พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระวิจิตรธรรมาภรณ์
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระวิจิตรธรรมาภรณ์

จากปลายปากกาอันอบอุ่น สู่หลักธรรมในชีวิตอันงดงาม

ทรัพย์ที่แท้จริง ไม่ว่าเกิดภพชาติใด ก็จะตามไปช่วยเหลือเกื้อกูลไม่ให้ลำบาก

จดหมายธรรม ที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้เกิดความรัก ความศรัทธา แห่งความกตัญญู

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อนันตะ พิมพ์ครั้งที่ ๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อนันตะ พิมพ์ครั้งที่ ๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ (ฉบับที่ ๔)

(ตอนที่ ๓ ) “โลกของสรรพสัตว์ทั้งสามตามคติทางพระพุทธศาสนา

(ตอนที่ ๑) “สัตว์โลกและการท่องเที่ยวไปในโลกเบื้องต่ำ ”

สัตว์โลกนับว่าเป็นโลกเบื้องต่ำ  เป็นภพภูมิของสัตว์ที่มืดบอดทางด้านจิต  ไม่มีปัญญาไม่มีเมตตา  ดำเนินชีวิตด้วยสัญชาตญาณ  เมื่อหิวก็เข่นฆ่ายื้อแย่ง  เมื่ออิ่มก็นอน  ผู้ที่ไม่มีศีล ๕ ซึ่งเป็นลักษณะจิตของมนุษย์  มักจะเกิดและท่องเที่ยวไปในภพภูมิเบื้องต่ำนี้

ภพภูมิเบื้องต่ำ ประกอบด้วย ๔ ภูมิ คือ  

๑. ติรัจฉานภูมิ  โลกของสัตว์เดรัจฉาน

๒. เปตติวิสยภูมิ  โลกของเปรต

๓. อสุรกายภูมิ  โลกของอสูรกาย

๔. นิรยภูมิ  โลกของสัตว์นรก

ทั้ง ๔ ภูมินี้  พระพุทธองค์สอนให้หลีกเลี่ยง  เพราะเป็นภูมิที่มืดมน  มืดเพราะไม่มีกำลังสติปัญญา  ที่จะคิดอ่านทำบุญทำกุศล  มีโอกาสทำความดีได้น้อย  แต่มีโอกาสทำบาปทุกลมหายใจ  เมื่อไปเกิดในภพภูมิชั้นต่ำแล้ว  การจะพ้นเป็นเรื่องยาก  เพราะความที่ภพชาติปกปิดไว้ไม่ให้คิดที่จะพ้นไปจากภพชาตินั้น

จะยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น  เกิดเป็นเสือ  การที่เสือจะงดเว้นจากการล่าเนื้อเป็นอาหาร  เพื่อที่จะพ้นจากการเป็นเสือในภพชาติต่อไปเป็นเรื่องยาก  ส่งผลให้เกิดเป็นสัตว์ เดรัจฉาน  ก็จะเป็นสัตว์เดรัจฉานต่อไปอีกหลายร้อยชาติ  จนกว่าจะพ้นจากกรรม  คือ จนกว่าการยึดติด (หลง) ในภพชาติสัตว์จะเบาบางลง  จึงจะเปลี่ยนภพชาติใหม่ไปเกิดเป็นสิ่งอื่นตามกำลังบุญกุศล

เราคงเคยได้ยินได้ฟังพระสงฆ์เทศน์ว่า  คนทำกรรมอย่างนั้นๆ  ตายแล้วจะไปเกิดเป็นหมู  หมา  กา  ไก่  เท่านั้นชาติ  เท่านี้ชาติ  เมื่อก่อนคิดไม่ได้ว่า  ทำไมเกิดเป็นไก่แล้วต้องเกิดเป็นไก่ซ้ำอีก  ครั้งแล้วครั้งเล่า  บัดนี้เริ่มเข้าใจคำว่า “อุปาทาน” การยึดติดมากขึ้นเพราะอาศัยกรรมและการหลงยึดติดในภพชาติดังกล่าว  จึงนำไปสู่การเกิดเป็นสัตว์ชนิดนั้นๆ บ่อยๆ

พอจะกล่าวให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ว่า  ผู้ที่เกิดเป็นคนก็ไม่มีใครอยากตายจากความเป็นคน  เกิดเป็นสุนัขก็ไม่มีสุนัขตัวไหนอยากตายจากความเป็นสุนัข  โดยที่สุดแม้สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยอย่างมด  ปลวก  ยุง  หรือ  แมลงวันก็ไม่อยากตายจากชาติมด  ชาติปลวก  ชาติยุง  และชาติแมลงวัน  เช่น  เราจะตียุงมันก็บินหนี  ที่บินหนีก็เพราะมันกลัวว่าจะตายจากความเป็นยุง เกิดชาติหน้ามันก็เป็นยุงอีก  เพราะอุปาทาน  คือ การหลงยึดติดคิดไปว่าชาติยุงดี

คนเราก็เหมือนกัน  ที่เราเกิดเป็นคน  ชาติแล้วชาติเล่า  เวียนว่ายตายเกิดอยู่เช่นนี้ก็อาศัยการที่เรามีอุปาทานหลงยึดติดไปว่า  ชาติคนดีเลิศประเสริฐ  จึงไม่อยากตายจากความเป็นคน  ที่เราต้องดิ้นรนขวนขวายจนสายตัวแทบขาด  ก็เพราะกลัวจะตายจากความเป็นชาติคน

หรือแม้กระทั่งสัตว์ทั้งหลาย  เช่น  หมา  กา ไก่  เป็นต้น  ที่มันไม่ยอมอดตายก็เพราะมันกลัวจะตายจากความเป็นชาติหมา  เนื่องจากหลงคิดว่าชาติหมาดีนั่นเอง

หากไม่มีบุญหรือกรรมอย่างอื่นมาตัดรอนขัดขวางก็จะทำให้กลับชาติมาเกิดเป็นชาติคนหรือชาติหมาเหมือนเดิม

อย่างนี้เรียกว่า  มีความมืดบอด  คือ  มีอวิชชาความไม่รู้  ปกปิดสติปัญญาไว้  เกิดอุปาทานการยึดติด  ไม่ให้คิดหาทางออกไปจากความเป็นมด  ความเป็นปลวก  ความเป็นสุนัขความเป็นคน  ความเป็นเทวดา  หรือแม้กระทั่งจากความเป็นพรหม

มนุษย์โลก  โลกของความเป็นมนุษย์

มนุษย์โลกเป็นภพภูมิชั้นกลางที่สัตว์ท่องเที่ยวเวียนเกิด  เป็นภพภูมิของผู้ที่บำเพ็ญบุญกุศล  คือ  ให้ทาน  รักษาศีล  บำเพ็ญสมาธิภาวนาตามสมควรแก่ฐานะ  สำหรับมนุษย์โลกคง ไม่ต้องกล่าวให้กว้างขวางออกไป  เพราะเรารู้กันดีอยู่แล้วว่า  เป็นอย่างไร

ในที่นี้จะขอกล่าวแต่เพียงที่ท่านจำแนกมนุษย์ไว้เป็น ๔ ประเภท คือ

๑. มนุษย์นรก  จำพวกคนที่มีความเป็นอยู่ทุกข์ทรมาน  คนทั่วไปอยู่บ้านอยู่เรือน  แต่เขากลับถูกจองจำ  ติดคุกติดตาราง ถูกลงโทษทรมานแสนสาหัส

๒. มนุษย์เปรต  จำพวกคนที่เป็นอยู่ลำบากอัตคัดขัดสน  แสวงหาข้าวปลาอาหาร  กว่าจะได้มาพอประทังชีวิต  ก็แสนจะลำบากฝืดเคือง  ขยันหาจนสายตัวแทบขาด  ก็ไม่พออยู่ พอกิน  มีแต่ความอดอยากยากแค้น

๓. มนุษย์เดรัจฉาน  จำพวกคนที่ต้องอาศัยคนอื่นจึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้  ไม่มีสติปัญญาพอที่จะคิดทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยตนเองในการประกอบอาชีพ  ก็สุดแท้แต่ว่า  เขาจะให้ทำอะไร  จะชอบใจหรือไม่ชอบใจ  ก็ต้องก้มหน้าทำไป  เหมือนหมู หมา กา ไก่ วัว ควาย  บางครั้งบางคราวก็ดุร้ายเหมือนสัตว์เดรัจฉาน

๔. มนุษย์ภูต  เป็นมนุษย์จำพวกที่เป็นคนจริงๆ รู้จักบาปบุญคุณโทษ  รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด  อะไรควรทำไม่ควรทำ  มีสติปัญญาในการประกอบอาชีพ

ความแตกต่างของมนุษย์ขึ้นอยู่กับบุญและกรรมของแต่ละบุคคล”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๓) “โลกของสรรพสัตว์ทั้งสามตามคติทางพระพุทธศาสนา” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here