“เกิดเป็นคน ควรมีความเพียรพยายามอยู่ร่ำไป
จนกว่าจะประสบผลสำเร็จ
นรชนผู้มีปัญญา
แม้ประสบทุกข์ ก็ไม่ไร้ซึ่งความหวัง”
“พระมหาชนก” จากหนังสือ “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ
เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก ในหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ “ญาณวชิระ” หน้า ๑๐๑ เล่าว่า
ณ อุทยานอัมพวัน
หลังจากที่พระมหาชนกได้กลับมาครองเมืองมิถิลาแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง คนดูแลสวนได้นำผลไม้นานาชนิด ตลอดจนดอกไม้หลากพรรณมาถวาย พระมหาชนกทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทรงยินดี ปรารถนาจะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน คนดูแลสวนจึงเตรียมการรับเสด็จ ตามพระราชประสงค์ พระมหาชนกประทับบนคอช้าง เสด็จออกจากพระนคร มีข้าราชบริพารตามเสด็จ เป็นจำนวนมาก
ขณะพระองค์ เสด็จผ่านประตูพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วง ๒ ต้น แผ่กิ่งก้านสาขาเขียวชอุ่ม สง่างาม ต้นหนึ่งไม่มีผล อีกต้นหนึ่งมีผล ต้นที่มีผลนั้น เป็นมะม่วงที่มีรสหอมหวาน ไม่มีใครกล้าเก็บผลมะม่วงจากต้นนั้น เพราะพระราชายังไม่ได้เสวย
พระมหาชนกประทับบนคอช้าง รับสั่งให้คนดูแลสวน เก็บผลมะม่วงผลหนึ่ง มาให้เสวย มะม่วงนั้นมีรสชาติโอชาหอมหวานดุจรสทิพย์ พระองค์ทรงตั้งใจว่า เมื่อกลับออกจากอุทยานจะเสวยเพิ่มอีก แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน ชมสถานที่อื่น ๆ อุปราช ปุโรหิต อำมาตย์ และ ข้าราชบริพาร ตลอดจนตะพุ่นช้าง ตะพุ่นม้า ที่ตามเสด็จ เมื่อรู้ว่า พระราชาเสวยมะม่วงแล้ว ครั้นพระองค์เสด็จคล้อยไปหน่อยหนึ่ง ต่างก็รุมกัน ยื้อแย่งผลมะม่วงที่เหลือ ทำให้ใบมะม่วงร่วง กิ่งฉีก หักเกลื่อน ไม่เหลือสภาพต้นมะม่วงที่สง่างามเหมือนเดิม ส่วนมะม่วงอีกต้น ซึ่งไม่มีผล กลับยืนต้น แผ่กิ่งก้านสาขาเขียวครึ้มสง่างาม
ครั้นพระราชา เสด็จออกจากพระราชอุทยาน ตั้งใจว่า จะเสวยมะม่วงเพิ่มอีก กลับเห็น ต้นมะม่วงที่ให้ผลดกหนา อยู่ในสภาพน่าหดหู่เช่นนั้น ส่วนต้นที่ไม่มีผล กลับยืนต้น แผ่กิ่งก้านสาขา เขียวครึ้มสง่างาม จึงตรัสถามเหล่าอำมาตย์ว่า เกิดอะไรขึ้น
เมื่ออำมาตย์กราบทูลให้ทราบถึงสาเหตุที่ต้นมะม่วงกลายสภาพเป็นเช่นนี้ จึงเกิดความสังเวชใจว่า “ต้นมะม่วงต้นหนึ่ง ยังคงแผ่กิ่งก้านสาขาสง่างาม เพราะไม่มีผล แต่อีกต้นที่มีผลดกหนา ถูกยื้อแย่งใบร่วงกิ่งฉีกหักเกลื่อน ราชสมบัติ ก็เหมือนต้นมะม่วงมีผล ต้องคอยเฝ้าหวงแหน ทำให้เกิดความกังวลใจ
การบวช เหมือนต้นมะม่วงไร้ผล เพราะไม่มีผลประโยชน์ให้แสวงหา ภัยย่อมมี แก่ผู้มีความกังวล และภัยย่อมไม่มี แก่ผู้ไม่มีความกังวล”
พระมหาชนก ทรงอธิษฐานจิตมั่นว่า “เราจะไม่เป็นเหมือนต้นมะม่วงมีผล แต่จะเป็นเหมือนต้นมะม่วงไม่มีผล เราจะสละราชสมบัติ ออกบวช”…
ตั้งแต่วันที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วง ที่ประตูพระราชอุทยาน ก็ทรงดำริว่า “การบวชเป็นบรรพชิต ประเสริฐกว่าการเป็นพระราชา เราจะออกบวช” จึงรับสั่งมหาดเล็กเป็นความลับ ให้ซื้อผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรดินมาจากตลาด อย่าให้ใครรู้ ให้เรียกเจ้าพนักงาน ภูษามาลามาปลงผมและหนวด พระราชทานบ้านส่วย เป็นรางวัลแก่พนักงานภูษามาลา แล้วโปรดให้กลับไป
จากนั้น พระองค์ทรงนุ่งผ้ากาสาวพัสตร์ผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง และพาดผืนหนึ่ง ที่พระอังสา สวมบาตรดินในถุง คล้องพระอังสา ทรงถือไม้เท้า เสด็จจงกรมกลับไปกลับมาบนปราสาท ตามอย่างลีลาพระปัจเจกพุทธเจ้า ตลอดทั้งวัน ทรงเปล่งอุทานว่า
“โอ การบรรพชา เป็นสุขอย่างยิ่ง
เป็นสุขอันประเสริฐเหลือเกิน”
“พระมหาชนก” จากหนังสือ “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ
เรื่องมะม่วงสองต้น ใน “พระมหาชนก” ทำให้พระองค์ตัดสินใจออกบวช เป็นคติธรรมที่ทำให้พระองค์เห็นว่า การมีลาภ ยศ สรรเสริญนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัย ด้วยเป็นที่หมายปองยื้อแย่งของผู้คนทั้งหลายไม่มีที่สิ้นสุด และจะนำมาซึ่งความทุกข์จากการทำร้ายกันเพราะแย่งชิงสมบัตินั้น คือ ต้นมะม่วงที่มีผลดก ก็ถูกรุมทึ้งจนยับเยิน ส่วนต้นมะม่วงที่ไม่มีผลนั้น ก็ยืนยงมั่นคงตระหง่านสง่างาม
การเห็นสัจธรรมของพระมหาชนก นำไปสู่การออกบวชทุกภพชาติของพระโพธิสัตว์ต่อมา ตามปณิธานของพระองค์ในครั้งแรก ตั้งแต่เกิดเป็นสุเมธดาบสผู้ตั้งจิตอธิษฐานที่จะบรรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในชาติสุดท้าย ยอมถวายตนเป็นทางบนน้ำคลำให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าทีปังกรทรงเหยียบย่างผ่านไปในครั้งกระโน้น
เมื่อพระองค์ประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงตระหนักรู้ในทุกข์อย่างแสนสาหัสจากความเกิด แก่ เจ็บ และตายของผู้คน ตลอดจนความคลุมเคลือในจิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์หาทางออกไม่ได้ ว่าทุกข์นั้นมันคืออะไร และจะขจัดมันให้หมดไปได้อย่างไร นั่นคือความต่อเนื่องจากการแสวงหาหนทางในการออกจากทุกข์ในสังสารวัฏอันหาที่สุดมิได้มากว่า ๔ อสงไขยแสนมหากัป อีกครั้งจนประสบความสำเร็จในชาติสุดท้าย แล้วพระองค์ทรงนำความลับในธรรมชาติที่ค้นพบอันสามารถไขความทุกข์ออกจากโลกนี้ได้มาบอกกับมนุษยชาติจนถึงปัจจุบันผ่านไปสองพันหกร้อยกว่าปี
การหนีออกจากเวียงวังในครั้งนั้น เพื่อแสวงหาโมกขธรรมตั้งแต่พระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๒๙ ชันษา ตอนที่พระนางยโสธราคลอดเจ้าชายราหุล พระราชบุตรของพระองค์ ทรงอุทานว่า “บ่วงเกิดขึ้นแล้ว” จึงเป็นสิ่งสำคัญของมนุษย์มากที่สุดในโลก เพราะเป็นการออกมหาภิเนษกรมณ์ครั้งสุดท้ายในสังสารวัฏ อันหมายถึง การเสด็จออกบวชของเจ้าชายสิทธัตถะ เพื่อที่จะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกในที่สุด
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เวลา ๑๖.๐๐น. สามเณรพุทธศากยบุตร “ฮ่องธรรม ฮ่องคำอิสาน” ณ พุทธสถานฮ่องธรรม ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย พระมหาติ่ง มหิสฺสโร,ดร. ประธานสงฆ์ / ประธานมูลนิธิบุญพระศาสนาสงเคราะห์ และคณะสงฆ์ เข้ากราบพระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร นามปากกา “ญาณวชิระ” และพระครูสิริวิหารการ ก่อนเข้าศึกษาพระปริยัติธรรมฯ และรับมอบหนังสือลูกผู้ชายต้องบวช จากพระอาจารย์
นำความปีติและเป็นกำลังใจแก่สามเณรน้อยเป็นอย่างมาก ในการศึกษาเรียนรู้ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ ศึกษาพระธรรมตามรอยพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ อันเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ช่วยดูแลสามเณรไปจนกว่าจะเล่าเรียนจนจบเพื่อค้นพบตนเอง และนำจิตออกจากทุกข์ให้ได้ในที่สุด
บรรพ์ที่ ๒ ความเข้าใจเรื่องการบวช
จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ลูกผู้ชายต้องบวช” เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ : อดีตพระราชกิจจาภรณ์ (พระอาจารย์เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ฉบับธรรมทาน อุปถัมภ์การจัดพิมพ์โดย บริษัท โตโยต้าบัสส์ จำกัด
จากวิธีการ สู่ความมุ่งหมาย
และอุดมการณ์แห่งการบวชในพระพุทธศาสนา
ตามตัวอักษร การบวช มาจากคำภาษาบาลีว่า
ปัพพัชชา หรือ บรรพชา ที่คุ้นเคยในภาษาไทย เรียกตามภาษาชาวบ้านทั่วๆ ไปว่า บวช
คำว่า “บวช” นี้ เป็นคำที่ใช้เรียกทั้งการบรรพชาและอุปสมบท อุปสมบทเป็นพระภิกษุหรือบรรพชาเป็นสามเณรก็ตาม ล้วนเรียกกันว่า “บวช” ทั้งสิ้น
ในปัจจุบันแยกใช้ต่างกัน โดยเรียกตามขั้นตอนการบวช คำว่า บรรพชา ใช้สำหรับการบวชเป็นสามเณร ส่วนคำว่า อุปสมบท ใช้สำหรับการบวชเป็นพระภิกษุ
เดิมทีเดียวในตอนต้นพุทธกาลคำสองคำนี้ไม่ได้แยกกัน แต่จะเรียกผู้บวชว่า ผู้ได้รับการบรรพชาอุปสมบท เมื่อมีผู้ศรัทธาออกบวชมาก คณะสงฆ์ใหญ่ขึ้น พระพุทธองค์จึงมอบให้คณะสงฆ์เป็นผู้มีอำนาจในการบวชกุลบุตรกุลธิดา ผู้ที่จะบวชต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะสงฆ์ก่อน รูปแบบการบวชจึงเปลี่ยนไป
คำว่า บรรพชา หรือ บวช แปลตรงตัวว่า การงดเว้น ผู้ที่บวชแล้วต้องงดเว้น จึงเรียกว่า บรรพชิต คือ เว้นจากการมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างชาวบ้านทั่วๆ ไป การใช้ชีวิตอย่างพระภิกษุดูเหมือนว่าทวนกระแสสังคม แต่ก็เข้ากับยุคสมัยได้อย่างกลมกลืนและงดงาม
คำว่า งดเว้นนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตตามหลักพุทธธรรม เป็นวิถีชีวิตแห่งการศึกษาค้นคว้า ฝึกฝน อบรม และขัดเกลาตนตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยใช้ระบบการพัฒนาแบบศีล สมาธิ และปัญญา ที่เรียกว่าไตรสิกขา เป็นกรอบในการขัดเกลา เพื่อนำไปสู่การเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง รู้จักทำใจและปล่อยวางในบางเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อยู่ในสังคมก็ไม่ถูกกระชากให้กระเด็นกระดอนไปตามกระแสสังคม ไม่ระเริงหลงจนเกินไปเมื่อถึงคราวประสบสุข ไม่สยบยอมก่นเศร้าร้าวฉานจนโลกจะแตกไปเป็นเสี่ยงๆ ให้ได้ เมื่อถึงคราวที่มีทุกข์ทับ ไม่สุขจนขาดสติ และไม่ทุกข์จนขาดปัญญา
คนเราเกิดได้เพราะมีพ่อแม่เป็นผู้ให้กำเนิด แต่ชีวิตความเป็นพระภิกษุเป็นชีวิตที่เกิดโดยธรรม อาศัยธรรมวินัยจึงเกิดได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่วาเสฎฐสามเณรและภารทวาชสามเณรที่บุพพารามว่า
“วาเสฏฐะทั้งหลาย อนึ่ง ศรัทธาของบุคคลใดแลตั้งมั่นในตถาคต หยั่งรากฝังลงลึกลงดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง ทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ก็ตามในโลกนี้ ชักนำเขาไปทางอื่นไม่ได้ บุคคลนั้นสมควรกล่าวด้วยความภูมิใจอย่างนี้ว่า “เราเป็นบุตร เป็นโอรสที่เกิดจากพระโอษฐ์ เกิดมาจากธรรม เนรมิตมาจากธรรม เป็นทายาทโดยธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า” ข้อนี้เป็นเพราะเหตุไร? เป็นเพราะคำว่า ธรรมกายก็ตาม พรหมกายก็ตาม ธรรมภูตก็ตาม พรหมภูตก็ตามนี้ เป็นคำสำหรับใช้เรียกแทนชื่อ ตถาคต ทั้งนั้นแล” (อัคคัญญสูตร ๑๑/๙๑/๕๕)
ชีวิตที่เกิดโดยธรรมตามที่ตรัสนี้ พระพุทธองค์แสดงไว้ในโอวาทปาติโมกข์, เป็นชีวิตแห่งความสงบเสงี่ยมเรียบง่าย อ่อนน้อมถ่อมตน สำรวมระวัง ไม่กระทบกระทั่ง ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย รู้จักประมาณในอาหาร มีที่นั่งที่นอนอันสะอาดสงัดไม่ระคนด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อขวนขวายแสวงหาพวกพ้องบริวาร มีความเพียรเพ่งพินิจ ไม่อิจฉาริษยา ไม่พยาบาทปองร้าย แม้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญสมาธิอยู่ก็ไม่เป็นไปเพื่อต้องการโอ้อวดคนอื่นว่าตนเองปฏิบัติธรรม ไม่เป็นไปเพื่อดูหมิ่นคนอื่นว่าเขาไม่ปฏิบัติธรรม อุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์และสันติสุขแก่สังคม สมกับพระดำรัสที่พระพุทธองค์ตรัสแก่สาวกเมื่อครั้งแรกที่ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาว่า
“พระภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอเองก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และเป็นของมนุษย์ พระภิกษุทั้งหลาย ขอให้พวกเธอทั้งหลายเที่ยวจาริกรอนแรมไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อย่าไปทางเดียวกันสองรูป ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรมให้งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง…แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน” (๔/๓๙-๔๐/๓๒)
พระพุทธพจน์บทนี้ เป็นเสมือนสุนทรพจน์ที่ประกาศอุดมการณ์ของความเป็นพระภิกษุไว้อย่างสมบูรณ์และชัดเจนที่สุด เป็นเครื่องยืนยันว่า ชีวิตความเป็นพระภิกษุเป็นชีวิตที่มีเป้าหมาย และมีแนวทางเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างชัดเจน มีความตื่นตัวอยู่เสมอ พร้อมจะฝึกฝนพัฒนาตน เพื่อให้เข้าใจโลกและชีวิตที่ไหลเวียนไปตามกระแสแห่งไตรลักษณ์ ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นจนอยู่เหนือกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและชีวิต อุทิศกำลังกายและกำลังใจเพื่อประโยชน์เพื่อสันติสุขของสังคมส่วนรวม
พระพุทธพจน์ดังกล่าว เป็นทั้งปณิธานแห่งชีวิตของความเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และเป็นทั้งอุดมการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้แก่สาวกผู้เจริญรอยตามแบบอย่างวิถีชีวิตของพระองค์ ให้สาวกได้ตระหนักถึงการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า
วิธีการบวชในพระพุทธศาสนา
การบวชในตอนต้นพุทธกาลยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน โดยพระพุทธองค์เป็นผู้บวชให้ เนื่องจากพระสงฆ์ยังมีจำนวนไม่มาก เมื่อมีผู้ออกบวชมาก และจำนวนพระสงฆ์มากขึ้น จึงทรงมอบอำนาจการบวชให้สงฆ์เป็นผู้ตัดสิน ต่อมาการบวชจึงมีรูปแบบที่ชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น ในพระพุทธศาสนามีการอุปสมบท ๓ วิธี คือ
๑. การบวชด้วยพิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการเปล่งวาจาว่า “ท่านจงเป็นพระภิกษุเถิด” วิธีนี้พระพุทธองค์เป็นผู้บวชให้ด้วยพระองค์เอง ในต้นพุทธกาล ภายหลังการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ออกเทศน์สั่งสอนประชาชน จนมีผู้ศรัทธาขอบวชด้วยเป็นจำนวนมาก แต่สมัยนั้นยังไม่มีรูปแบบการบวชเป็นพระภิกษุที่ชัดเจน พระพุทธองค์จึงตรัสเพียงว่า “ท่านจงเป็นพระภิกษุเถิด” พระพุทธดำรัสนี้จึงเป็นพิธีอุปสมบทในยุคต้นพุทธกาล แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธดำรัสนี้มี ๒ แบบ คือ
สำหรับผู้ขอบวชที่ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระพุทธองค์ตรัสว่า “ขอท่านจงเป็นพระภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์” พอจบวาจานี้ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุ
สำหรับผู้ขอบวชที่ยังไม่ได้บรรรลุพระอรหัตพระพุทธองค์ตรัสว่า “ขอท่านจงเป็นพระภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ (๑) โดยชอบเถิด” พอจบวาจานี้ก็สำเร็จเป็นพระภิกษุ เพราะผู้ขอบวชที่ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัต ยังต้องมีหน้าที่ประพฤติพรหมจรรย์ โดยมีการบรรลุธรรมเป็นเป้าหมาย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า“เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” สำหรับผู้ขอบวชที่ยังไม่ได้บรรลุธรรม ยังมีภาระต้องปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระอรหัต อันเป็นที่สุดแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
๒. การบวชด้วยการให้ไตรสรณคมน์ คือ การบวชด้วยการเปล่งวาจาขอถึงสรณะ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง โดยผู้ขอบวชตั้งใจปฏิญาณว่า
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิฯ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิฯ สังฆังสะระณัง คัจฉามิฯ คำแปล ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
จบการเปล่งวาจาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกครบ ๓ วาระ การอุปสมบทก็เป็นอันสำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์บริบูรณ์ วิธีนี้ทรงอนุญาตให้พระสาวกเป็นผู้บวชให้กุลบุตรที่มาขอบวช ภายหลังทรงยกเลิกพิธีบวชแบบไตรสรณคมน์ และอนุญาตให้ใช้เป็นพิธีบวชสามเณร โดยสามเณรรูปแรกที่ได้รับการบวชแบบไตรสรณคมน์ คือ สามเณรราหุล
สามเณรราหุลจึงเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
โดยมีพระสารีบุตรเป็นองค์อุปัชฌาย์
๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา คือ การอุปสมบทที่สงฆ์ร่วมกันให้การอุปสมบทด้วยวิธีสวดประกาศกรรม ๔ จบทั้งญัตติ การอุปสมบทแบบญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา เป็นการอุปสมบทโดยผ่านมติสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงมอบอำนาจให้สงฆ์เป็นผู้มีอำนาจในการที่จะให้การอุปสมบทแก่กุลบุตร มิใช่มอบอำนาจให้พระสาวกรูปใดรูปหนึ่ง และเป็นวิธีที่ใช้อุปสมบทมาจนถึงปัจจุบัน
ความมุ่งหมาย และอุดมการณ์แห่งการบวช
การบวชมาจากคำภาษาบาลีว่า ปัพพัชชา หรือ ปวช
เราคุ้นเคยกับคำว่า บรรพชา หรือ บวช เป็นคำผสมระหว่างคำว่า ป+วช = ปวช ป แปลว่า ทั่ว,เป็นเบื้องหน้า หรือ สิ้นเชิง ส่วนคำว่า วช แปลว่า ไป หรือ เว้น รวมกันแล้วได้ความว่า ไปทั่ว,ไปเป็นเบื้องหน้า หรือไปโดยสิ้นเชิง, เว้นทั่ว, เว้นเป็นเบื้องหน้า,หรือเว้นโดยสิ้นเชิงก็ได้
คำว่า ไปทั่ว ไปโดยสิ้นเชิง หรือไปเป็นเบื้องหน้า หมายถึง ไปใช้ชีวิตตามรอยบาทพระศาสดา เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ความเป็นอิสรภาพอย่างแท้จริง ไม่พะวักพะวงอยู่กับความสุขที่สุขๆ ดิบๆ ไปจากการมีวิถีชีวิตอย่างชาวบ้าน คือ ไปจากการครองเรือนสู่ความเป็นผู้ไม่มีเรือน ไปจากความเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติ สู่ความไม่เป็นผู้ไม่มีทรัพย์สมบัติ แม้แต่เครื่องนุ่งห่มก็เปลี่ยนไป คำพูดก็เปลี่ยนไป ไม่มีความสนุกสนานรื่นเริง ไร้ญาติ ไร้สมบัติ เลิกขาดแม้กระทั่งกิริยามารยาทและความนึกคิดอย่างชาวบ้าน ชีวิตความเป็นพระภิกษุจึงเป็นชีวิตที่ไปจากเรือนโดยสิ้นเชิง ดังปรากฏในบททำวัตรเช้าว่า
จิรปรินิพฺพุตมฺปิ ตํ ภควนฺตํ อุทฺทิสฺส อรหนฺตํ สมฺมาสมฺพุทธํ สทฺธา อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิตา ตสฺมึ ภวคติ พฺรหฺมจริยํ จราม ภิกฺขูนํ สิกขาสาชีวสมาปนฺนา
เราอุทิศเฉพาะพระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ปรินิพพานนานแล้วพระองค์นั้น มีศรัทธาจึงออกจากเรือนบวช เป็นผู้ไม่มีเรือน ประพฤติพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ถึงพร้อมด้วยสิกขาและการดำเนินชีวิตอย่างพระภิกษุทั้งหลาย
คำว่า ถึงพร้อมด้วยสิกขานี้หมายถึงชีวิตที่ต้องศึกษา ฝึกหัด ขัดเกลา พัฒนาตนเอง ดำเนินชีวิตอย่างพระภิกษุ ไม่มีญาติ เป็นอนาคาริก คือ ไม่มีเรือน กิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งที่คนครองเรือนทำกัน กิจกรรมเช่นนั้นเป็นสิ่งที่บรรพชิตทำไม่ได้ ต้องงดเว้นโดยสิ้นเชิง การอยู่ครองเรือนชื่อว่าจะประพฤติปฏิบัติธรรมให้สมบูรณ์ จึงมิใช่เรื่องง่าย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ฆราวาสเป็นที่คับแคบเป็นทางมาแห่งธุลี ส่วนการบรรพชาเป็นโอกาสสว่าง ผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ด้วยดี เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้วไม่ได้ ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวดครองผ้าย้อมฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน” (๑๓/๖๖๙/๗๓๘ )
ชีวิตการครองเรือนเป็นชีวิตที่มากไปด้วยความครุ่นคิดปรารถนา เต็มไปด้วยความเร่าร้อน ดิ้นรนแสวงหา มากไปด้วยความทะเยอทะยาน ระคนไปด้วยพวกพ้อง ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ผู้อยู่ครองเรือนก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นค่านิยมของสังคม ชีวิตจึงหมุนอยู่ตลอดเวลา
แต่บรรพชิตเป็นชีวิตที่ตรงกันข้าม เป็นชีวิตที่เรียบง่ายสงบเสงี่ยม เต็มไปด้วยความสำรวมระวังอยู่ตลอดเวลา ตัดสายใยแห่งอดีต ไม่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงอนาคต ระงับความเร่าร้อน สยบการดิ้นรนแสวงหา ปลีกตัวอยู่ท่ามกลางความสงบสงัดเงียบ ไม่ระคนด้วยหมู่คณะ ทรมานตนด้วยศีล ฝึกหัดขัดเกลาจิตใจด้วยสมาธิและปัญญา เป็นชีวิตที่(เสมือนว่า)ไร้ญาติขาดมิตร ไร้แม้เรือนนอน ชีวิตพระสงฆ์จึงเป็นชีวิตที่เหมือนถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวท่ามกลางยุคสมัย
คำว่า ไร้ญาติขาดมิตรไร้แม้เรือนนอนนี้ ยังมีสิ่งที่จะต้องกล่าวเพิ่มเติมอีก ความจริงก็ไม่ได้หมายความว่าบวชแล้วจะต้องตัดพ่อตัดลูกตัดแม่ตัดลูก ตัดพี่ตัดน้องไม่ต้องมองหน้าไม่ต้องนับญาติกันอีก เพราะหลักธรรมญาติสังคหะ หรือหลักการสงเคราะห์ญาตินั้นเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ แต่หมายความว่าผู้บวชต้องตัดความอาลัยในญาติพี่น้อง ตัดอาลัยในกิจการบ้านเรือนอันจะเป็นเหตุให้เกิดปลิโพธ คือ ความกังวล เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ใจพะวักพะวน ไม่อาจบำเพ็ญสมณธรรมให้เจริญงอกงามไพบูลย์ได้
โดยปกติคนเรามักคิดถึงญาติพี่น้อง ร่ำร้องถึงคนที่รัก หมกมุ่นครุ่นคิดถึงคนคุ้นเคย รัญจวนถึงเหตุการณ์ในอดีต คิดถึงบ้านเรือนและกิจกรรมต่างๆ ที่เคยกระทำในบ้านเรือน การที่ท่านให้ตัดความอาลัยในญาติพี่น้องซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งในทางปฏิบัตินั้น ก็เพื่อเป็นอุบายสอนให้รู้จักการฝึกหัดควบคุมจิตใจของเราเป็นเบื้องต้นนั่นเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“ผู้มากไปด้วยกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจไร้การบังคับควบคุมตนเอง ไม่มีสัจจะ ถึงนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ก็หาคู่ควรแก่เขาไม่เลย”
“ผู้สำรอกกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ มั่นคงในศีล รู้จักบังคับควบคุมตนเอง และมีสัจจะนั่นแหละ จึงควรนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์” (๒๕/๑๖/๑๑)
การบวชจึงเป็นเรื่องของการฝึกบังคับควบคุมจิตใจ แม้ในครั้งพระพุทธกาลเคยมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง บวชแล้วเกิดความรู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวเหมือนถูกทอดทิ้ง ทั้งๆ มีญาติก็เหมือนคนที่ไร้ญาติ มีสมบัติก็เหมือนคนไร้สมบัติ พระภิกษุรูปดังกล่าวเป็นราชบุตรของกษัตริย์วัชชี ละทิ้งชีวิตวัยหนุ่มของตนเองซึ่งพรั่งพร้อมบริบูรณ์อย่างลูกกษัตริย์ทั้งหลาย ออกบวชในพระพุทธศาสนา
วันหนึ่งท่านออกไปปฏิบัติธรรมอยู่กลางป่า ท่ามกลางราตรีอันเงียบสงัด ท่านได้ยินเสียงมหรสพเฉลิมฉลองอยู่ภายในเมืองไพศาลีดังสะท้อนผ่านค่ำคืนเข้ามาสู่ป่าที่ท่านกำลังบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ท่านเกิดความรู้สึกหงอยเหงาเปล่าเปลี่ยวใจ ว่าตนเองเหมือนคนถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยวอยู่กลางป่า ในขณะที่ผู้คนเป็นอันมากในเมืองกำลังสนุกสนานรื่นเริงไปกับการใช้ชีวิตอย่างสำเริงสำราญ ท่านเองกลับมาอยู่ท่ามกลางป่าคนเดียว พลันความคิดก็กระหวัดนึกไปถึงเครื่องประดับผ้าโพกที่เคยใช้เมื่อครั้งเป็นราชกุมาร จึงรำพึงออกมาเป็นบทกวีว่า
“เราคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่กลางดงลึก เหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้กลางป่า ในยามราตรีที่เขาสนุกสนานรื่นเริงกันเช่นนี้ ใครหนอ! จะโง่เขลาไปกว่าเรา” (๒๕/๒๙๖/๗๘๔)
รุกขเทวดาผู้รักษาป่าแห่งนั้น เฝ้าเอาใจช่วยในการบำเพ็ญสมณธรรมของท่านอยู่ รู้ใจพระภิกษุหนุ่มที่กำลังกลัดกลุ้มรุ่มร้อนเช่นนั้น จึงกล่าวเชิงเตือนสติเป็นบทกวีตอบออกไปว่า
“ท่านอยู่ป่าคนเดียว เหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้กลางป่าก็จริงหรอก แต่คนเป็นอันมากก็ชื่นชมยินดีต่อท่าน เหมือนสัตว์นรกชื่นชมยินดีต่อคนที่ไปสวรรค์” (๒๕/๒๙๗/๗๘๕)
เมื่อได้ฟังดังนั้นท่านจึงเกิดฉุกคิดขึ้นมาได้ เพ่งพินิจพิจารณาตรึกตรองโดยแยบคาย บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุสมณธรรมแล้ว จึงทราบข้อความที่รุกขเทวดากล่าวอย่างแจ่มแจ้งด้วยตัวท่านเอง พร้อมกับได้รำพึงเป็นบทกวีว่า
“แม้ดีจริงหนอ เราคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่กลางดงลึก เหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้กลางป่า แต่คนเป็นอันมากกลับยินดีต่อเรา เหมือนสัตว์นรกชื่นชม ยินดีต่อคนผู้ไปสวรรค์” (๒๖/๒๗๔/๑๙๙)
การบวชจึงเป็นการดำเนินชีวิต ตามเบื้องรอยบาทพระบรมศาสดา เพื่อแสวงหาอิสรภาพทางจิตวิญญาณ ปลดปล่อยจิตใจให้อยู่เหนือการบีบคั้นตามแรงเหวี่ยงของกระแสสังคม และการจะปลดปล่อยจิตใจให้เป็นอิสรภาพได้ต้องเริ่มด้วยการฝึกหัดควบคุมจิตใจตามกระบวนการของศีล สมาธิ และปัญญา
รูปแบบของการฝึกควบคุมจิตใจในสมัยพุทธกาล สำหรับผู้บวชใหม่ ท่านเรียกกัมมัฏฐานนี้ว่า “ตจปัญจกกัมมัฏฐาน” หรือ “มูลกัมมัฏฐาน” คือ กัมมัฏฐานเบื้องต้นสำหรับผู้บวชใหม่ใช้ฝึกสมาธิ ด้วยการเอาสติไปแยกพิจารณาส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกาย เริ่มโดยพิจารณา ผม (เกสา) ขน(โลมา) เล็บ(นะขา) ฟัน (ทันตา) และหนัง (ตะโจ) เป็นคำบริกรรมว่าทวนกลับไปกลับมาเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ วิธีดังกล่าวเป็นรูปแบบที่ใช้มาแต่พุทธกาล แม้ในปัจจุบัน พระอุปัชฌาย์ก็ยังสอนผู้บวชใหม่
การบวชจึงเป็นการสละความเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติ หมายถึง การยอมรับในการดำเนินชีวิตที่ไม่ต้องประกอบอาชีพเพื่อพอกพูนทรัพย์ ดำเนินชีวิตโดยอาศัยปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพที่เกิดจากศรัทธาของผู้อื่นตามแต่จะหาได้ เป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่ให้เกิดความลำบากแก่ผู้อื่น
เป็นการสละวงศาคณาญาติ หมายถึง ตัดความอาลัยในหมู่ญาติ ไม่เกี่ยวข้องด้วยการสงเคราะห์อย่างชาวโลก อันทำให้เกิดความกังวล ไม่สามารถบำเพ็ญกิจสงฆ์ได้
เป็นการเลิกละการนุ่งห่มประดับประดาอย่างฆราวาส หมายถึง การใช้เครื่องนุ่งห่มอย่างพระภิกษุต้องมุ่งที่ประโยชน์ของสิ่งนั้น ถึงแม้ห่มจีวรแต่มุ่งว่าต้องสวยงาม นุ่มนวล ก็ผิดวัตถุประสงค์ของการนุ่งห่มอย่างพระภิกษุ เป็นการเลิกละการกินอย่างฆราวาส หมายถึง การฉันไม่ใช่เพียงเพื่ออิ่ม เพื่อความเอร็ดอร่อย หรือเข้ากับค่านิยมของยุคสมัย แต่จุดมุ่งหมายอยู่ที่ให้ร่างกายดำรงอยู่ได้เพื่อทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์
เป็นการเลิกละการใช้สอยอย่างฆราวาส หมายถึง เครื่องใช้ของพระภิกษุ(บริขาร ๘) นั้นมิใช่มีจุดมุ่งหมายเพื่อโอ้อวด หรือแสดงถึงฐานะความเป็นอยู่ แต่การใช้ของสิ่งใดนั้นจะมุ่งประโยชน์ที่เกิดจากการใช้บริขารนั้น เป็นการเลิกละกิริยาวาจาอย่างฆราวาส หมายถึง เลิกละกิริยาวาจาอันเป็นสื่อให้เกิดกิเลสตัณหา วาจาอันหยาบกระด้างกระทบกระทั่งผู้อื่นให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน อันไม่เหมาะแก่สมณะ เป็นการเลิกละความรู้สึกนึกคิดอย่างฆราวาส หมายถึง ไม่คิดไปในทางเหย้าเรือน ในทางกามคุณอันจะทำให้ชีวิตพรหมจรรย์เศร้าหมอง
โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความสับสน เงื่อนไขของชีวิตสลับซับซ้อนมากขึ้น ผู้คนต่างอ่อนล้ากับการยืนหยัดบนเส้นทางชีวิต การบวชเป็นสิ่งงดงามท่ามกลางความสับสนของโลกปัจจุบัน แม้บางท่านอาจตั้งใจบวชในระยะสั้นๆ โดยไม่ได้มุ่งไปสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง แต่การหลุดพ้นจากโลกแห่งความสับสนชั่วขณะหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บวชเกิดความเอิบอิ่มใจอย่างประหลาดว่า อย่างน้อย เรายังมีอีกเส้นทางหนึ่งให้เดินออกจากความสับสน เว้นวรรคชีวิตมาอยู่กับตัวเองในมุมที่สงบของโลกปัจจุบัน
(๑) เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์ หมายถึง เพื่อปฏิบัติให้ถึงการสิ้นทุกข์