่วัยและสังขารของโยมทั้งสองเริ่มโรยราลง เพื่อแสดงความขอบคุณโยมทั้งสอง ที่ยอมสละลูกชายถวายเป็นพุทธบูชา และเพื่อแสดงคุณของโยมทั้งสองให้ปรากฏ จึงได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น
บัดนี้ มโนรสในใจได้ถึงความบริบูรณ์แล้ว ขอท่านผู้มีส่วนอุปถัมภ์การทำหน้าที่พระสงฆ์ของอาตมภาพ จงเป็นผู้มีความไพบูลย์ในธรรม และร่วมอนุโมทนาในโอกาสนี้ด้วย
ญาณวชิระ
พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร, มกราคม ๒๕๖๗
แด่
ความชราอันเงียบงันของโยมพ่อและโยมแม่
นายคำเกิน นางหนูเพชร วงศ์ชะอุ่ม
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๑๐ “คำขี้นาค วังหล่ม และทางไปดงบะเฮน” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
๑๐
คำขี้นาค วังหล่ม และทางไปดงบะเฮน
วังหล่มอยู่ห่างจากถนนใหญ่ไม่ไกลนัก เป็นฮ่องน้ำขนาดใหญ่ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียนอุบลราชธานีศรีวนาลัย-โรงเรียนพระวอพระตา บ้านหนองทาม และบ้านกระโสบ
เวลาไปนาดงบะเฮน ถ้าเดินตามถนนหินแฮ่มาทางคำขี้นาคต้องข้ามสะพานไปฮ่องวังหล่ม ตรงนาพ่อใหญ่น้อย มีน้ำไหลจากคำขี้นาคไปลงชลประทาน น้ำในฮ่องวังหล่มจะไหลแรงมากในหน้าฝน พอถึงหน้าแล้ง ก็จะมีน้ำคำซึมอยู่ตลอดทั้งปี ช่วงที่เป็นฮ่องจะมีสะพานไม้สำหรับข้ามไปฝั่งดงบะเฮน จากนั้นก็เป็นทางเกวียนดินทรายไปจนถึงอ่างชลประทาน สองข้างทางเต็มไปด้วยดงติ้ว ดงก่อ ไม้แดงและป่ายางนา ข้ามคูชลประทานไปจึงเป็นนาฟากฮ่องของน้าหน่อย น้าปุ้ม
ด้วยความที่น้ำฮ่องไหลจากท่งคำขี้นาคผ่านนาพ่อใหญ่น้อยไปลง วังหล่ม วังหวาย คนที่สัญจรไปมาระหว่างดงบะเฮนกับถนนใหญ่ จึงเรียกสะพานข้ามฮ่องบริเวณนี้ว่า “สะพานฮ่องวังหล่ม” ไปด้วย
สะพานไม้ไปฮ่องวังหล่มเป็นสะพานวัดใจคนขับเกวียนเพราะเป็นสะพานไม้เก่าแก่มาก อยู่ในสภาพโย้เย้จะพังแหล่ไม่พังแหล่ ไม้สะพานบางช่วงก็ฉีกขาดแตกหักหลุดออก ใครมีเกวียนขับไปนา ข้ามสะพานวังหล่มต้องชำนาญจึงบังคับวัวให้เดินตรง จนล้อเกวียนไต่ไปตามแนวไม้ที่ปะแล้วปะอีกได้ หากไม่ชำนาญ ล้อเกวียนอาจตกร่องไม้ที่แตกขรุขระ ทำให้ล้อเกวียนติดสะพานได้ หากไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยมีใครอยากขับเกวียนข้ามตามสะพาน
คนที่ไม่มั่นใจว่าจะขับเกวียนผ่านไปได้จึงใช้วิธีอ้อมลงฮ่องข้ามไป เว้นแต่หน้าฝนน้ำฮ่องสูงไหลแรงต้องฝืนขับเกวียนไต่สะพานข้ามฮ่องอย่างทุลักทุเล หรือไม่ก็เลี่ยงไปใช้เส้นทางหนองพิลาศแทน
เส้นทางบางช่วงถูกวัวควายเหยียบย่ำเทียวไปเทียวมา ถูกล้อเกวียนบดดินเป็นแนวลึกลงไป บ่งบอกว่าทางดงบะเฮนผ่านการเดินทางของผู้คนมาแล้วหลายชั่วอายุคน
ถ้าไปนาหัวบุ่ง พอเดินตามทางหินแฮ่ออกมาจนพ้นหมู่บ้านก็เลี้ยวลงทางดินทรายท่งข้าวเม่าไปตามทางหลวงกระโสบ เมื่อถึงหนองผือ ต้องเลี้ยวซ้ายไปทางหนองแคน ทางบางช่วงจะเป็นบวก มีหล่ม มีโคลน ค่อนข้างลึกและยาว อยู่ตรงหนองแคน ไปมาลำบาก
เวลาไปนาดงบะเฮนพ่อจะเลือกใช้เส้นทางไหนก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้ง พ่อจะใช้เส้นทางหนองพิลาศเป็นหลัก เพราะระยะทางสั้นกว่า ใช้เวลาเดินทางไม่มาก แม้ตลอดทางหนองพิลาศจะเป็นทางดินทราย ไม่มีหล่ม แต่ก็ต้องออกเช้าวัวจะได้ไม่ร้อนแดด ระหว่างทางเกวียนยังมีร่มไม้บังแดด ไม่ทำให้วัวเหนื่อยมาก พอเลี้ยวซ้ายลงจากทางหินแฮ่ (*ทางหินแฮ่ คือ ทางลูกรัง) ก็ขับเกวียนไปตามทางดินทรายผ่านท่งข้าวเม่า แล้วเลี้ยวขวาไปทางหนองผือผ่านนาแม่ป้า พ่อลุง ไปจนถึงหนองพิลาศก็เข้าเขตดงบะเฮน
ถ้าเป็นหน้าฝน แม้เส้นทางหนองพิลาศใกล้กว่าแต่พ่อก็จะเลี่ยง เพราะหน้าฝนเส้นทางหนองพิลาศถูกวัวควายเหยียบย่ำจะเกิดโคลน มีหล่มอยู่หลายแห่ง ทำให้วัวลากเกวียนเหนื่อย ใครผ่านไปผ่านมาต้องตัดกิ่งไม้ ฟดไม้โป๊ะโคลน โป๊ะหล่ม พอให้ผ่านไปได้ พ่อจึงเลือกไปทางคำขี้นาคแทน ต้องขับเกวียนไปทางถนนใหญ่ ตามทางหินแฮ่ จนถึงทางเข้าบ้านหนองทามก็วกซ้ายลงทางดินทราย แล้วข้ามสะพานไม้วังหล่มไปจนถึงชลประทาน
แม้ระยะทางวังหล่มจะไกลกว่า แต่วัวก็ไม่เหนื่อยมาก เพราะหน้าฝนไม่ต้องเดินลุยหล่มลุยโคลนเหมือนเส้นทางหนองพิลาศ เว้นแต่ปีไหนน้ำฮ่องวังหล่มสูงและไหลแรง วัวแก่เกวียนข้ามลำบากก็ต้องใช้เส้นทางหนองพิลาศ
การไปทางวังหล่มต้องไปตามถนนใหญ่ อาจมีรถประจำทางวิ่งผ่านมาก็ต้องคอยระวัง ไม่ให้วัวตื่นตกใจ ยิ่งวัวฝึกเทียมเกวียนใหม่ ไม่คุ้นเสียงรถยิ่งต้องระวัง อาจพาเกวียนเตลิดได้
พ่อบอกว่าเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว หมู่บ้านเราแทบจะไม่มีรถวิ่งผ่าน นานทีจะมีรถประจำทางวิ่งผ่านมาสักคัน จะเข้าเมืองทีต้องเข้าออกตามเวลา หากผิดเวลาก็จะหารถกลับบ้านไม่ได้ วันไหนมีรถแปลก ๆ ผ่านหมู่บ้าน เด็ก ๆ ก็จะพากันไปยืนมุงดู วัวที่ไม่คุ้นเสียงรถจึงมักจะตกใจกลัว ยิ่งวันไหนมีรถเต่าวิ่งผ่านมา เรียกว่าต้องร้องบอกกันมาดูทั้งหมู่บ้าน
เส้นทางวังหล่มถูกล้อเกวียนของคนนาดงบะเฮนบดทับรุ่นแล้วรุ่นเล่า ผ่านมาหลายชั่วอายุคนจนเป็นแนวลึก แรงพ่อเริ่มตก วัยชราของพ่อเริ่มมาเยือนพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงวิถีการเป็นอยู่ของหมู่บ้าน แม้วันนี้ทางวังหล่มจะไม่มีล้อเกวียนของพ่อบดลงบนเส้นทางนี้อีกแล้ว แต่ทางวังหล่มก็ไม่เคยว่างเว้นจากคนนาดงบะเฮนเทียวทาง
ชรัง อนตีโต : เมื่อความชรามาเยือน ๑๐ “คำขี้นาค วังหล่ม และทางไปดงบะเฮน” ผู้เขียน ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ชรัง อนตีโต
เมื่อความชรามาเยือน
๕๕ ความเรียงว่าด้วยบทสนทนาของพระลูกชายกับโยมพ่อผู้ชรา
ISBN : ๙๗๘ – ๖๑๖ – ๙๓๓๗๘ – ๖ – ๗
ผู้เขียน : ญาณวชิระ
(พระมหาเทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม)
อดีต พระราชกิจจาภรณ์
ปีที่พิมพ์ : ๒๕๖๗
จำนวนพิมพ์ : ๑,๐๐๐ เล่ม
จำนวนหน้า : ๓๐๔ หน้า
จัดพิมพ์ โดย : สถาบันพัฒนาพระวิทยากร
เลขที่ ๓๔๔ อาคารสันติวัคคีย์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐
พิมพ์ที่ : หจก.นิวไพศาลการพิมพ์
เลขที่ ๕๓ เจริญนคร ๔๖ บางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร