ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“ คุณค่าของความกตัญญูกตเวที”

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-โยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๒

(ตอนที่ ๔)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

คำนำผู้เขียน

ความตั้งใจเดิมมาจากการที่ผู้เขียนเห็นว่า ปู่กับย่า มีอายุมากแล้ว ผู้มีอายุย่าง ๘๐ ปี ไม่ต่างอะไรจากไม้ใกล้ฝั่ง จึงคิดจะให้ปู่กับย่ามีธรรมะได้อ่านได้ฟัง จะได้เป็นที่พึ่งทางใจยามวัยชรา โดยมีความมุ่งหวังว่า แม้โยมปู่กับโยมย่าจะไปทำบุญที่วัดไม่ได้ เหมือนเมื่อครั้งร่างกายยังแข็งแรง แต่ก็สามารถทำบุญอยู่กับบ้านได้ตลอดทั้งวัน การเข้าวัดฟังธรรมดูเป็นการยากสำหรับวิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน ด้วยภาระหน้าที่ทางสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่บอกเล่า เรื่องการทำบุญและการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ ที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนหัวถึงหมอน ผ่านจดหมายธรรมะที่เขียนถึงปู่กับย่า ในระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ – ๒๕๔๖ เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน อยู่ที่บ้าน หรือที่ทำงานก็สามารถทำบุญได้ครบ ทั้งทาน ศีล ภาวนา

พระมหาเทอด ญาณวชิโร

มกราคม วันเริ่มต้นปีพุทธศักราช ๒๕๔๗

พระมหาเทอด ญาณวชิโร ผู้เขียน "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" (ภาพในอดีต)
พระมหาเทอด ญาณวชิโร ผู้เขียน “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” (ภาพในอดีต)

“คุณค่าของความกตัญญูกตเวที”

เจริญพรโยมพ่อใหญ่ โยมแม่ใหญ่ทั้งสอง 

โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า)
และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)

คำว่า “กตัญญู” นี้ หมายถึง คุณค่าแห่งจิตใจที่งดงาม อ่อนโยน ไม่แสดงอาการก้าวร้าวรุนแรงต่อผู้มีพระคุณ

ทั้งความรู้สึกนึกคิดคำพูด และการแสดงออกทางกาย รู้จักคุณ ความดีที่ท่านทำแก่ตนแล้วจดจำใส่ใจไว้ ตระหนักนึกอยู่เสมอถึงคุณความดีนั้น ไม่ลบหลู่ ไม่ดูหมิ่นดูแคลน ไม่เหยียดหยาม ไม่เสแสร้งแกล้งทำ มีความอ่อนน้อมโดยธรรมชาติ  เมื่อมีโอกาสก็ตอบแทนด้วยสำนึกในพระคุณนั้น

นอกจากนั้น 

ความกตัญญูยังหมายถึงจิตใจที่มีความสำนึกในบุญคุณ และไม่ ลืมคุณของผู้อื่น  ไม่ว่าจะเป็นลูกระลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ บรรพบุรุษ ศิษย์ระลึกถึงบุญคุณครูบาอาจารย์ ประชาราษฎร์ ระลึกถึงคุณของแผ่นดิน เป็นต้นก็ตาม

ความกตัญญูมิใช่อยู่แค่ไม่ลืมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงจิตที่คิดจะตอบแทนบุญคุณท่านอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส

ความกตัญญูนี้เอง เป็นมงคลสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิต 

ผู้คนทั้งหลายมักมองข้าม มงคลอันหาประมาณคือมิได้ คือ ความกตัญญูนี้ ไปไขว่คว้าหามงคลจากที่อื่น  ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ก้อนหิน จอมปลวก ภูผา เขาย่อมผิดหวังอยู่ร่ำไป  เพราะชีวิตอย่างชาวบ้านไม่มีมงคลใดจะอำนวยประโยชน์แก่ลูกๆ ได้ อย่างสมบูรณ์เท่าความกตัญญู

บางคนยิ่งน่าสงสาร  กราบไหว้ต้นไม้ จอมปลวก ภูผา เทวรูป ก้อนหิน ฯลฯ โดยหวังที่จะให้เกิดมงคลสุขสวัสดีแก่ชีวิต แต่ไม่เคยกราบไหว้พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา  ยาย  บรรพบุรุษ และผู้มีพระคุณของตนเองเลย เพราะเหตุที่ขาดความรู้ ความเข้าใจ  ไม่ทราบว่าพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้มีพระคุณนั่นแหละ เป็นมงคลสูงสุดสำหรับตัวเขา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสุขสวัสดีจะเกิดแก่ตัวเราได้อย่างไร

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสิ่งที่จะทำให้เกิดมงคลแก่ชีวิตเราไว้ ๓๘ ประการ หนึ่งในมงคล ๓๘ ประการนั้นคือ “ความเป็นผู้กตัญญู” รู้จักเลี้ยงดูมารดาบิดา

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

มาตาปิตุ อุปัฏฐานัง เอตัมมัง คะละมุตตะมัง

การเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นมงคลสูงสุด

ถ้าขาดความกตัญญูเสียอย่างแล้วอย่าได้หวังว่าชีวิตจะมีมงคล  ส่วนคำว่า “กตเวที” คือ การแสดงออกว่า ตนเป็นคนกตัญญู หรือการตอบแทนคุณความดีของผู้มีพระคุณ  เมื่อผู้ใดทำอุปการคุณแก่เราแล้ว  ก็พยายามหาทางทดแทนคุณ  เมื่อมีโอกาส เช่น ลูกๆ ได้รับอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อแม่จนเติบโตมีสติปัญญาประกอบสัมมาอาชีพ  มีรายได้เป็นหลักฐานแล้ว  ก็เลี้ยงดูพ่อแม่  เพื่อสนองพระคุณท่านตอบแทน

ว่าโดยพื้นฐานจิตใจแล้ว พ่อแม่ไม่ต้องการอะไรจากลูก  แต่เป็นภาระโดยหน้าที่ของลูกที่จะต้องทำ  ทำเพราะความเป็นลูก ซึ่งไม่มีคำอธิบายมากไปกว่าเป็นการแสดงความกตเวที มิใช่ทำเพราะพ่อแม่อยากให้ทำ หรือทำตามความนิยมของสังคม

คำว่า “เลี้ยงดู” นี้ ยังมีคำที่ต้องขยาย เพื่อความชัดเจนในเนื้อความอีกส่วนมากคนมักคิดกันว่า  เลี้ยงดู คือ การให้ข้าวปลาอาหาร ให้สิ่งของเท่านั้นถือว่าเป็นการเลี้ยงแล้ว  ความจริงไม่ใช่ จะชื่อว่าเลี้ยง ต้องเลี้ยงทั้งกายและใจ  เพราะลูกบางคนให้พ่อแม่กินข้าวปนน้ำตา  ความจริงเขาก็เลี้ยงด้วยข้าวปลาอาหารนั่นแหละ แต่มีคำพูดหรือกิริยาทิ่มแทงให้เจ็บใจ คนแก่เลยต้องกินข้าวกับน้ำตา เรียกว่า “เลี้ยงกายแต่ไม่ได้เลี้ยงใจ”

ที่จริง ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงการเลี้ยงพ่อแม่ไว้ ๒ ประการ คือ

๑.เลี้ยงกาย

ได้แก่ การให้ข้าวปลาอาหาร เครื่องใช้สอย โดยตระหนักนึกว่า พ่อแม่แก่แล้ว หมดเรี่ยวแรง  หากินเองไม่ได้  ต้องอาศัยลูก 

พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของเรา เป็นพระอรหันต์ในบ้าน เราปฏิบัติต่อพระสงฆ์อย่างไร  จงปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างนั้น กราบพระสงฆ์ด้วยใจอย่างไร จงกราบพ่อแม่ด้วยใจ อย่างนั้น  อธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างไร จงอธิษฐานขอพรจากพ่อแม่ อย่างนั้น  อย่าดีแต่ทำกับพระสงฆ์ อย่าดีแต่ทำกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่าดีแต่ทำกับเครื่องรางของขลัง

เกี่ยวกับการทำบุญ  ท่านชี้แจงให้ทราบอีกว่า  ทำบุญกับพระสงฆ์ผู้ทรงศีลได้ บุญมากที่สุด  ส่วนทำบุญกับคนธรรมดา การทำบุญกับพ่อแม่ได้บุญมากที่สุด  ปฏิบัติบำรุงท่านให้มีความสุขกายด้วยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ อาศัย  เมื่อป่วยไข้ ก็หาหยูกยารักษาท่าน พ่อแม่ที่แก่ตัวก็หวังพึ่งลูก  ถ้าไม่พึ่งลูกก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

อย่างท่านผู้รู้ ได้เขียนเป็นบทกลอนแสดงถึงหัวอกพ่อแม่ไว้ว่า

         พ่อแม่ก็แก่เฒ่า     จำจากเจ้าไม่อยู่นาน

จะพบจะพ้องพาน          เพียงเสี้ยววารของคืนวัน

ใจจริงไม่อยากจาก        เพราะยังอยากเห็นลูกหลาน

แต่ชีพมิทนทาน             ย่อมร้าวรานสลายไป

ขอเถิดถ้าสงสาร            อย่ากล่าวขานให้ช้ำใจ

คนแก่ชะแรวัย               ย่อมเผลอไผลเป็นแน่นอน

ไม่รักก็ไม่ว่า                  เพียงเมตตาช่วยอาทร

ให้กินและให้นอน          คลายทุกข์ผ่อนพอสุขใจ

เมื่อยามเจ้าโกรธบึ้ง       ให้นึกถึงเมื่อเยาว์วัย

ร้องไห้ยามป่วยไข้           ได้ใครเล่าช่วยปลอบโยน

เฝ้าเลี้ยงจนเติบใหญ่      แม้นเหนื่อยกายก็ยอมทน

หวังเพียงจะได้ผล          เติบโตจนสง่างาม

ขอโทษถ้าทำผิด            ขอให้คิดทุกโมงยาม

ใจแท้มีแต่ความ            หวังคอยช่วยอำนวยชัย

ต้นไม้ที่ใกล้ฝั่ง               มีหรือหวังอยู่นานได้

วันหนึ่งคงล้มไป            ทิ้งฝั่งไว้ให้วังเวงฯ

อีกที่หนึ่งว่า

ลูกเอ๋ยเจ้ารู้ไหมยายคนนั้น      ถึงงกงันงุ่มง่ามตามประสา

ถึงยากจนเข็ญใจวัยชรา          เขาก็เป็นมารดาของบางคนฯ

อีกที่หนึ่งว่า

ยามมีกิจหวังเจ้าเฝ้ารับใช้        ยามป่วยไข้หวังเจ้าเฝ้ารักษา

เมื่อถึงคราววันตายวายชีวา    หวังลูกยาปิดตาคราสิ้นใจฯ

 ลูกๆ จึงควรตระหนักในการเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มาก  ยิ่งอายุมากยิ่งต้องเอาใจใส่ นึกให้เห็นด้วยใจว่า  คนแก่ทำอะไรเองไม่ได้   หาอยู่ หากินเองไม่ได้  คนแก่ต้องการกำลังใจ  อายุยิ่งเหลือน้อย เรี่ยวแรงยิ่งนับวันมีแต่จะหมดตามอายุ จะอาศัยใครถ้าไม่อาศัยลูก  ลูกให้กินถึงได้กิน  ลูกไม่ให้ ก็ไม่ได้กิน

(๒)   เลี้ยงใจ

ได้แก่ การทำให้พ่อแม่เกิดความเบาใจ ไม่สร้างปัญหาซึ่งจะทำให้ท่านหนักอก เป็นทุกข์ คับแค้นใจ

สำหรับสุขทุกข์ของพ่อแม่ 

สุขใดจะเท่าสุขที่ลูกกตัญญู

ทุกข์ใดจะเท่าทุกข์ที่ลูกสร้างปัญหา

เจ็บปวดใดจะเท่าเจ็บปวดที่ลูกไร้ความกตัญญู

การที่ลูกไม่สร้างปัญหาให้พ่อแม่ทุกข์ใจ  นี่ก็เป็นการเลี้ยงใจพ่อแม่  แม้จะเป็นการเลี้ยงใจแบบธรรมดาสามัญทั่วไป ก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนา

นอกจากนี้ ยังมีเลี้ยงใจแบบที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์  ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นการเลี้ยงใจอีกขั้นหนึ่ง คือ

หล่อเลี้ยงจิตใจท่านให้เจริญงอกงามด้วยธรรม  พยายามหล่อเลี้ยงจิตใจพ่อแม่ให้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม

พ่อแม่ไม่ศรัทธาในพระศาสนา เราปลูกศรัทธาให้งอกงามไพบูลย์ในใจท่าน

ท่านไม่เคยรักษาศีล ก็ชักชวนให้ท่านมีโอกาสได้รักษาศีล ไม่เคยสละวัตถุสิ่งของทำบุญให้ทานก็ชักชวนให้มีโอกาสทำบุญให้ทาน  ท่านเกิดความหลงผิดก็ชักชวนให้ท่านเกิดปัญญา เข้าใจในความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตเกิดการปล่อยวางได้บ้าง  บางครั้งก็นำท่านไปทำบุญให้ทาน  รักษาศีล เจริญภาวนาตามโอกาส เมื่อถึงวันเกิดก็ชวนท่านไปตักบาตร หรือทำบุญวันเกิด เป็นต้น

ลูกที่ทำได้ตามข้อ ๒ นี้

พระพุทธองค์ เรียกว่า “อภิชาตบุตร” หมายถึง ลูกที่ดี ที่ประเสริฐ เพราะสามารถให้ทรัพย์ที่แท้จริงแก่พ่อแม่ได้

ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ โดย สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

จดหมายถึงโยมพ่อใหญ่-แม่ใหญ่ ฉบับที่ ๒ (ตอนที่ ๔) “คุณค่าของความกตัญญูกตเวที” จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง หลักการทำบุญและการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here