สิ่งมีค่าในเวลาที่สูญเสีย

โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

อาสนวิหารนอเทรอดามอายุกว่า ๘๕๐ ปีเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมาในเวลาใกล้เคียงกับ “มัสยิดอัล-อักซอ” (Al-Aqsa) ในกรุงเยรูซาเล็ม เมืองหลวงของอิสราเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในสามมัสยิดสำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลกโดยมีความเก่าแก่ถึง ๒,๐๐๐ ปี สร้างความเสียหายกับโบราณสถานแห่งนี้เช่นเดียวกัน แม้อาจในระดับที่น้อยกว่าไฟไหม้ที่อาสนวิหารนอเทรอดาม หรือแม้แต่ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้งที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และล่าสุดไฟไหม้ป่าทางภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศไทยที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น จะเรียกว่าที่ไหนน้อยกว่า หรือมากกว่าคงไม่ได้ ความสูญเสีย แม้น้อยใหญ่ก็คือ ความสูญเสียนั่นเอง

 หลังจากการถูกไฟไหม้ของอาสนวิหารนอเทรอดาม มีผู้บริจาคเงินรวมประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาทแรก เพื่อบูรณะซ่อมแซมสถานที่แห่งนี้ ให้กลับมางดงามและทำประโยชน์ได้อีกครั้ง จากนั้นยอดบริจาคก็สูงขึ้นเป็นหมื่นๆ ล้านเพื่อช่วยกันพลิกฟื้นวิหารให้กลับมาเป็นพลังแห่งศรัทธาดังเดิม

อาสนวิหารนอเทรอดามเป็นที่เก็บรักษาวัตถุสำคัญ ๓ อย่างที่เคยสัมผัสพระวรกายพระเยซู ได้แก่ มงกุฎหนาม ตะปูตรึงกางเขน และเศษไม้กางเขน โดยมงกุฎหนาม เป็นสิ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนานมาก เปลี่ยนมือผู้เก็บรักษาไปหลายคน ตั้งแต่เยรูซาเล็ม ไปจนถึงดินแดนของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ขณะนั้นมงกุฎมีอายุมากกว่า ๑,๐๐๐ ปี แล้ว และยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี แต่หนามบนมงกุฎได้ถูกหักออกแจกจ่าย ให้แก่เหล่ากษัตริย์ในยุคนั้น ด้วยความเชื่อว่าเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์

เมื่อใดที่มีเหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนย่อมมีการสูญเสียทั้งทรัพย์สินมีค่า สถานที่สำคัญหรือแม้แต่ชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้ปรากฎ โดยเฉพาะกับสถานที่สำคัญทางศาสนาที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของศาสนิกชนในศาสนานั้นๆ แต่เหตุการณ์เช่นนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แม้อาจมีการป้องกันอย่างรัดกุมแล้วก็ตาม เป็นอีกหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่สามารถส่งผลให้เป็นทุกข์กับผู้ที่นำจิตใจไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องกับสถานที่หรือสิ่งนั้นๆ

มงกุฎหนามที่พระเยซูทรงได้รับการสวมใส่ก่อนนำไปถูกตรึงบนไม้กางเขน แม้เป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงได้รับความทรมานและเพื่อที่จะต้องการประณาม ล้อเลียนพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์แห่งชาวยิว แต่พระองค์ทรงอดทนและมิได้ทรงเกลียดชัง อาฆาตกับบุคคลทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้พระองค์ต้องทรงเจ็บปวด ทรมานและเสียชีวิตในที่สุด

ซึ่งมงกุฎหนามนี้อาจเป็นสิ่งแทนคำสอนแห่งความอดทน เสียสละและการให้อภัยของพระเยซู สิ่งนี้สามารถนำไปประยุกต์ปรับใช้ในชีวิตประจำวันกับทุกคน โดยไม่จำกัดสมัย จำกัดกาล จำกัดศาสนา ถ้าบุคคลใดที่สามารถฝึกที่จะอดทนเฉกเช่นที่องค์พระเยซูทรงกระทำเป็นแบบอย่าง แม้ต้องเจ็บปวดทรมานเป็นที่สุด จนขั้นถึงแก่ชีวิตก็ตาม แต่ก็มิสามารถทำลายความดีงามของจิตใจแห่งการเสียสละ ให้อภัยของพระองค์เลย

สิ่งมีค่าในเวลาที่สูญเสีย โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
สิ่งมีค่าในเวลาที่สูญเสีย โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

ความอดทนนอกจากเป็นรากฐานของความสำเร็จในทุกความสำเร็จไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ความอดทนยังเป็นคุณสมบัติแห่งความงดงามของจิตใจที่จะอยู่กับบุคคลที่ฝึกฝนกระทำตนให้เป็นเช่นนั้น เพราะเขาเหล่านั้นที่ประกอบด้วยความอดทนจะไม่สูญเสียความดีงาม ความเมตตากรุณา แม้เจอบทสอบที่โหดร้ายจากการทำลาย ทำร้าย หรือถึงขั้นพรากชีวิตจากบุคคลที่ยังเปี่ยมด้วยความทุกข์ในตัวเอง ที่สามารถทำลายล้างไม่ว่าสิ่งใดๆ ที่เป็นเหตุให้ไม่ได้ดั่งใจ ไม่สมปรารถนาในความยึดมั่น ถือมั่นไม่ว่าเรื่องใดๆ ของสิ่งสมมติก็ตาม หรืออาจต้องทำลายเพราะความกลัว ความหลงในจิตใจที่มืดบอด

สิ่งมีค่าในเวลาที่สูญเสีย โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
สิ่งมีค่าในเวลาที่สูญเสีย โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

เมื่อใดที่เรามีความยึดมั่น ถือมั่น ในความเป็นตัวตนของตนมาก เสพติดความสะดวกสบายทางวัตถุ ตกเป็นทาสของความอยาก ความโกรธ ความหลง เป็นการง่ายมากที่เราจะขาดความอดทน แม้แต่จะอดทนเพื่อทำสิ่งดีงาม สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองก็ตาม เราจะเป็นคนที่ขาดการยับยั้ง ชั่งใจ ด่วนตัดสิน ด่วนสรุป ขาดความละเอียดรอบคอบ ไม่ทนต่อความทุกข์ การเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดี ไม่ได้ดังใจทั้งปวง เป็นเหตุให้ขาดความสงบ ขาดความมั่นคงในจิตใจได้ง่าย ทำให้หวั่นไหวไปตามสิ่งแวดล้อม ยากที่จะควบคุมจิตใจตนเอง ไม่สามารถนำพาตนเองออกจากความทุกข์ ความบีบคั้นเมื่อต้องประสบ

บุคคลที่ไม่มีความอดทนเป็นสิ่งที่ยากมากที่จะมีความสุขในตัวเอง เพราะไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลง เสียสละอะไรก็ตามที่ถูกสมมติว่า เป็นของตน การให้อภัยต่อบุคคลหรือสิ่งที่กระทำให้ตัวเองเป็นทุกข์ยิ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แม้กระทั้งให้อภัยต่อตนเองเมื่อทำอะไรผิดพลาด

สิ่งมีค่าในเวลาที่สูญเสีย โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
สิ่งมีค่าในเวลาที่สูญเสีย โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

การพึ่งพาสิ่งภายนอกตามความจำเป็น เสพสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เพื่อความอยู่รอดอย่างสำนึกบุญคุณ เคารพ ประหยัด พอเพียงและรู้คุณค่า มีชีวิตที่ฝึกฝนตนให้ยอมรับทุกอย่างตามความเป็นจริง เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง แม้ว่าเรากระทำหน้าที่ในส่วนของเราดีที่สุดแล้ว มีความสุขที่จะอยู่กับตัวเอง ไม่ส่งจิตออกนอกไปกับความเพลิดเพลิน แต่สร้างความสงบกับการทำทุกหน้าที่อย่างมีสติ ตระหนักรู้ เมื่อเราสามารถฝึกฝนที่จะเสพสิ่งต่างๆ แต่น้อยหรือหยุดเสพบ้างเป็นครั้งคราว ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย กระทำตนอย่างผู้ไม่มี ไม่สะสม อยู่อย่างต่ำด้วยความอดทน ความงดงามภายในจิตใจก็จะปรากฎอย่างอัตโนมัติ

ดังนั้น ความสงบสุข มั่นคงของจิตใจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เมื่อจิตใจเราอิ่มเต็ม เราจะสามารถเสียสละแรงกาย แรงใจ แม้แต่สิ่งของที่ได้รับการสมมติว่าเป็นของเราอย่างมีเปี่ยมสุข 

ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยทั้งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือโดยการกระทำของฝีมือมนุษย์ การฝึกเตรียมจิตใจให้พร้อมด้วยการไตร่ตรองพิจารณาใคร่ครวญอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำถึงการเปลี่ยนแปลง การพลัดพรากทั้งจากสิ่งของ สถานที่ บุคคล จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ปรับสภาพจิตใจให้เป็นกลางเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง และเมื่อเราสามารถนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตทั้งในด้านดี และไม่ดี เป็นเครื่องช่วยในเรียนรู้ เติบโตทางจิตวิญญาณ สนับสนุนเกื้อกูลให้เกิดความปล่อยวาง และกลับมาทำหน้าที่อย่างดีที่สุดด้วยความไม่ประมาท สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์เสมอไม่ว่า เรื่องใดๆ ก็ตาม

ความเสียสละไม่มี ในที่ซึ่งเห็นแก่ตัว

เห็นแก่ตัวมาก มาจากจิตใจที่ทุกข์มาก

ในความสูญเสีย มีสิ่งที่ได้รับด้วยเสมอ

บาตรเดียวท่องโลก โดย พระพิทยา ฐานิสสโร :
บาตรเดียวท่องโลก โดย พระพิทยา ฐานิสสโร :
จากคอลัมน์ “บาตรเดียวท่องโลก ” หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here