คเณศจตุรถี”เทศกาลเฉลิมฉลองการประสูติของพระพิฆเณศวร์ ๗-๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ณศาลองค์ปู่พระพิฆเณศวร์ ๑,๐๐๐ ปี วัดป่าพระพิฆเณศวร์ บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จังหวัดอุบลราชธานี
หนึ่งปีมีครั้งเดียว ศิษย์สายมู สายเทพ สายญาณ สายศิลปะทุกแแขนง ที่เป็นลูกหลานองค์ปู่พระพิฆเณศวร์หลั่งไหลเข้ามาประกอบพิธี “วันจตุรถี” ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการประสูติของพระพิฆเณศวร์ ภายในศาลองค์ปู่พระพิฆเณศวร์ที่มีอายุกว่า ๑,๐๐๐ ปี ณ วัดป่าพระพิฆเณศวร์ บ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง ตำบลกุดลาด อำเภอเมืองอุบลราชธานี
พระมหาเทอด ญาณวชิโร (อดีตพระราชกิจจาภรณ์) เล่าว่า…
มีเรื่องเล่าขานกันในหมู่ชาวบ้าน ตรงบริเวณปากบุ่งสระพังบรรจบกับแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ลาดโล่งเตียนจนถึงหาดทราย เป็นท่าที่แม่ทัพนายกองนำช้างม้าศึกลงกินน้ำ เรื่องเล่าของป่าแห่งนี้มีมากมายหลายสำนวน ตามแต่ผู้เล่าจะปรุงแต่งกันไปจนกลายเป็นตำนานต่างๆ นานา…
เช่น ถึงวันพระจะมีดวงไฟลอยจากวัดป่าเข้าหมู่บ้าน มีไฟพะเนียงพุ่งขึ้นจากดิน เจ้าของย้ายที่ฝังทรัพย์สมบัติใหม่ ฆ้องทองคำใต้พื้นดินดังสะท้อนในคืนวันเพ็ญ และเสียงกระดิ่งช้างม้าศึกดังกึกก้องยามค่ำคืน
ท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ในขณะนั้น เล่าย้อนไปในวัยเยาว์ให้ฟัง ช่วงที่เป็นสามเณรน้อย ต่อมาว่า ป่าแห่งนี้เป็นที่ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) บุ่งสระพัง จ.อุบลราชธานี ใช้เป็นสถานที่ปลีกตัวออกมานั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นประจำ
อยู่มาวันหนึ่ง หลวงพ่อท่านเกิดนิมิตว่ามีพระพุทธรูปฝั่งอยู่ใต้ดินในป่าแห่งนี้ จะเกิดพายุพัดต้นตาลหัก ให้ขุดตรงจุดที่ปลายต้นตาลหักลง พอให้ชาวบ้านขุดตามนั้น ก็พบพระพุทธรูปเนื้อเงิน ศิลปะแบบเชียงแสนล้านช้าง ขนาดหน้าตัก ๑๑ นิ้ว หรือ ๑๒ นิ้วเศษ มีพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปสำริด พระผง และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง แล้วท่านก็นำมาประดิษฐานไว้เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำวัดปากน้ำ ของบางส่วนนอกเหนือจากนี้ ได้สร้างพระพุทธรูปครอบไว้ในป่าแห่งนี้
“ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ปี ๒๕๑๕ หลังอาตมาเกิดเพียงหนึ่งปี ยิ่งเพิ่มความเชื่อความศรัทธาให้กับชาวบ้านในทางศักดิ์สิทธิ์สำคัญมากขึ้น ที่สุดนอกจากหลวงพ่อแล้ว ป่าแห่งนี้ก็ไม่มีใครกล้ารุกล้ำกล้ำกลายเข้ามา จึงกลายเป็นสถานที่ปลีกวิเวกบำเพ็ญจิตตภาวนาของท่านพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ต่อมา โดยมีอาตมาเป็นเณรอุปัฏฐาก
วิถีแห่งศรัทธารักษาป่า
“ที่จริง สถานที่ตรงนี้ชาวบ้านเรียกวัดป่าก็ไม่ใช่วัดมีอาคารสถานที่อะไร แต่เป็นป่าใหญ่นอกหมู่บ้าน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล มีเพียงศาลาโล่งๆ หลังเดียว และกุฏิไม้แบบกรรมฐานอีกหนึ่งหรือสองหลัง ที่เรียกวัดป่าก็เป็นแต่เพียงเรียกตามคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นวัดร้างมาตั้งแต่แรกตั้งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย มีเหตุถูกปล่อยให้ทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าใหญ่ดงทึบ บ้างก็ว่าเกิดโรคระบาดชาวบ้านจึงย้ายบ้านหนี บ้างก็ว่าถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่คราวพระวอพระตาถูกข้าศึกฆ่า ชาวบ้านก็เลยเรียกวัดป่า”
และก่อนหน้าที่จะขุดพบพระพุทธรูปราวปี ๒๔๙๓ ก็มีการขุดพบพระพิฆเณศวร์หินทราย และโคอุสุภราช หลวงพ่อวัดปากน้ำ เล่าว่าทางการนำไปเก็บรักษาไว้ ชาวบ้านจึงเรียกป่าแห่งนี้ว่า “ดงพระคเณศวร์” แล้วก็เรียกติดปากจนถึงปัจจุบันว่า “วัดป่าพระพิฆเณศวร์”
ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดในขณะนั้น เชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของวัด บ้าน และชุมชนที่ผูกพันประหนึ่งญาติพี่น้องนี่เองที่ทำให้ท่านสามารถอยู่ในเพศของบรรพชิตต่อมาได้จนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญก็คือ เมื่อความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ทำให้เกิดความเมตตากรุณาต่อกัน รวมไปถึงต้นไม้และสัตว์ป่านานาชนิดก็ได้รับการปกป้องคุ้มครองไปด้วย การมีเสนาสนะเล็กๆ ในป่า หรือ วัดเล็กๆ ในป่าก็เพื่อการรักษาป่าไม้และสัตว์ป่าให้ได้ดำรงอยู่เพื่อเป็นลมหายใจให้กับผู้คนชนรุ่นต่อๆ ไปได้อาศัยต้นน้ำไว้ยังชีพและมีต้นธรรมไว้เรียนรู้จิตใจตัวเราเอง เพราะ การรักษาป่า ก็คือ การรักษาธรรม
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ )
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐
คเณศจตุรถี หรือ วันคล้ายวันประสูติ พระพิฆเนศวร์ เกิดขึ้นในวันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๙ และ วันแรม ๔ ค่ำเดือน ๑๐ โดยในปีนี้ วันคเณศจตุรถี พุทธศักราช ๒๕๖๗ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๗ กันยายน ถึงวันอังคารที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ ซึ่งตรงกับวันพระใหญ่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ พอดี และยังเป็นวันไหว้พระจันทร์ วันสำคัญของการไหว้เทพของชาวจีนอีกดัวย
ตำนานและประวัติพระพิฆเณศวร์ โดยสังเขป
พระพิฆเนศ หรือ พระพิฆเณศวร์ เป็นเทพองค์สำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ชาวไทยรับมานับถือบูชา ด้วยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า สำหรับคนทำงานศิลปะแล้ว พระพิฆเณศวร์ ได้สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะทุกแแขนง ไม่ว่าจะเป็น จิตกรรม ประติมากรรม นาฏศิลป์ ศิลปะการแสดง ไปจนถึง งานเขียนทุกรูปแบบในปัจจุบัน และอาจขยายไปถึงคนทำธุรกิจอย่างมีศิลปะด้วย เรียกได้ว่า พระพิฆเนศวร ได้สร้างแรงบันดาลใจแบบไม่จำกัดความคิดสร้างสรรค์ ขยายวงกว้างไปตามความเชื่อที่นำไปสู่ความสำเร็จมากมาย โดยรากฐานสำคัญอย่างหนึ่งคือ ผู้คนมีความเชื่อว่า พระพิฆเณศวร์ เป็นเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค จึงเป็นเทพแห่งความสำเร็จ ทำให้พระพิฆเณศวร เป็นที่มีชีวิตและลมหายใจเหนือกาลเวลา
ด้วยประวัติที่ไม่ธรรมดาของพระพิฆเณศวร มีหลายเวอร์ชั่นมาก แต่ที่ชอบที่สุดก็ภาคที่อินเดียสร้างเป็นการ์ตูนแอนิเมชัน เล่าเรื่อง พระพิฆเณศร ที่มีเศียรเป็นช้าง แล้วในเรื่องเล่าถึงยอดแห่งปัญญา ความซื่อสัตย์ กตัญญูและรักพระมารดายิ่งกว่าชีวิตของตนเอง
ดังที่พอจำได้ว่า พระพิฆเณศวร์ เป็นพระโอรสของพระอิศวรและพระอุมาเทวี ครั้งหนึ่งพระอุมาเทวีทรงพระบรรทม และบอกให้พระพิฆเณศวร์ เฝ้าหน้าที่ประทับ ไม่ให้ใครเข้ามาเด็ดขาด แม้แต่พระอิศวรผู้เป็นพระบิดา ก็ห้ามเข้าไปเด็ดขาด (ถ้าจำผิดพลาดไปขอผู้รู้มาช่วยอธิบายด้วย)
ไม่นานนัก พระอิศวรก็มาจริงๆ และพยายามจะเข้าไปหาพระอุมาเทวี แต่พระพิฆเณศวร ไม่ให้เข้าไป จนพระอิศวรโมโหมาก เลยตัดเศียรลูกตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว
พอพระอิศวรได้สติ พระอุมาเทวีออกมาก็ตกใจ ที่ลูกถูกตัดหัว จึงบอกให้พระอิศวรรีบหาศีรษะมาต่อให้ลูกโดยเร็วไม่ให้ข้ามวัน ฝ่ายพระอิศวรออกไปหาใครก็ไม่มี จะไปตัดศีรษะใครเล่า ก็เพิ่งตัดศีรษะลูกไป พอออกไปเจอช้างเพิ่งตายก็เลยตัดศีรษะมาต่อเศียรให้ลูก พระพิฆเณศวรจึงมีศีรษะเป็นช้างตั้งแต่นั้นมา
ว่าด้วยปัญญาเฉียบแหลมของพระพิฆเณศวร ตอนหนึ่ง
พระอิศวรและพระอุมาเทวีให้ลูกชายสององค์ คือ พี่ชายของพระพิฆเณศวรและพระพิฆเณศวรแข่งกันว่า ใครจะเหาะไปรอบจักรวาลเร็วกว่ากัน
พระพิฆเณศวร ให้พี่ชายเหาะไปก่อน แล้วตัวเองค่อยเหาะทีหลัง พอพี่ชายเหาะไปแล้ว พระพิฆเณศวรก็เดินหมุนรอบพระอุมาเทวีและพระอิศวรรอบหนึ่ง แล้วก็บอกกับทั้งสองพระองค์ว่า ไปรอบจักรวาลมาแล้ว ซึ่งในขณะนั้น พี่ชายของพระพิฆเณศวร ยังไม่เหาะกลับมา
พอพี่ชายของพระพิฆเณศวรเหาะกลับมา พระอิศวรและพระอุมาเทวีก็ถามว่า เหตุใดพระพิฆเณศวร จึงกล่าวว่า ได้เหาะรอบจักรวาลแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เหาะไปไหนเลย ได้แต่เดินหมุนรอบพ่อกับแม่ พระพิฆเณศวรผู้มีปัญญาเฉียบแหลมตอบพระบิดาและพระมารดาว่า ก็เพราะพ่อกันแม่คือจักรวาลของลูก ชัยชนะจึงเป็นของพระพิฆเณศวรอย่างไม่ต้องสงสัย…