เมื่อวานนี้น้องทำความสะอาดห้อง แล้วก็นำกระเป๋าเดินทางของฉันและของแม่ออกมาให้ทำความสะอาด และแนะนำว่า น่าจะนำมาใส่เป็นกระเป๋าเสื้อผ้าของฉัน

ใช่แล้ว… เพราะเสื้อผ้าของฉันตอนนี้ ก็ใส่อยู่ในถุงใหญ่ วางอยู่ในห้องทำงานนี้เอง และก็ออกไปนอนในเต็นท์หลังบ้านเป็นช่วงๆ ชีวิตหลังจากแม่จากไป ฉันอยู่บ้านก็จริง แต่ก็ใช้ชีวิตพร้อมที่จะไปหาแม่ทุกวัน หากทว่า การปฏิบัติธรรมของฉันก็ยังไม่ก้าวหน้าเลย ดูเหมือนว่าจะถอยหลังด้วยซ้ำ เพราะสติยังหลุดลุ่ยทุกวันอยู่ ยังไม่มีวันไหนเลยที่คงเส้นคงวามาจนถึงทุกวันนี้

ฉันเปิดในกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ของแม่ มีถุงผ้าใบเล็กอยู่ในหนึ่ง และบนถุงผ้าเล็กๆ ใบนี้ก็พบกับคำที่ทำให้น้ำตาหลั่งริน … “แม่ คำว่าให้ …ไม่สิ้นสุด”

ฉันกอดถุงเล็กๆ ของแม่แน่นๆ แล้วก็เปิดออกมาดู ก็พบถุงพลาสติกที่ใช้แล้วล้างสะอาดนำมาใช้ใหม่หลายใบพับอย่างเรียบร้อย

อีกหนึ่งใช่แล้ว …ที่แขวนเสื้อที่บ้านส่วนหนึ่ง แม่นำมาตากถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว และนำมาล้าง ตากจนแห้งแล้วนำมาพับอย่างเรียบร้อยใส่ไว้ในถุงใหญ่เตรียมไว้ใช้ใหม่ และก็นำไปให้แม่ค้าขายผักที่มาขายอยู่หน้าโรงเรียนคุณยายด้วย

ถุงพลาสติกของแม่ มีคุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่มีถุงใบไหนที่เราทิ้งขว้างเลย ทุกอย่างล้วนมีคุณค่าเมื่อถึงมือแม่ …

กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ของแม่ ตากแดดใกล้แห้งแล้ว ฝนกำลังจะตก ฉันนำมาไว้ในบ้าน รอตากแดดพรุ่งนี้อีกวัน หากมีแดดแรงพอ ฉันก็จะได้นำกระเป๋าเดินทางของแม่ มาเป็นกระเป๋าใส่เสื้อผ้าของฉัน ที่วันนี้ไม่ได้อยู่ในตู้ แต่มาอยู่ในถุง และพร้อมที่จะเดินทาง…ไปหาแม่ เมื่อถึงเวลา

ความคิดถึงแม่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ยิ่งนานวันยิ่งคิดถึง ทำให้ระลึกถึงธรรมะที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) มอบให้ ท่านเมตตาให้คติธรรมว่า

ความเป็นแม่ลูก ไม่มีวันหายไป ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม ความเป็นแม่ลูกก็จะเป็นอย่างนั้นตลอดไป ทุกคนในสังสารวัฏนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่เคยมีใครไม่เคยเป็นแม่ลูกกันมาก่อน เป็นเรื่องจริง เราจึงควรที่จะเมตตากันและกันประดุจแม่ลูก พี่น้อง…

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ พระองค์ถอยจิตข้ามภพชาติไปถึงสี่อสงไขยแสนมหากัป นับเนื่องเป็นเวลายาวนานมากที่พระองค์พบความเชื่อมโยงของชีวิตเป็นสายธารจนไม่สามารถหาจุดเริ่มต้นและจุดจบได้ หากทว่า การเห็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการนี้เอง จากทุกข์ แล้วสาวไปถึงเหตุแห่งทุกข์ คืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน ฯลฯ แล้วพระองค์ทรงมอบกุญแจที่ไปสู่ทางพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้ คือ อริยมรรค มีองค์ ๘ ประการ ทำให้เราสามารถตัดวงจรของการเกิดได้ ด้วยสัมมาทิฐิเป็นข้อแรก เมื่อเรามีความเห็นที่ถูกตรง หนทางที่จะตัดความอยาก คือกิเลสตัญหาทั้งปวง ก็ไม่ยาก …

แต่ความเป็นแม่ลูกนั้น ตัดไม่ขาด หากเป็นสายใยแห่งชีวิตที่ทำให้พระพุทธเจ้ากลับไปเทศน์พระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาถึงสรวงสวรรค์ ซึ่งเป็นผลการปฏิบัติธรรมของพระองค์ให้พระพุทธมารดาฟัง จนกระทั่งพระพุทธมารดาดวงตาเห็นธรรมในที่สุด

แม่ให้ชีวิตลูกมาอย่างไร ลูกกับแม่ก็มีชีวิตสืบเนื่องกัน ความรักของแม่เป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เขียนไว้ในธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” ตอนหนึ่งว่า มื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ตรัสว่า แท้จริงแล้ว พ่อแม่นั่นแหละเป็นผู้สุงสุดในชีวิตของคนเรา เพราะท่านประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ ประการ อย่างเปี่ยมล้น คือ มีเมตตาธรรม มีกรุณาธรรม มีมุทิตาธรรม และมีอุเบกขาธรรม

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ฉบับธรรมทาน

“เมตตาธรรม” ความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก เป็นความรักที่บริสุทธิ์ มิได้หวังผลตอบแทนใดๆ จะมีก็เพียงอยากเห็นลูกเป็นคนดี ปฏิบัติดี อยู่ในโอวาทของท่าน ความรักของพ่อแม่นั้น ไม่เปลี่ยนแปลงแปรผัน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

เมื่อตอนที่ลูกเกิด พ่อแม่รักอยู่อย่างไร แม้จะเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว จนลูกแก่ชรา ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านก็ยังคงรักอยู่อย่างนั้นเสมอ จะเป็นลูกหญิงหรือลูกชายท่านก็รัก เรียกว่า “เสมอต้นเสมอปลาย”

“จริง ๆ เลยค่ะ พระอาจารย์ เมื่อไม่นานมานี้ โยมก็ฝันถึงคุณแม่ค่ะ ท่านมาให้กอด นอนหนุนตักแม่นานแสนนาน อบอุ่นมากๆ ค่ะ

ฉันอยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์เจ้าคุณอย่างนี้ จึงเขียนบันทึกคิดถึงแม่มาถวายท่านกลางอากาศ เผื่อว่าวันหนึ่ง เทวดาดลใจให้ท่านเปิดอ่านข้อความจากศิษย์ที่อยู่ห่างไกล ด้วยความระลึกถึงท่าน และคิดถึงแม่ทุกลมหายใจเข้าออกเลยก็ว่าได้

และด้วยศรัทธาในธรรมที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเมตตาสอน จึงน้อมนำมาปฏิบัติขัดเกลาตนไปจนกว่าจะสิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ ตามรอยท่าน ตามรอยพระพุทธองค์ บนหนทางแห่งการไม่เกิดอีกต่อไป…

บันทึกคิดถึงแม่ (บทที่ ๑) “กระเป๋าเดินทางของแม่ ” เรื่องและภาพ โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here