ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง
แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

“ความโกรธ” และเทคนิคฝึกใจไม่ให้เป็นคนขี้โมโห

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม

           ทุกๆ วันเราจะเจอกับอารมณ์ที่หลากหลาย แต่บางครั้งก็เหมือนมีอะไรแกล้งให้ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่า “ทำไมฉันต้องเจอกับเรื่องเดิมๆ”  และเมื่อมีมากขึ้นก็จะกลายเป็นแรงกดดันจนแทบจะระเบิดออกมา  มันคือความร้อนที่รุมเร้าจนพร้อมจะเผาไหม้ทุกอย่างที่ขวางหน้า  โดยไม่ได้สนใจว่า หลังจากนั้นมันจะเป็นอย่างไร มารู้ตัวอีกที  ก็เสียใจกับสิ่งที่ทำลงไปเสียแล้ว

           โทสะ หรือ ความโกรธ ทำให้ทั้งตัวเราเองและคนรอบข้างเจ็บปวด จนถึงขั้นบาดเจ็บและล้มตายได้ การเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจความโกรธ ก็อาจจะเป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะช่วยให้เราเอาชนะมันได้ และปรับตัวเองได้ว่าตัวเรานั้นมีความโกรธแบบไหนและจะจัดการกับมันอย่างไร

ความโกรธของคนมี ๓ อย่าง

๑. สิลาเลขูปมา โกรธนาน ฝังลึก เหมือนรอยขีดในแผ่นหิน ยากที่จะลบเลือน

๒. ปฐวีเลขูปมา   โกรธปานกลาง เหมือนรอยขีดในแผ่นดิน ไม่นานเกินไปก็จางหาย

๓. อุทกเลขูปมา   โกรธง่าย หายเร็ว เหมือนรอยขีดในน้ำ

ความโกรธ  หรืออาการหัวร้อน ไม่ว่าจะแบบไหนก็สามารถที่จะสร้างความเดือนร้อนเสียหายให้กับตนเองและคนอื่นได้ทั้งนั้น  เราจึงควรหมั่นฝึกใจไม่ให้หลงไปกับความโกรธ  เมื่อมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง ก็จะสามารถบริหารจัดการชีวิตและจิตใจของตนเองได้ดี  แม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์ยั่วยุ หรือแหย่หยอก เราก็จะไม่หวั่นไหวไปตามสถานการณ์นั้นๆ

ความโกรธ เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต  

การโกรธเพราะหวงของพบมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แน่นอน มนุษย์เรายิ่งกว่านั้นมาก  เพื่อไม่ให้ตนเองเป็นคนขี้โมโห หรือวัยรุ่นยุคนี้เขาเรียกว่า “หัวร้อน” ก็ให้ทำใจเย็นๆ จะทำอย่างไรล่ะ นี่คือ คำถาม

คำตอบก็คือ ไม่ใช่รอให้โกรธแล้วค่อยทำใจเย็นนะ  หมายถึง ในช่วงเวลาที่ไม่มีอะไรมาทำให้โกรธ  เราก็ปล่อยวางใจไม่วู่วาม ยืดหยุ่นง่าย ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ให้คิดว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางคนใจดี และเราก็เป็นคนที่มีจิตเมตตา

เทคนิคฝึกตนไม่ให้เป็นคนหัวร้อน

๑. ตั้งใจไว้แต่ต้นว่า เราจะเป็นคนใจเย็นสุขุม    เหมือนเป็นเป้าหมาย ให้เราเห็นเป็นแนวทางกับตัวเองว่า ฉันจะเป็นคนที่ใจเย็น ไม่เป็นคนใจร้อน 

๒. ฝึกการรอให้เป็น    ฝึกตนให้เป็นคนที่รอได้ แม้สมัยนี้อะไรจะทันสมัยรวดเร็ว แต่บางทีมันก็ไม่ได้ทันใจเราไปเสียทุกอย่าง บางคนอยากใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ (Slow Life) แต่อยากได้เน็ตแรงๆ บางทีก็หัวร้อนเพียงเพราะโหลดเกมไม่ทันใจ ลองฝึกใจให้รอเป็น แล้วจะเห็นความสุขง่ายๆ

๓. หมั่นแผ่เมตตา   ไม่ใช่แค่แผ่ออกเสียงได้ แต่แผ่ด้วยใจ ส่งใจด้วยความรัก มองคนอื่นเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมเกิดแก่ เจ็บตายด้วยกัน   แม้เราจะไม่เท่ากัน แต่ของใจวางใจว่า เราต่างก็เท่าเทียม

๔. หาเวลาอยู่กับตัวเอง   อาจจะนั่งสมาธิ หรือแค่นั่นเงียบๆ ลำพัง ถ้ายังไม่คุ้นก็อาจจะฟังเพลงเบาๆ อ่านหนังสือ เพราะการดำเนินชีวิตของเรามันสวิงไปกับกิจวัตรประจำวันมาก ทั้งเรื่องงาน เรียน ครอบครัว และการจราจร หรือภาวะทางสังคมด้านอื่นๆ มันรุกเร้าให้เราวุ่นวาย เราจึงต้องหาเวลาให้มีบางช่วงที่เราว่าง วางทุกอย่างไว้ แล้วอยู่กับใจตัวเอง 

การมีอารมณ์หรือรู้สึกโกรธ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร  แค่ขอให้เรามีสติรู้เท่าทันตัวเอง ขณะที่กำลังโกรธ ถ้าเรารู้ตัว ความโกรธมันก็ยังไม่หายไปไหนหรอก แต่เราว่าจะมีสติ ในการแสดงออกมากขึ้น อาจจะโวยวายบ้าง ตะโกน บ้าง ก็แค่ระบายออกเท่านั้น ไม่กระทำล่วงเกินไปกว่านั้น  เพราะมันเป็นธรรมชาติของใจ ซึ่งเราก็ค่อยๆ ฝึกฝนไปอย่างต่อเนื่อง  ไม่นานก็จะสามารถระงับความโกรธได้ง่าย หรืออาจจะแทบไม่โกรธใครเลยตลอดชีวิตยิ่งดี

“ความโกรธ” และเทคนิคฝึกใจไม่ให้เป็นคนขี้โมโห โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป จากคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here