โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ (ฉบับที่ ๔)

(ตอนที่ ๒)

“ความแตกต่างระหว่างภพภูมิ”

จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพในอดีต
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพในอดีต

ความแตกต่างระหว่างภพภูมิ

เราอาจทำความเข้าใจข้อแตกต่างระหว่างผู้ที่จะไปเกิดในภพภูมิชั้นกลาง คือ เป็นมนุษย์ และเทวดา กับผู้ที่ไปเกิดในภพภูมิชั้นสูง คือ ไปเกิดเป็นพรหมได้ ดังนี้

 ๑. ผู้ที่จะไปเกิดในภพภูมิชั้นกลาง คือ โลกมนุษย์ และเทพในสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้นมาจากการทำความดีในระดับให้ทาน  รักษาศีล  และบำเพ็ญสมาธิในระดับหนึ่ง  แต่ยังไม่ถึงขั้นทำสมาธิจนได้ฌาณ

๒. ส่วนผู้ที่ไปเกิดในชั้นพรหมหรือภพภูมิชั้นสูงนั้น ต้องเป็นผู้ฝึกสมาธิจนได้ ฌาน และญาณต้องไม่เสื่อมด้วย  ภพภูมิชั้นสูงมีทั้งหมด ๒๐ ชั้น แบ่งเป็นรูปพรหม ๑๖ ชั้น และ อรูปพรหม ๔ ชั้น มีความละเอียดประณีตขึ้น ตามระดับจิต

การแบ่งภพภูมิอีกแบบหนึ่ง

แต่ในบางครั้ง การแบ่งภพภูมิที่สรรพสัตว์เวียนว่ายตายเกิดนั้น  ท่านก็แบ่งเป็น “โลก” เรียกว่า ๓ โลก  คนไทยรู้จักกันในชื่อ “ไตรภูมิ” คนไทยแต่โบราณนิยมเขียนภาพตามฝาผนัง โบสถ์เป็นภาพไตรภูมิไว้สอนลูกหลาน  เตือนสติให้ทำความดี ไม่ให้ทำความชั่ว  ไตรภูมิแปลว่า  ๓ ภูมิ หรือ ๓ โลกก็ได้  ตามแต่จะแปล  มีรายละเอียดดังนี้

(๑) โลกของสัตว์  เรียกว่า “สัตว์โลก” ได้แก่ โลกของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย  เปรต อสูรกาย และสัตว์นรกทั้งหลาย  เราอาจจะแบ่งตามความหนัก เบา สูง ต่ำ ได้ ดังนี้  สัตว์ เดรัจฉาน  เปรต  อสูรกาย  สัตว์นรก

(๒) โลกของมนุษย์  เรียกว่า “มนุษย์โลก” ได้แก่  คนเราทั่วไปทุกชนชาติทุกเผ่าพันธุ์ ตั้งแต่ พิกลพิการ ร่างกายไม่ครบองค์ประกอบ  ไปจนถึงสมบูรณ์ครบองค์ประกอบทุกประการ ยากจนหาเช้ากินค่ำ  จนถึงเศรษฐี  และโง่เขลาเบาปัญญา จนถึงฉลาดหลักแหลม

(๓) โลกของเทวดา  เรียกว่า “เทวโลก” ได้แก่ เทวดาในสวรรค์ชั้นต่างๆ สูงขึ้นไปถึงชั้นพรหม

แม้จะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก  แต่ก็ขอให้โยมแม่ใหญ่อย่าเพิ่งเบื่อ  อาตมาจะเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดในภพภูมิต่างๆ ให้ฟัง

ภาาพจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ภาาพจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

เหตุแห่งการเกิดในภพภูมิที่แตกต่างกัน

คนเราตายแล้วไปเกิดภพภูมิที่ดีนับว่าดี  ก็ตั้งแต่ภพภูมิระดับกลางขึ้นไป คือ เกิดเป็นมนุษย์ขึ้นไป  ผู้ที่สามารถไปเกิดในภพภูมิชั้นกลางนี้ได้ จะต้องเป็นผู้ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาบ้างตามสมควร  โดยเฉพาะต้องเป็นผู้มีศีล ๕ เป็นอย่างน้อย  เพราะจิตของคนที่มีศีล ๕ เป็นลักษณะจิตของมนุษย์ไปจนถึงจิตของเทวดา

ศีล ๕ ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ลักษณะได้ว่า  จิตเขาเหมาะที่จะเป็นมนุษย์หรือไม่  หากขาดศีล ๕ ฐานะจิตก็ต่ำลงกว่าจิตมนุษย์  ลดระดับลงเป็นลักษณะจิตของสัตว์เดรัจฉาน  เปรต  อสูรกาย  หรือสัตว์นรก  แล้วแต่ความหยาบของจิต  ลักษณะของจิตที่ต่ำลงเช่นนี้  ทำให้ภพภูมิต่อไปของคนต่ำลงไปด้วย  เรียกว่า เป็นลักษณะจิตที่เหมาะสมแก่ภพภูมิของสัตว์เดรัจฉาน  ภพภูมิของเปรต  ภพภูมิของอสูรกาย  หรือภพภูมิของสัตว์นรกทั้งหลาย

เกี่ยวกับศีล ๕ เคยได้เขียนไว้แล้ว  แต่ในที่นี้จะขอนำมาทบทวนให้ฟังอีกครั้ง  เพื่อจะได้ มีเนื้อความสืบเนื่องกัน  ศีล ๕ ข้อ นั้นประกอบด้วย

ศีลข้อที่ ๑ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตโดยเจตนา 

ซึ่งก็หมายถึง มีความเมตตาปรานีสงสารสัตว์  ให้สงสารสัตว์เหมือนสงสารลูกๆ ของตนเอง

  เรารักและสงสารลูกของเราอย่างไรก็มีความรักความสงสารสัตว์อย่างนั้น 

เรารักชีวิตเราอย่างไร  คนอื่นและสัตว์อื่นก็รักชีวิตเขาอย่างนั้น  เราหวาดหวั่นต่อความตายอย่างไร  คนอื่นและสัตว์อื่นก็หวาดหวั่นต่อความตายอย่างนั้น  จึงไม่ควรฆ่า  ไม่ควรทำลาย  ไม่ควรทำให้เขาได้รับทุกข์  ได้รับความลำบาก

ศีลข้อที่ ๒ ไม่ลักทรัพย์ 

ซึ่งหมายถึง  ไม่ปรารถนาสิ่งของ  ทรัพย์สมบัติ  ที่ได้มาโดยมิชอบธรรม  มีการฉ้อโกง เบียดเบียน คอร์รัปชันแล้วได้มา เป็นต้น  เราหวงแหนทรัพย์สมบัติของเราอย่างไร  คนอื่นก็หวงแหนทรัพย์สมบัติของเขาอย่างนั้น  จึงไม่ควรลักขโมย  หรือฉ้อโกงเอาสมบัติคนอื่นมาเป็นสมบัติของตน  อันจะเป็นสาเหตุทำให้เขาเป็นทุกข์  เศร้าโศกเสียใจ

ศีลข้อที่ ๓ ไม่ประพฤติผิดจากครองธรรมในเรื่องกาม

 กามเป็นเรื่องของชาวโลกเป็นธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน  ตลอดจนสัตว์ทุกจำพวก  แต่มีข้อแตกต่างกันระหว่างกามในมนุษย์กับสัตว์  ตรงที่มนุษย์มีครองธรรมในการเสพกาม  สัตว์ไม่มีครองธรรมในการเสพกาม  สามารถแสดงกามได้ไม่มีข้อจำกัด  คือ สัตว์ไม่เลือกตัวผู้ ตัวเมีย  ไม่เลือกพี่เลือกน้อง  ไม่เลือกพ่อเลือกแม่  ไม่เลือกคู่ไหน  เพราะลักษณะจิตของสัตว์นั้น  ไม่มีครองธรรมเป็นขอบเขต

ครองธรรมในกามของมนุษย์  ได้แก่  “ขอบเขตของการเสพกาม”  ซึ่งพระพุทธองค์กำหนดไว้ ในศีล ๕ ข้อที่ ๓ คือ มนุษย์ควรมีกามแต่เฉพาะกับคู่ครองของตน  ตลอดจนไม่แสดง พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางกามผิดไปจากประเวณี  เช่น  ผู้หญิงแสดงกามด้วยกันเอง  หรือ ผู้ชายแสดงกามด้วยกันเอง  การมีกามแต่เฉพาะกับคู่ครองของตน  แสดงว่าเขาควบคุมความอยากไว้ในกรอบแห่งครองธรรม  ซึ่งเป็นลักษณะจิต  เกี่ยวกับกามของมนุษย์ที่แท้จริง  

ถ้าไม่สามารถทำให้จิตอยู่ในครองธรรมแห่งกามได้  หลงระเริงไปในกามไม่มีที่สิ้นสุด  ไม่มีขอบเขต  เรียกว่า จิตมากไปด้วยกามไม่มีขอบเขต  ลักษณะจิตที่มากไปด้วยกามไร้ครองธรรมเช่นนี้  ไม่ใช่ลักษณะจิตมนุษย์  เขาไม่สามารถรักษาฐานะจิตเดิมของมนุษย์ไว้  เดินห่างจากความเป็นมนุษย์แท้จริงไป  และเข้าใกล้จิตของสัตว์มากเข้า

ศีลข้อ ๔ ไม่โกหก

 หรือ พูดปดตอแหล  ส่อเสียด  ซึ่งแสดงถึงความเป็นคนไม่ซื่อสัตย์ สุจริต  ไม่มั่นคง  กลับกลอก

ศีลข้อที่ ๕ ไม่ดื่มน้ำเมา อันก่อให้เกิดความผิดพลาดในการครองสติ 

อาจเป็นผลทำให้ ลืมตัว  เป็นสาเหตุในการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง  จนไม่สามารถแก้ไขได้  การดื่มน้ำเมารวมถึงสิ่งเสพติดทั้งหลายทั้งปวง  นอกจากจะมีผลโดยตรงต่อสติ  ซึ่งเป็นส่วนที่รักษาจิตให้ มั่นคงแล้ว  การดื่มน้ำเมา และสิ่งเสพติดต่างๆ ยังมีผลต่อร่างกาย  เป็นที่มาของโรคร้าย  ด้วยลักษณะของจิตที่หลงมัวเมาเต็มไปด้วยโมหะ  มิใช่ลักษณะจิตมนุษย์ จึงเป็นจิตที่เข้าใกล้สัตว์เดรัจฉาน

       ส่วนโทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดศีล ๕ นั้น ได้กล่าวไว้แล้วในจดหมายฉบับก่อนๆ ในที่นี้ จะไม่ขอนำมากล่าวอีก

กล่าวโดยสรุปศีล ๕ นั้นเป็นคุณธรรมเบื้องต้นของความเป็นมนุษย์  เมื่อมนุษย์เริ่มบังคับตนให้รักษาศีล ๕ ได้แล้ว  คุณธรรมขั้นสูงอื่นๆ ก็จะตามมา  ในขณะเดียวกันทางมาแห่งบาปกรรมอื่นๆ ก็จะเบาบางลง จนสามารถปิดกั้นบาปกรรมได้ในที่สุด  เช่น  การชอบเล่นพนันการชอบเที่ยวผู้หญิง  การเที่ยวเตร่  ความเย่อหยิ่งจองหอง  ความถือตัวอวดดี  อวดเก่ง  ความดูหมิ่นผู้อื่น  ความอวดดื้อถือดี  เป็นต้น เขาจะเริ่มรู้ด้วยตัวเขาเองว่า  สิ่งเหล่านี้ไม่ดี  เป็นโทษควรงดเว้น  ไม่ควรให้เกิดขึ้นในจิตใจ  ถ้ารักษาศีลได้มากเท่าไร  ระดับจิตก็จะสูงขึ้น  เหมาะแก่โลกมนุษย์  หรือสวรรค์ชั้นนั้นๆ  หากทำได้น้อย  ระดับจิตก็ต่ำลง เหมาะแก่จิตของสัตว์ เปรต อสูรกาย และสัตว์นรกโดยลำดับ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

รรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
รรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๔ (ตอนที่ ๒) “ ความแตกต่างระหว่างภพภูมิ ” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here