เพราะการใช้ชีวิต การเดินทาง และการทำงานคือ การเรียนรู้ตนเองและผู้อื่น
ในระหว่างทาง อย่าลืมสติ เป็นเพื่อนขนานเอก
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดีหรือไม่ดี เป็นครูเราได้ทั้งนั้น
และผลของมัน ไม่ว่าเหตุจะดีหรือไม่ดี ถ้าเรียนรู้เป็น ผลที่ออกมาจะสวยงามเสมอ….
“ข้อคิดระหว่างทาง” จาริกธรรมในอเมริกา
โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย
เรื่องที่ ๑ อะไรที่ฉันไม่รู้
วันหนึ่งผู้เขียนทำความสะอาดภายในกุฏิ ปัดกวาดเสร็จเรียบร้อยเดินออกมานอกกุฏิแล้วเหลียวแลไปเห็นกล่องจดหมายที่ทางเข้าของวัดจะมีเหล็กเล็กตั้งขึ้น… ผู้เขียนเห็นเดินเข้าไปใกล้เพื่อจะดูว่ามีอะไรในกล่องจดหมาย…เปิดฝาออกมีจดหมายหนึ่งฉบับ จึงหยิบมาวางไว้ที่เก้าอี้ในกุฏิ… สักครู่ใหญ่ผ่านไปเจ้าอาวาสกลับมาจากการทำธุระนอกวัดพอดี
ส่วนผู้เขียนก็ได้พูดกับท่านเจ้าอาวาสว่า “พระอาจารย์ครับ… นั่นจดหมายที่ผมไปเอามาเก็บไว้ในกุฎินี้ครับ”
“ไหนขอดูหน่อยครับ… อ้าว ท่านมันจดหมายที่ผมจะไปให้เขานะครับ…”
“อ้าวเอ่อ… ขอโทษครับ…ก็ผมเห็นเขายกท่อนเหล็กสีแดงตั้งขึ้นไว้ที่กล่องจดหมายผมก็นึกว่าเขามาส่งจดหมายนะครับ”
เจ้าอาวาสกล่าวว่า “ มันไม่ใช่อย่างนั้น… ครับ ที่กล่องจดหมายที่มีเหล็กสีแดงตั้งขึ้นนั้นหมายถึง… เราเป็นคนส่งจดหมาย ถ้ามีเหล็กสีแดงนอนลงนั้นหมายถึง… เขามารับจดหมายของเราแล้ว”
ผู้เขียนว่า “ขอบคุณครับที่คอยชี้แนะ…”
แบบนี้ล่ะ คนเราจะรู้หมดทุกเรื่องตั้งแต่เกิดก็เป็นไปได้ยาก คนทุกคนจะสมบูรณ์แบบทุกอย่างอย่าไปหาเลย จงเรียนรู้กับสิ่งที่ผิดพลาดมาเป็นบทเรียนชีวิตสิ่งนั้นจะกลายมาเป็นประสบการณ์ของชีวิต เพื่อที่จะก้าวหน้าไปอย่างมั่นใจและมั่นคง
หลายท่านคงเคยได้ยินคำที่ว่า “โง่ก่อนฉลาด” เราจะเสียรู้ครั้งแรก ครั้งต่อไปจะฉลาดในเรื่องที่เคยพลาดพลั้งไป และ “ฉลาดก่อนโง่” ฉลาดนั้นมันดี แต่ฉลาดแกมโกงนั้นมันดีชั่วระยะหนึ่ง เพราะผลของกรรมยังไม่ให้ผลของการกระทำที่ไม่ดี สำหรับคนโกงจะได้รับผลของการกระทำของตนเองจะเดือดร้อนใจในภายหลัง คิดมากนอนไม่หลับระแวงไปหมด
เรื่องที่หนึ่งจบลงด้วยประการฉะนี้
เรื่องที่ ๒…การแจ้งเกิดในอเมริกา
ก่อนที่จะเกิดก็ต้องไปทำบัตรประชาชนก่อน(social security) แต่กว่าจะแจ้งเกิดได้ หรือทำไอดี (ทำใบเกิด) ที่สหรัฐอเมริกานั้นมีเหตุการณ์ที่ไม่เคยมีและเกิดขึ้นสำหรับผู้เขียนเรื่องมีอยู่ว่า
เจ้าอาวาส ท่านบุญศรี ผู้เขียน และโยมจอย อีกคนหนึ่งเป็นคนที่ช่วยแปลภาษาและติดต่อสื่อสารให้ หลังจากเตรียมเอกสารที่เอาต้องการครบหมดทุกอย่างแล้วก็นั่งรถออกไปยังสถานที่ทำไอดี ถ้าบ้านเราก็คือที่อำเภอ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั่นแหละ
พอไปถึงที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ เปิดประตูเข้าไปมีฝรั่งเยอะมาก (บ้านเมืองเขาเนาะต้องทำใจ) มีคนก็เยอะทั้งภายในและภายนอก สังเกตดูเขาจะนั่ง และยืนรอเข้าแถวกดบัตรคิวยาวเหยียด
โยมจอยสอบถามเจ้าหน้าที่ว่ามาทำไอดี เจ้าหน้าที่ว่าขอดูเอกสารหน่อย ท่านบุญศรีและผู้เขียนยื่นเอกสารให้เขาดู เขาบอกว่าให้คุณไปขอใบรับรองจากที่แห่งหนึ่งมาก่อน แล้วค่อยมาที่นี่ใหม่อีกครั้ง เราทั้งหมดกล่าวคำ ขอบคุณครับ บายๆ
จากนั้นก็มุ่งหน้าไปตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ นั่งรถไปไกลพอสมควรก็ถึง โยมจอยบอกเขาว่า จะให้คุณช่วยรับรองเอกสารออกใบเกิด(ไอดี)ให้หน่อยจ้า
เจ้าหน้าที่เขาก็ขอเอกสารและทำให้ เสียค่าทำเนียมคนละ ๒๐ ดอลล่าร์ เขานัดอีก ๒ วันมารับ เราตอบ “ โอเค ขอบคุณมาก บายๆ”
วันที่ ๒ เขาโทรศัพท์มาบอกให้มารับเอกสารได้ ตอนเช้านั่งรถไปรับเอกสารตามนัดด้วยกันสามคน เข้าไปในห้องของเจ้าหน้าที่ และยื่นเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่
ผู้เขียนตรวจดูปรากฏว่า ชื่ิอถูก เพิ่มนามสกุลให้ พลรักษา พิทักษ์ และเปลี่ยนเพศให้ จากชายเป็นหญิง (mail to femail) มาที่นี่ได้นามสกุลเพิ่มพ่อกับแม่มารวมกันและได้เพศใหม่นี้คือการแจ้งเกิดของข้าพเจ้า
พอตรวจดูว่าทำไมเรามีนามสกุลเพิ่มและเป็นเพศหญิงนะ ทุกคนในนั้นหัวเราะหมดเลย เจ้าหน้าที่ก็ปรับเปลี่ยนใหม่ให้ถูกต้อง ส่วนท่านบุญศรีถูกต้อง
ฉะนั้น การที่เราทำอะไรก็อย่าประมาทต้องเช็คตรวจสอบว่ามันถูกต้องไหม ถ้ามันผิดพลาดแล้วจะลำบากทีหลัง ดังนั้น จะทำอะไรก็ต้องประกอบด้วยสติความรู้สึกตัว
เรื่องที่ ๓ ความกดดันกลายเป็นพลัง
จากเพื่อนที่สร้างพลังผลักดันให้กลายเป็นแรงบันดาลใจต้องสู้กับความกลัวมาเป็นความกล้าในเรื่องที่อยากได้ อยากมี และอยากเป็น คือ
มีเด็กน้อยสองคนพี่น้องกันมาเล่นกันในวัดกับยาย คนพี่ชื่อจูลี่ อายุ ๑๐ ขวบ และคนเล็กชื่อว่าโอลิเวีย อายุ ๔ ขวบ เด็กฝรั่งหัวใจไทยใฝ่เรียนรู้พุทธศาสนากับคุณยายนำพาถวายอาหาร พระสอนให้กราบก็กราบสามครั้ง เป็นเด็กที่น่ารัก และเด็กทั้งสองมาเป็นครูสอนโดยธรรมชาติได้เรียนรู้จากเด็กทั้งสอง
เพราะเรามีความรู้น้อยเรื่องภาษาก็ฟังแบบรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้บ้าง บางครั้งก็เดาเอาตามกริยาท่าทางของเด็กบ้าง นี่ละนะที่เขาว่า เรียนน้อยรู้น้อยมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ เด็กสอนให้เราทบทวนชื่อเจ้าหญิงที่เป็นตัวการ์ตูนดังๆ เช่น มูหลัน เจ้าหญิงสโนไวท์ เป็นต้น
ตลกที่ว่าตัวเองจำไม่สักครั้ง คุณครูตัวเล็กชักจะโมโห เพราะเราจำไม่ได้ เหมือนเราสอนใครแล้วไม่จำ อารมณ์ประมาณนั้นเลย เข้าใจเด็กและสงสารตัวเอง แต่ก็ดีได้ประสบการณ์ชีวิตใหม่
“เด็กยังสอนให้เรารู้จักคำว่า Good Jod. ( Jod หมายถึงผู้เขียน คือ พระจ๊อดส์ ชื่นชมทำได้ดีมาก) catch จับหรือแตะ เด็กวาดรูปมาบอกว่า for you. ผู้เขียนพยายามเรียนรู้จากเด็ก เริ่มต้นจากศูนย์จริง ๆ สู้ๆ จะทำวันนี้ให้ดีที่สุด
ก่อนเด็กจะกลับบ้าน… ผู้เขียนอยากจะถ่ายรูปกับเด็ก ถือโทรศัพท์ออกไปส่งน้องเขาขึ้นรถ บอกเพื่อนว่าพระอาจารย์ถ่ายรูปกับเด็กให้หน่อยครับ
ท่านตอบกลับมาแบบเราไม่ได้ตั้งตัวว่า “ถ้าอยากถ่ายรูปกับเด็กให้ขอเขาถ่ายได้กับเด็กให้ได้ก่อนแล้วผมจะถ่ายให้ กล้าขอไหม?”
เราก็อายได้แต่ยืนยิ้มอย่างเดียว ถ้ากล้าขอผมจะถ่ายให้ นี้เป็นบทเรียนรู้เองจะได้ประสบการณ์จริง อ้าวท่านไปหาค้นหาคำขอถ่ายในอินเทอร์เน็ตให้ได้นะ
วันพรุ่งนี้ ขอถ่ายใหม่เลยนะ ถ้าขอได้ผมจะถ่ายให้ ผลปรากฏว่า…ขอถ่ายรูปได้จริงๆ “Can you take a picture. ขอถ่ายรูปกับคุณได้ไหม?” ซ้อมพูดอยู่หลายรอบทีเดียวกว่าจะได้เกือบไม่รอดแต่ก็ได้ประสบการณ์ชีวิตเพิ่มความกล้าก้าวข้ามความกลัว
ต้องขอบคุณ พระอาจารย์บุญศรีที่สร้างแรงพลังผลักดันได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริง ๆ เรื่องบางเรื่องเราคิดจะพึ่งแต่คนอื่นเห็นว่ามันง่ายดี แต่เมื่อไม่มีคนให้เราพึ่งจะทำอย่างไรล่ะ
ฉะนั้น สุภาษิตที่ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ดีที่สุดประเสริฐสุด เราจะได้ประสบการณ์จริงจดจำได้นานจนวันตาย เหมือนการให้ปลามากินก็อิ่มแล้วก็หมดไป แต่สอนวิธีจับปลาให้กินได้ตลอดไป
สรุปคือ อย่าประมาท เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตให้มั่นคง
เพราะการใช้ชีวิต การเดินทาง และการทำงานคือ การเรียนรู้ตนเองและผู้อื่น ในระหว่างการใช้ชีวิต อย่าลืมสติ เป็นเพื่อนขนานเอก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดีหรือไม่ดี เป็นครูเราได้ทั้งนั้น และผลของมัน ไม่ว่าเหตุจะดีหรือไม่ดี ถ้าเรียนรู้เป็น ผลที่ออกมาจะสวยงาม
ยิ่งมีกัลยาณมิตรที่ดีให้ความรู้ประสบการณ์ใหม่เข้ามาในชีวิต สิ่งที่ไม่เคยได้จับได้ทำได้เรียนที่นี่คือประสบการณ์ชีวิตจริงล้วนๆ ไม่ทำไม่รู้ ถ้าลงมือทำก็จะรู้ว่าเป็นและไม่เป็น
ถ้าเป็นก็ทำได้ดี แต่ถ้าไม่เป็นก็ถามก่อน เรียนรู้ก่อนค่อยเป็นค่อยไป ประโยชน์ที่ได้ทำที่เห็นชัดเจนคือ ๑. ป้ายวัดพุทธเมตตามหาบารมี ๒ โต๊ะนั่งเล่นอเนกประสงค์ และได้ทำงานร่วมกับคณะสงฆ์วัดพุทธเมตตามหาบารมี ๕ รูป นี้คือประสบการณ์ช่วงแรกเมื่อเดินทางไปจาริกธรรมในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา
ธรรมลิขิต
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก
วันอังคารที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒
โดย พระครูสมุห์สุพัฒน์ อนาลโย
“ข้อคิดระหว่างทาง”
จาริกธรรมในอเมริกา